[0] เนตติปกรณ์แปล นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส. 1. สังคหวาระ [0] ชาวโลกพร้อมทั้งทวยเทพผู้รักษาโลก ย่อมนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐพระองค์ใดในกาลทุกเมื่อ บัณฑิตทั้งหลายพึงทราบคำสอนอันประเสริฐ ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระองค์นั้น (ศาสนาทั้ง 3 ประการ เรียกว่าคำสอนอันประเสริฐ, ในบรรดาศาสนา 3 ประการเหล่านั้น ปริยัติศาสนาชื่อว่า สูตร). สูตรมี 12 บท, สูตรทั้งปวงนั้นจัดเป็นพยัญชนบท (ศัพท์) และอรรถบท (อรรถ) ซึ่งทั้ง 2 อย่างนั้น พึงทราบโดยสังเขปว่า ศัพท์คืออะไร อรรถคืออะไร คัมภีร์เนตติที่มีหาระ 16, นัย 5, มูลบท 18 ซึ่งช่วยให้เข้าใจปริยัติศาสนานี้ พระมหากัจจายนเถระได้แสดงไว้ หาระทั้งทั้งหลายช่วยในการพิจารณาศัพท์ของสูตร, นัย 3 อย่าง (คือ นันทิยาวัฏฏนัย ติปุกขลนัย สีหวิกกีฬิตนัย) ช่วยในการพิจารณาอรรถของสูตร, หาระ และ นัย ทั้ง 2 อย่างนั้น สามารถนำไปใช้ในสูตรทั้งปวงได้, คัมภีร์เนตติที่เป็นสังวรรณนาสูตรนี้ ย่อมขยายความตามสมควรแก่สังวัณเณตัพพสูตร (สูตรที่ควรขยาย) ผู้ศึกษาพึงทราบพระบาลีและอรรถแห่งพระบาลีทั้งสองอย่างนั้น. ในการศึกษานั้น หาระ และนัยที่จะกล่าวเป็นลำดับต่อไปนี้ เป็นเครื่องช่วยให้เข้าใจ อรรถแห่งพระพุทธพจน์ อันมีองค์ 9 สังคหวาระ จบ คำอธิบายของผู้แปล สังคหวาระ คือ คำที่กล่าวโดยย่อ ซึ่งเป็นบทนำของคัมภีร์ ในสังคหวาระนี้ท่านแสดงการนอบน้อมบูชา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง แล้วทรงประกาศศาสนาไว้ในโลก นอกจากนี้ยังแสดงโครงสร้างของคัมภีร์เนตติด้วย คำว่า โลก ในที่นี้หมายถึงหมู่สัตว์ ส่วนผู้รักษาโลก ได้แก่ท้าวมหาราช 4 พระองค์ คือ พระอินทร์ พระยม ท้าววรุณ และท้าวกุเวร อีกนัยหนึ่ง ได้แก่บุคคลผู้มีคุณธรรม 2 อย่าง คือ หิริ และโอตตัปปะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาไว้ 3 ประการ คือ ปริยัติศาสนา ปฏิบัติศาสนา และปฏิเวธศาสนา ใน 3 อย่างนั้น ปริยัติศาสนาชื่อว่า สูตร (หรือพระบาลี) สูตรทั้งปวงแบ่งออกเป็น 12 บท หรือ 12 ส่วน คือ พยัญชนะ (ศัพท์) 6 และอรรถะ 6. พยัญชนะ คือ ถ้อยคำที่ให้รู้ความหมาย ส่วนอรรถะ คือ เนื้อความของสูตรและกิริยาที่ให้รู้ความหมาย สำหรับรายละเอียดจะแสดงในนิทเทสวาระข้างหน้า ปริยัติศาสนา หมายถึงหลักธรรมคำสอนในขั้นของการศึกษา นับว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นรากฐานแห่งการปฏิบัติและการบรรลุผล แต่ปริยัติศาสนานั้นมีความละเอียดลึกซึ้ง มิใช่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ง่าย เมื่อไม่เข้าใจชัดก็ปฏิบัติไม่ถูก ดังนั้นพระมหากัจจายนเถระผู้ประกอบด้วยปฏิสัมภิทาญาณแตกฉานในพระไตรปิฎก และได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศในทางขยายความย่อให้พิสดาร จึงรจนาคัมภีร์เนตตินี้ขึ้นเพื่ออธิบายขยายความ แนะแนวพระไตรปิฎกให้ทราบพุทธประสงค์ และเข้าใจปริยัติศาสนาอย่างถูกต้องชัดเจน คัมภีร์เนตตินี้ประกอบด้วย หาระ 16, นัย 5, มูลบท 18 คัมภีร์นี้ชื่อว่า “เนตติ” เพราะสามารถนำเวไนยสัตว์ทั้งหลายไปสู่มรรคผลนิพพาน หรือเป็นเครื่องแนะนำ หรือเป็นที่แนะนำเวไนยสัตว์ทั้งหลายไปสู่มรรคผลนิพพาน ดังมีวิเคราะห์ว่า นยตีติ เนตติ เนตฺติ = คัมภีร์ใดย่อมนำเวไนยสัตว์ทั้งหลายไปสู่มรรคผลนิพพาน เพราะเหตุนั้น คัมภีร์นั้น ชื่อว่า เนตติ หรือ นยนฺติ เอตายาติ เนตฺติ = บุคคลผู้แสดงธรรมทั้งหลายย่อมแนะนำเวไนยบุคคลด้วยคัมภีร์นี้ เพราะเหตุนั้น คัมภีร์นั้น ชื่อว่า เนตติ หรือ นียนฺติ เอตฺถาติ เนตฺติ = เวไนยบุคคลทั้งหลายอันบุคคลผู้แสดงธรรมย่อมแนะนำคัมภีร์นี้ เพราะเหตุนั้น คัมภีร์นั้น ชื่อว่า เนตติ พระพุทธพจน์นั้นประกอบด้วยอรรถะและพยัญชนะ ดังมีคำที่กล่าวไว้ว่า "สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสสิ = พระพุทธเจ้าทรงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมด้วยอรรถะและพยัญชนะ” ฉะนั้นถ้าได้ศึกษาให้เข้าใจทั้งอรรถะและพยัญชนะ ก็จะทำให้ทราบพุทธประสงค์ และมองเห็นแนวทางแห่งการปฏิบัติ คัมภีร์เนตตินี้ช่วยให้เข้าใจพระพุทธพจน์ คำอธิบายของผู้แปล จบ 2. อุทเทสวาระ [ 1 ] ในคาถาว่า “โสฬสหารา (หาระ 16)” เป็นต้นนั้น หาระ 16 เป็นไฉน ? คือ เทสนาหาระ, วิจยหาระ, ยุตติหาระ, ปทัฏฐานหาระ, ลักขณหาระ, จตุพยูหหาระ, อาวัฏฏหาระ, วิภัตติหาระ, ปริวัตตนหาระ, เววจนหาระ, ปัญญัตติหาระ, โอตรณหาระ, โสธนหาระ, อธิฏฐานหาระ, ปริกขารหาระ และ สมาโรปนหาระ คาถาที่กล่าวตามอุทเทสแห่งหาระนั้น (สำหรับจดจำหาระ 16) หาระ มี 16 คือ เทสนาหาระ, วิจยหาระ, ยุตติหาระ, ปทัฏฐานหาระ, ลักขณหาระ, จตุพยูหหาระ, อาวัฏฏหาระ, วิภัตติหาระ, ปริวัตตนหาระ, เววจนหาระ, ปัญญัตติหาระ, โอตรณหาระ, โสธนหาระ, อธิฏฐานหาระ, ปริกขารหาระ และ สมาโรปนหาระ หาระ 16 ที่ข้าพเจ้าแสดงนั้นไม่มีการปะปนระคนกัน โดยเนื้อความ. การจำแนกโดยนัยอันสมควรจะมีโดยพิสดาร (ต่อไป) [ 2 ] ในคาถาว่า “โสฬสหารา (หาระ 16)” เป็นต้นนั้น นัย 5 เป็นไฉน ? คือ นันทิยาวัฏฏนัย, ติปุกขลนัย, สีหวิกกีฬิตนัย, ทิสาโลจนนัย, และ อังกุสนัย. คาถาที่กล่าวตามอุทเทสแห่งนัยนั้น (สำหรับจดจำนัย 5) พึงทราบว่านัยทั้งปวงมี 5 ดังนี้ คือ นัยที่ 1 ชื่อว่า นันทิยาวัฏฏะ, นัยที่ 2 ชื่อว่า ติปุกขละ, นัยที่ 3 อันสามารถนำมาซึ่งอรรถแห่งพระบาลี ชื่อว่า สีหวิกกีฬิตะ, ท่านกล่าวนัยที่ 4 อันประเสริฐว่า ทิสาโลจนะ, นัยที่ 5 ชื่อว่า อังกุสะ [ 3 ] ในคาถาว่า “โสฬสหารา (หาระ 16)” เป็นต้นนั้น มูลบท 18 เป็นไฉน ? คือ กุศลบท 9 และอกุศลบท 9. ในบรรดากุศลบทและอกุศลบทเหล่านั้น อกุศลบท 9 เป็นไฉน ? คือ ตัณหา, อวิชชา, โลภะ, โทสะ, โมหะ, สุภสัญญา, สุขสัญญา, นิจจสัญญา, และ อัตตสัญญา. ธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลทั้งหมดย่อมถึงการรวมเข้าในอกุศลบทเหล่านี้. ในบรรดากุศลบทและอกุศลบทเหล่านั้น กุศลบท 9 เป็นไฉน ? คือ สมถะ, วิปัสสนา, อโลภะ, อโทสะ, อโมหะ, อสุภสัญญา, อสุขสัญญา, อนิจจสัญญา, และ ออัตตสัญญา. ธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลทั้งหมดย่อมถึงการรวมเข้าในกุศลบทเหล่านี้. 9 บทเหล่านี้ คือ ตัณหา, อวิชชา, โลภะ, โทสะ, โมหะ และ วิปัลลาส 4 (สุภสัญญา, สุขสัญญา, นิจจสัญญา, อัตตสัญญา) เป็นอินทรียภูมิ. 9 บทเหล่านี้ คือ สมถะ, วิปัสสนา, กุศลมูล 3 (อโลภะ, อโทสะ, อโมหะ) และสติปัฏฐาน 4 (อสุภสัญญา, อสุขสัญญา, อนิจจสัญญา, อนัตตสัญญา) เป็นอินทรียภูมิ. สมถะเป็นต้นที่เป็นฝ่ายกุศล ข้าพเจ้าพรรณนาประกอบด้วย 9 บท และตัณหาเป็นต้นที่เป็นฝ่ายอกุศล ข้าพเจ้าพรรณนาประกอบด้วย 9 บท. 18 บทเหล่านี้แลชื่อว่า มูลบท. อุทเทสวาระ จบ คำอธิบายของผู้แปล ทั้งอรรถะและพยัญชนะ โดยใช้ หาระ 16 เป็นหลักในการพิจารณาพยัญชนะ (ศัพท์) และ นัย 3 อย่าง คือ นันทิยาวัฏฏนัย ติปุกขลนัย สีหวิกกีฬิตนัย เป็นหลักในการพิจารณาอรรถะ ส่วนนัยที่เหลืออีก 2 อย่าง คือ ทิสาโลจนนัย และอังกุสนัย เรียกว่า กรรมนัยหรือโวหารนัย เป็นเพียงการตรวจดูธรรมที่แสดงแล้วโดยอรรถนัย 3 อย่างข้างต้นเท่านั้น ไม่มีการพรรณนาอรรถต่างหาก หาระและนัยเหล่านี้ ผู้ศึกษาสามารถนำไปใช้ในสูตรทั้งปวงได้ เพราะท่านกำหนดจากพระบาลีแล้วนำมาวางเป็นกฎเกณฑ์ เป็นหลักในการศึกษา ดังนั้นคัมภีร์เนตติจึงจัดเป็นสังวรรณนาสูตรที่ขยายความตามสมควรแก่พระบาลีที่เป็นสังวัณเณตัพพสูตร หรือสูตรที่ควรขยาย คำอธิบายของผู้แปล จบ 3. นิทเทสวาระ [ 4 ] ในอุทเทสนั้น ข้าพเจ้าได้แสดงเนตติไว้โดยสังเขป (หาระสังเขป) 1. อัสสาทะ (สุขโสมนัสเป็นต้นที่น่ายินดี และตัณหาอันเป็นเหตุยินดี), อาทีนวะ (ทุกข์โทมนัส), นิสสรณะ (การออกจากวัฏฏะและพ้นออกไป), ผล, อุบาย และ อาณัตติ (การแนะนำตักเตือน) ของพระพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์แก่โยคีบุคคล (ผู้ปฏิบัติ) ชื่อว่า เทสนาหาระ 2. การพิจารณาคำปุจฉาก็ดี พิจารณาคำวิสัชนาก็ดี พิจารณาการกล่าวที่สมควรกับคำปุจฉาของสูตรก็ดี พิจารณาอัสสาทะเป็นต้นของสูตรก็ดี ท่านเรียกว่า วิจยหาระ 3. ศัพท์อันเป็นภูมิ และโคจร กล่าวคืออรรถของสูตรอันใดแห่งหาระทั้งปวง มีอยู่, การพิจารณาความสมควรและไม่สมควรแห่งศัพท์และอรรถเหล่านั้น ท่านเรียกว่า ยุตติหาระ 4. การพิจารณาเหตุใกล้ของธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอดจนธรรมทั้งปวงโดยนัยที่กล่าวแล้วนี้ ชื่อว่า ปทัฏฐานหาระ 5. เมื่อท่านกล่าวธรรมอย่างหนึ่ง ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีลักษณะเหมือนกัน ธรรมเหล่านั้นทั้งปวง (แม้ไม่ได้กล่าวไว้) ก็เป็นอันท่านกล่าวแล้วสังวรรณนาพิเศษนั้นชื่อว่า ลักขณหาระ 6. การวิเคราะห์ก็ดี การแสดงความประสงค์ (ของผู้แสดงธรรม มี พระพุทธเจ้า เป็นต้น) ก็ดี การแสดงเหตุแห่งความเป็นเทศนาก็ดี การสัมพันธ์บทหน้ากับบทหลังก็ดี โดยศัพท์ สังวรรณนาพิเศษนี้ชื่อว่า จตุพยูหหาระ 7. เมื่อยกธรรมอันหนึ่งซึ่งเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) ในพระบาลีขึ้นสู่เทศนาแล้ว หาธรรมที่ซึ่งเป็นปทัฏฐานเหมือนกัน และหมุน (เทศนา) ไปในธรรมฝ่ายตรงกันข้าม สังวรรณนาพิเศษนั้นชื่อว่า อาวัฏฏหาระ 8. หาระที่ท่านจำแนกธรรม, ปทัฏฐาน, ภูมิ และความเป็นสาธารณะ อสาธารณะ พึงทราบว่าเป็น วิภัตติหาระ 9. เมื่อแสดงกุศลธรรมที่ควรเจริญ หรืออกุศลธรรมที่ควรละแล้วพลิกไปในธรรมที่ตรงกันข้ามนี้ชื่อว่า ปริวัตตนหาระ 10. ธรรม (คือ อรรถของบท) อันหนึ่ง มีคำไวพจน์หลายอย่าง ซึ่งท่านกล่าวไว้ในพระบาลี ผู้ฉลาดในพระบาลีย่อมรู้ได้ สังวรรณนาพิเศษ (ที่มีลักษณะการใช้คำไวพจน์) นั้นชื่อว่า เววจนหาระ 11. พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง (มี ขันธ์ เป็นต้น) ด้วยบัญญัติหลายประการ, อาการที่ให้รู้ด้วยบัญญัติหลายประการนั้น พึงทราบว่าเป็น ปัญญัตติหาระ 12. สังวรรณนาพิเศษที่หยั่งลงในปฏิจจสมุปบาท, อินทรีย์, ขันธ์, ธาตุ และ อายตนะ ชื่อว่า โอตรณหาระ 13. การพิจารณาความหมดจดและไม่หมดจด แห่งอรรถที่ถูกปรารภในคำถามคำตอบ และคำที่ท่านยกขึ้นสู่คาถานั้น ชื่อว่า โสธนหาระ 14. ธรรมเหล่าใดถูกแสดงโดยสามัญและโดยพิเศษ ธรรมเหล่านั้น อันท่านไม่ต้องคำนึงถึงการจำแนกแจกแจง สังวรรณนานี้ชื่อว่า อธิฏฐานหาระ 15. ปัจจยธรรม (มี อวิชชา เป็นต้น) เหล่าใดยังปัจจยุปปันนธรรม (มี สังขาร เป็นต้น) อันใดให้เกิดขึ้น โดยความเป็นสหชาตปัจจัย และปัจจัยที่สืบ ๆ กันมา สังวรรณนาพิเศษที่ชักเหตุ (มี อวิชชา เป็นต้น อันต่างโดชนก เป็นต้น) นั้นมาพรรณนา ชื่อว่า ปริกขารหาระ 16. ธรรม (มี ศีล เป็นต้น) เหล่าใดเป็นมูลของธรรม (มี สมาธิ เป็นต้น) เหล่าใด พึงยกธรรม (มี ศีล เป็นต้น) เหล่านั้นขึ้นโดยความเป็นปทัฏฐานของธรรม (มี สมาธิ เป็นต้น) เหล่านั้น. ศัพท์เหล่าใดมีอรรถเหมือนกัน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว พึงยกศัพท์เหล่านั้นขึ้นโดยความเป็นคำไวพจน์ของกันและกัน นี้ชื่อว่า สมาโรปนหาระ (นัยสังเขป) 1. สังวรรณนาพิเศษที่นำตัณหา และอวิชชาเข้าไป (ในฝ่ายสังกิเลส) และนำสมถะ วิปัสสนา (ปัญญา) เข้าไป (ในฝ่ายโวทาน) โดยประกอบสัจจะทั้ง 4 นี้ชื่อว่า นันทิยาวัฏฏนัย 2. สังวรรณนานัยใดย่อมนำอกุศลธรรมทั้งหลายพร้อมทั้งมูลของตน (คือ โลภะ โมหะ โทสะ) ไป (สู่ฝ่ายสังกิเลส) และนำกุศลธรรมทั้งหลายพร้อมทั้งกุศลมูล (คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ) ไป (สู่ฝ่ายโวทาน) โดยประกอบกับสัจจะทั้ง 4 อย่างแท้จริง ไม่ผิดพลาด ท่านเรียกนัยว่า ติปุกขละ 3. สังวรรณนานัยใดย่อมนำกิเลสธรรมทั้งหลายไป ด้วยวิปัลลาส 4 และนำปฏิปัตติ ปฏิเวธสัทธรรมทั้งหลายไป ด้วยอินทรีย์ 5 (มี สัทธา เป็นต้น) โดยประกอบกับสัจจะทั้ง 4 บัณฑิตผู้รู้นัยเรียกนัยนั้นว่า สีหวิกกีฬิตะ 4. กุศลและอกุศลธรรมที่กล่าวไว้ในเวยยากรณะ (การวิสัชนาอรรถแห่งพระสูตร) ในพระบาลีนั้น ๆ ย่อมถูกพิจารณาด้วยใจ ท่านเรียกการพิจารณากุศลและอกุศลด้วยใจนั้นว่า ทิสาโลจนะ 5. บุคคลพิจารณา (ทิสาธรรมเหล่านั้น) ด้วยทิสาโลจนนัย แล้วยกออกจากสูตร นำกุศลธรรมและอกุศลธรรมทั้งปวงไปเชื่อมต่อกันด้วยดี นัยนี้ชื่อว่า อังกุสะ ท่านประกอบหาระ 16 เป็นเบื้องแรก แล้วพิจารณาความเป็นทิสาของอัตถนัยด้วยทิสาโลจนนัย แล้วแสดงพระสูตร (พระบาลี) ด้วยอัตถนัย 3 ประการ รวมทั้งอังกุสนัย (บท 12) อักขระ (อักษรที่ยังไม่สำเร็จเป็นบท), บท (บท 4 คือ นาม, อาขยาต, อุปสรรค, นิบาต), พยัญชนะ (วากยะที่แสดงอรรถซึ่งมีหลายบท), นิรุตติ (คำวิเคราะห์) นอกจากนั้นนิทเทส (คำขยายความ) และอาการ (ส่วนแห่งวากยะ) เป็นที่ 6 ทั้งหมดนี้เป็นพยัญชนะบท อรรถของพระสูตรและกิริยาการให้รู้ความหมายย่อมถูกแสดงด้วยอรรถบท 6 เหล่านี้ คือ สังกาสนะ (การแสดงโดยสังเขป), ปกาสนะ (การแสดงในเบื้องต้น), วิวรณะ (การไขความ), วิภชนะ (การจำแนก), อุตตานีกัมมะ (การทำให้ปรากฏชัด หรือการทำให้เข้าใจง่าย), ปัญญัตติ (การให้รู้โดยประการต่าง ๆ) ทั้งหมดนี้เป็นอรรถะบท อรรถแห่งพระพุทธพจน์ย่อมประกอบด้วยบท 9 (หรือด้วย 9 ส่วน) คือ นัยที่นับได้ 3 ถ้วน และบทที่นับได้ 6 ถ้วน แห่งอรรถะ (อรรถนัย 3, อรรถบท 6). เมื่อรวมทั้ง 2 อย่างแล้ว เนตติมีประมาณ 33 คือ อรรถมี 9 (หรือ 9 ส่วน) พยัญชนะมี 24 (คือ หาระ 16, พยัญชนบท 6, กัมมนัย 2) นิทเทสวาระ จบ 4. ปฏินิทเทสวาระ 1. เทสนาหารวิภังค์ [ 5 ] ในบรรดาหาระ 16 เหล่านั้น เทสนาหาระเป็นไฉน ? คาถาที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า “อสฺสาเททีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น ชื่อว่า เทสนาหาระ. เทศนาแสดงอะไร ? แสดงอัสสาทะ (สุขโสมมนัสอิฏฐารมณ์ที่น่ายินดี และตัณหา อันเป็นเหตุยินดี), อาทีนวะ (โทษ มี ทุกข์ โทมนัส เป็นต้น), นิสสรณะ (อริยมรรคและนิพพานที่ออกจากวัฏฏะ), ผล (ผลแห่งเทศนา), อุบาย (ปุพพภาคปฏิปทา อันเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นแห่งอริยมรรค) และ อาณัตติ (การแนะนำหรือตักเตือนเวไนยบุคคล) ดังที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จะประกาศพรหมจรรย์ พร้อมด้วยอรรถะและพยัญชนะ อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่เธอทั้งหลาย” คำอธิบายของผู้แปล หาระ คือ วิธีที่ช่วยขจัดความหลง ความสงสัย ความเข้าใจผิดในพระพุทธพจน์. เทสนาหาระ คือ วิธีอธิบายพระพุทธพจน์โดยจำแนกเป็นอรรถ 6 มี อัสสาทะ เป็นต้น แล้วนำไปสงเคราะห์ลงในสัจจะ 4 วิภังค์ คือ การจำแนกแจกแจงให้เข้าใจอย่างละเอียด ดังนั้น หารวิภังค์จึงหมายถึงการอธิบายหาระแต่ละอย่างโดยละเอียด ได้แก่การแสดงหาระเดียว โดยยกสูตรมาเป็นตัวอย่างหลาย ๆ สูตร คำอธิบายของผู้แปล จบ ในคาถาว่า “อสฺสาเททีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อัสสาทะเป็นไฉน ? คาถาว่า สัตว์โลกย่อมปรารถนาสิ่งใด ถ้าสิ่งนั้นสำเร็จแก่เขาผู้ต้องการวัตถุกาม (สิ่งที่น่าใคร่) เขาย่อมมีใจยินดีแน่แท้ เพราะได้วัตถุกามนั้น นี้ชื่อว่า อัสสาทะ ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อาทีนวะเป็นไฉน ? คาถาว่า หากว่ากามเหล่านั้นของสัตว์ผู้ต้องการวัตถุกาม และเกิดความพอใจแล้วนั้น เสื่อมไป เขาย่อมถึงความวิปริต เหมือนถูกยิงด้วยลูกศร นี้ชื่อว่า อาทีนวะ ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น นิสสรณะเป็นไฉน ? คาถาว่า บุคคลใดหลีกเว้นกามทั้งหลาย เหมือนทำเท้าของตนหลีกศีรษะงู (ที่พบในทาง) ฉะนั้น บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหานี้ได้ในโลก นี้ชื่อว่า นิสสรณะ ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อัสสาทะเป็นไฉน ? คาถาว่า ความปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งนา ไร่ เงินทอง วัว ม้า บรุษทาส (คนรับใช้) สตรี พวกพ้อง หรือกามคุณอีกหลายอย่าง นี้ชื่อว่า อัสสาทะ ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อาทีนวะเป็นไฉน ? คาถาว่า กิเลสทั้งหลาย (ที่ชื่อว่า อพละ) ย่อมครอบงำบุคคลผู้ปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งกามนั้น อันตรายทั้งหลาย (ที่ปรากฎและไม่ปรากฎ) ย่อมเบียดเบียนบุคคลผู้แสวงหากามนั้น. ทุกข์ (มีชาติทุกข์ เป็นต้น) ย่อมติดตามบุคคลผู้ถูกอันตรายเหล่านั้นครอบงำไป เหมือนน้ำไหลเข้าไปสู่เรือที่แตก ฉะนั้น นี้ชื่อว่า อาทีนวะ ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น นิสสรณะเป็นไฉน ? คาถาว่า เพราะฉะนั้นบุคคลเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงหลีกเว้นกามทั้งหลาย. เมื่อละกามเหล่านั้นแล้วพึงข้ามโอฆะทั้ง 4 ได้ เหมือนบุคคลวิดน้ำออกจากเรือ (ที่หนักด้วยน้ำ) แล้วไปถึงฝั่ง (โดยไม่ยาก) ฉะนั้น นี้ชื่อว่า นิสสรณะ ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น ผลเป็นไฉน ? คาถาว่า กุศลธรรมย่อมรักษาผู้มีปกติประพฤติธรรม ดุจร่มใหญ่ที่ช่วยกันฝนในเวลาฝนตก ฉะนั้น นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ นี้ชื่อว่า ผล ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อุบายเป็นไฉน ? คาถาว่า เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในวัฏทุกข์ การเบื่อหน่ายในวัฏทุกข์นี้ เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน นี้ชื่อว่า อุบาย ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อาณัตติเป็นไฉน ? คาถาว่า บัณฑิตผู้มีปัญญาในสัตว์โลก พึงเว้นจากบาป (ทุจริต 3) ดุจบุคคลผู้มีตาดี เมื่อมีความบากบั่นเดินทางอยู่ พึงเว้นทางที่ขรุขระ ฉะนั้น นี้ชื่อว่า อาณัตติ เทศนา “ดูก่อนโมฆราช เธอจงพิจารณาดูโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า” ชื่อว่า อาณัตติ เทศนาว่า “สทา สโต (เป็นผู้มีสติเจริญกรรมฐานทุกเมื่อ)” ชื่อว่า อุบายเทศนา บุคคลถอนแล้ว (ตัดขาดแล้ว) ซึ่งสักกายทิฏฐิ (ด้วยมรรคญาณ) พึงเป็นผู้ข้ามพ้นวิสัยแห่งมัจจุราชได้ด้วยวิธีอย่างนี้ นี้ชื่อว่า ผล [ 6 ] ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนิสสรณะ แก่อุคฆฏิตัญญูบุคคล, ทรงแสดงอาทีนวะ และ นิสสรณะ แก่วิปัญจิตัญญูบุคคล, ทรงแสดง อัสสาทะ อาทีนวะ และ นิสสรณะ แก่เนยยบุคคล ในเทศนา มี นิสสรณะ เป็นต้นนั้น ปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) มี 4, บุคคลมี 4 ดังนี้ บุคคลผู้เป็นตัณหาจริต มีปัญญาน้อย ย่อมออกจากวัฏฏะ (ด้วยอริยมรรค) ด้วยธรรมที่อาศัยทั้งหลาย กล่าวคือ สติปัฏฐาน ด้วยสตินทรีย์ ปฏิปทาอันลำบาก และการรู้ช้า. บุคคลผู้เป็นตัณหาจริต มีปัญญามาก ย่อมออกจากวัฏฏะ (ด้วยอริยมรรค) ด้วยธรรมที่อาศัยทั้งหลาย กล่าวคือ ฌาณ ด้วยสมาธินทรีย์ ปฏิปทาอันลำบาก และการรู้เร็ว. บุคคลผู้เป็นทิฏฐิจริต มีปัญญาน้อย ย่อมออกจากวัฏฏะ (ด้วยอริยมรรค) ด้วยธรรมที่อาศัยทั้งหลาย กล่าวคือ สัมมัปปธาน ด้วยวิริยินทรีย์ ปฏิปทาอันสบาย และการรู้ช้า. บุคคลผู้เป็นทิฏฐิจริต มีปัญญามาก ย่อมออกจากวัฏฏะ (ด้วยอริยมรรค) ด้วยธรรมที่อาศัยทั้งหลาย กล่าวคือ สัจจะ ด้วยปัญญินทรีย์ ปฏิปทาอันสบาย และการรู้เร็ว ตัณหาจริตบุคคลทั้งสอง ย่อมออกจากวัฏฏะด้วยเจโตวิมุติ (อนาคามิผลสมาธิ) อันเป็นเหตุสำรอกราคะ ด้วยวิปัสสนาอันมีสมาธิเป็นประธาน (นำหน้า) ทิฏฐิจริตบุคคลทั้งสอง ย่อมออกจากวัฏฏะด้วยปัญญาวิมุติ (อรหัตตผลปัญญา) ด้วยสมาธิอันมีวิปัสสนาเป็นประธาน (นำหน้า) ในบรรดาบุคคลเหล่านั้น ตัณหาบุคคลจริตทั้งสองเหล่าใด ย่อมออกจากวัฏฏะด้วยปฏิปทาทั้งหลาย อันมีสมาธิเป็นประธาน บุคคลเหล่านั้นพึงแนะนำด้วย นันทิยาวัฏฏนัย. ทิฏฐิจริตบุคคลทั้งสองเหล่าใด ย่อมออกจากวัฏฏะด้วยปฏิปทาทั้งหลายอันมีวิปัสสนาเป็นประธาน (นำหน้า) บุคคลเหล่านั้นพึงแนะนำด้วยสีหวิกกีฬิตนัย [ 7 ] เทสนาหาระนั้นเกิดในบุคคลไหน ? พระพุทธเจ้าก็ดี เพื่อนพรหมจารีผู้น่าเคารพคนใดคนหนึ่งก็ดี ย่อมแสดงธรรมแก่บุคคลใด บุคคลนั้นฟังธรรมนั้นแล้วได้ศรัทธา (เทสนาหาระย่อมเกิดในบุคคลนั้น). การพิจารณา อุตสาหะ ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ในธรรมที่ตนได้ฟังนั้น ชื่อว่า สุตมยปัญญา การพิจารณา ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง เพ่งด้วยใจ โดยอาศัยการฟังธรรมนั้น ชื่อว่า จินตมยปัญญา อริยมรรคญาณใดย่อมเกิดในทัสสนภูมิ (กล่าวคือโสดาปัตติมรรคผล) ก็ดี ในภาวนาภูมิ (กล่าวคือเสกขะและอเสกขะที่เหลือ) ก็ดี แก่บุคคลผู้เพียรพยายามกระทำไว้ในใจด้วยปัญญา 2 อย่างเหล่านี้ ปัญญานี้ชื่อว่า ภาวนามยปัญญา [ 8 ] ปัญญาที่เกิดจากปรโตโฆสปัจจัย (เสียงธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า) ชื่อว่า สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ซึ่งเกิดภายในตน ชื่อว่า จินตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากปรโตโฆสปัจจัย และการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ซึ่งเกิดภายในตน ชื่อว่า ภาวนามยปัญญา. บุคคลที่มีปัญญา 2 อย่างนี้ คือ สุตมยปัญญา และจินตมยปัญญา ชื่อว่า อุตฆฏิตัญญู บุคคลที่มีสุตมยปัญญา แต่ไม่มีจินตมยปัญญา ชื่อว่า วิปัญจิตัญญู บุคคลที่ไม่มีทั้งสุตมยปัญญา และจินตมยปัญญา ชื่อว่า เนยยะ [ 9 ] ธรรมเทศนานั้น ย่อมแสดงอะไร ? แสดงสัจจะทั้ง 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. อาทีนวะ และ ผล ชื่อว่า ทุกขสัจจะ, อัสสาทะ ชื่อว่า สมุทัยสัจจะ, นิสสรณะ ชื่อว่า นิโรธสัจจะ, อุบาย และ อาณัตติ ชื่อว่า มรรคสัจจะ ย่อมแสดงสัจจะทั้ง 4 เหล่านี้ เทศนานี้ชื่อว่า ธรรมจักรสูตร ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราได้แสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ว่า “หมู่เตภูมกธรรม นี้ ชื่อว่า ทุกขสัจจะ” ซึ่งสมณะ (ภิกษุ) ก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี บุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ดีในโลก ไม่สามารถแสดงได้” ดังนี้เป็นต้น ทั้งหมดนี้ชื่อว่า ธรรมจักร.1 1. วิ. มหา. 4/13–17/13–16, สํ. มหา. 19/1081/367–370, ขุ. ปฏิ. 31/30/358–361 ในเทศนานั้น บทไม่มีประมาณ, อักษรไม่มีประมาณ, วากยะ (พฺยญฺชน) ไม่มีประมาณ, ส่วนแห่งวากยะที่จำแนกแล้ว (นิทเทส) ไม่มีประมาณ. การแสดงโดยสังเขป การแสดงในเบื้องต้น การขยายความ การจำแนก การทำให้เข้าใจง่าย การให้รู้โดยประเภทแห่งอรรถ กล่าวคือสัจจะ 4 นั้นแล ไม่มีประมาณ. พึงทราบทุกขอริยสัจนี้ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราได้แสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสีว่า “ตัณหานี้ชื่อว่า สมุทัยสัจจะ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นิพพานนี้ชื่อ ทุกขนิโรธสัจจะ อันเป็นที่ดับทุกข์, มรรค อันมีองค์ 8 นี้ชื่อว่า มรรคสัจจะ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์” ซึ่งสมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี บุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ดีในโลก ไม่สามารถแสดงได้ ในเทศนานั้น บทไม่มีประมาณ อักษรไม่มีประมาณ วากยะ (พฺยญฺชน) ไม่มีประมาณ, ส่วนแห่งวากยะที่จำแนกแล้ว (อาการ), วิเคราะห์ (เนรุตฺต), คำขยายความวิเคราะห์ (นิทเทส) ไม่มีประมาณ. การแสดงโดยสังเขป, การแสดงในเบื้องต้น, การขยายความ, การจำแนก, การทำให้เข้าใจง่าย, การให้รู้โดยประเภทแห่งอรรถ กล่าวคือสัจจะ 4 นั้นแล ไม่มีประมาณ พึงทราบทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ ด้วยประการฉะนี้. ในบรรดาพยัญชนบท 6 เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถโดยสังเขป ด้วยอักษรทั้งหลาย ทรงแสดงอรรถในเบื้องต้นด้วยบททั้งหลาย ทรงขยายความด้วยวากยะทั้งหลาย ทรงจำแนกอรรถด้วยส่วนแห่งวากยะทั้งหลาย ทรงทำความเข้าใจง่ายด้วยวิเคราะห์ทั้งหลาย ทรงให้รู้อรรถโดยประเภทด้วยคำขยายความวิเคราะห์ทั้งหลาย ในบรรดาพยัญชนบท 6 เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถที่ประสงค์โดยสังเขป ด้วยอักษรและบททั้งหลาย ทรงแสดงโดยไม่สังเขปไม่พิสดาร ด้วยวากยะและส่วนแห่งวากยะทั้งหลาย ทรงกระทำให้พิสดาร ด้วยวิเคราะห์ และขยายความวิเคราะห์ทั้งหลาย ในบรรดาเทศนาทั้งหลาย มี อุคฺฆฏน (การยกหัวข้อ) เป็นต้นเหล่านั้น การแสดงโดยสังเขป เป็นเบื้องต้นแห่งเทศนา, การแสดงโดยไม่สังเขปไม่พิสดาร เป็นท่ามกลางแห่งเทศนา, การแสดงโดยพิสดารเป็นที่สุดแห่งเทศนา. พระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้น เมื่อพระองค์ทรงแสดงโดยสังเขป ย่อมแนะนำอุคฆฏิตัญญูบุคคล เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้นว่า “อาทิกลฺยาณ (มีความงามในเบื้องต้น)” เมื่อทรงแสดงโดยไม่สังเขปไม่พิสดาร ย่อมแนะนำวิปัญจิตัญญูบุคคล เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้นว่า “มชฺเฌกลฺยาณ (มีความงามในท่ามกลาง)”. เมื่อทรงแสดงโดยพิสดาร ย่อมแนะนำเนยยบุคคล เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้นว่า “ปริโยสานกลฺยาณ (มีความงามในที่สุด) [ 10 ] ในเทศนาว่า “ธมฺมํ โว ภิกฺขเว เทเสสฺสามิ (ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงธรรมแก่เธอทั้งหลาย)” นั้น บท 6 ทั้งหลาย ชื่อว่าอรรถแห่งพระบาลี. บท 6 เหล่านั้นเป็นไฉน ? คือ เนื้อความโดยสังเขป, เนื้อความที่แสดงในเบื้องต้น, เนื้อความที่ขยายความ, เนื้อความที่จำแนก, เนื้อความที่ทำให้ปรากฏชัด (หรือทำให้เข้าใจง่าย), เนื้อความที่ให้รู้โดยประการต่าง ๆ . บท 6 เหล่านี้ ชื่อว่า อรรถแห่งพระบาลี. บท 6 ชื่อว่า ศัพท์. บท 6 เหล่านั้นเป็นไฉน ? คือ อักษร, บท, วากยะ(ประโยค), ส่วนแห่งวากยะ, วิเคราะห์, คำขยายความวิเคราะห์. บท 6 เหล่านี้ ชื่อว่า ศัพท์. เพราะเหตุนั้น (เพราะความบริบูรณ์ด้วยอรรถบทและพยัญชนบทเหล่านั้น) พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมด้วยอรรถะและพยัญชนะแก่เธอทั้งหลาย”. บทว่า "เกวลํ" หมายความว่า เป็นโลกุตรธรรมล้วน ๆ ไม่ระคนด้วยโลกิยธรรม. บทว่า “ปริปุณฺณํ” หมายความว่า บริบูรณ์ ไม่หย่อนไม่ยิ่ง. บทว่า “ปริสุทฺธํ” คือ ไม่มีมลทิน ปราศจากมลทินทั้งปวง สะอาดหมดจด เป็นที่ตั้งแห่งคุณวิเศษทั้งปวง. ข้อปฏิบัตินี้เรียกว่า “ตถาคตบท (หนทางเป็นที่เสด็จไปของพระพุทธเจ้า)” บ้าง, เรียกว่า “ตถาคตนิเสวิต (สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเสพ)” บ้าง, เรียกว่า “ตถาคตรญฺชิต (ที่เจาะด้วยพระเขี้ยว กล่าวคือสัพพัญญุตญาณของพระพุทธเจ้า)” บ้าง ด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงบัญญัติศาสนานี้ว่า พรหมจรรย์ (ความประพฤติอันประเสริฐ) เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เราจะประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง” ธรรมเทศนานี้ แสดงเพื่อประโยชน์แก่ใคร ? เพื่อประโยชน์แก่โยคีบุคคล (ผู้ปฏิบัติ) ทั้งหลาย. เพราะฉะนั้น ท่านมหากัจจายนเถระจึงกล่าวว่า อัสสาทะ, อาทีนวะ, นิสสรณะ, ผล, อุบาย และอาณัตติ (การแนะนำตักเตือน) ของพระผู้มีพระภาค เพื่อประโยชน์แก่โยคีบุคคลทั้งหลาย เป็นสังวรรณนาพิเศษ ชื่อว่า เทสนาหาระ เทสนาหาระ ท่านยกจากพระบาลีมาประกอบแล้ว 2. วิจยหารวิภังค์ [ 11 ] ในบรรดาหาระเหล่านั้น วิจยหาระเป็นไฉน ? คาถาที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า “ยํปุจฺฉิตญฺจ วิสฺสชฺชิตญฺจ (การพิจารณาคำถามก็ดี การพิจารณาคำตอบก็ดี)” เป็นต้นนั้น ชื่อว่า วิจยหาระ วิจยหาระ พิจารณาอะไร ? พิจารณา บท, คำถาม, คำตอบ, คำหน้ากับคำหลัง, อัสสาทะ, อาทีนวะ, นิสสรณะ, ผลแห่งเทศนา, อุบาย, อาณัตติ, อนุคีติ (การกล่าวโดยสมควร) และ พระสูตร 9 ประการ มี สุตตะ เคยยะ เป็นต้นทั้งปวง. เหมือนอะไร? เหมือนที่ท่านพระอชิตะทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคในปารายนสูตร พระอชิตะทูลถามว่า สัตว์โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้, สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฎ เพราะธรรมอะไร, พระองค์กล่าวอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลกนั้น, อะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น1 1. ขุ. สุ. 25/1039/531, ขุ. จูฬ. 30/1/25 4 ประโยคเหล่านี้เป็นคำถาม. อรรถที่ถูกถามด้วย 4 ประโยคนั้นเป็นปัญหาอันหนึ่ง. เพราะเหตไร ? เพราะกำหนดเอาวัตถุที่ตั้งคือโลกอันหนึ่ง สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า พระอชิตะถามถึงที่ตั้งคือโลกด้วยประโยคว่า “เกนสฺสุ นิวุโตโลโก (สัตว์โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้)” ถามถึงการไม่ปรากฏแห่งโลกด้วยประโยคว่า “เกนสฺสุ นปฺปกาสติ (สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏเพราะธรรมอะไร)” ถามถึงการฉาบทาโลกด้วยประโยคว่า “กิสฺสาภิเลปนํ พฺรูสิ (พระองค์กล่าวอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก)” ถามถึงภัยใหญ่ของโลกนั้นด้วยประโยคว่า “กึ สุ ตสฺส มหพฺภยํ (อะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)” โลก มี 3 คือ กิเลสโลก (กล่าวคืออบายสัตว์) ภวโลก (กล่าวคือสัตว์ที่นอกจากอบายสัตว์) และ อินทรียโลก (กล่าวคือสัตว์ที่สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ มี สัทธา เป็นต้น ที่สามารถทำให้ถึงวิมุติ) ในคำปุจฉานั้น มีวิสัชนา ดังนี้ :- พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สัตว์โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้, สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏ เพราะความสงสัย เพราะความประมาท, เรากล่าวตัณหาว่า เป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก, ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น 1 1. ขุ. สุ. 25/1040/531, ขุ. จูฬ. 30/2/26 4 ประโยคเหล่านี้ ( ที่กล่าวไว้ในคาถาปุจฉา) ท่านวิสัชนาแล้วด้วย 4 ประโยคเหล่านี้ (ที่กล่าวไว้ในคาถาวิสัชนา) ประโยคที่ 1 (ที่กล่าวไว้ในคาถาปุจฉา) ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 1 (ที่กล่าวไว้ในคาถาวิสัชนา) ประโยคที่ 2 ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 2, ประโยคที่ 3 ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 3, ประโยคที่ 4 ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 4 ในปัญหาว่า “เกนสฺสุ นิวุโต โลโก (สัตว์โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้)” มีคำวิสัชนาว่า “อวิชฺชา นิวุโต โลโก (สัตว์โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้)”, สัตว์โลกถูกนิวรณ์ทั้งหลายห่อหุ้มไว้ จริงอย่างนั้น สัตว์ทั้งปวงมีอวิชชาห่อหุ้ม สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “เรากล่าวธรรมอย่างหนึ่ง คือ อวิชชา ว่าเป็นเครื่องห่อหุ้มสัตว์ที่ติดอยู่ในอารมณ์ทั้งปวง สัตว์ผู้มีลมปราณทั้งปวง สัตว์ผู้เติบโตทั้งปวง เพราะเป็นเหตุแห่งกามฉันทนิวรณ์เป็นต้น. แท้จริงสัตว์ทั้งปวงมีอวิชชาเป็นเครื่องห่อหุ้ม ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่า นิวรณ์ย่อมไม่มีแก่สัตว์ทั้งหลายเพราะการดับ เพราะการสละ เพราะการสลัดอวิชชา โดยประการทั้งปวง”. เพราะเหตุนั้นแล คำวิสัชนา (ว่า อวิชฺชาย นิวุโต โลโก) แห่งประโยคที่ 1 (ว่า เกนสฺสุ นิวุโต โลโก) อันท่านประกอบแล้ว ในปัญหา (ข้อที่ 2) ว่า “เกนสฺสุ นปฺปกาสติ (สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏเพราะธรรมอะไร)” มีคำวิสัชนาว่า “วิจิจฺฉา ปมาทา นปฺปกาสติ (สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏเพราะความสงสัย เพราะความประมาณ)”. บุคคลที่ถูกนิวรณ์ณ์ทั้งหลายห่อหุ้มย่อมสงสัย ท่านเรียกว่า วิวิจฺฉา. บุคคลที่สงสัยย่อมไม่เชื่อ (ผลแห่งกรรม) เมื่อไม่เชื่อ (ผลแห่งกรรม) ย่อมไม่เพียรพยายามเพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย และเพื่อกระทำให้ประจักษ์กุศลธรรมทั้งหลาย. บุคคลนั้นประกอบความประมาทเนือง ๆ เป็นผู้ประมาทอยู่ในศาสนานี้ ไม่ยังกุศลธรรมที่สะอาดหมดจดให้เกิดขึ้น. กุศลธรรม มี ศีล สมาธิ เป็นต้น เหล่านั้นที่ตนไม่ทำให้เกิดขึ้น ย่อมไม่ปรากฏแก่บุคคลผู้ประมาทนั้น สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สัตบุรุษทั้งหลายแม้อยู่ไกลก็ย่อมปรากฏ (แก่บัณฑิตทั้งหลาย) เหมือนภูเขา หิมวันต์ แม้อยู่ไกลก็เห็นได้ฉะนั้น อสัตบุรุษทั้งหลาย (แม้อยู่ใกล้) ย่อมไม่ปรากฏ (แก่บัณฑิตทั้งหลาย) ในศาสนานี้ เหมือนลูกศรที่เขายิงไปในเวลากลางคืน ฉะนั้น สัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมปรากฏด้วยคุณ ชื่อเสียง และบริวาร1 1. ขุ. ธ. 25/304/69 เพราะเหตุนั้นแล คำวิสัชนาแห่งประโยคที่ 2 อันท่านประกอบแล้ว (เช่นนั้น) ในปัญหา (ข้อที่ 3) ว่า “กิสฺสาภิเลปนํ พฺรูสิ (พระองค์กล่าวอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก)” มีคำว่าวิสัชนาว่า “ชปฺปาภิเลปนํ พฺรูมิ (เรากล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก)” ตัณหา ท่านเรียกว่า ชัปปา. ตัณหานั้นฉาบทาด้วยอาการอย่างไร ? ด้วยอาการดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สัตว์โลกผู้มีราคะย่อมไม่รู้อรรถที่เป็นผล ย่อมไม่เห็นเหตุ. ราคะย่อมเบียด เบียนบุคคลใด ความมืดอย่างยิ่งย่อมมีแก่บุคคลนั้นในกาลนั้น2 2. ขุ. อิติ. 25/88/305, ขุ. มหา. 29/5,156,195/12,302,399, ขุ. จูฬ. 30/128/263 สัตว์โลกชื่อว่าถูกตัณหาฉาบทา เพราะเหตุว่า ตัณหานั้นทำบุคคผู้ติดอยู่ในอารมณ์ให้ติดในอารมณ์ยิ่งขึ้นแล้วเบียดเบียนด้วยอาการดังกล่าวนั้น เพราะเหตุนั้นแล คำวิสัชนาแห่งประโยคที่ 3 อันท่านประกอบแล้ว (เช่นนั้น) ในปัญหา (ข้อที่ 4) ว่า “กึสุ ตสฺส มหพฺภยํ (อะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)” มีคำวิสัชนาว่า “ทุกขมสฺส มหพฺภยํ (ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)” ทุกข์มี 2 อย่าง คือ กายิกทุกข์ (ทุกข์ทางกาย) และ เจตสิกทุกข์ (ทุกข์ทางใจ). ทุกข์ที่เกิดขึ้นในกายวิญญาณจัดเป็นทุกข์, ทุกข์ที่เกิดในโทสมูลจิตจัดเป็นโทมนัส. เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งปวงหวาดกลัวทุกข์ ฉะนั้นภัยที่เสมอเหมือนกับทุกข์ย่อมไม่มี. ทุกขตา (ความเป็นทุกข์) มี 3 อย่าง คือ ความเป็นทุกขทุกข์ กล่าวคือทุกขเวทนา, ความเป็นทุกข์แห่งสังขารธรรม, ความเป็นวิปริณามทุกข์อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง. ในบรรดาทุกข์ 3 ประการเหล่านั้น สัตว์โลกย่อมพ้นจากทุกขทุกข์ โดยบางส่วนในบางครั้งบางคราว บางสัมปัตติภพ, ย่อมพ้นจากวิปริณามทุกข์แบบนั้นเหมือนกัน, การพ้นจากทุกข์เช่นนั้นเกิดจากเหตุอะไร ? เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งหลายในโลกเป็นผู้มีโรคน้อยและมีอายุยืน ฉะนั้นจึงพ้นจากทุกข์เช่นนั้นได้, แต่สัตว์โลกพ้นจากสังขารทุกข์ได้ด้วยนิพพานธาตุอันไม่มีวิบากนามขันธ์กฏัตตารูป เหลืออยู่. เพราะฉะนั้น (พระผู้มีพระภาคจึงตรัสคำนี้) ว่า “ทุกฺขมสฺส มหพฺภยํ (ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)” คำวิสัชนาแห่งประโยคที่ 4 อันท่านประกอบแล้ว ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสคำวิสัชนาว่า “อวิชฺชาย นิวุโต โลโก (สัตว์โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้)” พระอชิตะทูลถามว่า กระแส (คือ ตัณหา) ทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง (มี รูป เป็นต้น) อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงทรงบอกการสังวรกล่าวคือการป้องกันกระแสทั้งหลาย บุคคลย่อมปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ด้วยธรรมอะไร1 1. ขุ. สุ. 25/1041/531, ขุ. จูฬ. 30/3/30 4 ประโยคเหล่านี้เป็นคำถาม อรรถที่ถูกกล่าวด้วยคาถาเหล่านั้นเป็นปัญหา 2 ข้อ เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุที่อรรถอันถูกกล่าวด้วยคาถาเหล่านี้ ถูกถามแล้วด้วยศัพท์ที่อาศัยหลายอย่าง ฉะนั้นจึงมีปัญหา 2 ข้อ พระอชิตะประสงค์จะถามว่า สัตว์โลกที่ถูกภัยต่าง ๆ (มีการสูญเสียญาติเป็นต้นเบียดเบียนเช่นนั้น) และมีความเศร้าหมองเร่าร้อนเช่นนั้น จะหมดจดและพ้นจากสังสารวัฏได้อย่างไร ดังคำที่ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น คำว่า “สวนฺติ สพฺพธิ โสตา (กระแส คือ ตัณหา ทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง)” หมายความว่า กระแส (คือ ตัณหา) ของบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มี อภิชฌา พยาบาท และความประมาทมากย่อมไหลไป. ในบรรดาธรรม (มี อภิชฌา เป็นต้น) เหล่านั้น ธรรมชาตินี้ (คือ ตัณหา) ถูกกล่าวว่าเป็น โลภะ เป็นอกุศลมูล. ธรรมชาติใดชื่อว่า พยาบาท ธรรมชาตินี้ถูกกล่าวว่าเป็น โทสะ เป็นอกุศลมูล. ธรรมชาติใดชื่อว่า ปมาท ธรรมชาตินี้ถูกกล่าวว่าเป็น โมหะ เป็นอกุศลมูล. ตัณหาทั้งหลาย คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ของบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ย่อมไหลไปในอายตนะภายนอก 6 ด้วยธรรม 3 ประการ ดังกล่าวนั้น สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย คำว่า “สวติ (ไหลไป)” นี้แลเป็นชื่อของอายตนะภายใน 6. จักษุ (ตา) ย่อมไหลไปในรูปารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในรูปารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. โสตะ (หู) ย่อมไหลไปในสัททารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในสัททารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ฆานะ (จมูก) ย่อมไหลไปในคันธารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในคันธารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ชิวหา (ลิ้น) ย่อมไหลไปในรสารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในรสารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. กายย่อมไหลไปในโผฏฐัพพารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในโผฏฐัพพารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ใจย่อมไหลไปในธัมมารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในธัมมารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ย่อมไหลไปโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้. เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า “สวนฺติ สพฺพธิ โสตา (กระแส คือ ตัณหา ทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง)” พระอชิตะถามถึงวิธีละปริยุฏฐานกิเลสด้วยคำว่า “โสตานํ กึ นิวารณํ (อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย)” การละปริยุฏฐานกิเลสนี้เป็นความหมดจด ถามถึงวิธีตัดอนุสัยกิเลสอย่างเด็ดขาดด้วยคำว่า “โสตานํ สํวรํ พฺรูหิ, เกน โสตา ปิธียเร (ขอพระองค์จงทรงบอกการสังวรกล่าวคือการป้องกันกระแสทั้งหลาย บุคคลย่อมปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ด้วยธรรมอะไร)” การตัดอนุสัยกิเลสอย่างเด็ดขาดนี้เป็นเหตุออกจากวัฏสงสาร คำวิสัชนาในปัญหา 2 ข้อนี้ พึงทราบดังนี้ :- พระผู้มีพระภาคตรัสว่า (ดูก่อนอชิตะ) กระแส (คือ ตัณหา) เหล่าใดย่อมไหลไปในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแส (คือ ตัณหา) เหล่านั้น เรากล่าว (สตินั้นแหละ) ว่าเป็นเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย (ในขณะแห่งมรรค) กระแสเหล่านั้นพึงถูกปิดกั้นด้วยมรรค ปัญญา1 1. ขุ. สุ. 25/1042/532, ขุ. จูฬ. 30/4/31 เมื่อบุคคลเจริญกายคตาสติ กระทำให้มากแล้ว จักขุ (ตา) ย่อมไม่ดึงไปในรูปารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. โสตะ (หู) ย่อมไม่ดึงไปในสัททารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในสัททารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ฆานะ (จมูก) ย่อมไม่ดึงไปในคันธารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในคันธารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ชิวหา (ลิ้น) ย่อมไม่ดึงไปในรสารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในรสารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. กาย ย่อมไม่ดึงไปในโผฏฐัพพารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในโผฏฐัพพารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ใจ ย่อมไม่ดึงไปในธัมมารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในธัมมารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ เพราะเหตุไร ? เพราะป้องกันรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย (มี จักขุ เป็นต้น) ไว้ดีแล้ว กระแสทั้งหลาย มีตัณหาเป็นต้นเหล่านั้น บุคคลจะป้องกันได้ดี ด้วยธรรมอะไร ? ด้วยการรักษาคือสติ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “สติ เตสํ นิวารณํ (สติเป็นเครื่องกั้นกระแส คือ ตัณหา เหล่านั้น)” บุคคลย่อมละอนุสัยทั้งหลายได้ด้วยปัญญา เมื่อละอนุสัยแล้วก็เป็นอันละปริยุฏฐานกิเลสด้วย. เพราะเหตุไร ? เพราะอนุสัยถูกละแล้ว เปรียบเหมือน เมื่อถอนรากถอนโคนต้นไม้ที่มีลำต้นจนหมดสิ้นไป ฉันใด เมื่ออนุสัยถูกละแล้ว ความสืบต่อแห่งปริยุฏฐานกิเลสก็เป็นอันขาดสิ้นถูกปิดกั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. ถูกปิดกั้นด้วยอะไร ? ด้วยปัญญา. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ปญฺญาเยเต ปิธียเร (กระแสเหล่านั้นพึงถูกปิดกั้นด้วยมรรคปัญญา)” พระอชิตะทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้นิรทุกข์ ปัญญาและสติ (ที่พระองค์ตรัสแล้ว) ก็ดี นามรูป (ที่นอก จาก 2 อย่างนั้น) ก็ดี ทั้งหมดนี้ย่อมดับสนิทในที่ไหน. พระองค์อันข้าพเจ้าถามแล้ว ขอจงตรัสบอกที่ดับนี้ (แก่ข้าพระองค์)1 1. ขุ. สุ. 25/1043/532, ขุ. จูฬ. 30/5/34 พระผู้มีพระภาคบอกว่า ดูก่อนอชิตะ เราจะตอบปัญหาที่ถามนั้นแก่เธอ. นามและรูปย่อมดับสนิทอย่างไม่เหลือในที่ใด หมู่นามรูปทั้งปวงนี้ย่อมดับสนิทด้วยการดับแห่งวิญญาณในที่นั้น2 2. ขุ. สุ. 25/1044/532, ขุ. จูฬ. 30/6/35 พระอชิตะนี้ย่อมถามถึงอนุสนธิ (การสืบต่อ) ในปัญหา. เมื่อถามอนุสนธิ ชื่อว่า ถามอะไร ? ถามถึงอนุปาทิเลสนิพพานธาตุ (นิพพานที่ไม่มีวิบากนามขันธ์กฎัตตารูปเหลืออยู่) อนึ่งสัจจะ 3 คือ ทุกขสัจจะ, สมุทัยสัจจะ, มรรคสัจจะ เป็นสังขตะ (ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) มีความดับเป็นธรรมดา ส่วนนิโรธสัจจะ ชื่อว่า อสังขตะ (ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) ในบรรดาสัจจะเหล่านั้น สมุทัยสัจจะถูกละในภูมิ 2 คือ ทัสสนภูมิ และภาวนาภูมิ. โสดาปัตติมรรคละ สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส. มรรคเบื้องบน 3 ละสังโยชน์ 7 คือ กามฉันท์, พยาบาท, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ, และ อวิชชา อย่างไม่มีเหลือ. ในธาตุ 3 (กามภูมิ, รูปภูมิ, อรูปภูมิ) มีสังโยชน์ 10 คือ สังโยชน์เบื้องต่ำ (โอรัมภาคิยะ) 5, สังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยะ) 5 [12] ในบรรดาโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 และ อุทธัมภาคิยสังโยชน์เหล่านั้น สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส ถึงอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์แล้วย่อมดับ. สังโยชน์ 7 คือ กามฉันท์, พยาบาท, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ และอวิชชา ถึงอัญญินทรีย์แล้วย่อมไม่มีเหลือ. อนึ่ง อรหัตตผลญาณ อันเป็นเหตุ (ของปัจจเวกขณญาณ) ให้รู้อย่างนี้ว่า “เราสิ้นการเกิดแล้ว” ชื่อว่า ขยญาณ. อรหัตตผลญาณ อันเป็นเหตุให้รู้โดยประกาศอย่างนี้ว่า “กิจคือการเจริญมรรคอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แก่มรรคกิจ 16 ประการอย่างนี้ ย่อมไม่มีเหลือแก่เรา” ชื่อว่า อนุปปาทญาณ. ญาณทั้ง 2 เหล่านี้ ชื่อว่า อัญญาตาวินทรีย์ ในบรรดาอินทรีย์เหล่านั้น อินทรีย์เหล่านี้ คือ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ และ อัญญินทรีย์ ย่อมดับแก่บุคคลผู้บรรลุอรหัตตผลซึ่งเป็นผลอันเลิศ ในบรรดาญาณเหล่านั้น ญาณทั้ง 2 เหล่านี้ คือ ขยญาณ และปนุปปาทญาณ เป็นอรหัตตผลปัญญาอันเดียวกัน ถึงแม้จะเป็นอรหัตตผลปัญญาอันเดียวกันก็ได้ชื่อ 2 อย่าง โดยชื่ออารมณ์ คือ ขยะ และ อนุปปาทะ. อรหัตตผลปัญญาของบุคคลผู้รู้ว่า “เราสิ้นการเกิดแล้ว” ได้ชื่อว่า ขยญาณ. ส่วนอรหัตตผลปัญญาของบุคคลผู้รู้ว่า “กิจคือการเจริญมรรคอื่นเพื่อประโยชน์แก่มรรคกิจ 16 ประการอย่างนี้ ย่อมไม่มีแก่เรา” ได้ชื่อว่า อนุปปาทญาณ. ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยกิจคือการปิดกั้นกระแสทั้งหลายนั้น ชื่อว่า ปัญญา ด้วยสภาพที่รู้โดยประการต่าง ๆ. สติที่พระองค์ตรัสไว้ด้วยกิจ คือการป้องกันกระแสทั้งหลายนั้น ชื่อว่า สติ ด้วยสภาพที่ไม่เลื่อนลอยหลงลืมอารมณ์ที่รับแล้วนั้น ๆ [13] ในบรรดาธรรมเหล่านั้น อุปาทานขันธ์ 5 ชื่อว่า นามรูป. ในบรรดาอุปาทานขันธ์ 5 เหล่านั้น หมู่ธรรมอันมีผัสสะเป็นที่ 5 ชื่อว่า นาม. อินทรีย์ 5 ที่เป็นรูป ชื่อว่า รูป. นามรูปทั้ง 2 นั้น สัมปยุตกับวิญญาณ. พระอชิตะเมื่อจะถามพระผู้มีพระภาคถึงการดับวิญญาณและนามรูปนั้น ได้กล่าวคาถาในปารายนสูตร อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญาและสติ (ที่พระองค์ตรัสแล้ว) ก็ดี นามรูป (ที่นอกจาก 2 อย่างนั้น) ก็ดี ทั้งหมดนี้ย่อมดับสนิทในที่ไหน พระองค์อันข้าพระองค์ถามแล้ว ขอจงทรงตรัสบอกที่ดับนี้ (แก่ข้าพระองค์)1 1. ขุ. สุ. 25/1043/532, ขุ. จูฬ. 30/5/34 ในบรรดาธรรมที่กล่าวไว้ในคาถาปุจฉานั้น สติ และ ปัญญา จัดเป็นอินทรีย์ 4 สติ เป็นอินทรีย์ 2 คือ สตินทรีย์ และ สมาธินทรีย์. ปัญญา เป็นอินทรีย์ 2 คือ ปัญญินทรีย์ และ วิริยินทรีย์. ในบรรดาอินทรีย์ 4 เหล่านี้ การเชื่อผลของกรรม และความเชื่อที่หยั่งลงในพระรัตนตรัย ชื่อว่า สัทธินทรีย์ จิตเตกัคคตาที่มีศรัทธาเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นไปในอินทรีย์เหล่านั้น ชื่อว่า ฉันทสมาธิ (สมาธิที่ทำฉันทะให้เป็นใหญ่) ฉันทสมาธินี้ ชื่อว่า วิกขัมภนปหาน เพราะเมื่อจิตตั้งมั่นแล้วก็ทำลายกิเลสทั้งหลาย โดยการข่มไว้ด้วยอำนาจการพิจารณาเนือง ๆ และด้วยอำนาจการเจริญกรรมฐาน. ในธรรมเหล่านั้น ลมหายใจออก หายใจเข้าก็ดี วิตกและวิจารก็ดี สัญญาและเวทนาก็ดี ธรรมที่โยคีบุคคลระลึกนึกถึง (โดยความเป็นกิจอย่างหนึ่ง) ก็ดี ชื่อว่า สังขาร. ฉันทสมาธิที่เรียกว่า วิกขัมภปหาน เพราะการข่มกิเลส ซึ่งกล่าวไว้ข้างต้นเช่นนั้นก็ดี วิริยสังขารเหล่านี้ก็ดี ทั้ง 2 อย่างนั้น ย่อมอบรมอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิ และวิริยสังขาร ย่อมอบรมอิทธิบาทที่อาศัยวิเวก, อาศัยวิราคะ, อาศัยนิโรธ และแก่กล้าเพื่อประโยชน์แก่ปริจจาคโวสสัคคะและปักขันทนโวสสัคคะ.1 ในบรรดาธรรมเหล่านั้น จิตเตกัคคตา ที่มีวิริยะเป็นใหญ่ ชื่อว่า วิริยสมาธิ (สมาธิที่ทำวิริยะให้เป็นใหญ่) ... ในบรรดาธรรมเหล่านั้น จิตเตกัคตาที่มีจิตเป็นใหญ่ ชื่อว่า จิตตสมาธิ (สมาธิที่ทำจิตให้เป็นใหญ่). ในบรรดาธรรมเหล่านั้น จิตเตกัคคตาที่มีวิมังสาเป็นใหญ่ ชื่อว่า วีมังสาสมาธิ (สมาธิที่ทำวิมังสาให้เป็นใหญ่) วีมังสาสมาธินี้ ชื่อว่า วิกขัมภนปหาน เพราะเมื่อจิตตั้งมั่นแล้วก็ทำลายกิเลสทั้งหลาย โดยการข่มไว้ด้วยอำนาจการพิจารณาเนือง ๆ และด้วยอำนาจการเจริญกรรมฐาน ในธรรมเหล่านั้น ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าก็ดี วิตกและวิจารก็ดี สัญญาและเวทนาก็ดี ธรรมที่ใยดีบุคคลระลึกนึกถึง (โดยความเป็นกิจอย่างหนึ่ง) ก็ดี ชื่อว่า สังขาร. วีมังสาสมาธิที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน เพราะข่มกิเลสที่กล่าวไว้ข้างต้นเช่นนั้นก็ดี สังขารเหล่านี้ก็ดี ทั้ง 2 อย่างนั้น ย่อมอบรมอิทธิบาทที่ประกอบวีมังสาสมาธิและวิริยสังขาร ย่อมอบรมอิทธิบาทที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ, อาศัยนิโรธ และแก่กล้าเพื่อประโยชน์แก่ปริจาคโวสสัคคะ และปักขันทนโวสสัคคะ 1 ในที่นี้ วิเวก มี 3 คือ ตทังควิเวก (สงบกิเลสชั่วขณะ) สมุจเฉทวิเวก (สงบกิเลสเด็ดขาด) และนิสสรณวิเวก (สงบกิเลสโดยการพ้นออกไป). วิราคะ มี 3 คือ ตทังควิราคะ (สำรอกกิเลสชั่วขณะ) สมุจเฉทวิราคะ (สำรอกกิเลสเด็ดขาด) และนิสสรณวิราคะ (สำรอกกิเลสโดยการพ้นออกไป). นิโรธมี 3 คือ ตทังคนิโรธ (ดับกิเลาชั่วขณะ) สมุจเฉนิโรธ (ดับกิเลสเด็ดขาด) และนิสสรณนิโรธ (ดับกิเลสโดยการพ้นออกไป). ปริจจาคโวสสัคคะ คือ การละกิเลสด้วย ตทังคปหานในขณะวิปัสสนา ละสมุจเฉทปหานในขณะแห่งมรรค. ปักขันทนโวสสัคคะ คือ การแล่นไปสู่นิพพานโดยการน้อมไปนิพพานในขณะวิปัสสนา และโดยการทำให้เป็นอารมณ์ในขณะแห่งมรรค [ 14 ] อิทธิบาทสมาธิทั้งปวง มีญาณเป็นมูล มีญาณนำหน้า คล้อยตามญาณ. (อิทธิบาทสมาธิ) คล้อยตามญาณในภพก่อนฉันใด ย่อมคล้อยตามญาณในภพหลัง (ภพที่เป็นอนาคต) ฉันนั้น. คล้อยตามญาณใน 7 วันหลัง (ที่เป็นอนาคต) ฉันใด ย่อมคล้อยตามญาณใน 7 วันก่อน (ที่เป็นอดีต) ฉันนั้น. คล้อยตามญาณในกลางวันฉันใด ย่อมคล้อยตามทิพพจักขุญาณในกลางคืนฉันนั้น. คล้อยตามทิพพจักขุญาณในกลางคืนฉันใด ย่อมคล้อยตามทิพพจักขุญาณในกลางวัน ฉันนั้น1 1. ขุ. เณร. 26/397/331 ย่อมอบรมจิตที่มีความสว่างด้วยจิตอันเปิดออก ไม่ถูกกิเลสพัวพ้นอย่างนี้. เมื่อจิตที่เกิดขึ้น อินทรีย์ 5 ที่เป็นกุศล เป็นไปร่วมกับจิตที่เกิดขึ้น. เมื่อจิตดับก็ดับด้วย แม้นามรูปที่มีวิญญาณเป็นเหตุ ก็เกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เหตุ (มี ตัณหา อวิชชา เป็นต้น) ของวิญญาณนั้นย่อมขาดไปด้วยมรรค วิญญาณที่ไม่มีเหตุ (ขาดเหตุ) ไม่มีความยินดีในอารมณ์ก็ทำให้ปฏิสนธิเกิดไม่ได้ จึงดับไปแม้นามรูปที่ไม่มีเหตุ (คือ วิญญาณ) ไม่มีปัจจัย (คือ วิญญาณ) ก็ไม่ทำให้ภพใหม่เกิดขึ้น ปัญญา สติ และ นามรูป ย่อมดับไปเพราะวิญญาณดับโดยนัยที่กล่าวมาฉะนี้ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (ดูก่อนอชิตะ) เราจะตอบปัญหาที่ถามนั้นแก่เธอ นาม และรูปย่อมดับสนิทอย่างไม่เหลือในที่ใด หมู่นามรูปทั้งปวง ย่อมดับสนิทด้วยการดับแห่งวิญญาณในที่นั้น2 2. ขุ. สุ. 25/1044/532, ขุ. จูฬ. 30/6/35 พระอชิตะทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ บุคคลที่มีธรรมอันพิจารณาแล้วโดยความไม่เที่ยงเป็นต้น และบุคคลที่ยังต้องศึกษาศีลสิกขาเป็นต้น มีอยู่มากในโลกนี้ พระองค์ผู้เป็นบัณฑิตอันข้าพระองค์ถามแล้ว ขอจงตรัสบอกข้อปฏิบัติของบุคคลเหล่านั้น แกข้าพระองค์ 1 1 ขุ. สุ. 25/1045/532 [ 15 ] ประโยชน์เหล่านั้นมีปัญหา 3 ข้อ. เพราะเหตุไรจึงมีปัญหา 3 ข้อ ? เพราะประกอบคำถาม (ตั้งคำถาม) เกี่ยวกับเสกขบุคคล อเสกขบุคคล และการละกิเลสที่มีวิปัสสนานำหน้า ดังคำที่พระอชิตะกล่าวไว้เช่นนั้น ท่านถามถึงความเป็นอรหันตบุคคลด้วยคำว่า “เย จ สงฺขาตธมฺมา เส (บุคคลที่มีธรรมอันพิจารณาแล้วโดยความไม่เที่ยงเป็นต้น)”. ถามถึงเสกขบุคคลด้วยคำว่า “เย จ เสกฺขา ปุถู อิธ (และบุคคลที่ยังต้องศึกษาศีลสิกขาเป็นต้น)”. ถามถึงการละกิเลสที่มีวิปัสสนานำหน้าด้วยคำว่า “เตสํ เม นิปโก อิริยํ, ปุฏฺโฐ ปพฺรูหิ มาริส (พระองค์ผู้เป็นบัณฑิตอันข้าพระองค์ถามแล้ว ขอจงตรัสบอกข้อปฏิบัติของบุคคลเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์)”. คำวิสัชนาในปัญหา 3 ข้อนั้น พึงทราบดังนี้ :- พระผู้มีพระภาคตรัสว่า (ดูก่อนอชิตะ) เสกขบุคคลไม่พึงติดในวัตถุกามทั้งหลาย, พึงเป็นผู้มีใจไม่มัวหมอง (ด้วยกิเลส), อเสกขบุคคลผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติสมบูรณ์ พึงเป็นผู้ถึงภาวะอันประเสริฐดำรงอยู่ 2 2 ขุ. สุ. 25/1046/532, ขุ. จูฬ. 30/8/38 กายกรรมทั้งปวง, วจีกรรมทั้งปวง, มโนกรรมทั้งปวงของพระผู้มีพระภาค มีญาณนำหน้า คล้อยตามญาณ ทรงมีญาณทัสสนะ (การเห็นด้วยญาณ) ที่ไม่ติดขัดในส่วนอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน ก็ความขัดข้องแห่งญาณทัสสนะจะมีในอารมณ์ไรเล่า ? ความไม่รู้ไม่เห็นในอนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา เป็นความขัดข้องแห่งญาณทัสสนะ เปรียบเหมือนคนในโลกนี้ เห็นดวงดาวทั้งหลายได้ แต่ไม่สามารถนับดวงดาวเหล่านั้นได้. นี้เป็นความขัดข้องแห่งญาณทัสสนะ. ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงมีญาณทัสสนะอันไม่ติดขัด. แท้จริงพระพุทธเจ้าผู้มีบุญญาธิการทั้งหลาย ทรงมีญาณทัสสนะอันไม่ขัดข้อง. ในบรรดาเสกบุคคล และอเสกขบุคคลเหล่านั้น เสกขบุคคลพึงรักษาจิตในธรรม 2 อย่าง คือ รักษาจิตไม่ให้ติดในอารมณ์ที่น่ายินดี และไม่ให้ขัดเคืองในอาฆาตวัตถุที่ชวนประทุษร้าย. ในบรรดาความยินดีและความขัดเคืองเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงห้ามความอยากได้ ความลุ่มหลง ความปรารถนา ความรักใคร่ ความสนุกสนาน จึงตรัสอย่างนี้ว่า “กาเมสุนาภิคิชเฌยฺย (ไม่พึงติดในวัตถุกามทั้งหลาย)”. พระองค์ตรัสการทำลายปริยุฏฐานกิเลสด้วยคำว่า “มนสานาวิโล สิยา (พึงเป็นผู้มีใจไม่มัวหมอง)”. จริงอย่างนั้น เสกขบุคคลเมื่อติด (ในอารมณ์ที่น่ายินดี) ย่อมก่อกิเลสที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และทำกิเลสที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้น. ส่วนเสกขบุคคลใดมีความดำริที่สะอาดหมดจด ไม่ติด (ในอารมณ์ที่น่ายินดี) ย่อมขวนขวาย. (ขวนขวายอย่างไร ? ). เสกขบุคคลนั้นยังกุศลฉันทะให้เกิดขึ้น ขวนขวาย เพียรพยายาม ประคองจิต รักษาจิต เพื่อไม้ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดนั้นเกิดขึ้น. เสกขบุคคลนั้นยังกุศลฉันทะให้เกิด ขวนขวาย เพียรพยายาม ประคองจิต รักษาจิต เพื่อให้กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วตั้งมั่น ไม่เสื่อมสูญ เพิ่มพูน แผ่ขยาย เจริญงอกงาม บริบูรณ์ [ 16 ] บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เป็นไฉน ? คือ กามวิตก, พยาบาทวิตก, วิหิงสาวิตก. เหล่านี้ชื่อว่าบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด. บาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเป็นไฉน ? คือ อกุศลมูลทั้งหลายที่เป็นอนุสัย. เหล่านี้ชื่อว่าบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว. กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เป็นไฉน ? คือ อินทรีย์ทั้งหลายมีสัทธาเป็นต้น ของโสดาบันบุคคล. เหล่านี้ชื่อว่ากุศลธรรมที่ยังไม่เกิด. กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไฉน ? คือ มรรคอินทรีย์ทั้งหลายของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ที่ปฏิบัติเพื่อให้แจ้งประจักษ์โสดาปัตติผล. เหล่านี้ชื่อว่ากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว. ในบรรดาอินทรีย์ที่ป้องกันกามวิตก ชื่อว่าสตินทรีย์. อินทรีย์ที่ป้องกันพยาบาทวิตก ชื่อว่า สมาธินทรีย์. อินทรีย์ที่ป้องกันวิหิงสาวิตก ชื่อว่า วิริยินทรีย์. อินทรีย์ที่ละทำให้หาย ทำให้สิ้น ทำให้ไม่เกิดอีก ทำให้ตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า ปัญญินทรีย์. ความเชื่อ ความเลื่อมใส ในอินทรีย์ทั้ง 4 เหล่านี้ ชื่อว่า สัทธินทรีย์ ในบรรดาอินทรีย์เหล่านนั้น พึงทราบ (จดจำ) สัทธินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในเหตุแห่งการถึงกระแส คือ กุศล. พึงทราบวิริยินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในสัมมัปปธาน 4. พึงทราบสตินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในสติปัฏฐาน 4. พึงทราบสมาธินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในฌาน 4. พึงทราบปัญญินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในอริยสัจ 4. เสกขบุคคลผู้ไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งปวงอย่างนี้ อันพระผู้พระภาคตรัสแล้ว โดยความเป็นผู้ไม่มีใจมัวมอง เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่า “มนสา นาวิโล สิยา (พึงเป็นผู้มีใจไม่มัวหมอง)” [ 17 ] ในคำว่า “กุสโล สพฺพธมฺมานํ (อเสกขบุคคลเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง)” นี้ชื่อว่า โลก มี 3 อย่าง คือ กิเลสโลก, ภวโลก และ อินทรีย์โลก. ในบรรดาโลก 3 อย่างนั้น ภวโลกเกิดขึ้นมาด้วยกิเลสโลก. บุคคลผู้ตั้งอยู่ในมหัคคตธรรมนั้นย่อมยังอินทรีย์ มีสัทธา เป็นต้นให้เกิดขึ้น. เมื่อผู้นั้นเจริญอินทรีย์ มี สัทธา เป็นต้นแล้ว ย่อมมีการกำหนดรู้ธรรมที่ควรรู้. ปริญญา (การกำหนดรู้) นั้น ควรพิจารณาโดย 2 ประการ คือ ทัสสนปริญญา (ญาตปริญญา) และ ภาวนาปริญญา (ตีรณปริญญา). ขยายความว่าในเวลาที่เสกขบุคคลกำหนดธรรมที่ควรรู้นั้น ธรรมที่ควรรู้ก็เป็นอันกำหนดรู้แล้วด้วยสัญญามนสิการ อันเป็นไปพร้อมด้วยความเบื่อหน่าย. เสกขบุคคลนั้นย่อมได้รับวิปัสสนาธรรม 2 อย่าง ที่ถึงความฉลาด ซึ่งเป็นทัสสนโกสัลละ กล่าวคือ ปฐมมรรคญาณ และเป็นภาวนาโกสัลละ กล่าวคือ มรรคญาณเบื้องบน. พึงทราบว่าญาณนั้นมี 5 ประการ คือ อภิญญา ปริญญา ปหาน ภาวนา และ สัจฉิกิริยา. ในบรรดาญาณเหล่านั้น อภิญญาเป็นไฉน ? ญาณในการกำหนดรู้ลักษณะของธรรมทั้งหลาย คือ ธรรมปฏิสัมภิทา และ อรรถปฏิสัมภิทา ชื่อว่า อภิญญา. ในบรรดาญาณเหล่านั้น ปริญญาเป็นไฉน ? การกำหนดรู้ว่า “นี้เป็นกุศล, นี้เป็นอกุศล, นี้เป็นโทษ, นี้ไม่มีโทษ, นี้เป็นธรรมดำที่เศร้าหมอง, นี้เป็นธรรมขาวสะอาดหมดจด, สิ่งนี้ควรเสพ, สิ่งนี้ไม่ควรเสพ, ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือเอาโดยลักษณะอย่างนี้ (มี อนิจจะ เป็นต้น) แล้วทำให้เกิดผล (มี อุทยัพพยะ เป็นต้น) นี้การรู้สัจจะทั้งหลายนี้ แห่งอุทยัพพยะเป็นต้นเหล่านั้น ซึ่งบุคคลถือเอาอย่างนี้เป็นผล” แห่งบุคคลผู้รู้อย่างนี้แล้วดำรงอยู่ นี้ชื่อว่า ปริญญา. ธรรม 3 อย่าง คือ ธรรมอันควรละ ธรรมอันควรเจริญ และ ธรรมอันควรทำให้แจ้งประจักษ์ ย่อมเหลือแก่บุคคลที่กำหนดรู้อย่างนี้แล้วดำรงอยู่. ในบรรดาธรรม 3 ประการเหล่านั้น ธรรมที่ควรละเป็นไฉน ? คือ อกุศล. ในบรรดาธรรม 3 ประการเหล่านั้น ธรรมที่ควรเจริญเป็นไฉน ? คือ กุศล. ในบรรดาธรรม 3 ประการเหล่านั้น ธรรมอันควรทำให้แจ้งประจักษ์เป็นไฉน ? คือ นิพพานอันเป็นอสังขตธรรม. บุคคลที่รู้อย่างนี้ ท่านเรียกว่า ผู้ฉลาดในอรรถ ผู้ฉลาดในบาลี ผู้ฉลาดในความเป็นคนดี ผู้ฉลาดในความเป็นอรหัตตผล ผู้ฉลาดในความเจริญ ผู้ฉลาดในความเสื่อม ผู้ฉลาดในฐานุปปัตติเหตุ (เหตุที่เกิดขึ้นโดยฐานะอันสมควร) ผู้สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้ฉลาดอันประเสริฐ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “กุสโล สพฺพธมฺมานํ (อเสกขบุคคลเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง)” เป็นต้น ส่วนคำว่า “สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเช (มีสติสมบูรณ์ พึงเป็นผู้ถึงภาวะอันประเสริฐดำรงอยู่)” ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ ในเวลาก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับข้างหลัง แลดู เหลียวดู คู้ เหยียด ครองสังฆาฏิบาตรและจีวร ฉัน ดื่ม ขบเคี้ยว ลิ้มรส ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เดิน ยืน นอน ตื่น พูด อยู่นิ่ง ๆ. พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้อปฏิบัติ 2 อย่างนี้ คือ ข้อปฏิบัติอันหนึ่ง สำหรับบุคคลผู้หมดจดแล้ว ข้อปฏิบัติสำหรับบุคคลที่กำหลังหมดจดอยู่. บุคคลเหล่าไหนชื่อว่าหมดจดแล้ว คือ พระอรหันต์ทั้งหลาย. บุคคลเหล่าไหนชื่อว่ากำลังหมดจด คือ พระเสกขะทั้งหลาย. แท้จริงอินทรีย์ทั้งหลายของพระอรหันต์กระทำกิจเสร็จแล้ว. ธรรมที่ควรรู้มี 4 ประการ โดยอภิสมัย คือ การกำหนดรู้ทุกขสัจจะ อภิสมัย คือ การละสมุทัยสัจจะ อภิสมัย คือ การเจริญมรรคสัจจะ และ อภิสมัย คือ การทำให้แจ้งประจักษ์นิโรธสัจจะ บุคคลที่รู้สัจจะที่ควรรู้ 4 อย่างเช่นนี้ ท่านเรียกว่าเป็นผู้มีสติก้าวไปข้างหน้า เป็นผู้มีสติถอยกลับหลัง เพราะสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเช (มีสติสมบูรณ์ พึงเป็นผู้ถึงภาวะอันประเสริฐดำรงอยู่)”. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า (ดูก่อนอชิตะ) เสกขบุคคลไม่ควรติดในวัตถุกามทั้งหลาย, ควรเป็นผู้มีใจไม่มัวหมอง, อเสกขบุคคลฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติสมบูรณ์ พึงเป็นผู้ถึงภาวะอันประเสริฐดำรงอยู่ 1 พึงปุจฉาอย่างนี้ พึงวิสัชนาอย่างนี้ พึงนำมาซึ่งสุตตันตเทศนาอื่นอันสมควร แก่สังวัณเณตัพพสูตร โดยอรรถและศัพท์. จริงอย่างนั้นศัพท์ที่ปราศจากอรรถ เป็นถ้อยคำที่ไม่มีประโยชน์ แม้อรรถของบทวากยะที่ตั้งไว้ไม่ดีก็รู้ได้ยาก2 1. ขุ. สุ. 25/1046/532, ขุ. จูฬ. 30/8/38 2. องฺ. ทุก 20/20/58 เพราะฉะนั้นควรสังคายนาสูตรที่สมบูรณ์ด้วยอรรถและสภาวนิรุตติ และควรเลือกเฟ้นสูตร. สูตรนี้คือสูตรอะไร ? ควรเลือกเฟ้นสูตรอย่างนี้ คือ สูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เอง สูตรที่สาวกทั้งหลายกล่าวไว้ สูตรที่มีอรรถอันรู้ได้โดยตรง สูตรที่มีอรรถอันนำคำอื่นมาอธิบายแล้วจึงรู้ได้ สูตรที่เป็นส่วนสังกิเลส, สูตรที่เป็นส่วนวาสนา, สูตรที่เป็นส่วนนิพเพธะ, สูตรที่เป็นส่วนอเสกขะ. พึงตรวจดูสัจจะทั้งหลายของสูตรนี้ในที่ไหน ? พึงตรวจดูในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด. พึงเลือกเฟ้นสูตรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระมหากัจจายนเถระจึงกล่าวว่า “ยํ ปุจฺฉิตญฺจ วิสฺสชฺชิตญฺจ, สุตฺตสฺส ยา จ อนุคีติ (การพิจารณาคำถามก็ดี การพิจารณาคำตอบก็ดี การพิจารณาการกล่าวโดยสมควรกับคำถามของสูตรก็ดี)” วิจยหาระ ท่านยกจากพระบาลีมาประกอบแล้ว 3. ยุตติหารวิภังค์ [ 18 ] ในบรรดาหาระเหล่านั้น ยุตติหาระเป็นไฉน ? คาถาว่า “สพฺเพสํ หารานํ (หาระทั้งปวง)” เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ยุตติหาระ. ในยุตติหาระนี้ท่านประกอบอะไร ? ประกอบดังนี้ คือ มหาปเทส (หลักการกล่าวอ้างใหญ่ของธรรม) มี 4 คือ พุทธาปเทส (กล่าวอ้างพระพุทธเจ้า) สังฆปเทส (กล่าวอ้างพระสงฆ์) สัมพหุลัตเถราปเทป (กล่าวอ้างพระเถระจำนวนมาก) เอกัตเถราปเทป (กล่าวอ้างพระเถระรูปเดียว).3 4 อย่างเหล่านี้ ชื่อว่า มหาปเทส. อรรถบทและพยัญชนะบทเหล่านั้น ท่านจัดเข้าในสูตรแสดงไว้ในวินัย ใส่ไว้ในธรรมดา 3 ที. มหา. 10/187/109, องฺ. จตุกฺก. 21/108/191 จัดลงในสูตรไหน ? ในอริยสัจ 4. แสดงในวินัยไหน ? ในราควินัย (วินัยเป็นเหตุกำจัดราคะ) โทสวินัย (วินัยเป็นเหตุกำจัดโทสะ) โมหวินัย (วินัยเป็นเหตุกำจัดโมหะ). ใส่ไว้ในธรรมดาไหน ? ในปฏิจจสมุปบาท. ท่านจัดลงในอริยสัจ 4 ย่อมแสดงในกิเลสวินัย (วินัยเป็นเหตุกำจัดกิเลส มีราคะเป็นต้น) ย่อมไม่ทำให้ขัดแย้งกับธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมไม่ทำให้อาสวะ (มีกามาสวะเป็นต้นเกิดขึ้น) อรรถใด ๆ บาลีใด ๆ ย่อมควรกับมหาปเทส 4 ย่อมควรด้วยเหตุใด ๆ ย่อมควรด้วยประการใด ๆ ควรถือเอาอรรถและบาลีนั้น ๆ [ 19 ] ผู้ถูกกามปัญหาควรประมวล ควรเลือกเฟ้นโดยบทว่า ที่เป็นปัญหามีกี่บท. ถ้าบททั้งปวงกล่าวอรรถ (ที่ประสงค์) อันเดียวก็เป็นปัญหาข้อเดียว ถ้า 4 บท กล่าวอรรถ (ที่ประสงค์) อันเดียวก็เป็นปัญหาข้อเดียว ถ้า 3 บทหลัง กล่าวอรรถ (ที่ประสงค์) อันเดียวก็เป็นปัญหาข้อเดียว ถ้า 2 บท กล่าวอรรถ (ที่ประสงค์) อันเดียวก็เป็นปัญหาข้อเดียว. ถ้าบทเดียวกล่าวอรรถ (ที่ประสงค์) อันเดียวก็เป็นปัญหาข้อเดียว. (เมื่อเป็นเช่นนี้ บทนั้นก็เป็นปัญหาข้อเดียว) ผู้พิจารณาปัญหานั้นควรทราบว่า “ธรรมเหล่านี้มรอรรถต่างกัน มีศัพท์ต่างกัน หรือ อรรถอันเดียวของธรรมเหล่านี้มีศัพท์ต่างกันเท่านั้น” เหมือนอะไร ? เหมือนที่เทวดานั้นทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคว่า สัตว์โลกถูกอะไรกำจัด ถูกอะไรแวดล้อม ถูกลูกศรอะไรเสียบแทง ถูกอะไรทำให้เร่าร้อนทุกเมื่อ 1 4 บทเหล่านี้เป็นคำถาม อรรถที่ถูกถามด้วย 4 ประโยคเหล่านั้น เป็นปัญหา 3 ข้อ. รู้ได้อย่างไร ? รู้ได้เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสตอบเทวดาว่า สัตว์โลกถูกความตายกำจัด ถูกชราแวดล้อม ถูกลูกศร คือตัณหาเสียบแทง ถูกตัณหาทำให้เร่าร้อนทุกเมื่อ2 1 สํ. ส. 15/66/45 2. สํ. ส. 15/66/45, ขุ. เถร. 26/448/337 [ 20 ] ในคาถาวิสัชนานั้น 2 อย่างเหล่านี้คือ ชราและมรณะ มีลักษณะเป็นสังขตะแห่งปัญจขันธ์ที่ถูกปรุงแต่ง. ชรานี้ได้แก่ความเป็นอย่างอื่น (ความเปลี่ยนแปลง) แห่งการตั้งอยู่. มรณะ ได้แก่ความเสื่อมสิ้น. ในคำข้างต้นนั้น ชรากับมรณะมีความแตกต่างกันโดยอรรถ. เพราะเหตุไร ? เพราะแม้สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในครรภ์ก็ย่อมตายได้ ซึ่งสัตว์เหล่านั้นยังไม่ทันแก่. เทวดาทั้งหลายก็ยังมีความตาย ซึ่งสรีระของเทวดาเหล่านั้นย่อมไม่แก่. บุคคลอาจจะป้องกันความแก่ได้แต่ไม่สามารถป้องกันความตาย ยกเว้นผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย สามารถป้องกันความตายด้วยฤทธิ์ได้. ส่วนตัณหาที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในคำว่า “ตณฺหาสลฺเลน โอติณฺโณ (ถูกลูกศร คือตัณหาเสียบแทง)” นั้น พระอรหันต์ทั้งหลายผู้ปราศจากตัณหาแม้จะแก่แม้จะตายก็ย่อมปรากฏ. ถ้าว่าตัณหาเหมือนกับชราและมรณะไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้สัตว์ทั้งปวงที่ตั้งอยู่ในความเป็นหนุ่มก็พึงปราศจากตัณหา. ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ ฉันใด แม้ชราและมรณะก็เป็นเหตุแห่งทุกข์ ฉันนั้น. ตัณหาไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์ ชราและมรณะก็ไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์เหมือนกัน. (ความจริง) ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์เท่านั้น. ตัณหาพึงทำลายด้วยมรรค ฉันใด แม้ชราและมรณะก็พึงทำลายด้วยมรรค ฉันนั้น. ควรหาความเป็นอย่างอื่นด้วยเหตุอันสมควรอื่น ๆ โดยยุตติความสมควร (ดังที่กล่าวแล้ว) นี้. ถ้าว่าเมื่อยกขึ้นสู่ยุตติ ย่อมแสดงความเป็นอย่างอื่นโดยอรรถ. ควรหาความเป็นอย่างอื่นโดยศัพท์. ธรรมเหล่านี้ที่กล่าวไว้ว่า “สลฺโล” ก็ดี “ธูปายนํ” ก็ดี มีความเป็นอันเดียวกันโดยอรรถ. แท้จริงไม่สมควรที่อิจฉากับตัณหาจะต่างกันโดยอรรถ. เมื่อความประสงค์ด้วยตัณหาไม่เต็มอยู่ ความโกรธและความผูกโกรธย่อมเกิดขึ้นในอาฆาตวัตถุ 9 อย่าง. ความต่างกันโดยอรรถแห่ง ชรา มรณะ และ ตัณหา ย่อมควรด้วยยุตติความสมควรเช่นนี้. พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกคำนี้ด้วยชื่อ 2 อย่าง ว่า “อิจฉา” บ้าง “ตัณหา” บ้าง ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ของวัตถุ มี รูปารมณ์เป็นต้นภายนอก. แท้จริงตัณหาทั้งปวงมีลักษณะเหมือนกันด้วยลักษณะการเหนี่ยวอารมณ์มายึดไว้ เปรียบเหมือนไฟทั้งปวงมีลักษณะเหมือนกันด้วยลักษณะคือความร้อน แม้จะเหมือนกันเช่นนั้นก็ยังได้ชื่ออื่น ๆ ว่า ไฟไหม้ บ้าง ไฟหญ้า บ้าง ไฟสะเก็ดไม้ บ้าง ไฟโคมัย บ้าง ไฟแกลบ บ้าง ไฟขยะ บ้าง ด้วยอำนาจแห่งเชื้อ. แท้จริงไฟทั้งปวงมีลักษณะเป็นความร้อนเท่านั้น ตัณหาทั้งปวงก็เช่นเดียวกัน มีลักษณะเหมือนกันด้วยลักษณะคือการเหนี่ยวอารมณ์มายึดไว้ แต่ท่านเรียกด้วยชื่ออื่น ๆ ว่า อิจฉา (ธรรมชาติที่ต้องการอารมณ์) บ้าง ตัณหา (ธรรมชาติที่ติดอยู่ในอารมณ์) บ้าง สัลละ (สิ่งที่เสียบแทง) บ้าง ธูปยาน (สิ่งที่ทำให้เร่าร้อน) บ้าง สริตา (สิ่งที่ทำให้แล่นไป) บ้าง วิสัตติกา (สิ่งที่ซ่านไป) บ้าง สิเนหะ (ความรัก) บ้าง กิลมถะ (สิ่งที่ทำให้ลำบาก) บ้าง ลตา (สิ่งที่รัดรึงเหมือนเถาวัลย์) บ้าง มัญญนา (ธรรมชาติที่นึกว่าสมบัติของเรา) บ้าง พันธะ (สิ่งที่ผูกไว้) บ้าง อาสา (ธรรมชาติที่ปรารถนา) บ้าง ปิปาสา (ธรรมชาติที่ต้องการดื่มรสในอารมณ์) บ้าง. ตัณหาทั้งปวงมีลักษณะเหมือนกันด้วยลักษณะเหนี่ยวอารมณ์มายึดไว้อย่างนี้ สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในเววจนหารวิภังค์ว่า ความหวัง ความปรารถนา ความยินดียิ่งย่อมมี ธรรมชาติที่ไหลไปดุจแม่น้ำ ธรรมชาติที่เป็นที่ตั้งแห่งธาตุเป็นอันมากก็ดี สิ่งที่เป็นที่เกิดคือโมหมูลก็ดี สิ่งที่กระซิบก็ดี ย่อมมี เราทำตัณหาทั้งปวงพร้อมทั้งรากเหง้าให้สิ้นสุดแล้ว 1 คำว่า “อาสา ปิหา (ความหวัง ความปรารถนา)” เป็นต้นนี้ เป็นคำไวพจน์ของตัณหา สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 2 ดูก่อนติสสะ สำหรับผู้ที่ยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากฉันทะ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ในรูปขันธ์ (ใช้ชื่อเหล่านี้) เหมือนเช่นนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากฉันทะ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ในเวทนาขันธ์ ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ ในวิญญาณขันธ์ (ใช้ชื่อเหล่านี้). สูตรทั้งปวงควรขยายความ คำทั้งปวงที่กล่าวไว้ในสูตรนี้เป็นคำไวพจน์ของตัณหา. คำอันเรากล่าวไว้เช่นนี้ ย่อมสมควร [ 21 ] ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ทั้งปวง มีกามตัณหาเป็นปัจจัยและมีสังขารเป็นเหตุ ความเป็นอย่างนี้ย่อมควร. ส่วนความเกิดขึ้นแห่งนิพพานทั้งปวง มีวัตถุกามที่แวดล้อมด้วยกามตัณหาเป็นเหตุ ย่อมไม่สมควร ควรหาด้วยเหตุอื่น ๆ ด้วยยุตติดังที่กล่าวไว้แล้วอย่างนี้ สมดังที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอสุภะแก่บุคคลผู้เป็นราคจริต เทศนานั้นย่อมสมควร. ทรงแสดงเมตตาแก่บุคคลผู้เป็นโทสะจริต ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทแก่บุคคลผู้เป็นโมหะจริต. ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงแสดงเมตตาเจโตวิมุติ แก่บุคคลผู้เป็นราคะจริตหรือพึงแสดงสุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา หรือ สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา หรือ ปหาน ที่มีวิปัสสนานำหน้า เทศนานั้นย่อมไม่สมควร (เพราะไม่เป็นสัปปายะ) การคล้อยตามแห่งการละราคะ การคล้อยตามแห่งการละโทสะ การคล้อยตามแห่งการละโมละ ทั้งสิ้นย่อมมีโดยนัยดังกล่าวมานี้. ควรพิจารณาคำทั้งปวงนั้น ด้วยวิจยหาระแล้วประกอบด้วยยุตติหาระ. ยุตติหาระย่อมมีประมาณเท่ากับอารมณ์ของปัญญา เทศนาว่า “พยายาทครอบงำจิตแล้วจะตั้งอยู่แก่ผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “พยาบาทย่อมถึงซึ่งการหายไป ซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้” ย่อมสมควร. เทศนาว่า “การเบียดเบียนครอบงำจิตแล้วจักตั้งอยู่แก่ผู้มีปกติอยู่ด้วยกรุณา” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “การเบียดเบียนย่อมถึงซึ่งการหายไป ซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้” ย่อมสมควร. เทศนาว่า “ความไม่ยินดีครอบงำจิตแล้วจักตั้งอยู่แก่ผู้มีปกติอยู่ด้วยมุทิตา” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “ความไม่ยินดีย่อมถึงซึ่งการหายไป ซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้” ย่อมสมควร. เทศนาว่า “ราคะครอบงำจิตแล้วจักตั้งอยู่แก่ผู้มีปกติอยู่ด้วยอุเบกขา” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “ราคะย่อมถึงซึ่งการหายไป ซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้” ย่อมสมควร. เทศนาว่า “วิญญาณอันมีการเป็นไปตามซึ่งสังขารนิมิต ย่อมเป็นไปด้วยอนิจจนิมิตเป็นต้นนั้น ๆ แก่ผู้มีปกติอยู่ด้วยสมาบัติที่ได้ด้วยการเจริญอนิจจานุปัสสนา” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “สังขารมีนิจจนิมิตเป็นต้น ย่อมถึงซึ่งการหายไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้” ย่อมสมควร. เราย่อมปราศจากการกำหนดว่า “เป็นเรา”, เราไม่แลดูว่า “อุปาทานขันธ์นี้เป็นเรา” (เมื่อไม่แลดูอย่างนั้น) เทศนาว่า “ลูกศรคือความสงสัยกล่าวคือวิจิกิจฉาว่า “เราเป็นอะไร เราเป็นอย่างไร” ครอบงำจิตแล้วจักตั้งอยู่แก่เรา” ย่อมไม่สมควร. เทศนาอื่นเป็นไฉน ? เทศนาว่า “กามราคะและพยาบาทย่อมเป็นไปเพื่อทุติยฌานอันพิเศษ แก่ผู้เข้าปฐมฌาน” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม” ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า “สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยวิตกย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทุติยฌานอันพิเศษ” ย่อมสมควร. เทศนาว่า “สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยวิตกและวิจารย่อมเป็นไป เพื่อตติยฌานอันพิเศษ แก่ผู้เข้าทุติยฌาน” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม” ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่งเทศนาว่า “สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยอุเบกขาและสุข ย่อมเป็นไปได้เพื่อความเสื่อม” ย่อมสมควร. เทศนาว่า “ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตติยฌานอันพิเศษ” ย่อมสมควร เทศนาว่า “สัญญามนสิกาการอันเป็นไปพร้อมด้วยปิติและสุข ย่อมเป็นไปเพื่อจตุตถฌานอันพิเศษ แก่ผู้เข้าตติฌาน” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม” ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า “สัญญามนิการอันเป็นไป พร้อมความหมดจดแห่งสติ อันอุเบกขาทำให้เกิดขึ้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่จตุตถฌานอันพิเศษ” ย่อมสมควร เทศนาว่า “สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยอุเบกขา ย่อมเป็นไปเพื่ออากาสานัฐจายตนฌานอันพิเศษ แก่ผู้เข้าจตุตถฌาน” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม” ย่อมสมควร อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า “สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยอากาสานัญจายตนฌาน” ย่อมสมควร เทศนาว่า “สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยรูปฌาน ย่อมเป็นไปเพื่อวิญญานัญจายตนฌานอันพิเศษ แก่ผู้เข้าอากาสานัญจายตนฌาน” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า “สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยวิญญานัญจายตนฌานย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทุติยอรูปฌานอันพิเศษ” ย่อมสมควร. เทศนาว่า “สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วย อากาสานัญจายตนฌานย่อมไปเพื่ออากิญจัญญายตนฌานอันพิเศษ แก่ผู้เข้าวิญญานัญจายตนฌาน ย่อมไม่สมควร เทศนาว่า “ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม” ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า “สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วย อากิญจัญญายตนฌาน ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม” ย่อมไม่สมควร. เทศนา “ย่อมไปเพื่อประโยชน์แก่ตติยอรูปฌานอันพิเศษ” ย่อมสมควร เทศนาว่า “สัญญามนสิการอันเป็นพร้อมด้วยวิญญานัญจายตนฌาน ย่อมเป็นไปเพื่อจตุตถอรูปฌานเป็นพิเศษ แก่ผู้เข้าอากิญจัญญายตนฌาน” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม” ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า “สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม” ย่อมไม่สมควาร. เทศนาว่า “ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่จตุตถอรูปฌานอันพิเศษ” ย่อมสมควร. เทศนาว่า “จิตตุปบาทอันไม่ได้กำหนดสิ่งที่ทำสัญญากิจที่ปรากฏ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สัญญาเวทยิตนิโรธอันพิเศษ แก่ผู้เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม” ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า “สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สัญญาเวทยิตนิโรธ” ย่อมสมควร เทศนาว่า “จิตที่อบรมในสมาบัติที่กล่าวแล้วด้วยความเป็นวสี ย่อมไม่อดกลั้นซึ่งอภิญญาภินิหาร” ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า “จิตที่อบรมในสมาบัติที่กล่าวแล้วด้วยความเป็นวสี ย่อมอดกลั้นซึ่งอภิญญาภินิหาร” ย่อมสมควร ควรเลือกเฟ้นพระสูตร กล่าวคือพระไตรปิฏกอันมีองค์ 9 ด้วยวิจยหาระ โดยประการทั้งปวงตามธรรมตามวินัย ตามคำสั่งสอนของพระศาสดาอย่างนี้ แล้วพึงประกอบด้วยยุตติหาระ. เพราะฉะนั้นพระมหากัจจายนเถระจึงกล่าวว่า “สพฺเพสํ หารานํ, ยา ภูมิ โย จ โคจโร เตสํ (ศัพท์อันเป็นภูมิ และโคจรกล่าวคืออรรถของสูตรอันใดแห่งหาระทั้งปวง)” เป็นต้น ยุตติหาระ ท่านยกจากพระบาลีมาประกอบแล้ว 4. ปทัฏฐานหารวิภังค์ [ 22 ] ในบรรดาหาระเหล่านั้น ปทัฏฐานหาระเป็นไฉน ? คาถาว่า “ธมฺมํ เทเสติ ชิโน (การพิจารณาเหตุใกล้ของธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง)” เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ปทัฏฐานหาระ. ปทัฏฐานหาระแสดงอะไร ? แสดงเนื้อความเหล่านี้ คือ อวิชชา มีลักษณะการไม่แทงตลอดสภาพที่แท้จริงของธรรมทั้งปวง. วิปัลลาส 4 เป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) ของอวิชชานั้น. ตัณหา มีลักษณะการเหนี่ยวอารมณ์มายึดไว้. สภาพที่น่ารัก สภาพที่น่ายินดี เป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) ของตัณหานั้น. โลภะ มีลักษณะปรารถนาอารมณ์. อทินนาทานเจตนา เป็นปทัฏฐานของโลภะนั้น. สุภสัญญา (สัญญาวิปัลลาสที่กำหนดว่างาม ในสิ่งที่ไม่งาม) มีลักษณะการถือเอา สี สัณฐาน และ อิตถีนิมิต ปุริสนิมิต. การไม่สำรวมอินทรีย์เป็นปทัฏฐานของสุภสัญญานั้น. สุขสัญญา (สัญญาวิปัลลาสที่กำหนดว่า สุขในสื่งที่เป็นทุกข์) มีลักษณะการติดอารมณ์ด้วยผัสสะอันเป็นอารมณ์ของอาสวะ. อัสสาทะ (ตัณหาอันเป็นเหตุยินดี) เป็นปทัฏฐานของสุขสัญญานั้น. นิจจสัญญา (สัญญาวิปัลลาสที่กำหนดว่าเที่ยง ในสิ่งที่ไม่เที่ยง) มีลักษณะการไม่เห็นธรรมทั้งหลาย ที่มีสังขตลักษณะ. วิญญาณ เป็นปทัฏฐานของอนิจจสัญญานั้น. อัตตสัญญา (สัญญาวิปัลลาสที่กำหนดว่าเป็นอัตตา ในสิ่งที่เป็นอนัตตา) มีลักษณะการไม่เห็นอนิจจสัญญา และ ทุกขสัญญา. นามกาย เป็นปทัฏฐานของอัตตสัญญานั้น. วิชชา มีลักษณะการแทงตลอดธรรมทั้งปวง. ธรรมที่ควรรู้ทั้งปวงเป็นปทัฏฐานของวิชชานั้น. สมถะ (สมาธิ) มีลักษณะทำลายอุจธัจจะที่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน. อสุภอารมณ์ เป็นปทัฏฐานของสมถะนั้น. อโลภะ มีลักษณะการกำจัดความอยากได้. เจตนาที่เป็นเหตุงดเว้นจากอทินนาทาน เป็นปทัฏฐานของอโลภะนั้น. อโทสะ มีลักษณะการไม่เบียดเบียน. เจตนาที่เป็นเหตุงดเว้นจากปาณาติบาต เป็นปทัฏฐานของอโทสะนั้น. อโมหะ มีลักษณะการแทงตลอดสภาพของอารมณ์. สัมมาปฏิบัติ เป็นปทัฏฐานของอโมหะนั้น อสุภสัญญา มีลักษณะการถือเอาวินีลกะ วิปุพพกะ อสุภะ. นิพพิทา (ปัญญาที่เกิดขึ้นเพราะความเบื่อหน่าย) เป็นปทัฏฐานของอสุภสัญญานั้น. ทุกขสัญญา มีลักษณะการกำหนดรู้ผัสสะ อันเป็นอารมณ์ของอาสวะ. เวททนา เป็นปทัฏฐานของทุกขสัญญานั้น. อนิจจสัญญา มีลักษณะการเห็นธรรมทั้งหลาย อันมีสังขตลักษณะ. ความเกิดและความดับของสังขตธรรมทั้งหลาย เป็นปทัฏฐานของอนิจจสัญญานั้น. อนัตตสัญญา มีลักษณะการใส่ใจสภาพธรรมทั้งปวง. การจำหมายว่า เป็นเพียงสภาวธรรมเท่านั้น เป็นปทัฏฐานของอนัตตสัญญานั้น กามคุณ 5 เป็นปทัฏฐานของกามราคะ. รูปอินทรีย์ 5 เป็นปทัฏฐานของรูปราคะ. อายตนะที่ 6 (มนายตนะ) เป็นปทัฏฐานของภวราคะ (ราคะที่ติดอยู่ในภพ) ความยินดีภพที่ตนเกิด เป็นปทัฏฐานของอุปาทานขันธ์ 5. ปุพเพนิวาสานุสสติ เป็นปทัฏฐานของญาณทัสสนะ. สัทธา มีลักษณะความเสื่อมใส และ เป็นปัจจุปัฏฐาน (อาการที่ปรากฏ) ของความผ่องใส. สัทธา มีลักษณะความเชื่อ. ความเลื่อมใสอย่างยิ่ง เป็นปทัฏฐานของความเชื่อนั้น. ปสาทะ มีลักษณะความไม่ขุ่นมัว. สัทธา เป็นปทัฏฐานของปสาทะนั้น. วิริยะ มีลักษณะความพยายาม. สัมมัปปธาน เป็นปทัฏฐานของวิริยะนั้น. สติ มีลักษณะสนใจในอารมณ์. สติปัฏฐาน มีกายเป็นต้น เป็นปทัฏฐานของสตินั้น. สมาธิ มีลักษณะการถือเอาอารมณ์อันเดียวแล้วไม่ซัดส่าย. ฌานทั้งหลาย เป็นปทัฏฐานของสมาธินั้น. ปัญญา มีลักษณะการรู้โดยประการต่าง ๆ. สัจจะทั้งหลาย เป็นปทัฏฐานของปัญญานั้น อีกนัยหนึ่ง อโยนิโสมนสิการ มีลักษณะการทำใจยินดี (ในธรรมที่เป็นสังโยชน์). อวิชชา เป็นปทัฏฐานของ อโยนิโสมนสิการนั้น. อวิชชา มีลักษณะหลงในสัจจะ 4. อวิชชานั้น เป็นปทัฏฐานของสังขารทั้งหลาย. สังขารทั้งหลาย มีลักษณะการทำให้ถึงภพใหม่ สังขารเหล่านั้น เป็นปทัฏฐานของวิญญาณ. วิญญาณ มีลักษณะการเกิดขึ้นโดยความเป็นมูลของ อุปปัตติภพ. นามรูป มีลักษณะการรวมนามกายและรูปกาย. นามรูปนั้นเป็นปทัฏฐานของ สฬายตนะ (อายตนะ 6). วิญญาณนั้น เป็นปทัฏฐานของ นามรูป. สฬายตนะ (อายตนะ 6) มีลักษณะเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดของอินทรีย์ทั้งหลาย มีจักขุเป็นต้น. สฬายตนะนั้น เป็นปทัฏฐานของ ผัสสะ. ผัสสะ มีลักษณะเป็นที่ประชุมของ จักขุปสาท รูปารมณ์ และ จักขุวิญญาณ. ผัสสะนั้น เป็นปทัฏฐานของเวทนา. เวทนา มีลักษณะการเสวยอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์. เวทนานั้น เป็นปทัฏฐานของตัณหา. ตัณหา มีลักษณะการเหนี่ยวอารมณ์มายึดไว้. ตัณหานั้น เป็นปทัฏฐานของ อุปาทาน. อุปาทาน ทำให้เกิด อุปปัตติขันธ์. อุปาทานนั้น เป็นปทัฏฐานของ ภพ. ภพ มีลักษณะการทำให้เกิดนามกายและรูปกาย. ภพนั้น เป็นปทัฏฐานของ ชาติ. ชาติ มีลักษณะความปรากฏแห่งขันธ์ในเบื้องแรก. ชาตินั้น เป็นปทัฏฐานของ ชรา. ชรา มีลักษณะความแก่แห่งอุปธิ คือ ขันธ์. ชรานั้น เป็นปทัฏฐานของมรณะ. มรณะ มีลักษณะการตัดชีวิตินทรีย์. มรณะนั้น เป็นปทัฏฐานของ โสกะ. โสกะ กระทำความเร่าร้อนเศร้าโศก. โสกะนั้น เป็นปทัฏฐานของ ปริเทวะ. ปริเทวะ กระทำความบ่นเพ้อคร่ำครวญ. ปริเทวะนั้น เป็นปทัฏฐานของ ทุกข์. ทุกข์ คือความบีบคั้นเบียดเบียนทางกาย. ทุกข์นั้น เป็นปทัฏฐานของ โทมนัส. โทมนัส คือความบีดคั้นเบียดเบียนทางใจ. โทสมัสนั้น เป็นปทัฏฐานของ อุปายาส. อุปายาส กระทำความเผาลน. อุปายาสนั้น เป็นปทัฏฐานของ ภพ. ภพนั้น เป็นปทัฏฐานของ วัฏสงสาร. มรรค มีลักษณะการนำออกจากวัฏสงสาร. มรรคนั้น เป็นปทัฏฐานของ นิพพาน ความเป็นผู้รู้จักคบกัลยาณมิตร เป็นปทัฏฐานของงความเป็นผู้รู้จักเจริญภาวนา ที่ทำให้เกิดปิติในธรรม. ความเป็นผู้รู้จักเจริญภาวนาที่ทำให้ปิติในธรรม เป็นปทัฏฐานของความเป็นผู้รู้ประมาณแห่งกรรมฐาน. ความเป็นผู้รู้ประมาณแห่งกรรมฐาน เป็นปทัฏฐานของ ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้มีบุญที่เคยทำไว้ในกาลก่อน). ปุพเพกตปุญญตา เป็นปทัฏฐานของ ปฏิรูปเทสวาสะ (การอยู่ในประเทศอันสมควร). ปฏิรูปเทสวาสะ เป็นปทัฏฐานของ สัปปุริสูปนิสสยะ (การคบสัตบุรุษ). สัปปุริสูปนิสสยะ เป็นปทัฏฐานของ อัตตสัมมาปณิธิ (การประพฤติตนด้วยดี). อัตตสัมมาปณิธิ เป็นปทัฏฐานของ ศีล. ศีล เป็นปทัฏฐานของ อวิปปฏิสาร (ความไม่ร้อนใจ). อวิปปฏิสาร เป็นปทัฏฐานของ ปาโมช. ปาโมช เป็นปทัฏฐานของ ปีติ. ปีติ เป็นปทัฏฐานของ ปัสสัทธิ (ความสงบกายและใจ). ปัสสัทธิ เป็นปทัฏฐานของ สุข. สุข เป็นปทัฏฐานของ สมาธิ. สมาธิ เป็นปทัฏฐานของ ยถาภูตญาณทัสสนะ. ยถาภูตญาณทัสสนะ เป็นปทัฏฐานของ นิพพิทา (ความเบื่อหน่าย). นิพพิทา เป็นปทัฏฐานของ วิราคะ (มรรค). วิราคะ เป็นปทัฏฐานของ วิมุตติ (ผล). วิมุตติ เป็นปทัฏฐานของ วิมุตติญาณทัสสนะ (ปัจจเวกขญญาณ). อุปนิสัย (เหตุที่มีกำลัง) ทั้งสิ้น ปัจจัย (เหตุที่เหลือ) ทั้งสิ้น ย่อมมีอย่างนี้. ทั้งหมดนั้นจัดเป็นปทัฏฐาน. เพราะฉะนั้นพระมหากัจจายนเถระ จึงกล่าวว่า “ธมฺมํ เทเสติ ชิโน (การพิจารณาเหตุใกล้ของธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง)” เป็นต้น ปทัฏฐานหาระ ท่านยกจากพระบาลีมาประกอบแล้ว 5. ลักขณหารวิภังค์ [ 23 ] ในบรรดาหาระเหล่านั้น ลักขณหาระเป็นไฉน ? คาถาว่า “วุตฺตมฺหิ เอกธมฺเม (เมื่อท่านกล่าวธรรมอย่างหนึ่ง)” เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ลักขณหาระ. ลักขณหาระกำหนดอะไร ? กำหนดดังนี้ คือ ธรรมเหล่าใดมีลักษณะเหมือนกัน เมื่อท่านกล่าวธรรมอย่างหนึ่งแห่งธรรมเหล่านั้น ธรรมที่เหลือก็เป็นอันท่านกล่าวแล้ว. สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นสิ่งที่ไม่ตั้งมั่น มีขณะสั้น มีขณะน้อย มักเสื่อมเสีย เป็นศัตรู เป็นทุกข์ มีการเสียไป หวั่นไหว เหมือนผู้แสดง มีการปรุงแต่ง เป็นผู้ฆ่า อยู่ท่ามกลางศัตรู. เมื่อท่านกล่าวจักษุในสูตรนี้แล้ว ก็เป็นอันกล่าวอายตนะภายในที่เหลือด้วย. เพราะเหตุไร ? เพราะว่า อายตนะภายใน 6 ทั้งปวงมีลักษณะเหมือนกันโดยสภาพเป็นผู้ฆ่า. และสมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูก่อนราธะ เธอจงเป็นผู้เพ่งเล็งในรูปขันธ์ที่เป็นอดีต. อย่ายินดีรูปขันธ์ที่เป็นอนาคต. จงปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อการสละ เพื่อการพ้นรูปขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน.1 เมื่อท่านกล่าวรูปขันธ์ในสูตรนี้แล้ว ก็เป็นอันกล่าวขันธ์ที่เหลือด้วย. เพราะเหตุไร ? เพราะว่าปัญจขันธ์ทั้งปวงท่านกล่าวว่า มีลักษณะเหมือนกันโดยสภาพความเป็นผู้ฆ่า ในยมโกวาทสูตร.2 และสมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า กายคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีรูปกายเป็นอารมณ์) อันชนเหล่าใดเพียรพยายามดีแล้วเป็นนิจ ชนเหล่านั้นย่อมไม่เสพกิจที่ไม่ควรทำ เป็นผู้มีปกติกระทำอย่างต่อเนื่องในกิจที่ควรทำ (คือ การเจริญกรรมฐาน)3 1. สํ. ข. 17/9,79/16,71, สํ. สฬา. 18/10–12/5 2. สํ. ข. 17/85/87,92 3. ขุ. ธ. 25/293/67 เมื่อท่านกล่าว กายคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีรูปกายเป็นอารมณ์) ในคาถานี้แล้ว เวทนาคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีเวทนาเป็นอารมณ์) จิตตคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีจิตเป็นอารมณ์) และ ธัมมคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีธรรมเป็นอารมณ์) ก็เป็นอันท่านกล่าวแล้ว. เหมือนเช่นนั้น เมื่อท่านกล่าว “เห็นรูปายตนะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี” ดังนี้แล้วรูปที่เหลือซึ่งจัดอยู่ในธัมมารมณ์ที่รู้ได้ด้วย มโนวิญญาณ ก็เป็นอันท่านกล่าวแล้ว. และสมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 4 ดูก่อนภิกษุ เพราะเหตุนั้นเธอจงเป็นผู้พิจารณาดูกายในรูปกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อยู่ในศาสดานี้. ท่านกล่าววิริยินทรีย์ด้วยคำว่า “อาตาปี” กล่าวปัญญินทรีย์ด้วยคำว่า “สมฺปชาโน” กล่าวสตินทรีย์ด้วยคำว่า “สติมา” กล่าวสมาธินทรีย์ด้วยคำว่า “วิเนยฺยโลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ”. สติปัฏฐาน 4 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา แก่บุคคลผู้พิจารณาดูกายในรูปกายอย่างนี้อยู่. เพราะเหตุไร ? เพราะอินทรีย์ทั้ง 4 มีลักษณะเหมือนกัน 4 สํ. มหา. 19/369,413/125,164 [ 24 ] เมื่อเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้ว สัมมัปปธาน 4 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญสัมมัปปธาน 4 แล้ว อิทธิบาท 4 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญอิทธิบาท 4 แล้ว อินทรีย์ 5 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญอินทรีย์ 5 แล้ว พละ 5 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญ พละ 5 แล้ว โพชฌงค์ 7 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญโพชฌงค์ 7 แล้ว อริยมรรคอันมีองค์ 8 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. โพธิปักขิยธรรมทั้งปวง อันเป็นธรรมที่ตรัสรู้ (อริยสัจ 4) มีลักษณะเหมือนกัน โดยลัฏษณะที่ออกจากวัฏฏะ. โพธิปักขิยธรรม 37 ประการเหล่านั้น ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา ฉันใด). แม้อกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ถึงซึ่งการหายไป การตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมีลักษณะเหมือนกัน ฉันนั้น. เมื่อเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้ว วิปัลลาส 4 ย่อมหายไป. แม้อาการ 4 ของวิปัลลาสนั้น ย่อมถึงการกำหนดรู้ เป็นผู้ไม่มีความยึดมั่นด้วยอุปาทาน 4 เป็นผู้ปราศจากการประกอบด้วยโยคะทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประกอบกับคันถะทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีอาสวะด้วยอาสวะทั้งหลาย เป็นผู้ข้ามพ้นโอฆะทั้งหลาย และ เป็นผู้ที่ปราศจากลูกศรด้วยลูกศรทั้งหลาย มีตัณหาเป็นต้น. แม้วิญญาณฐิติทั้งหลาย ก็ย่อมถึงการกำหนดรู้แก่บุคคลนั้น ย่อมไม่ถึงซึ่งอคติ ด้วยการถึงสิ่งที่ไม่ควรถึง. แม้อกุศลธรรมทั้งหลายก็ย่อมถึงซึ่งการหายไป การตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมีลักษณะเหมือนกันอย่างนี้. ท่านแสดงรูปอินทรีย์ในเทศนาใด ก็เป็นอันแสดง รูปธาตุ รูปขันธ์ และ รูปายตนะ ในเทศนานั้นเอง. อีกอย่างหนึ่ง รูปอินทรีย์ (มีความแปรผันเป็นลักษณะ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในเทศนาใดรูปธาตุ รูปขันธ์ รูปายตนะ ก็เป็นอันว่าแสดงไว้ในเทศนานั้น เพราะมีลักษณะอย่างเดียวกัน ฯ ก็หรือว่า สุขเวทนาที่ทรงแสดงไว้ในเทศนาใด สุขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์และทุกขสมุทยสัจจะ ก็ทรงแสดงไว้ในเทศนานั้น ฯ หรือว่า ทุกขเวทนาที่่ทรงแสดงไว้ในเทศนาใด ทุกขินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ และทุกขอริยสัจจะ ก็ทรงแสดงไว้ในเทศนานั้นฯ หรือว่า อทุกขมสุขเวทนาที่ทรงแสดงไว้ในเทศนาใดอุเบกขินทรีย์ และปฏิจจสมุปบาททั้งปวง ก็เป็นอันว่าทรงแสดงไว้ในเทศนานั้น ฯ ก็อทุกขมสุขเวทนากับอุเบกขินทรีย์ มีลักษณะเสมอกันก็ควร แต่ปฏิจจสมุปบาทนั้นทรงแสดงไว้ เพราะเหตุไร เพราะอวิชชานอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา ฯ ปฏิจจสมุปบาททั้งปวง ซึ่งมีอวิชชาเป็นมูล คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้น ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้นอันบุคคลพึงละ เพราะเป็นฝ่ายสังกิเลส คือ เป็นไปกับราคะ เป็นไปกับโทสะเป็นไปกับโมหะ (ฝ่ายอนุโลม) และการเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้น อันอริยธรรม คือ ผู้มีราคะไปปราศแล้ว ผู้มีโทสะไปปราศแล้ว ผู้มีโมหะไปปราศแล้วพึงละ (ฝ่ายปฏิโลม) ฯ บัดนี้ เพื่อแสดงนัยแห่งการประกอบลักขณหาระ ด้วยการชี้แจงความที่ธรรมมีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงกล่าวว่า ธรรมเหล่าใดมีลักษณะอย่างเดียวกันโดยกิจ มีกิจแห่งปฐวีธาตุเป็นต้น และแห่งนามมีผัสสะเป็นต้น โดยลักษณะมีความกระทบกับความแข็งเป็นต้น เป็นลักษณะ โดยสามัญญะ มีการน้อมไปในรุปปนะเป็นต้น และโดยอนิจจตาเป็นต้น และโดยจุตูปปาตะ คือ โดยภังคะและอุปบัติ ได้แก่ ดับพร้อมกัน เกิดพร้อมกัน เมื่อธรรมเหล่านั้นธรรมอย่างหนึ่ง ท่านแสดงไว้แล้ว ธรรมที่เหลือ ก็ชื่อว่าท่านแสดงแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "เมื่อธรรมอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวไว้แล้ว" ดังนี้ ฯ จบ ลักขณหารวิภังค์ 6. จตุพยูหหารวิภังค์ [25] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระคือ จตุพยูหะ เป็นไฉน หาระที่กล่าวว่า "เนรุตตะ อธิปปายะ นิทานะ สนธิเบื้องต้นเบื้องปลาย 4 พวก" นี้ ชื่อว่า จตุพยูหะ ฯ ว่าโดยสังเขป ท่านแสดงจตุพยูหะว่า "เนรุตตะ อธิปปายะ นิทานะ และสนธิเบื้องต้นเบื้องปลายของพระสูตรอันบุคคลพึงแสวงหาโดยพยัญชนะ" ดังนี้ ก่อน ฯ บรรดาบท 4 เหล่านั้น เนรุตตะเป็นไฉน ภาษาใด ประกอบด้วยบทแห่งนิรุตติ ญาณใดเป็นไปโดยชื่อแห่งธรรมทั้งหลาย นิรุตตินั้นเป็นไฉน ญาณนั้นเป็นไฉน จริงอยู่ เมื่อใด ภิกษุย่อมรู้ชื่อของอรรถะ และย่อมรู้ชื่อของธรรม เมื่อนั้น เธอย่อมตั้งไว้ซึ่งโวหารแห่งอรรถะและแห่งธรรมได้โดยประการนั้น ๆ ก็ภิกษุนี้ ท่านเรียกว่า ผู้ฉลาดในอรรถะผู้ฉลาดในธรรม ผู้ฉลาดในพยัญชนะ (คือในอักขระและพากย์) ผู้ฉลาดในนิรุตติ(คือวิเคราะห์ศัพท์) ผู้ฉลาดในเบื้องต้นเบื้องปลายแห่งเทศนา ผู้ฉลาดในธรรมเทศนา ผู้ฉลาดในบัญญัติ คือ คำพูดที่เป็นอดีต ผู้ฉลาดในคำพูดที่เป็นอนาคตผู้ฉลาดในคำพูดที่เป็นปัจจุบัน ผู้ฉลาดในถ้อยคำของหญิง ผู้ฉลาดในถ้อยคำของชาย ฉลาดในถ้อยคำของผู้มิใช่เพศชายและหญิง ผู้ฉลาดในถ้อยคำมีความหมายอย่างเดียว และผู้ฉลาดในถ้อยคำมีความหมายหลายอย่าง นิรุตติคือ บทโวหารของสัตว์ทั้งปวง บัณฑิตพึงวิเคราะห์อย่างนี้ และโลกสมัญญาทั้งปวง พึงกระทำตามควร นี้ชื่อว่าประกอบด้วยบทนิรุตติ หรือเรียกว่า เนรุตตะ ฯ [26] บรรดาบท 4 เหล่านั้น อธิปปายะเป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มคันใหญ่มีประโยชน์ในฤดูฝน นี้เป็นอานิสงส์ในธรรม อันบุคคลประพฤติดีแล้วเพราะผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ" ดังนี้ ฯ ในคาถานี้ อะไรเป็นอธิปปายะ (คือ ความประสงค์ ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ความประสงค์นี้ว่า "สัตว์เหล่าใด ปรารถนาจักพ้นจากอบายทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นจักประพฤติธรรม" ดังนี้ อธิปปายะ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าในคาถานี้ ฯ พระสูตรว่า "โจรผู้มีธรรมอันชั่วช้า ถูกเขาจับได้พร้อมทั้งของกลาง ย่อมเดือดร้อน และถูกจับเพราะกรรมของตน ฉันใด หมู่สัตว์ ผู้มีธรรมอันชั่วช้านี้ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อน และถูกจับไปในปรโลกเพราะกรรมของตนฉันนั้น" ดังนี้ ฯ ในคาถานี้ คำอธิบายของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร โวหารว่า "สัตว์จักเสวยวิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่ายินดี ของกรรมทั้งหลายอันประกอบด้วยเจตนาอันตนกระทำแล้ว สั่งสมไว้แล้วให้เสวยทุกข์" ดังนี้เป็นความประสงค์อธิบายในอธิการนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมไม่ได้ความสุขในโลกหน้า" ดังนี้ ฯ ในคาถานี้ คำอธิบายของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร โวหารนี้ว่า "สัตว์เหล่าใด มีความปรารถนาสุข สัตว์เหล่านั้น จักไม่กระทำกรรมอันลามก" ดังนี้เป็นความประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในอธิการนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เมื่อใด บุคคลเป็นผู้บริโภคมาก มักง่วงซึม นอนหลับ พลิกกลับไปมา ดุจสุกรใหญ่อันบุคคลปรนปรือด้วยเหยื่อ เมื่อนั้น บุคคลนั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าห้อง (นอน) บ่อย ๆ" ดังนี้ในคาถานี้ คำอธิบายของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร ในอธิการนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์อธิบายว่า "สัตว์เหล่าใด ปรารถนาเพื่อยับยั้งชราและมรณะ สัตว์เหล่านั้น จักเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ จักเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย จักเป็นผู้ประกอบเนือง ๆ ในความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดราตรีเบื้องต้นและตลอดราตรีเบื้องปลาย จักเป็นผู้รู้แจ้งในกุศลธรรมทั้งหลาย และจักเป็นผู้มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายคือ ในพระเถระทั้งหลาย พระนวกะทั้งหลาย และพระมัชฌิมะทั้งหลาย" ดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ความไม่ประมาทเป็นทางเครื่องถึงอมตนิพพาน ความประมาทเป็นทางแห่งมัจจุ ชนผู้ไม่ประมาทแล้วย่อมไม่ตาย ชนเหล่าใดประมาทแล้ว ชนเหล่านั้นเหมือนคนตายแล้ว"3 ดังนี้ ฯ ในคาถานี้ มีอธิปปายะของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร ในอธิการนี้มีอธิปปายะของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "สัตว์เหล่าใดผู้ปรารถนาเพื่อแสวงหาอมตนิพพานจักมี สัตว์เหล่านั้นจักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่" ดังนี้ ฯ เทศนานี้ชื่อว่า อธิปปายะ ฯ [27] บรรดาบท 4 นั้น นิทานะเป็นไฉน นายธนิยะคนเลี้ยงโค กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "คนย่อมเพลิดเพลิน เพราะอุปธิทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนมีบุตรย่อมเพลิดเพลินเพราะบุตร คนมีโคย่อมเพลิดเพลินเพราะโค ฉะนั้นคนใดไม่มีอุปธิ คนนั้นย่อมไม่เพลิดเพลินเลย"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "คนย่อมเศร้าโศกเพราะอุปธิทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนมีบุตรย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร คนมีโคย่อมเศร้าโศกเพราะโค ฉะนั้น คนใดไม่มีอุปธิ คนนั้นย่อมไม่เศร้าโศกเลย" ดังนี้บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะ (การณะ) นี้ ด้วยวัตถุ (อุปธิ) นี้ว่า ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงอุปธิที่บุคคลถือเอาในภายนอก ฉะนั้น ฯ อุปธิภายในเหมือนอย่างมารผู้มีบาป ยังศิลาใหญ่ให้ตกไปจากภูเขาคิชฌกูฏ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "แม้ถึงว่าท่านจะพึงกลิ้งภูเขาคิชฌกูฏหมดทั้งสิ้น ความหวั่นไหวก็จะไม่พึงมีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบแน่แท้" ฯ "ถึงแม้ท้องฟ้าจะพึงแตก แผ่นดินพึงแยก สัตว์ทั้งหลายพึงสะดุ้งกลัวกันหมดก็ตามที แม้ถึงว่าหอกหรือหลาวจะจ่ออยู่ที่อกก็ตามเถิดพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงทำการป้องกัน ในเพราะอุปธิทั้งหลาย"ดังนี้ ฯ บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส อุปธิ คือ กาย ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า "นักปราชญ์ทั้งหลาย ไม่กล่าวเครื่องผูกซึ่งเกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้และเกิดแต่หญ้าปล้องว่ามั่นคง แต่สัตว์ผู้หลงแล้ว กำหนัดแล้วในแก้วมณีและกุณฑล และความเยื่อใยในบุตรและภรรยาเหล่าใด" ดังนี้ ฯ บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหาในวัตถุทั้งหลายอันเป็นภายนอก ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า "นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวเครื่องผูก อันถ่วงลง อันหย่อนอันเปลื้องได้โดยยากนั้นว่ามั่นคง นักปราชญ์ทั้งหลาย ตัดเครื่องผูกแม้นั้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีความห่วงใย ละกามสุขแล้ว ย่อมเว้นรอบ" ดังนี้ ฯ บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหา อันเป็นวัตถุอันเป็นไปในภายนอก ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "จงพิจารณาดูอัตภาพนี้ อันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด เป็นของเน่าเปื่อย มีกลิ่นเหม็นซึ่งอาศัยกาย มีสิ่งปฏิกูลไหลออกอยู่ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน อันชนพาลทั้งหลายปรารถนายิ่งนัก" ดังนี้ ฯ บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหา ด้วยสามารถแห่งความสิเนหาในวัตถุอันเป็นไปในภายในดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "พวกเธอ จงตัดความเยื่อใยในตนเสีย เหมือนบุคคลถอนดอกโกมุทที่เกิดในสารทกาล (ฤดูใบไม้ร่วง) ด้วยมือ จงพอกพูนทางแห่งสันติทีเดียวเพราะพระนิพพานอันพระสุคตแสดงแล้ว" ดังนี้ ฯ บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหา ด้วยสามารถแห่งความสิเนหาในวัตถุอันเป็นไปในภายใน ฯ บทนี้ ชื่อว่า นิทานะ ฯ บรรดาบท 4 นั้น สนธิเบื้องต้นและเบื้องปลาย เป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า "สัตว์ทั้งหลายผู้มืดมนเพราะกาม ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้แล้ว ถูกเครื่องมุง คือตัณหาปกปิดไว้แล้ว ถูกเครื่องผูก คือกามคุณผูกไว้แล้วด้วยความประมาท ย่อมไปสู่ชรา และมรณะเหมือนปลาที่ปากไซ เหมือนลูกโคที่ยังดื่มนมไปตามแม่โค ฉะนั้น" ดังนี้ ฯ สนธินี้ท่านกล่าวว่า กามตัณหา กามตัณหานั้นย่อมประกอบไว้โดยเบื้องต้นและเบื้องปลาย เป็นไฉน เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "บุคคล ผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่รู้อรรถะ บุคคลผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่เห็นธรรม ราคะย่อมครอบงำนรชนเมื่อใด เมื่อนั้นความมืดตื้อย่อมมี" ดังนี้ ฯ ตัณหานั้นนั่นเอง ตรัสเรียกว่า ปุพพาปรสนธิ เพราะกระทำความมืดและกระทำการปกคลุมสัตว์ไว้ คือ ตัณหานั้นนั่นแหละ ท่านกล่าวไว้โดยปริยุฏฐาน ด้วยบททั้ง 2 นี้ว่า "สัตว์ทั้งหลายผู้มืดมนเพราะกาม ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมแล้ว ถูกเครื่องมุงคือตัณหาปกปิดแล้ว" และคำว่า "บุคคลผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่รู้อรรถะ ผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่เห็นธรรม" ดังนี้ ฯ ความไม่รู้อันใด อันกระทำซึ่งความมืด นี้พึงเป็นสมุทัย และตัณหาใดท่านกล่าวว่านำไปเกิดในภพใหม่ ตัณหานี้ก็พึงเป็นสมุทัย ฯ ก็บทใด ที่ตรัสว่า กามบทเหล่านี้ เป็นกิเลสกาม ฯ บทใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้" ดังนี้ ด้วยบทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงการกลุ้มรุมจิตแห่งกามเหล่านั้นนั่นแหละด้วยการประกอบเพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า เครื่องผูกคือตัณหา ด้วยสามารถแห่งกิเลส และด้วยสามารถแห่งการกลุ้มรุมจิต ฯ คนใด เช่นกับคนที่เป็นไปกับตัณหามีประการตามที่กล่าวแล้ว คนเช่นนั้น ย่อมไปสู่ชราและมรณะ นี้เป็นคำอธิบายการสืบต่อเบื้องต้นและเบื้องปลาย ในคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ตัณหา ย่อมนำไปสู่ชราและมรณะ" ตามคาถาที่ตั้งไว้ ฉะนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานนี้ว่า "ผู้ใด ไม่มีกิเลสเครื่องให้เนิ่นช้า และตัณหานอนเนื่องอยู่ ก้าวล่วงแล้วซึ่งที่ต่อ คือตัณหา และลิ่ม คืออวิชชาได้ สัตวโลกแม้ทั้งเทวโลกผู้เป็นไปกับตัณหา ย่อมไม่รู้ซึ่งมุนีผู้ไม่มีตัณหานั้น ผู้เที่ยวไปอยู่ในโลก"ดังนี้ ฯ ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ชื่อว่า ปปัญจะ (คือ ธรรมให้เนิ่นช้า) สังขารทั้งหลาย ที่ชื่อว่า ปปัญจะ เพราะอันตัณหา ทิฏฐิและมานะนั้นปรุงแต่งแล้วตัณหาที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ด้วยอรรถะว่าละไม่ได้ และได้ชื่อว่า ฐิติเพราะเป็นเหตุให้สัตว์ตั้งอยู่ ปริยุฏฐานแห่งตัณหา และตัณหาที่ท่านกล่าวว่า ท่องเที่ยวไป 36 ที่เป็นดุจข่าย ชื่อว่า สันตานะ (การสืบต่อ) โมหะ ชื่อว่า ลิ่ม ฯ บุคคลใดก้าวล่วงอกุศลทั้งปวงนี้ คือ ปปัญจธรรม สังขารอันปปัญจธรรมนั้นปรุงแต่งแล้ว ฐิติคือการนอนเนื่องอยู่แห่งตัณหา สันตานะแห่งตัณหา และลิ่ม คือโมหะ บุคคลนี้ บัณฑิตเรียกว่า ผู้ไม่มีตัณหา ฉะนี้แล ฯ [28] ในปปัญจธรรมเป็นต้นเหล่านั้น อกุศลเจตนาซึ่งกลุ้มรุมจิตด้วยอำนาจแห่งวีติกกมะ พึงให้ทิฏฐธัมมเวทนียะ หรืออุปปัชชเวทนียะ หรืออปราปริยเวทนียะฉันใด ตัณหาก็ให้ผล 3 อย่าง ฉันนั้น คือ ให้ทิฏฐธัมมเวทนียะ หรืออุปปัชชเวทนียะ หรือ อปราปริยเวทนียะ ฯ สมดังพระดำรัสที่ตรัสว่า "บุคคลใด ย่อมทำกรรมใด ที่ทำด้วยความโลภ ด้วยกาย หรือ ด้วยวาจา หรือด้วยใจ บุคคลนั้น ย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้น ในทิฏฐธัมมเวทนียะนี้ หรือในอุปปัชชเวทนียะนี้ หรือในอปราปริยเวทนียะนี้" ดังนี้ ฯ พระพุทธพจน์นี้ ย่อมสมควรโดยการสืบต่อเบื้องต้นและเบื้องปลาย ฯ ในการสืบต่อนั้น ปริยุฏฐานแห่งตัณหา เป็นกรรมอันบุคคลพึงเสวยผลในอัตภาพปัจจุบัน หรือในอัตภาพที่จะเกิดขึ้น หรือว่าในภพต่อ ๆ ไป ฉันใดกรรมก็ย่อมให้ผล 3 อย่าง ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "หากว่า คนพาลมีปกติฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ กระทำกรรมใดเขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้น ในอัตภาพปัจจุบันนี้ หรือในภพที่จะเกิดขึ้น หรือในภพต่อ ๆ ไป" ดังนี้ พระพุทธพจน์นี้ก็ประกอบในการสืบต่อเบื้องต้นและเบื้องปลาย ฯ ในการสืบต่อนั้น ปริยุฏฐานแห่งตัณหาอันบุคคลพึงละได้ด้วยกำลังแห่งการพิจารณา มีอสุภะและอนิจจะเป็นต้น (ตทังคปหานะ) สังขารที่ปรุงแต่งด้วยปปัญจธรรมนั้น พึงละได้ด้วยทัสสนะ (ปฐมมรรค) ตัณหาวิจริต 36 พึงละได้ด้วยกำลังแห่งการเจริญมรรคในเบื้องบน ตัณหาแม้ทั้ง 3 อันบุคคลย่อมละได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ ความไม่มีแห่งตัณหาใด ความไม่มีนี้ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ (นิพพานธาตุที่มีวิบากขันธ์เหลืออยู่) และความไม่มีแห่งตัณหานี้ ชื่อว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เพราะการแตกแห่งกาย ฯ สภาวะเครื่องผูกพัน ท่านเรียกว่า เป็นเครื่องเนิ่นช้า (ปปัญจะ) เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เพราะดำริถึงรูปที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุ อันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน จึงทำให้เนิ่นช้า" ดังนี้ และเหมือนอย่างที่ตรัสว่า "ดูกร ราธะ เธอจงเป็นผู้ไม่อาลัยในรูปที่เป็นไปล่วงแล้ว อย่ายินดีรูปที่ยังไม่มาถึง จงปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับเพื่อสละ เพื่อสละคืน ซึ่งรูปที่เป็นปัจจุบัน" ดังนี้ ฯ พระพุทธพจน์นี้ย่อมประกอบด้วยความสืบต่อทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย ฯ อนึ่ง ธรรมเครื่องเนิ่นช้าใด สังขารทั้งหลายเหล่าใด และความยินดียิ่งซึ่งรูปอันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันใด สภาวะนี้ทั้งหมด มีเนื้อความเป็นอย่างเดียวกัน ฯ อีกอย่างหนึ่ง พระธรรมเทศนาอันหาประมาณมิได้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยบททั้งหลายอันประกอบกันและกัน บัณฑิต เทียบเคียงพระสูตรกับพระสูตรอย่างนี้แล้ว ประกอบสนธิโดยเบื้องต้นและเบื้องปลายแล้วอธิบายพระสูตรเถิด ฯ อนึ่ง สนธิเบื้องต้นและเบื้องปลายนี้ มี 4 อย่าง คือ อัตถสนธิ 1พยัญชนสนธิ 1 เทสนาสนธิ 1 และนิทเทสสนธิ 1 ฯ บรรดาสนธิ 4 เหล่านั้น อัตถสนธิ (การต่ออรรถะ) ได้แก่ บท 6 คือ 1. สังกาสนา การบอก, 2. ปกาสนา การประกาศ, 3. วิวรณา การเปิดเผย, 4. วิภชนา การจำแนก, 5. อุตตานีกัมมตา การทำให้ตื้น, 6. ปัญญัตติ บัญญัติ ฯ พยัญชนสนธิ (การต่อพยัญชนะ) ได้แก่ บท 6 คือ 1. อักขระ ตัวอักษร, 2. บท ส่วน พากย์, 3. พยัญชนะ ทำอรรถะให้ปรากฏ, 4. อาการ การจำแนก, 5. นิรุตติ ภาษา, 6. นิทเทส การอธิบาย ฯ เทสนาสนธิ (แสดงลักษณะนิพพานธาตุ) ว่า บุคคลผู้ได้ฌานอาศัยปฐวีเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ อาศัยอาโปเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้อาศัยเตโชเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ อาศัยวาโยเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ ฯลฯ บุคคลได้อรูปฌาน อาศัยอากาสานัญจายตนะ ... อาศัยวิญญาณัญจายตนะ ... อาศัยอากิญจัญญายตนะ ... อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะเพ่งอยู่ก็ย่อมไม่รู้ บุคคลอาศัยสันดานแห่งสัตว์ในโลกนี้ ... อาศัยสันดานแห่งสัตว์ในปรโลกเพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ บุคคลเว้นสันดานทั้ง 2 แล้ว วัตถุใด อันตนเห็นแล้ว(ทิฏฺฐํ) อันตนได้ยินแล้ว (สุตํ) อันตนทราบแล้ว (มุตํ) และธัมมารมณ์มีอาโปเป็นต้น อันตนรู้แจ้งแล้ว (วิญฺญาตํ) ที่บุคคลถึงแล้ว อันแสวงหาแล้ว ไม่แสวงหาแล้ว หรือ วัตถุใด อันเป็นอารมณ์ของวิตก ของวิจาร หรืออันบุคคลคิดด้วยใจอันใด บุคคลอาศัยวัตถุแม้นั้นเพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ ฯ แต่พระขีณาสพนี้ เพ่งอยู่ด้วยฌานในผลสมบัติ ย่อมรู้เพราะความที่ตัณหาทิฏฐิ และมานะท่านละได้แล้ว ชื่อว่า ย่อมรู้ด้วยจิตที่ไม่อาศัยตัณหา ทิฏฐิและมานะนั้น ที่ใคร ๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์รู้ไม่ได้เพ่งอยู่ ฯ เหมือนมารผู้มีบาป แสวงหาอยู่ซึ่งวิญญาณของกุลบุตรชื่อโคธิกะย่อมไม่รู้ ย่อมไม่เห็น เพราะกุลบุตรนั้นมีธรรมเครื่องเนิ่นช้าอันตนก้าวล่วงแล้วเพราะละตัณหา แม้ที่อาศัยของทิฏฐิก็ไม่มี ก็วิญญาณของกุลบุตรโคธิกะฉันใดวิญญาณของท่านพระวักกลิก็ฉันนั้น อันใคร ๆ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลกพรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมไม่รู้เพราะความที่จิตอันกิเลสไม่อาศัยแล้ว การเทียบเคียงอรรถะแห่งพระสูตรทั้ง 2 นี้ ชื่อว่า เทสนาสนธิ ฯ บรรดาสนธิเหล่านั้น นิทเทสสนธิ เป็นไฉน บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยฝ่ายอกุศล บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัยพึงแสดงโดยฝ่ายกุศล บุคคลมีจิตอาศัย พึงแสดงโดยกิเลส บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัยพึงแสดงโดยโวทานะ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความเป็นไปในสังสารบุคคลมีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยความไม่เป็นไปแห่งสังสาร ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยตัณหาและอวิชชา บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยสมถะและวิปัสสนา บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอหิริกะและอโนตตัปปะบุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยหิริและโอตตัปปะ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความไม่มีสติและสัมปชัญญะ บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยสติและสัมปชัญญะ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอโยนิโส (ความไม่รู้) และอโยนิโสมนสิการ บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยความรู้และโยนิโสมนสิการบุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความเกียจคร้านและความเป็นคนว่ายากบุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยวิริยารัมภะและความเป็นคนว่าง่าย บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความไม่มีศรัทธาและความประมาท บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยศรัทธาและความไม่ประมาท ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความไม่ฟังพระสัทธรรมและความไม่สังวร บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยการฟังพระสัทธรรมและสังวร ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอภิชฌาและพยาบาท บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยความไม่มีอภิชฌาและความไม่พยาบาท ฯ บุคคลผู้มีิจิตอาศัย พึงแสดงโดยนิวรณ์ทั้งหลายและสังโยชน์ทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยเจโตวิมุตติอันสำรอกราคะและปัญญาวิมุตติอันสำรอกอวิชชา ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอุทเฉททิฏฐิและสัสสตทิฏฐิ บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยนิพพานธาตุที่เป็นสอุปาทิเสสะและอนุปาทิเสสะ ฯ การเทียบเคียงต่อนิทเทสกับนิทเทส ด้วยสามารถแห่งจิตอาศัย แห่งนิทเทสแรกมีอกุศลเป็นต้นกับนิทเทสหลังมีสังกิเลสเป็นต้น และด้วยสามารถแห่งจิตไม่อาศัย แห่งนิทเทสแรกมีกุศลเป็นต้นกับนิทเทสหลังมีโวทานะเป็นต้นนี้ ชื่อ ว่า นิทเทสสนธิ ฯ เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าว จตุพยูหะว่า "เนรุตตะ อธิปปายะ นิทานะ และสนธิ" ดังนี้ ฯ จบ จตุพยูหหารวิภังค์ 7. อาวัฏฏหารวิภังค์ [29] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระคือ อาวัฏฏะ เป็นไฉน เทศนาว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม จงก้าวหน้าจงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนาจงกำจัดเสนาแห่งมัจจุ เหมือนช้างพลายกำจัดเรือนไม้อ้อ ฉะนั้น" เป็นต้นในนิทเทสว่า "เอกมฺหิ ปทฏฺฐาเน" เป็นต้น นี้ชื่อว่า หาระ คือ อาวัฏฏะ ฯ คำว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม จงก้าวหน้า" นี้ เป็นปทัฏฐาน (เหตุให้เกิดขึ้น) แห่งวิริยะ ฯ คำว่า "จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา"นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งความเพียร อันเป็นไปกับสมาธิ ฯ คำว่า "จงกำจัดเสนาแห่งมัจจุ เหมือนช้างพลายกำจัดเรือนไม้อ้อ ฉะนั้น" นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งปัญญา ฯ คำว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม จงก้าวหน้า" ดังนี้ เป็นปทัฏฐานของวิริยินทรีย์ คำว่า "จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา" ดังนี้ เป็นปทัฏฐานของสมาธินทรีย์ คำว่า "จงกำจัดเสนาแห่งมัจจุ เหมือนช้างกำจัดเรือนไม้อ้อฉะนั้น" ดังนี้ เป็นปทัฏฐานของปัญญินทรีย์ ฯ ปทัฏฐานเหล่านี้ เป็นเทศนา ฯ เหตุในการประกอบ (ความเพียร) ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ประกอบ(คือผู้มีญาณไม่แก่กล้า) และความริเริ่มของสัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบอยู่(ผู้มีญาณแก่กล้า) ฯ ในการไม่ประกอบและการประกอบทั้ง 2 นั้น สัตว์เหล่าใด มีญาณไม่แก่กล้า ย่อมไม่ประกอบ สัตว์ผู้ไม่ประกอบนั้น เป็นผู้มีความประมาทเป็นมูลย่อมไม่ประกอบเพราะความประมาทใด ความประมาทนั้น มี 2 อย่าง คือ มีตัณหาเป็นมูล และมีอวิชชาเป็นมูล ฯ ในความประมาททั้ง 2 นั้น สัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นมูล บุคคลผู้ประมาทใด อันความไม่รู้หุ้มห่อแล้ว ย่อมไม่รู้ฐานะที่ควรรู้ว่า "ขันธ์ 5 เหล่านี้ มีความเกิดขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา" ความประมาทอันมีความไม่รู้นี้ ชื่อว่า ความประมาทมีอวิชชาเป็นมูล ฯ ความประมาทใดมีตัณหาเป็นมูล ความประมาทนั้นมี 3 อย่าง คือ สัตว์ผู้มีความอยาก(ผู้ดิ้นรน) แสวงหาอยู่เพื่อโภคะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดขึ้น ย่อมถึงความประมาทใด ความประมาทนี้ 1 สัตว์ผู้มีความอยากรักษาอยู่ เพื่อให้โภคะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ ย่อมถึงความประมาทใด อันมีการรักษาเป็นนิมิต ความประมาทนี้ 1 สัตว์ผู้มีความอยากบริโภคอยู่ซึ่งโภคะที่มีอยู่ย่อมถึงความประมาทใดอันมีการบริโภคเป็นนิมิต ความประมาทนี้ 1 เพราะฉะนั้นความประมาทที่มีตัณหาเป็นมูลจึงมี 3 อย่าง ความประมาท 4 อย่างนี้ คือ ความประมาทด้วยอวิชชาอย่าง 1 ด้วยตัณหา 3 อย่าง มีอยู่ในโลก ฯ ในอวิชชาและตัณหานั้น นามกาย (คือการประชุมแห่งนามมีผัสสะเป็นต้น)เป็นปทัฏฐานแห่งอวิชชา ฯ รูปกาย (คือ การประชุมแห่งรูปมีปฐวีเป็นต้น)เป็นปทัฏฐานแห่งตัณหา ฯ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะความยึดมั่นของตัณหาตั้งอยู่แล้วในสัตว์ทั้งหลาย ด้วยสามารถแห่งการยึดถือว่า เป็นเรา เป็นของเราในรูปธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รูปกายจึงเป็นปทัฏฐาน (เหตุให้เกิดขึ้น)แห่งตัณหา ความหลงใหลในอรูปธรรมทั้งหลาย ตั้งอยู่แล้วในหมู่สัตว์ เพราะความที่ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น มีภาวะของตนละเอียดยิ่ง และเพราะการแยกฆนะแห่งอารมณ์ โดยกิจที่สืบต่อและการประชุมกันกระทำได้โดยยากเพราะฉะนั้น อรูปกายจึงเป็นปทัฏฐานแห่งอวิชชา ฯ ในรูปกายและนามกายเหล่านั้น รูปขันธ์ ชื่อว่า รูปกาย (การประชุมแห่งรูป) อรูปขันธ์ 4 ชื่อว่า นามกาย (การประชุมแห่งนาม) ฯ ขันธ์ 5 เหล่านี้ ชื่อว่า มีอุปาทาน ด้วยอุปาทาน เป็นไฉน ขันธ์ 5 นี้ ชื่อว่า มีอุปาทาน ด้วยตัณหาที่เป็นอุปาทาน และอวิชชาที่เป็นอุปาทาน ฯ ในตัณหาและอวิชชานั้น ตัณหาเป็นอุปาทาน 2 อย่าง คือ กามุปาทานและสีลัพพตุปาทาน ฯ อวิชชาเป็นอุปาทาน 2 อย่าง คือ ทิฏฐุปาทานและอัตตวาทุปาทาน ฯ โลกียขันธ์ เป็นขันธ์ที่มีอุปาทาน 4 เหล่านี้ ขันธปัญจกะที่มีอุปาทานนี้ ชื่อว่า ทุกขสัจจะ ฯ อุปาทาน 4 เหล่าใด เป็นเหตุแห่งทุกข์หมวด 4 แห่งอุปาทานนี้ ชื่อว่า สมุทัยสัจจะ ฯ ขันธ์ 5 ที่มีอุปาทานเป็นทุกข์เพราะเป็นวัตถุแห่งทุกข์ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงแสดงธรรมอันสมควรแก่เวไนยสัตว์ มีคำว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม" เป็นต้น เพื่อการกำหนดรู้และเพื่อการละขันธ์ 5 ที่มีอุปาทานเหล่านั้น คือ เพื่อการกำหนดรู้ทุกข์ เพื่อการละสมุทัย ฯ [30] ในความประมาท 4 ที่มีตัณหาเป็นมูล 3 และ ที่มีอวิชชาเป็นมูล 1 ที่กล่าวมานั้น, ความประมาทที่มีตัณหาเป็นมูล 3 คือ ยึดติดโภคะที่ยังไม่มี แล้วหาทางมีไว้ 1, ยึดติดโภคะที่มีอยู่ แล้วเก็บเอาไว้บ้าง 1, หรือ ยึดติดโภคะที่มีอยู่ แล้วใช้สอยไปบ้าง 1, การรักษาจิต ด้วยการเข้าใจแทงตลอดความประมาทที่มีตัณหาเป็นมูล 3 นั้น ซึ่งก็คือ การหลีกออกจากความประมาท, นี้คือ สมถะฯ สมถะที่ว่านี้ เกิดอย่างไร? สมถะเกิดในขณะที่บุคคลรู้อัสสาทะแห่งกามโดยความอัสสาทะ, รู้อาทีนวะแห่งกามโดยความอาทีนวะ, รู้นิสสรณะแห่งกามโดยความนิสสรณะ, รู้โอการะ, รู้สังกิเลส, รู้โวทาน, และรู้อานิสงส์ของเนกขัมมะ. การวีมังสา (ทุพพละ) และ การอุปปริกขา (พลวะ) ที่เกิดขึ้นเมื่อมีสมถะดังกล่าวเกิด (เป็นปาทกฌาน) นี้คือ วิปัสสนา. เพราะการเห็นโดยสภาวะอันวิเศษ ธรรมทั้ง 2 เหล่านี้ คือสมถะและวิปัสสนา ย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา เมื่อสมถะและวิปัสสนาทั้ง 2 เจริญอยู่ ธรรมทั้ง 2 คือ ตัณหาและอวิชชา ย่อมถูกทำลาย เมื่อตัณหาและอวิชชาทั้ง 2 ถูกทำลายแล้ว อุปาทาน 4 ย่อมดับ ฯ เพราะความดับแห่งอุปาทาน ความดับแห่งภพย่อมมี เพราะความดับแห่งภพ ความดับแห่งชาติย่อมมี เพราะความดับแห่งชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ย่อมดับ ฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งหมดนั้นย่อมมีอย่างนี้ ฯ เพราะฉะนั้น สัจจะ 2 นัยแรก เป็นทุกข์และเป็นสมุทัย สมถะและวิปัสสนาเป็นมรรค การดับภพเป็นพระนิพพาน ฯ สัจจะ 4 เหล่านี้ท่านยกขึ้นแสดงด้วยสามารถแห่งอาวัฏฏนะ (การหมุนไป) แห่งธรรมที่เป็นวิสภาคะและสภาคะ ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า "อารมฺภถ นิกฺกมถ" เป็นต้น ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ต้นไม้ เมื่อรากหาอันตรายมิได้ มั่นคงอยู่ แม้ถูกตัดแล้ว ก็กลับงอกขึ้นได้ ฉันใด ทุกข์นี้ เมื่อบุคคลยังถอนเชื้อ (อนุสัย) ตัณหาขึ้นไม่ได้แล้วย่อมเกิดขึ้นบ่อย ๆ แม้ฉันนั้น" ฯ ถามว่า ตัณหานี้ ตัณหา (ที่เป็นเชื้อ) นั้น เป็นไฉน ตอบว่า ภวตัณหา (เพราะยินดีในการเกิด) ฯ อนุสัยใด เป็นปัจจัยแก่ธรรม คือ ภวตัณหานั้น อนุสัยนี้ คือ อวิชชาเพราะภวตัณหา มีอวิชชาเป็นปัจจัย ฯ กิเลสทั้ง 2 คือ ตัณหาและอวิชชานี้เป็นอุปาทาน 4 ขันธ์เหล่าใด มีอุปาทานด้วยอุปาทาน 4 เหล่านั้น ขันธ์นี้เป็นทุกขสัจจะ อุปาทาน 4 เป็นสมุทยสัจจะ ปัญจขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรม เพื่อการกำหนดรู้ทุกข์และเพื่อการละสมุทัยแห่งอุปาทานขันธ์ 5 นั้น ฯ บุคคลย่อมถอนขึ้นซึ่งตัณหานุสัยได้ด้วยธรรมใด ธรรมนั้น เป็นสมถะฯ บุคคลย่อมกั้นเสียซึ่งอวิชชาอันเป็นปัจจัยแก่ตัณหานุสัยได้ด้วยธรรมใด ธรรมนั้นเป็นวิปัสสนา ฯ ธรรมทั้ง 2 คือ สมถะและวิปัสสนาเหล่านี้ ย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา ฯ ในธรรมทั้ง 2 นั้น ชื่อว่าเจโตวิมุตติ (การหลุดพ้นทางใจ) เพราะสำรอกราคะเป็นผลของสมถะ ชื่อว่าปัญญาวิมุตติ (การหลุดพ้นทางปัญญา)เพราะสำรอกอวิชชาเป็นผลของวิปัสสนา ฯ ด้วยประการฉะนี้ สัจจะ 2 เบื้องต้นเป็นทุกขสัจจะและสมุทยสัจจะ สมถะและวิปัสสนา เป็นมัคคสัจจะ การหลุดพ้นทั้ง 2 เป็นนิโรธสัจจะ ฯ พึงทราบสัจจะ 4 เหล่านี้ โดยทำนองที่กล่าวแล้ว ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ต้นไม้ เมื่อรากหาอันตรายมิได้"เป็นต้น ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ดังนี้ ฯ ทุจริต 3 คือ กายทุจริต 1 วจีทุจริต 1 และมโนทุจริต 1 ชื่อว่า บาปทั้งปวง อกุศลกรรมบถ 10 คือ ปาณาติบาต 1 อทินนาทาน 1 กาเมสุมิจฉาจาร 1 มุสาวาท 1 ปิสุณาวาจา 1 ผรุสวาจา 1 สัมผัปปลาปะ 1 อภิชฌา 1พยาบาท 1 และมิจฉาทิฏฐิ 1 ชื่อว่า บาปทั้งปวง ฯ กรรม คือการกระทำบาปทั้งปวงนั้น มี 2 อย่างคือ เจตนากรรมและเจตสิกกรรม ฯ บรรดากรรมทั้ง 2 นั้น ปาณาติบาต 1 ปิสุณาวาจา 1 ผรุสวาจา 1ทั้ง 3 นี้ มีโทสะเป็นสมุฏฐาน ฯ อทินนาทาน 1 กาเมสุมิจฉาจาร 1 มุสาวาท 1ทั้ง 3 นี้ มีโลภะเป็นสมุฏฐาน ฯ สัมผัปปลาปะนี้ มีโมหะเป็นสมุฏฐาน เหตุ 7ประการ เหล่านี้ เป็นเจตนากรรม ฯ อกุศลมูล คือ อภิชฌาและโลภะ อกุศลมูลคือ พยาบาทและโทสะ มิจฉามรรค คือ มิจฉาทิฏฐิ เหตุ 3 เหล่านี้ เป็นเจตสิกกรรม ฯ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "เจตนากมฺมํเจตสิกกมฺมํ" ดังนี้ ฯ อกุศลมูล (มีโลภะเป็นต้น) เมื่อถึงปโยคะ ย่อมถึงอคติ 4 อย่าง คือฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ และโมหาคติ ฯ ในอคติ 4 นั้น บุคคลย่อมถึงอคติใดเพราะฉันทะ อคตินี้ มีโลภะเป็นสมุฏฐาน ฯ บุคคลย่อมถึงอคติใดเพราะโทสะอคตินี้ มีโทสะเป็นสมุฏฐาน ฯ บุคคลย่อมถึงอคติใดเพราะความกลัว และเพราะความหลง อคตินี้ มีโมหะเป็นสมุฏฐาน ฯ ในอกุศลมูลเหล่านั้น โลภะอันบุคคลย่อมละด้วยอสุภภาวนา โทสะอันบุคคลย่อมละด้วยเมตตาและกรุณา ฯ โมหะย่อมละได้ด้วยปัญญา ฯ อนึ่ง โลภะอันบุคคลย่อมละได้ด้วยอุเบกขา โทสะอันบุคคลละได้ด้วยเมตตาและกรุณา โมหะ (โมหาคติ) ย่อมถึงการละ คือการตั้งอยู่ไม่ได้ด้วยมุทิตา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง" ดังนี้ ฯ [31] มิจฉัตตะ 8 คือ มิจฉาทิฏฐิ 1 มิจฉาสังกัปปะ 1 มิจฉาวาจา 1 มิจฉากัมมันตะ 1 มิจฉาอาชีวะ 1 มิจฉาวายามะ 1 มิจฉาสติ 1 และมิจฉาสมาธิ 1ชื่อว่า บาปทั้งปวง ฯ มิจฉัตตะนี้ ท่านเรียกว่า บาปทั้งปวง ฯ กิริยาที่ไม่กระทำการไม่กระทำ การไม่ประพฤติตามซึ่งมิจฉัตตะ 8 เหล่านี้ กิริยาที่ไม่กระทำเป็นต้นนี้ ท่านเรียกว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง ฯ เมื่อมิจฉัตตะ 8 อันบุคคลละได้แล้ว สัมมัตตะ 8 ย่อมถึงพร้อม ฯ กิริยาที่กระทำ การกระทำ การประพฤติตามสัมมัตตะ 8 การถึงพร้อมด้วยบททั้ง 3 นี้ ท่านเรียกว่า การยังกุศลให้ถึงพร้อม ฯ คำว่า "การชำระจิตให้ผ่องแผ้ว"ดังนี้ ได้แก่ ย่อมแสดงถึงการกระทำ คือ การเจริญมรรคที่เป็นอดีต เมื่อจิตผ่องแผ้ว ย่อมยังขันธ์ 5 ให้ผ่องแผ้ว สมดังพระดำรัส ที่ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์จักอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความหมดจดแห่งจิต" ดังนี้จริงอยู่ การยังจิตให้ผ่องแผ้วมี 2 อย่าง ได้แก่ การละนิวรณ์และการถอนขึ้นซึ่งอนุสัยฯ ภูมิที่ยังจิตให้ผ่องแผ้วก็มี 2 คือ ทัสสนภูมิและภาวนาภูมิ ฯ บรรดาธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ในคาถานั้น ขันธปัญจกะใดยังจิตให้ผ่องใสโดยการแทงตลอดด้วยปริญญา ขันธปัญจกะนี้ เป็นทุกขสัจจะขันธปัญจกะที่ยังจิตให้ผ่องใสจากตัณหาและสังกิเลสใด ตัณหาและสังกิเลสนี้เป็นสมุทยสัจจะ ขันธปัญจกะที่ยังจิตให้ผ่องใสด้วยองค์แห่งอริยมรรคใดมรรคนี้เป็นมัคคสัจจะ ขันธปัญจกะใดผ่องแผ้วแล้วโดยบรรลุถึงอสังขตธาตุอสังขตธาตุธรรมนี้ เป็นนิโรธ คือ เป็นนิโรธสัจจะ ฯ สัจจะ 4 เหล่านี้ พระองค์ทรงยกขึ้นแสดงด้วยอำนาจแห่งความหมุนไปแห่งสภาคะและวิสภาคะ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง" ดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มคันใหญ่มีประโยชน์ในฤดูฝนนี้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้วเพราะผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ" ดังนี้ ฯ ชื่อว่า ธรรมมี 2 อย่าง คือ อินทริยสังวรและมรรค ชื่อว่า ทุคติ ก็มี 2 อย่าง คือ อบายภูมิทั้งหลาย ชื่อว่าทุคติ เพราะการเปรียบเทียบกับเทวดาหรือมนุษย์ และการเกิดทั้งปวง ชื่อว่า ทุคติ เพราะเปรียบกับพระนิพพาน ฯ ในบาทแรกแห่งคาถานั้น การที่บุคคลไม่ยังศีลสังวรให้ขาด อันใด นี้ชื่อว่า ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมรักษาตนจากอบายทั้งหลาย ฯ โดยประการตามที่กล่าวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย คติของบุคคลผู้มีศีลมี 2 อย่าง คือ เทวดาและมนุษย์" ฯ เรื่องนายคามณีนายคามณีชื่อว่า อสิพันธกบุตร ในนิคมชื่อว่านาลันทา ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ มีคณโฑน้ำติดตัว ประดับพวงมาลัยสาหร่าย อาบน้ำทุกเช้าเย็น บำเรอไฟ พราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่ายังสัตว์ที่ตายแล้ว ทำกาละแล้วให้เป็นขึ้น ให้รู้ชอบชวนให้เข้าสวรรค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถกระทำให้สัตว์โลกทั้งหมด เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ได้หรือ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี ถ้าอย่างนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ปัญหาควรแก่ท่านโดยประการใด ท่านพึงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นโดยประการนั้นท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด หมู่มหาชนมาประชุมกันแล้วพึงสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบผู้นั้นว่า ขอบุรุษนี้ เมื่อตายไปจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน เพราะเหตุแห่งการสรรเสริญ หรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบ ดังนี้หรือ"นายคามณี กราบทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี เปรียบเหมือนบุรุษโยนหินก้อนหนาใหญ่ลงในห้วงน้ำลึก หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบหินนั้นว่า ขอจงโผล่ขึ้นเถิดท่านก้อนหิน ขอจงลอยขึ้นเถิดท่านก้อนหิน ขอจงขึ้นบกเถิดท่านก้อนหิน ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหินนั้นพึงโผล่ขึ้น พึงลอยขึ้น หรือพึงขึ้นบก เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ"นายคามณีทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษคนใดฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้เมื่อตายไป จงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็จริง ถึงอย่างนั้น บุรุษนั้น เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ"ว่าด้วยสัตว์ผู้เข้าถึงสวรรค์"ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้เว้นปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจาผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือ เดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้ เมื่อตายไป จงเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญหรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ "นายคามณีทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี เปรียบเหมือนบุรุษลงยังห้วงน้ำลึกแล้ว พึงทุบหม้อเนยใส หรือหม้อน้ำมัน ก้อนกรวดหรือก้อนหินที่มีอยู่ในหม้อนั้น พึงจมลง เนยใสหรือน้ำมันที่มีอยู่ในหม้อนั้นพึงลอยขึ้น หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบเนยใสหรือน้ำมันนั้นว่า ขอจงจมลงเถิดท่านเนยใสและท่านน้ำมัน ขอจงดำลงเถิดท่านเนยใสและท่านน้ำมัน ขอจงลงภายใต้เถิดท่านเนยใสและท่านน้ำมันท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เนยใสและน้ำมันนั้น พึงจมลง พึงดำลง พึงลงภายใต้ เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญ หรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบ ของหมู่มหาชนบ้างหรือ"นายคามณีทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษใดเว้นจากปาณาติบาตอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาท สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบหมู่มหาชนจะมาประชุมแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้ เมื่อตายไป จงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก ก็จริง ถึงอย่างนั้น บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ ด้วยคำตามที่กล่าวนี้ ธรรมที่่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมรักษาให้พ้นจากอบายทั้งหลาย ฯ"ในคาถานั้น ความคมกล้า คือ ความที่อริยมรรคเป็นธรรมมีประมาณยิ่งอันใด ธรรมนี้ประพฤติดีแล้ว ย่อมรักษาให้พ้นจากการเกิดทั้งหลายทั้งปวง ฯ ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "เพราะเหตุนั้น ภิกษุมีความดำริชอบเป็นโคจร มุ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแล้ว ครอบงำถีนมิทธะพึงละทุคติทั้งปวงได้" ดังนี้ ฯ [32] ในคาถานั้น ตัณหาและอวิชชาเป็นเหตุแห่งทุคติทั้งหลาย และธรรมทั้ง 2นั้นเป็นอุปาทาน 4 ฯ ขันธ์เหล่าใดที่มีอุปาทาน 4 เหล่านั้น ขันธปัญจกะนี้เป็นทุกขสัจจะ อุปาทาน 4 เหล่านี้เป็นสมุทยสัจจะ ขันธ์ 5 เหล่าใด เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อการรู้ทุกข์ เพื่อการละสมุทัยแห่งขันธ์เหล่านั้น ฯ บรรดาสัจจะทั้ง 2 นั้น อินทรีย์ 5 ที่เป็นรูปเป็นปทัฏฐาน (เหตุเกิด) แห่งตัณหา มนินทรีย์เป็นปทัฏฐานแห่งอวิชชา ฯ บุคคลเมื่อรักษาอินทรีย์ 5 ที่เป็นรูป ยังสมาธิให้เจริญอยู่ ย่อมข่มซึ่งตัณหา เมื่อรักษาซึ่งมนินทรีย์ ยังวิปัสสนาให้เจริญอยู่ ย่อมข่มซึ่งอวิชชา ฯ อุปาทาน 2 คือ กามุปาทานและสีลัพพตุปาทาน อันบุคคลย่อมละได้ ด้วยการข่มตัณหา ฯ อุปาทาน 2 คือทิฏฐุปาทานและอัตตวาทุปาทาน อันบุคคลย่อมละได้ด้วยการข่มอวิชชา ฯ อุปาทาน 4 อันบุคคลละได้แล้ว ธรรมทั้ง 2 คือ สมถะและวิปัสสนาย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา หมวด 2 อันประเสริฐ กล่าวคือ สมถะและวิปัสสนานี้ท่านเรียกว่า การประพฤติพรหมจรรย์ ฉะนี้แล ฯ ในการประพฤติพรหมจรรย์นั้น สามัญญผล 4 คือ โสตาปัตติผล 1สกทาคามิผล 1 อนาคามิผล 1 และอรหัตตผลอันเลิศ 1 ทั้ง 4 นี้เป็นผลของการประพฤติพรหมจรรย์ ฯ สัจจะ 2 ในเบื้องต้น เป็นทุกขสัจจะและเป็นสมุทยสัจจะ ฯ สมถะและวิปัสสนาเป็นการประพฤติพรหมจรรย์และเป็นมัคคสัจจะ ฯ ผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์และอสังขตธาตุที่เป็นอารมณ์ของพรหมจรรย์นั้นเป็นนิโรธสัจจะ ฯ สัจจะ 4 เหล่านี้แล ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า "ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม" เป็นต้น เพื่อรู้สัจจะ 4 เหล่านั้น ฯ ในคาถาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงแล้วนั้น ขันธปัญจกะใด ย่อมรักษาโดยการแทงตลอดด้วยปริญญา ขันธปัญจกะนี้เป็นทุกขสัจจะ ขันธปัญจกะใดย่อมรักษาให้พ้นจากตัณหาและสังกิเลสใด ตัณหาและสังกิเลสนี้เป็นสมุทยสัจจะขันธปัญจกะที่ผ่องแผ้ว ย่อมรักษาโดยธรรมใด ธรรมนี้เป็นมัคคสัจจะขันธปัญจกะใด อันบุคคลบรรลุอสังขตธาตุ เป็นจิตผ่องใส ธรรมที่เป็นอสังขตธาตุนี้เป็นนิโรธสัจจะ ฯ อาวัฏฏหาระ ท่านประกอบไว้ด้วยสามารถแห่งปทัฏฐาน (เหตุ) ตามที่ได้เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "บุคคลแสวงหาในปทัฏฐานหนึ่ง หมุนไปสู่ปทัฏฐานที่เหลือ" เป็นต้นฉะนี้ แล ฯ จบ อาวัฏฏหารวิภังค์ 8. วิภัตติหารวิภังค์ [33] บรรดาหาระ 16 เหล่านั้น หาระคือ วิภัตติ เป็นไฉน นิทเทสว่า "ธมฺมญฺจ ปทฏฺฐานํ ภูมิญฺจ" เป็นต้นเป็นหาระ คือ วิภัตติ ฯ พระสูตรทั้ง 2 คือ วาสนาภาคิยสูตรและนิพเพธภาคิยสูตร ปฏิปทา 2 คือปุญญภาคิยปฏิปทาและผลภาคิยปฏิปทา ศีล 2 คือ สังวรศีลและปหานศีล ฯ ในพระสูตรทั้ง 2 นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงวาสนาภาคิยสูตร ด้วยปฏิปทาอันเป็นส่วนแห่งบุญแก่บุคคลใด บุคคลนั้น ตั้งอยู่ในสังวรศีลแล้ว ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ด้วยพรหมจรรย์นั้น และทรงแสดงนิพเพธภาคิยสูตร ด้วยปฏิปทาที่เป็นส่วนแห่งผลแก่บุคคลใด บุคคลนั้นตั้งอยู่ในปหานศีลแล้ว ย่อมเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยพรหมจรรย์นั้น ฯ ในพระสูตรทั้ง 2 นั้น วาสนาภาคิยสูตร เป็นไฉน เทศนาว่า ทานกถา สีลกถา สัคคกถา กามาทีนวกถา เนกขัมมนิสังสกถาชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร ฯ ในพระสูตรเหล่านั้น นิพเพธภาคิยสูุตร เป็นไฉน เทศนาใด ประกาศสัจจะ เทศนานั้น ชื่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร ฯ ในวาสนาภาคิยสูตร ไม่มีวุฏฐานคามินีวิปัสสนา (อันเป็นปทัฏฐานแห่งอริยมรรค)ไม่มีอริยมรรค ไม่มีอริยผล แต่ในนิพเพธภาคิยสูตร มีวุฏฐานคามินีวิปัสสนามีอริยมรรค มีอริยผล ฯ พระสูตรทั้ง 4 เหล่านี้ คือ วาสนาภาคิยะ นิพเพธภาคิยะ สังกิเลสภาคิยะและอเสกขภาคิยะ ภูมิแห่งญาณ (ในพระสูตรนั้น) มีประมาณเพียงไร บัณฑิตพึงวิจัยเทศนาแห่งพระสูตรทั้ง 4 เหล่านี้ โดยผล โดยศีล โดยพรหมจรรย์ด้วยวิจยหาระโดยประการทั้งปวง แล้วพึงประกอบด้วยยุตติหาระ มีประมาณเพียงนั้น (จากนั้นพึงทราบธรรมที่เป็นสาธารณะและอสาธารณะในพระสูตรต่อไป) ฯ [34] บรรดาพระสูตรเหล่านั้น ธรรมที่ทั่วไป (สาธารณะ) เป็นไฉน ธรรมที่ทั่วไปมี 2 อย่างคือ ทั่วไปโดยชื่อ (นามสาธารณะ) และทั่วไปโดยวัตถุที่อาศัย (วัตถุสาธารณะ) ก็หรือว่า ธรรมชาติแม้อื่นที่มีลักษณะอย่างนี้คือ เสมอกันโดยกิจและโดยปัจจัย เป็นต้นกิเลสอันบุคคลพึงละด้วยทัสสนะ ทั่วไปแก่มิจฉัตตนิยตบุคคล 6 จำพวกมีผู้ฆ่ามารดาเป็นต้น และอนิยตบุคคล 4 จำพวก มีทุคติอเหตุกบุคคลเป็นต้นกามราคะและพยาบาท ทั่วไปแก่ปุถุชนและพระโสดาบัน อุทธัมภาคิยสังโยชน์ทั่วไปแก่ปุถุชนและพระอนาคามี โลกิยสมาบัติทั้งปวง (รูปาวจรสมาบัติ อรูปาวจรสมาบัติ ทิพพวิหารสมาบัติ พรหมวิหารสมาบัติ เป็นต้น) ที่พระอริยสาวกเข้าถึงได้ทั่วไปกับผู้ที่ยังไม่ปราศจากราคะ จริงอยู่ โลกิยสมาบัติเป็นธรรมทั่วไป ย่อมไม่ล่วงอารมณ์ของตน (อันเกิดมาก่อน) ไปสู่อารมณ์อื่น ๆ (อันเกิดในภายหลัง) แม้บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมอันเป็นอวีตราคะนี้ ย่อมเป็นไปล่วงซึ่งธรรมนั้น เหล่านี้ เป็นธรรมทั่วไป ในพระสูตรนั้น ธรรมที่ไม่ทั่วไป (อสาธารณะ) เป็นไฉน บุคคลพึงแสวงหาเสกขธรรมและอเสกขธรรม ด้วยอำนาจแห่งธรรมที่ควรละและไม่ควรละ โดยการเทียบเคียงกับเทศนาต่อไป กามราคะและพยาบาทเป็นสาธารณะแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในปฐมมรรค แต่สภาพธรรมเป็นอสาธารณะ2อุทธัมภาคิยสังโยชน์เป็นสาธารณะแก่ผู้ตั้งอยู่ในปฐมมรรค และอนาคามิมรรคสภาพธรรมเป็นอสาธารณะ ชื่อของพระเสกขะทั้งปวงเป็นสาธารณะ สภาพธรรมเป็นอสาธารณะ ชื่อของผู้ดำเนินไปถึงอริยมรรคแล้วเป็นสาธารณะ สภาพธรรมเป็นอสาธารณะ เสกขศีลของพระเสกขะทั้งปวงเป็นสาธารณะ สภาพธรรมเป็นอสาธารณะ บัณฑิตพึงแสวงหาเทศนาโดยเทียบเคียงกับธรรมที่เลวปานกลางและอุกฤษฎ ์ ด้วยการพิจารณาความแตกต่างกัน ด้วยประการฉะนี้ ฯ การจำแนกปทัฏฐานทัสสนภูมิ (ปฐมมรรค) เป็นปทัฏฐาน แห่งการก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม ฯ ภาวนาภูมิ (การเจริญมรรคเบื้องบน) เป็นปทัฏฐาน แห่งการบรรลุผลเบื้องบน ฯ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาเป็นปทัฏฐานแห่งสมถะ ฯ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาเป็นปทัฏฐานแห่งวิปัสสนา ฯ บุญญกิริยาวัตถุ คือ ทานมัย เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งเสียงชักชวนจากคนอื่น ฯ บุญญกิริยาวัตถุ คือ ศีลมัย เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งจินตามยปัญญาบุญญกิริยาวัตถุ คือ ภาวนามัย เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งภาวนามยปัญญา ฯ บุญญกิริยาวัตถุ คือ ทานมัย เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งเสียงชักชวนจากคนอื่นและสุตมยปัญญา ฯ บุญญกิริยาวัตถุ คือ ศีลมัย เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งจินตามยปัญญาและโยนิโสมนสิการ ฯ บุญญกิริยาวัตถุ คือภาวนามัย เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งภาวนามยปัญญาและสัมมาทิฏฐิ ฯ ปฏิรูปเทสวาสะ เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งวิเวกและสมาธิ ฯ สัปปุริสูปนิสสยะ เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งความเลื่อมใสอันมั่นคงในพระรัตนตรัยและสมถะ ฯ อัตตสัมมาปณิธิ เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งหิริและวิปัสสนา ฯ การสละอกุศล (ด้วยอำนาจตทังคะเป็นต้น) เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งการพิจารณากุศล (ปฏิสังขานุปัสสนาปัญญา) และสมาธินทรีย์ (คืออริยมัคคสมาธินทรีย์) ฯ ความที่ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว (ธมฺมสฺวากฺขาตตา)เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งการปลูกกุศลมูลและผลสมาบัติ ฯ ความที่พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว (สํฆสุปฏิปนฺนตา) เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งพระสงฆ์ผู้ดำรงอยู่ดี ฯ สัตถุสัมปทา เป็นปทัฏฐานสาธารณะ (ทั่วไป) แห่งความเลื่อมใสของบุคคลผู้ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเจริญยิ่งของบุคคลผู้เลื่อมใสแล้ว ฯ ความเป็นผู้มีปาติโมกขสังวรศีลอันไม่กำจัดแล้ว เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งการข่มบุคคลผู้เก้อยาก และการอยู่ผาสุกแห่งบุคคลผู้มีศีลเป็นที่รัก ฯ เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "การจำแนกธรรม และการจำแนกปทัฏฐาน" ดังนี้ ฯ จบ วิภัตติหารวิภังค์ 9. ปริวัตตนหารวิภังค์ [35] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระ คือ ปริวัตตนะ เป็นไฉน นิทเทสที่กล่าวว่า "ย่อมเปลี่ยนธรรมที่เป็นข้าศึก" เป็นต้น เป็นปริวัตตนหาระ ฯ มิจฉาทิฏฐิ ของบุรุษบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ คร่ำคร่าแล้ว (คือ การไม่เกิดขึ้น) มีอยู่ ฯ ก็อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย (มีความไม่ต้องการเห็นพระอริยะเป็นต้น มีโลภะเป็นต้น มีปาณาติบาตเป็นต้น) ของบุคคลนั้น พึงเกิดเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย อกุศลธรรมเหล่านั้นของบุคคลนั้น คร่ำคร่าแล้ว(ไม่เกิดแล้ว)ฯ อนึ่ง กุศลธรรมมิใช่น้อยของบุคคลนั้น ย่อมเกิดเพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย และกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา ฯ มิจฉาสังกัปปะ ของบุรุษบุคคลผู้เป็นสัมมาสังกัปปะ คร่ำคร่าแล้ว ก็อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยเหล่าใด ของบุคคลนั้น พึงเกิดขึ้นเพราะมิจฉาสังกัปปะเป็นปัจจัย ก็อกุศลธรรมเหล่านั้นของบุคคลนั้น คร่ำคร่าแล้ว อนึ่งกุศลธรรมมิใช่น้อยของบุคคลนั้น ย่อมเกิดเพราะสัมมาสังกัปปะเป็นปัจจัย และกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา ฯ โดยนัยที่กล่าวนี้ มิจฉาวิมุตติญาณทัสสนะของบุรุษบุคคล ผู้เป็นสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิสัมมาวิมุตติ สัมมาวิมุตติญาณทัสสนะ ถึงความคร่ำคร่าแล้ว ก็อกุศลธรรมอันลามก มิใช่น้อย เหล่าใด ของบุคคลนั้น พึงเกิดขึ้น เพราะมิจฉาวิมุตติญาณทัสสนะเป็นปัจจัย อกุศลธรรมเหล่านั้น คร่ำคร่าแล้ว อนึ่ง กุศลธรรมมิใช่น้อยของบุคคลนั้น ย่อมเกิดขึ้น เพราะสัมมาวิมุตติญาณทัสสนะเป็นปัจจัย และกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา ฯ [36] อีกอย่างหนึ่ง ปาณาติบาตของบุคคลใด ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาตเป็นอันบุคคลนั้นละแล้ว (ละด้วยตทังคปหานะเป็นต้น) ฯ อทินนาทานของบุคคลใด ผู้เว้นขาดจากอทินนทาน ก็เป็นอันบุคคลนั้นละแล้ว ฯ โดยนัยนี้อพรหมจรรย์ ของบุคคลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมเป็นอันละได้แล้ว ฯ มุสาวาทของบุคคลผู้มีปกติกล่าวสัจจะย่อมเป็นอันละได้แล้ว ฯ ปิสุณาวาจาของบุคคลผู้ไม่กล่าวคำ ส่อเสียดย่อมเป็นอันละได้แล้ว ฯ ผรุสวาจาของบุคคลผู้กล่าวคำไพเราะย่อมเป็นอันละได้แล้ว ฯ สัมผัปปลาปะของบุคคลผู้มีปกติกล่าวตามกาลย่อมเป็นอันละได้แล้ว ฯ อภิชฌาของบุคคลผู้ไม่มีอภิชฌาย่อมเป็นอันละได้แล้วฯ พยาบาทของบุคคลผู้อันไม่มีพยาบาทย่อมเป็นอันละได้แล้ว ฯ มิจฉาทิฏฐิของบุคคลผู้ สัมมาทิฏฐิก็ย่อมเป็นอันละได้แล้ว ฯ ก็แต่ว่า มิจฉาทิฏฐิบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ติเตียน อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 วาทะเป็นไปตามวาทะอันบุคคลพึงติเตียนอันเป็นไปกับเหตุที่กระทำ อันบุคคลพึงเห็นเองย่อมมาถึงบุคคลนั้น ๆ อนึ่ง บุคคลผู้มิจฉาทิฏฐินั้น เจริญอยู่ย่อมติเตียนซึ่งพระธรรมคือสัมมาทิฏฐิ ฯ ก็ชนเหล่าใด เป็นมิจฉาทิฏฐิ ด้วยการติเตียนนั้น สิ่งที่ควรบูชา สิ่งที่ควรสรรเสริญย่อมไม่มีแก่บุคคลเหล่านั้นผู้เจริญอยู่ ฯ ด้วยคำตามที่กล่าวนี้ มิจฉาทิฏฐิบุคคลเหล่านั้น เจริญอยู่ ย่อมติเตียนธรรมคือ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวิมุตติ สัมมาวิมุตติญาณทัสสนะ ฯ ก็ชนเหล่าใดเป็นมิจฉาวิมุตติญาณทัสสนะ ด้วยการติเตียนนั้น การบูชา การสรรเสริญย่อมไม่มีแก่บุคคลเหล่านั้นผู้เจริญอยู่ ฯ ก็แล ชนผู้ตกอยู่ในอำนาจกามเหล่าใดเหล่าหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า "กามทั้งหลายอันบุคลพึงกิน กามทั้งหลายอันบุคคลพึงบริโภคกามทั้งหลายอันบุคคลพึงส้องเสพ กามทั้งหลายอันบุคคลพึงเสพเป็นนิตย์กามทั้งหลายอันบุคคลพึงให้เจริญ กามทั้งหลายอันบุคคลพึงกระทำให้มาก" ดังนี้ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากกามทั้งหลาย เป็นอธรรม ของชนเหล่านั้น ฯก็หรือว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวอย่างนี้ว่า "การประกอบความเพียร เพื่อทำตนให้ลำบาก (อัตตกิลมถานุโยค)ว่าเป็นธรรมนำออกจากทุกข์ (นิยยานิกธรรม)" ดังนี้ นิยยานิกธรรม ของชนเหล่านั้น เป็นอธรรม ฯ ก็หรือว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวอย่างนี้ว่า "ทุกข์ คือความเร่าร้อน เป็นธรรม" ดังนี้ธรรม คือ สุข จึงเป็นอธรรมของชนเหล่านั้น ฯ หมุนกลับ วิปลาส 4อีกนัยหนึ่ง เมื่อภิกษุตามพิจารณาในอสุภะ คือความไม่งามในสังขารทั้งปวงอยู่ สุภสัญญา (ความสำคัญว่างาม) เป็นอันเธอย่อมละได้ ฯ เมื่อตามเห็นทุกข์อยู่ สุขสัญญา (สำคัญว่าเป็นสุข) เป็นอันเธอย่อมละได้ ฯ เมื่อตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่ นิจจสัญญา (ความสำคัญว่าเที่ยง) เป็นอันเธอย่อมละได้ ฯ เมื่อตามเห็นความไม่มีตัวตน อัตตสัญญา (ความสำคัญว่าตัวตน) เป็นอันเธอย่อมละได้ ฯ ก็หรือว่า ภิกษุนั้น ย่อมชอบใจธรรมใด ๆ หรือเข้าใกล้ธรรมใด ๆด้วยทิฏฐิ ธรรมใดเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมที่ชอบใจ หรือธรรมที่เข้าใกล้นั้น ๆธรรมที่เป็นปฏิปักษ์นั้น อันเธอกำหนดรู้แล้วโดยความเป็นข้าศึกกัน ฯ ปริวัตตนหาระ พึงกระทำด้วยสามารถแห่งธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กัน ตามสมควรแก่ธรรมที่ตนปรารถนาให้เป็นไป ฉะนี้ ฯ ด้วยเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "ย่อมหมุนกลับธรรมที่เป็นข้าศึกในกุศลและอกุศลว่า ธรรมนี้ควรเจริญ ธรรมนี้ควรละ" ดังนี้ จบ ปริวัตตนหารวิภังค์ 10. เววจนหารวิภังค์ [37] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระ คือ เววจนะ เป็นไฉน นิทเทสว่า "ถ้อยคำ มีอย่างต่าง ๆ มากในพระสูตร โดยปริยายแห่งธรรม มีกาม 6 บทนั้น กาม 4 บทแรก มุ่งถึง วัตถุกาม กาม 2 บทหลัง มุ่งถึงกิเลสกาม ฯ ความหมายอย่างเดียวกัน" เป็นต้น เป็นเววจนหาระ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง โดยเววจนะ (คำไวพจน์)ซึ่่งแทนกันและกันได้ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า "อาสา (ความหวัง) ปิหา (ความปรารถนา) อภินันทนา (ความยินดียิ่ง) สรา คือ ตัณหาที่ซ่านไปตั้งอยู่ในอเนกธาตุ ตัณหาที่มีความไม่รู้เป็นมูลธรรมชาติที่เกิดก่อน และธรรมชาติที่กระซิบทั่ว ตัณหาทั้งหมดพร้อมทั้งมูลรากอันเรากระทำให้สิ้นแล้ว" ดังนี้ ฯ ความหวังซึ่งประโยชน์อันมี (ในอนาคต) อันใด ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ปรารถนาว่า ประโยชน์จักมาถึงแน่แท้ ตัณหานี้ท่านเรียกชื่อว่า อาสา ฯ ความปรารถนาซึ่งประโยชน์อันกำลังเป็นไป หรือเห็นสิ่งที่ดีกว่าแล้วปรารถนาว่า ขอเราพึงเป็นเช่นนี้ อันใด ตัณหานี้ท่านเรียกชื่อว่า ปิหา ฯ การรักษาประโยชน์ที่สำเร็จ ชื่อว่า อภินันทนา คือ ย่อมยินดียิ่ง (สนุกสนาน) กับญาติที่รัก หรือย่อมยินดียิ่งซึ่งธรรม (มีรูปที่เป็นอติอิฏฐารมณ์เป็นต้น) หรือย่อมยินดีซึ่งสัตว์และสังขารโดยความไม่ปฏิกูลด้วยอำนาจวิปลาส ฯ คำว่า "อเนกธาตุ" ได้แก่ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ฯ (โดยย่อ 18 ธาตุ) ฯ คำว่า "สรา" (แปลว่า ซ่านไป) ได้แก่ บางคนมีตัณหาน้อมไปในรูป (ติดในรูป) บางคนมีตัณหาน้อมไปในเสียง บางคนมีตัณหาน้อมไปในกลิ่น บางคนมีตัณหาน้อมไปในรส บางคนมีตัณหาน้อมไปในโผฏฐัพพะ บางคนมีตัณหาน้อมไปในธรรม ฯ ในธาตุ 6 มีรูปธาตุเป็นต้นนั้น โทมนัส 6 อันอาศัยเรือน โสมนัส 6อาศัยเรือน และโทมนัส 6 อาศัยเนกขัมมะ โสมนัส 6 อาศัยเนกขัมมะ รวม 24 บทเหล่านี้เป็นฝ่ายแห่งตัณหา เป็นคำไวพจน์ของตัณหา ฯ อุเบกขา 6ที่อาศัยเรือน นี้เป็นฝ่ายแห่งทิฏฐิ ฯ [38] ตัณหาเหล่านั้น มีประการตามที่กล่าวในอาสาเป็นต้นนั่นแหละ ชื่อว่า ธัมมนันที (ความเพลิดเพลินในธรรม) ธัมมเปมัง (ความรักในธรรม) และความยึดมั่นในธรรม เป็นไปโดยอาการแห่งความปรารถนาของตัณหา คำนี้จึงเป็นเววจนะของตัณหา ฯ เววจนะแห่งจิตเป็นต้นคำว่า "จิตฺตํ มโน วิญฺญาณํ" นี้ เป็นเววจนะแห่งจิต ฯ คำว่า "มนินฺทริยํมโนธาตุ มนายตนํ วิชานนํ" นี้เป็นเววจนะแห่งมนะ (ใจ)ฯ ปัญญินทรีย์ปัญญาพละ อธิปัญญาสิกขา ปัญญา ปัญญาขันธ์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ญาณ สัมมาทิฏฐิ ตีรณะ วิปัสสนา ญาณในธรรม ญาณในอรรถะ อนุโลมญาณญาณในความสิ้นไป ญาณในความไม่เกิดขึ้น อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์อัญญินทรีย์ อัญญาตาวินทรีย์ จักขุ วิชชา พุทธิ ภูริ เมธา อาโลกะ ก็หรือว่า ธรรมชาติอย่างใด แม้อื่นที่มีชาติอย่างนี้ (คือ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัยและความเลือกสรรเป็นต้น) นี้เป็นเววจนะแห่งปัญญา ฯ อินทรีย์ 5 คือขเยญาณัง อนุปปาเทญาณัง และอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ เป็นต้น เป็นโลกุตตระ อินทรีย์ 5 นี้ เป็นเววจนะแห่งโลกุตตรปัญญา ปัญญาทั้งปวงนอกจากเววจนะ 5 นี้ เป็นมิสสกะ คือปะปนกันทั้งโลกียะทั้งโลกุตตระ ฯ ก็อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สัทธา เพราะอรรถะว่า ความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งความน้อมใจเชื่อ ชื่อว่า วิริยะ เพราะอรรถะว่า ความริเริ่ม ชื่อว่า สติ เพราะอรรถะว่า การไม่เลอะเลือน ชื่อว่า สมาธิ เพราะอรรถะว่า ความไม่ฟุ้งซ่าน ชื่อว่า ปัญญาเพราะอรรถะว่า ความรู้ทั่ว ฯ เววจนะแห่งพุทธานุสติเววจนะนี้ เหมือนอย่างที่กล่าวในพุทธานุสติว่า"แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม"ดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความสมบูรณ์แห่งพละเป็นผู้บรรลุแล้วซึ่งเวสารัชชญาณ เป็นผู้มีปฏิสัมภิทาอันบรรลุแล้ว เป็นผู้ละแล้วซึ่งโยคะ 4 เป็นผู้ก้าวล่วงการถึงอคติ เป็นผู้มีลูกศรอันถอนขึ้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีแผลเกิดขึ้น เป็นผู้ย่ำยีข้าศึกได้แล้ว เป็นผู้ยังปริยุฏฐานให้ดับสนิท เป็นผู้พ้นจากเครื่องจองจำ มีเครื่องผูกอันแก้ออกแล้ว เป็นผู้ก้าวล่วงแล้วซึ่งอัธยาสัยเป็นผู้ทำลายความมืด เป็นผู้มีจักษุ เป็นผู้ก้าวล่วงโลกธรรม เป็นผู้ปราศจากความยินดีความยินร้าย เป็นผู้ไม่หวั่นไหวในธรรมที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา เป็นผู้ครอบงำเครื่องจองจำ เป็นผู้มีสงครามอันหยุดแล้ว เป็นผู้รุ่งเรืองยิ่ง เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคบเพลิง เป็นผู้กระทำซึ่งแสงสว่าง เป็นผู้กระทำความรุ่งโรจน์ เป็นผู้ขจัดความมืด เป็นผู้ละการเบียดเบียนของกิเลส เป็นผู้มีวรรณะหาประมาณมิได้ เป็นผู้มีวรรณะไม่พึงประมาณ เป็นผู้มีวรรณะอันไม่พึงนับ เป็นผู้กระทำความรุ่งเรือง เป็นผู้กระทำพระรัศมี เป็นผู้กระทำพระธรรมให้มีรัศมีรุ่งโรจน์ ดังนี้ คำว่า "พระพุทธเจ้า และ พระผู้มีพระภาคเจ้า" นี้เป็นเววจนะของพุทธานุสติ ฯ เววจนะแห่งธัมมานุสติอนึ่ง ในธัมมานุสติ บัณฑิตกล่าวเววจนะไว้ว่า "พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว อันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนทั้งหลายจะพึงรู้เฉพาะตน" ดังนี้ พระธรรมนี้ใด เป็นเครื่องขจัดความเมา (มทนิมฺมทโน) เป็นเครื่องนำออกซึ่งความกระหาย(ปิปาสวินโย) เป็นเครื่องถอนขึ้นซึ่งอาลัย เป็นเครื่องตัดซึ่งวัฏฏะ เป็นธรรมว่างจากสังขตะ เป็นของได้ยากอย่างยิ่ง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นเครื่องสำรอกราคะ เป็นความดับทุกข์ เป็นพระนิพพานนิพพาน ชื่อว่า อสังขตะ ชื่อว่า อนันตะ (ไม่มีที่สุด) ชื่อว่า อนาสวะชื่อว่า ปรมัตถสัจจะ ชื่อว่า ปาระ (ฝั่ง) ชื่อว่า นิปุณะ (ละเอียด) ชื่อว่า สุทุททสะ (เห็นได้ยาก) ชื่อว่า อชัชชระ (ไม่คร่ำคร่า) ชื่อว่า ธุวะ (มั่นคง)ชื่อว่า อปโลกินะ (ไม่บุบสลาย) ชื่อว่า อนิทัสสนะ (ไม่เห็นด้วยจักษุ) ชื่อว่า นิปปปัญจะ (ไม่มีธรรมเนิ่นช้า) ชื่อว่า สันตะ (สงบจากสังขาร) ชื่อว่า อมตะ ชื่อว่า ปณีตะ (สูงสุด) ชื่อว่า สิวะ (มีความเย็น) ชื่อว่า เขมะ(ปราศจากอันตราย) ชื่อว่า ตัณหักขยะ (สิ้นตัณหา) ชื่อว่า อัจฉริยะ(อัศจรรย์) ชื่อว่า อัพภูตะ (ไม่เกิดแล้วมีอยู่) ชื่อว่า อนีติกะ (ปราศจากทุกข์)ชื่อว่า อนีติกธรรม (ธรรมปราศจากทุกข์) พระนิพพานนีิ้ อันพระสุคตทรงแสดงแล้ว ฯ พระนิพพานไม่เกิด ไม่มีปัจจัยให้เกิด ไม่มีอันตราย ไม่มีปัจจัยกระทำอันตราย ไม่มีความโศก ปราศจากความโศกแล้ว ไม่มีอุปสรรคไม่มีธรรมเป็นอุปสรรค พระนิพพานนี้ อันพระสุคตทรงแสดงแล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "นิพพานเป็นธรรมลึกซึ้ง เป็นธรรมเห็นได้ยาก เป็นธรรมสูงสุด เป็นธรรมไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ไม่มีธรรมอื่นเสมอ ไม่มีธรรมอื่นเปรียบ เป็นธรรมเจริญที่สุด เป็นธรรมประเสริฐที่สุด"ดังนี้ ฯ นิพพาน ชื่อว่า เลณะ (ที่พักอันปลอดภัย) ชื่อว่า ตาณะ (ที่ต้านทาน)ชื่อว่า อรณะ (กำจัดภัย) ชื่อว่า อนังคณะ (ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน) ชื่อว่า อกาจะ (บริสุทธิ์สะอาด) ชื่อว่า วิมละ (ปราศจากมลทิน) ชื่อว่า ทีปะ(เกาะไม่จมด้วยโอฆะ 4) ชื่อว่า สุขอันสงบจากสังสาร ชื่อว่า อัปปมาณะ(ไม่มีประมาณ) ชื่อว่า ปติฏฐะ (ที่พึ่ง) ชื่อว่า อกิญจนะ (ไม่มีกังวัล) ชื่อว่า อัปปปัญจะ (ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า) อันพระสุคตแสดงไว้แล้ว ฯ คำนี้เป็นเววจนะในธัมมานุสติ ฯ เววจนะแห่งสังฆานุสติสังฆานุสติ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อญายธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ พระสงฆ์นี้ใดคือ คู่แห่งบุรุษ 4 เป็นบุรุษบุคคล 8 พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ควรแก่การบูชา เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นสาระมีศีลเป็นต้นของสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ผ่องใสดุจความใสของเนยใสของสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ยกคุณที่มีสาระของสัตว์ทั้งหลายเป็นเสาหลักที่มั่นคงของสัตว์ทั้งหลาย เป็นดังดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมของสัตว์ทั้งหลาย เป็นที่สักการะบูชาของทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย" คำนี้ก็เป็นเววจนะในสังฆานุสติ ฯ เววจนะแห่งสีลานุสติก็คำที่กล่าวไว้ในสีลานุสติว่า "ศีลทั้งหลายไม่ขาด (อขณฺฑานิ ไม่เป็นท่อน)ไม่ทะลุ (อจฺฉิทฺทานิ) ไม่ด่าง (อสพลานิ) ไม่พร้อย (อกมฺมาสานิ) เป็นอริยศีลเป็นศีลอันพระอริยะใคร่ เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาและทิฏฐิไม่ถูกต้องแล้ว เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ ก็ศีล ชื่อว่า อลังการ เพราะเป็นเครื่องประดับองค์เบื้องบนให้งดงาม ศีล ชื่อว่า นิธานะ เพราะอรรถะว่า ก้าวล่วงอันตรายโดยประการทั้งปวง ศีล ชื่อว่า ศิลปะ (ธนูศิลปะ) เพราะความที่ธนูศิลป์ เป็นเครื่องแทงได้ตลอดเวลา ศีล ชื่อว่า เวลา (ฝั่ง) เพราะอรรถะว่า ไม่ก้าวล่วง ศีล ชื่อว่า ธัญญะ เพราะอรรถะว่า เป็นทรัพย์ตัดความขัดสน ศีลชื่อว่า อาทาสะ (แว่น) เพราะอรรถะว่าเป็นเครื่่องส่องดูธรรม ศีล ชื่อว่า ปราสาทเพราะอรรถะว่า เป็นเครื่องแลดูโลก ชื่อว่า ศีล ย่อมเป็นไปในภูมิทั้งปวงมีอมตนิพพานเป็นที่สุด" คำนี้เป็นเววจนะในสีลานุสติ ฯ ก็ในจาคานุสติ ท่านกล่าวว่า "ในสมัยใด อริยสาวกอยู่ครองเรือน เป็นผู้มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามืออันล้างแล้ว ยินดีในการสละ ควรแก่ผู้ขอ ยินดีในการจำแนกทาน" ดังนี้ คำนี้ก็เป็นเววจนะในจาคานุสติฯ เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "เววจนะทั้งหลายมีมาก" ดังนี้ ฯ จบ เววจนหารวิภังค์ 11. บัญญัติหารวิภังค์ [39] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระ คือ บัญญัติ เป็นไฉน นิทเทสว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง ด้วยบัญญัติมีอย่างต่าง ๆ มิใช่น้อย" ดังนี้ เป็นบัญญัติหาระ ฯ เทศนา โดยปกติกถาอันใด เทศนานี้ ชื่อว่า นิกเขปบัญญัติถามว่า ก็เทศนาโดยปกติกถา เป็นบัญญัติอะไรตอบว่า บัญญัติสัจจะ 4 เหมือนอย่างที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "อิทํ ทุกฺขํ" ดังนี้ บัญญัตินี้เป็น นิกเขปบัญญัติ แห่งขันธ์ 5 เป็นนิกเขปบัญญัติแห่งธาตุ 6 ธาตุ 18 อายตนะ 12 และแห่งอินทรีย์ 10 ฯ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความอยากมีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในที่นั้น ในที่ใด วิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใด มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีการเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใดมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปในที่ใด มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไปในที่ใด มีชาติชรามรณะต่อไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเรียกที่นั้นว่า มีความโศกก่อความยุ่งยาก มีความคับแค้น ดังนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความอยากมีอยู่ในผัสสาหารไซร้ ฯลฯ ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความอยากมีอยู่ในมโนสัญเจตนาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในที่นั้น ในที่ใดวิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใดมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายในที่ใดมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใด มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใดมีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่า มีความโศกก่อความยุ่งยาก มีความคับแค้น" ดังนี้ ฯ บัญญัตินี้ ชื่อว่า ปภวบัญญัติแห่งทุกข์และสมุทัย ฯ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความอยากไม่มีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงาม ในกวฬีการาหารนั้น ในที่ใด วิญญาณไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่่ใด ไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใด ไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใด ไม่มี ชาติชรามรณะต่อไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเรียกที่นั้นว่า ไม่มีความโศก ไม่มีความยุ่งยาก ไม่มีความคับแค้น ดังนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความอยากไม่มีในผัสสาหาร ฯลฯ ไม่มีในมโนสัญเจตนาหาร ฯลฯ ไม่มีในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงามในอาหารนั้น ในที่ใด วิญญาณไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใด ไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายในที่ใด ไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใดไม่มีความเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมไม่มีชาติ ชรา มรณะต่อไปดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเรียกที่นั้นว่า ไม่มีความโศก ไม่มีความยุ่งยากไม่มีความคับแค้น" ดังนี้ ฯ บัญญัตินี้ ชื่อว่า ปริญญาบัญญัติแห่งทุกข์ ชื่อว่า ปหานบัญญัติแห่งสมุทัย ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า สัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งนิโรธ ฯ [40] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุผู้ไม่ประมาทมีปัญญา มีสติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ก็ภิกษุย่อมรู้ตามความเป็นจริงอย่างไร ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "จักษุไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "รูปทั้งหลายไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "จักขุวิญญาณไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "จักขุสัมผัสไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "สุขเวทนา ทุกขเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง" ดังนี้โสตะ ฯลฯ ฆานะ ฯลฯ ชิวหา ฯลฯ กาย ฯลฯ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "ใจไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง"ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "มโนวิญญาณไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "มโนสัมผัสไม่เที่ยง" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "สุขเวทนาทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง" ดังนี้ ฯ บัญญัตินี้ ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า ปริญญาบัญญัติแห่งทุกข์ ชื่อว่า ปหานบัญญัติแห่งสมุทัย ชื่อว่า สัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งนิโรธ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกร ราธะ เธอจงรื้อ เธอจงทำลาย จงทำรูปให้เป็นของเล่นสนุกสนานไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหาด้วยปัญญา เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาเป็นการสิ้นไปแห่งทุกข์ เพราะการสิ้นไปแห่งทุกข์เป็นนิพพาน ฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ เธอจงรื้อ เธอจงทำลาย จงทำวิญญาณให้เป็นของเล่นสนุกสนานไม่ได้ เธอจงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหาด้วยปัญญา เพราะการสิ้นไปแห่งตัณหาเป็นการสิ้นไปแห่งทุกข์ เพราะการสิ้นไปแห่งทุกข์เป็นนิพพาน ฯ บัญญัตินี้ชื่อว่า นิโรธบัญญัติแห่งนิโรธ ชื่อว่า นิพพิทาบัญญัติแห่งความยินดี ชื่อว่า ปริญญาบัญญัติแห่งทุกข์ ชื่อว่า ปหานบัญญัติแห่งสมุทัย ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า สัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งนิโรธ ฯ [41] ภิกษุนั้น ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกข์" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกขสมุทัย" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกขนิโรธ" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา" ดังนี้ บัญญัตินี้ ชื่อว่า ปฏิเวธบัญญัติแห่งสัจจะทั้งหลาย ชื่อว่า นิกเขปบัญญติแห่งทัสสนภูมิ ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า สัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งโสตาปัตติผล ฯ ภิกษุนั้น ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้อาสวะ" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้อาสวสมุทัย" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้อาสวนิโรธ" ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา" ฯ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า อาสวะเหล่านั้นย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ฯ บัญญัตินี้ ชื่อว่า อุปปาทบัญญัติแห่งขยญาณ(ญาณในความสิ้นไป) ชื่อว่า โอกาสบัญญัติแห่งญาณในความไม่เกิดขึ้น ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า ปริญญาบัญญัติแห่งทุกข์ ชื่อว่า ปหานบัญญัติแห่งสมุทัย ชื่อว่า อารัมภบัญญัติแห่งวิริยินทรีย์ ชื่อว่า อาหฏนาบัญญัติ(นำกิเลสเพียงดังไข่ขางออก) แห่งไข่แมลงวัน ชื่อว่า นิกเขปบัญญัติแห่งภาวนาภูมิ ชื่อว่า อภินิฆาตบัญญัติ (การทำลาย) แห่งอกุศลธรรมอันลามก ฯ บัญญัติ เทสนาธรรมจักรดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า "นี้ทุกข์" ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ "นี้ทุกขสมุทัย" ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ "นี้ทุกขนิโรธ" ดูกรภิกษุทั้งหลายดวงตาเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า "นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา" ดังนี้ ฯ บัญญัตินี้ ชื่อว่า เทสนาบัญญัติแห่งสัจจะทั้งหลาย ชื่อว่า นิกเขปบัญญัติแห่งสุตมยปัญญา ชื่อว่าสัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ชื่อว่า ปวัตตนาบัญญัติแห่งธรรมจักร ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า "ทุกข์นี้นั่นแล อันบุคคลควรกำหนดรู้"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ "ทุกขสมุทัยนี้นั่นแล อันบุคคลควรละ" ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ "ทุกขนิโรธนี้นั่นแล อันบุคคลควรกระทำให้แจ้ง" ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า "ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทานี้นั่นแล อันบุคคลควรเจริญ" ดังนี้ ฯ บัญญัตินี้ ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า นิกเขปบัญญติแห่งจินตามยปัญญา ชื่อว่า สัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งอัญญินทรีย์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลาย ที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า "ทุกข์นี้นั่นแล เราได้กำหนดรู้แล้ว"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ ว่า "ทุกขสมุทัยนี้นั่นแล เราละได้แล้ว" ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ ว่า "ทุกขนิโรธนี้นั่นแล เรากระทำให้แจ้งแล้ว" ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า "ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทานี้นั่นแล เราก็เจริญแล้ว" ดังนี้ ฯ บัญญัตินี้ ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ชื่อว่า นิกเขปบัญญัติแห่งภาวนามยปัญญา ชื่อว่า สัจฉิกิริยาบัญญัติแห่งอัญญาตาวินทรีย์ และชื่อว่า ปวัตตนาบัญญัติแห่งพระธรรมจักร แล ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า"มุนี ได้สละแล้วซึ่งสังขารในภพ อันเป็นเหตุเกิดกรรม ที่ชั่งได้(ตุลํ) และชั่งไม่ได้ (อตุลํ) มีความยินดีในภายใน มีจิตมั่นคงปลงอายุสังขาร(เพราะ) ได้ทำลายกิเลสให้เกิดตนแล้ว ดุจการทำลายเกราะ ฉะนั้น" ฯ คำว่า "ตุลํ" ได้แก่ สังขารธาตุ ฯ คำว่า "อตุลํ" ได้แก่ นิพพานธาตุ ฯ คำว่า "ตุลมตุลญฺจ สมฺภวํ" ได้แก่ อภิญญาบัญญัติแห่งธรรมทั้งปวง และนิกเขปบัญญัติแห่งธัมมปฏิสัมภิทา ฯ คำว่า "มุนี ได้สละแล้วซึ่งสังขารในภพ" ได้แก่ ปริจาคบัญญัติแห่งสมุทัยและปริญญาบัญญัติแห่งทุกข์ ฯ คำว่า "มีความยินดีในภายใน มีจิตมั่นคง" ได้แก่ภาวนาบัญญัติแห่งกายคตาสติ และฐิติบัญญัติแห่งเอกัคคตาจิต ฯ คำว่า "ได้ทำลายกิเลสให้เกิดตนแล้ว ดุจการทำลายเกราะ" ได้แก่อภินิพพิทาบัญญัติแห่งจิต (การเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง) เป็นอุปาทานบัญญัติของพระสัพพัญญูพุทธะ เป็นปทาลนาบัญญัติ (ทำลาย) แห่งกระเปาะไข่ คือ อวิชชาฯ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ตุลมตุลญฺจ สมฺภวํ" แปลว่า เป็นเหตุเกิดกรรมที่ชั่งได้และชั่งไม่ได้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะมารว่า"บุคคลใด ได้เห็นทุกข์ มีกามใดเป็นแดนมอบให้ บุคคลนั้นพึงน้อมไปในกามทั้งหลายได้อย่างไร เพราะกามทั้งหลายเป็นเครื่องข้องในโลก บุคคลมีสติ รู้อย่างนี้ พึงศึกษาเพื่อกำจัดกามเหล่านั้น" ฯ คำว่า "โย ทุกฺขํ" แปลว่า บุคคลใด....ทุกข์ ได้แก่ เววจนบัญญัติ และปริญญาบัญญัติแห่งทุกข์ ฯ คำว่า "ยโตนิทานํ" แปลว่า กามใดเป็นการมอบให้เป็นปภวบัญญัติและปหานบัญญัติแห่งสมุทัย ฯ คำว่า "อทฺทกฺขิ" แปลว่า ได้เห็นแล้ว เป็นเววจนบัญญัติและปฏิเวธบัญญัติแห่งญาณจักษุ ฯ คำว่า "บุคคลนั้น พึงน้อมไปในกามทั้งหลายได้อย่างไร" เป็นเววจนบัญญัติและอภินิเวสบัญญัติแห่งกามตัณหา ฯ คำว่า "เพราะรู้กามทั้งหลายเป็นเครื่องข้องในโลก" เป็นทัสสนบัญญัติโดยเป็นข้าศึกแห่งกามทั้งหลาย ฯ จริงอยู่ กามทั้งหลายเปรียบเทียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ เปรียบเหมือนเหว และอสรพิษ ฯ คำว่า "เตสํ สติมา" แปล มีสติ.... แห่งกามเหล่านั้น เป็นอปจยบัญญัติ(บัญญัติไม่สั่งสมไว้) แห่งสาระ เป็นนิกเขปบัญญัติแห่งกายคตาสติ และเป็นภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ฯ คำว่า "วินยาย สิกฺเข" แปลว่า พึงศึกษาเพื่อการกำจัด เป็นปฏิเวธบัญญัติแห่งการกำจัดราคะ การกำจัดโทสะ การกำจัดโมหะ ฯ คำว่า "ชนฺตุ" (บุคคล) เป็นเววจนบัญญัติแห่งพระโยคี จริงอยู่ ในกาลใดพระโยคีใด รู้ว่า "กามทั้งหลายเป็นเครื่องข้อง" ดังนี้ ในกาลนั้น พระโยคีนั้นย่อมยังกุศลธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้กามทั้งหลายเกิดขึ้น พระโยคีนั้นย่อมพยายามเพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น บัญญัตินี้ เป็นวายามบัญญัติเพื่อการบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เป็นนิกเขปบัญญัติของบุคคลผู้ไม่ยินดีโลกียธรรมในคำว่า กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเป็นต้นนั้น พระโยคีนั้น ย่อมพยายาม เพื่อดำรงอยู่แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้ บัญญัตินี้ เป็นอัปปมาทบัญญัติแห่งภาวนาเป็นนิกเขปบัญญัติแห่งวิริยินทรีย์ เป็นอารักขบัญญัติแห่งกุศลธรรม เป็นฐิติ-บัญญัติแห่งอธิจิตตสิกขา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"บุคคลใด ได้เห็นทุกข์แล้ว มีกามใดเป็นแดนมอบให้" เป็นต้น ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"สัตวโลก มีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน ย่อมเห็นเหมือนมีรูปที่ยั่งยืนคนพาลมีอุปธิเป็นเครื่องผูกไว้ ถูกความมืดหุ้มห่อแล้ว ย่อมปรากฏราวกะว่าเที่ยงยั่งยืน กิเลสเป็นเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่บัณฑิตผู้เห็นอยู่" ฯ คำว่า "สัตวโลกมีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน" เป็นเทสนาบัญญัติแห่งวิปลาส ฯ คำว่า "ย่อมเห็นเหมือนมีรูปที่ยั่งยืน" เป็นวิปริตบัญญัติของโลก ฯ คำว่า "คนพาล มีอุปธิเป็นเครื่องผูกไว้" เป็นปภวบัญญัติแห่งการท่องเที่ยวของตัณหาอันลามก เป็นกิจจบัญญัติของปริยุฏฐาน เป็นพลวบัญญัติของกิเลสทั้งหลาย เป็นวิรุหนาบัญญัติ (บัญญัติที่งอกงาม) แห่งสังขารทั้งหลาย ฯ คำว่า "ถูกความมืดหุ้มห่อแล้ว" เป็นเทสนาบัญญัติ และเป็นเววจนบัญญัติแห่งความโง่เขลา คือ อวิชชา ฯ คำว่า "ย่อมปรากฏราวกะว่าเที่ยงยั่งยืน" เป็นทัสสนบัญญัติแห่งทิพยจักษุเป็นนิกเขปบัญญัติแห่งปัญญาจักษุ ฯ คำว่า "กิเลสเครื่องกังวล ย่อมไม่มีแก่บัณฑิตผู้เห็นอยู่" เป็นปฏิเวธบัญญัติของสัตว์ทั้งหลาย ก็กิเลสเครื่องกังวล คืออะไร กิเลสเครื่องกังวล คือ ราคะกิเลสเครื่องกังวล คือ โทสะ กิเลสเครื่องกังวล คือ โมหะ เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"สัตวโลก มีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน" เป็นต้น ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว อันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติ อันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว อันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออก(นิสสรณะ) ซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว ที่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว อันปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว อันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ เพราะฉะนั้นการสลัดออก ซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้วที่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว อันปรุงแต่งแล้วจึงปรากฏ" ดังนี้ ฯ ข้อว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติอันไม่เกิดขึ้นแล้ว ไม่เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว อันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้" ดังนี้บัญญัตินี้เป็นเทสนาบัญญัติ และเป็นเววจนบัญญัติแห่งนิพพาน ฯ ข้อว่า"การสลัดออก ซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว ที่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว อันปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้" ดังนี้ เป็นเววจนบัญญัติแห่งสังขตะ และเป็นอุปนยนบัญญัติ (บัญญัติที่น้อมเข้าไปใกล้) แห่งสังขตะ ฯ ข้อว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่" ดังนี้ เป็นเววจนบัญญัติแห่งนิพพาน และเป็นโชตนาบัญญัติ (บัญญัติการอธิบาย) แห่งนิพพาน ฯ ข้อว่า "เพราะฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว ที่เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จึงปรากฏ" ดังนี้ บัญญัตินี้เป็นเววจนบัญญัติแห่งนิพพาน เป็นนิยยานิกบัญญัติแห่งมรรค เป็นนิสสรณบัญญัติจากสังสาระ ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "โน เจตํภิกฺขเว อภวิสฺส" ดังนี้ ฯ ด้วยเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า"พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง ด้วยบัญญัติทั้งหลายมีอย่างต่าง ๆ" ดังนี้ ฯ จบ บัญญัติหารวิภังค์ 12. โอตรณหารวิภังค์ [42] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระ คือ โอตรณะ เป็นไฉน นิทเทสที่กล่าวว่า "ปฏิจจสมุปบาทใด" เป็นต้น เป็นโอตรณหาระพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า" บุคคลพ้นวิเศษแล้วในสิ่งทั้งปวง ในเบื้องบน ในเบื้องต่ำ ไม่ตามเห็นว่า นี้เป็นเรา บุคคลพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ ข้ามได้แล้วซึ่งโอฆะ ที่ตนยังไม่เคยข้าม เพื่อความไม่เกิดอีก" ดังนี้ ฯ คำว่า "อุทฺธํ" ในเบื้องบน ได้แก่ รูปธาตุและอรูปธาตุ ฯ คำว่า "อโธ" ในเบื้องต่ำ ได้แก่ กามธาตุ ฯ คำว่า "สพฺพธิ วิปฺปมุตฺโต" (พ้นวิเศษแล้วในสิ่งทั้งปวง)ความว่า การพ้นนี้ เป็นการพ้นด้วยอเสกขะในโลกธาตุ 3 (กามธาตุ รูปธาตุอรูปธาตุ) ฯ อเสกขะทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ เป็นอินทรีย์ 5 มีสัทธินทรีย์เป็นต้น เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อ โอตรณา (คือ การหยั่งลง) ด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ อินทรีย์ 5 ที่เป็นอเสกขะเหล่านั้นนั่นแหละเป็นวิชชา เพราะการเกิดขึ้นแห่งวิชชา อวิชชาจึงดับ เพราะความดับแห่งอวิชชา สังขารจึงดับ เพราะความดับแห่งสังขาร วิญญาณจึงดับ เพราะความดับแห่งวิญญาณ นามรูปจึงดับเพราะความดับแห่งนามรูป สฬายตนะจึงดับ เพราะความดับแห่งสฬายตนะผัสสะจึงดับ เพราะความดับแห่งผัสสะ เวทนาจึงดับ เพราะความดับแห่งเวทนาตัณหาจึงดับ เพราะความดับแห่งตัณหา อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้โอตรณานี้ ชื่อ โอตรณา (คือ การหยั่งลง) ด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ อินทรีย์ 5 ที่เป็นอเสกขะเหล่านั้นนั่นแหละ บัณฑิตสงเคราะห์ไว้ด้วยขันธ์ 3 คือ ด้วยสีลขันธ์ ด้วยสมาธิขันธ์ ด้วยปัญญาขันธ์ โอตรณานี้ ชื่อโอตรณา (คือ การหยั่งลง) ด้วยขันธ์ 3 ฯ อินทรีย์ 5 ที่เป็นอเสกขะเหล่านั้นนั่นแหละ นับเนื่องในสังขาร (คือหยั่งลงในสังขารขันธ์) สังขารทั้งหลายเหล่าใด ไม่มีอาสวะ และไม่เป็นองค์แห่งภพ (ส่วนแห่งการเกิด) สังขารเหล่านั้น บัณฑิตสงเคราะห์ไว้ด้วยธรรมธาตุโอตรณานี้ ชื่อ โอตรณา (คือการหยั่งลง) ด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ ธรรมธาตุนั้น นับเนื่องในธัมมายตนะ อายตนะใด ไม่มีอาสวะและไม่มีองค์แห่งการเกิด เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ คำว่า "อยํ อหสฺมีติ อนานุปสฺสี" (บุคคลไม่ตามเห็นว่า นี้เป็นเรา) ความว่าบุคคลผู้มีสักกายทิฏฐิอันถอนขึ้นแล้วนี้ใด การถอนขึ้นซึ่งสักกายทิฏฐินั้น เป็นเสกขวิมุตติ เสกขะทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ เป็นอินทรีย์ 5 ฯ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อ โอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ อินทรีย์ 5 ที่เป็นเสกขะเหล่านั้นนั่นแหละเป็นวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา อวิชชาจึงดับ เพราะความดับแห่งอวิชชา สังขารจึงดับ ปฏิจจสมุปบาททั้งปวง เป็นไปด้วยอาการอย่างนี้ ฯ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อ โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ วิชชานั้นนั่นแหละ เป็นปัญญาขันธ์ ฯ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อ โอตรณาด้วยขันธ์ทั้งหลาย ฯ วิชชานั้นนั่นแหละ นับเนื่องในสังขาร สังขารเหล่าใดไม่มีอาสวะ และไม่เป็นองค์แห่งการเกิดขึ้น สังขารเหล่านั้น ท่านสงเคราะห์ไว้ในธรรมธาตุ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อ โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ ธัมมธาตุนั้นนับเนื่องในธัมมายตนะ อายตนะใด ไม่มีอาสวะ และไม่เป็นองค์แห่งการเกิดขึ้นเทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อ โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ บุคคลพ้นวิเศษแล้วด้วยเสกขวิมุตติ และอเสกขวิมุตติ ข้ามได้แล้วซึ่งโอฆะที่ตนยังไม่เคยข้ามเพื่อความไม่เกิดอีก ฯ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อุทฺธํ อโธ"ดังนี้ ฯ [43] "การเคลื่อนไป ย่อมมีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิอาศัย การเคลื่อนไป ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย เมื่อการเคลื่อนไปไม่มี ปัสสัทธิย่อมมี เมื่อปัสสัทธิมีอยู่ ความยินดีย่อมไม่มี เมื่อความยินดีไม่มีอยู่ การมาและการไปย่อมไม่มี เมื่อการมาการไปไม่มี จุติและการเกิดก็ย่อมไม่มี เมื่อจุติและการเกิดไม่มี โลกนี้ก็ไม่มี โลกหน้าก็ไม่มีระหว่างโลกทั้ง 2 ก็ไม่มี ปฏิจจสมุปบาทนี้นั่นแลเป็นที่สุดแห่งทุกข์" ดังนี้ ฯ คำว่า "นิสฺสิตสฺส จลิตํ" อธิบายว่า ชื่อว่านิสสัย (ความประพฤติที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน) มี 2 อย่าง คือ ตัณหานิสสัย และ ทิฏฐินิสสัย ในธรรมทั้ง 2 นั้น เจตนาของบุคคลผู้กำหนัดแล้ว อันใด เจตนาธรรมนี้ ชื่อว่า ตัณหานิสสัย ฯ เจตนาของบุคคลผู้หลงอันใด เจตนาธรรมนี้ ชื่อว่า ทิฏฐินิสสัย ฯ ก็เจตนาเป็นสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยนามรูปจึงมี ปฏิจจสมุปบาททั้งปวงเป็นไปด้วยอาการอย่างนี้ เทศนาที่หยั่งลงนี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ ในตัณหานิสสัยและทิฏฐินิสสัยนั้น เวทนาของบุคคลผู้กำหนัด อันใด เวทนานี้เป็นสุขเวทนา (คือ นอนเนื่องในสุขเวทนา) เวทนาของบุคคลผู้หลง อันใด เวทนานี้เป็นอทุกขมสุขเวทนา (คือ นอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุข) เวทนาทั้ง 2 นี้เป็นเวทนาขันธ์ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยขันธ์ทั้งหลาย ฯ ในขันธ์นั้น สุขเวทนาเป็นอินทรีย์ 2 คือ สุขินทรีย์ และโสมนัสสินทรีย์ส่วนอทุกขมสุขเวทนาเป็นอุเบกขินทรีย์ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ อินทรีย์เหล่านั้นนั่นแหละ หยั่งลงในสังขาร สังขารเหล่าใดมีอาสวะเป็นองค์แห่งการเกิด สังขารเหล่านั้นสงเคราะห์ในธรรมธาตุเทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ ธรรมธาตุนั้น นับเนื่องในธัมมายตนะ อายตนะใดมีอาสวะเป็นองค์แห่งการเกิด เทศนาที่หยั่งลงนี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ คำว่า "การเคลื่อนไป ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่อาศัย" ความว่า บุคคลอันตัณหาไม่อาศัย ด้วยอำนาจสมถะ หรือบุคคลผู้อันทิฏฐิไม่อาศัย ด้วยอำนาจวิปัสสนา วิปัสสนาอันใด อันนี้ เป็นวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา อวิชชาจึงดับ เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับปฏิจจสมุปบาททั้งปวงเป็นไปอย่างนี้ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ วิปัสสนานั้นนั่นแหละ เป็นปัญญาขันธ์ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยขันธ์ทั้งหลาย ฯ วิปัสสนานั่นแหละ เป็น 2 อินทรีย์ คือ วิริยินทรีย์ และปัญญินทรีย์ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ วิปัสสนานั้นนั่นแหละ นับเนื่องในสังขาร สังขารเหล่าใด ไม่มีอาสวะและไม่เป็นองค์แห่งการเกิด สังขารเหล่านั้นสงเคราะห์ในธรรมธาตุ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ ธรรมธาตุนั้นหยั่งลงในธัมมายตนะ อายตนะใดไม่มีอาสวะ และไม่เป็นองค์แห่งการเกิด เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ คำว่า "ปสฺสทฺธิยา สติ" ได้แก่ ปัสสัทธิ 2 อย่าง คือ ความสงบอันเป็นไปทางกาย และความสงบอันเป็นไปทางใจ กายิกสุข อันใด นี้ชื่อว่า กายปัสสัทธิเจตสิกสุขอันใด นี้ชื่อว่า เจตสิกปัสสัทธิ ฯ บุคคลผู้มีกายอันสงบแล้ว ย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง บุคคลเมื่อรู้ตามความเป็นจริงย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นเพราะหมดความยินดี ญาณในจิตที่หลุดพ้นแล้วว่า เราหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ว่า ชาติสิ้นแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์จบแล้ว กิจที่ควรกระทำ เราทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้ ฯ บุคคลนั้น ย่อมไม่น้อมไปในรูปทั้งหลาย ย่อมไม่น้อมไปในเสียงทั้งหลายย่อมไม่น้อมไปในกลิ่นทั้งหลาย ย่อมไม่น้อมไปในรสทั้งหลาย ย่อมไม่น้อมไปในโผฏฐัพพะทั้งหลาย ย่อมไม่น้อมไปในธรรมทั้งหลาย เพราะความสิ้นราคะ เพราะความสิ้นโทสะ เพราะความสิ้นโมหะ เมื่อจะบัญญัติ พึงประกาศสัตว์ผู้ไปแล้วอย่างนั้น ว่า กำลังยืนอยู่ กำลังเที่ยวไปด้วยรูปใด แต่เพราะความสิ้นไปแห่งรูปนั้น เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะสละ เพราะสละคืน เป็นสัตว์พ้นแล้วในการนับว่ารูป (เพราะ) สัตว์ผู้ไปแล้วอย่างนั้นไม่ถึงแล้วซึ่งการนับว่า"มีอยู่" ดังนี้บ้าง ไม่เข้าถึงแล้วว่า "ไม่มีอยู่" ดังนี้บ้าง ไม่เข้าถึงแล้วว่า "มีอยู่ไม่มีอยู่" ดังนี้บ้าง ไม่เข้าถึงแล้วว่า "มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่" ดังนี้บ้าง โดยที่แท้ สัตว์นั้นสุขุมคือยากที่ใคร ๆ จะเข้าใจได้ เป็นสัตว์มีคุณไม่มีประมาณ อันบุคคลไม่พึงนับ ย่อมถึงซึ่งการนับว่า สัตว์นั้นสงบแล้วทีเดียว เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ เพราะความสิ้นไปแห่งโทสะ เพราะความสิ้นไปแห่งโมหะ ฯ เมื่อจะบัญญัติ พึงประกาศสัตว์ผู้ไปแล้วอย่างนั้นว่า กำลังยืนอยู่ กำลังเที่ยวไป ด้วยเวทนาใด ฯลฯ ด้วยสัญญาใด ฯลฯ ด้วยสังขารทั้งหลายเหล่าใดฯลฯ ด้วยวิญญาณใด แต่เพราะความสิ้นไปแห่งวิญญาณนั้น เพราะคลายกำหนัดเพราะความดับ เพราะสละ เพราะสละคืน ซึ่งเป็นสัตว์พ้นแล้ว ในการนับว่าวิญญาณ เพราะสัตว์ผู้ไปแล้วอย่างนั้น ไม่เข้าถึงแล้วซึ่งการนับว่า "มีอยู่"ดังนี้บ้าง ไม่เข้าถึงแล้วซึ่งการนับว่า "ไม่มีอยู่" ดังนี้บ้าง ไม่เข้าถึงแล้วซึ่งการนับว่า "มีอยู่ ไม่มีอยู่" ดังนี้บ้าง ไม่เข้าถึงแล้วซึ่งการนับว่า "มีอยู่ก็ไม่ใช่ไม่มีอยู่ก็มิใช่" ดังนี้บ้าง โดยที่แท้ สัตว์นั้นสุขุม คือยากที่ใคร ๆ จะเข้าใจได้เป็นสัตว์มีคุณไม่มีประมาณ อันบุคคลไม่พึงนับ แต่ย่อมถึงซึ่งการนับว่า สัตว์นั้นสงบแล้ว เพราะสิ้นราคะ เพราะสิ้นโทสะ เพราะสิ้นโมหะ ฯ คำว่า "อาคติ" ได้แก่ ผู้มาในโลกนี้คำว่า "คติ" ได้แก่ สัตว์ละภพนี้ไป ฯ อธิบายว่า แม้การมาและการไปก็ย่อมไม่มี ฯ คำว่า "เนวิธ" แปลว่า ในโลกนี้ก็ไม่มี ได้แก่ อายตนะภายใน 6 ฯ คำว่า"น หุรํ" แปลว่า ในโลกอื่นก็ไม่มี ได้แก่ อายตนะภายนอก 6 ฯ คำว่า"น อุภยมนฺตเรน" แปลว่า ระหว่างโลกทั้ง 2 ก็ไม่มี ได้แก่ ย่อมไม่เห็นตนในธรรมทั้งหลายที่ตั้งขึ้นด้วยผัสสะ ฯ คำว่า "เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส" แปลว่า นี้เป็นที่สุดแห่งทุกข์ ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท อธิบายว่า ปฏิจจสมุปบาทนั้น มี 2 คือ โลกียะและโลกุตตระ ฯ ใน 2อย่างนั้น โลกียปฏิจจสมุปบาทว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลายจนกระทั่งถึง ชรา มรณะ ฯ โลกุตตรปฏิจจสมุปบาทว่า ความไม่เดือดร้อนย่อมเกิดแก่ผู้มีศีล จนกระทั่งถึงญาณรู้ว่า กิจอย่างอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"การเคลื่อนไปย่อมมีแก่ผู้อาศัย การเคลื่อนไป ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่อาศัย ฯลฯ ปฏิจจสมุปบาทนี้นั่นแหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์" ดังนี้ ฯ [44] พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี แต่ละอย่างมากมายในโลกนี้ เพราะอาศัยสัตว์ หรือสังขารอันเป็นที่รัก เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร้องไห้ร่ำไร และความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใด ไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหน ๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่พึงทำสัตว์ หรือสังขารให้เป็นที่รักในโลกไหน ๆ" ดังนี้ ฯ ข้อว่า"ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี แต่ละอย่างมากมายในโลกนี้ เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก" นี้เป็นทุกขเวทนา ฯ ข้อว่า "เมื่อไม่มีสัตว์ หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร้องไห้ร่ำไรและความทุกข์เหล่านี้ ย่อมไม่มี" นี้เป็นสุขเวทนาฯ เวทนา ได้แก่ เวทนาขันธ์ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยขันธ์ทั้งหลาย ฯ เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทานเพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรามรณะ ชรามรณะทั้งปวงมีด้วยอาการอย่างนี้ เทศนาที่หยั่งลงนี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ บรรดาเวทนาเหล่านั้น สุขเวทนาเป็นอินทรีย์ 2 คือ สุขินทรีย์และโสมนัสสินทรีย์ ทุกขเวทนาเป็นอินทรีย์ 2 คือ ทุกขินทรีย์และโทมนัสสินทรีย์เทสนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ อินทรีย์เหล่านั้นนั่นแหละหยั่งลงในสังขาร สังขารเหล่าใด มีอาสวะและเป็นองค์แห่งภพสังขารเหล่านั้นสงเคราะห์ด้วยธัมมธาตุ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ ธัมมธาตุนั้นนับเนื่องในธัมมายตนะ อายตนะใด มีอาสวะเป็นองค์แห่งภพนี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ ข้อว่า "เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใด ไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในกาลไหน ๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุขปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รักในกาลไหน ๆ" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นการละตัณหา ฯ เพราะความดับแห่งตัณหาอุปาทานจึงดับ เพราะความดับแห่งอุปาทานภพจึงดับ ชรามรณะทั้งปวงย่อมดับด้วยอาการอย่างนี้ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ การละตัณหานั้นนั่นแหละเป็นสมถะ สมถะนั้นเป็นอินทรีย์ 2 คือ สตินทรีย์และสมาธินทรีย์ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ สมถะนั้นนั่นแหละเป็นสมาธิขันธ์ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยขันธ์ทั้งหลาย ฯ สมถะนั้นนั่นแหละนับเนื่องในสังขาร สังขารเหล่าใด ไม่มีอาสวะและไม่เป็นองค์แห่งภพ สังขารเหล่านั้นสงเคราะห์ในธัมมธาตุ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ ธัมมธาตุนั้น นับเนื่องในธัมมายตนะ อายตนะใด ไม่มีอาสวะและไม่เป็นองค์แห่งภพ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "เยเกจิ โสกา" เป็นต้น ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ถ้าว่าวัตถุกาม จะสำเร็จแก่สัตว์ผู้ปรารถนาอยู่ไซร้ สัตว์ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้นแล้ว ก็ย่อมมีใจเอิบอิ่ม (ปีติมโน) แน่แท้ ฯ ถ้าเมื่อสัตว์นั้นปรารถนาอยู่ เกิดความอยากได้แล้ว กามเหล่านั้นย่อมเสื่อมไปไซร้ สัตว์นั้นย่อมย่อยยับเหมือนลูกศรแทง ฉะนั้น ฯ ผู้ใดงดเว้นกามทั้งหลายเหมือนอย่างบุคคลเว้นศีรษะงูด้วยเท้าของตน ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมก้าวล่วงตัณหาในโลกนี้ได้" ดังนี้ ฯ ในคาถาเหล่านั้น ความเป็นผู้มีใจเอิบอิ่มนี้ ได้แก่ ความยินดี ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ในกาลใด สัตว์นั้นย่อมย่อยยับเหมือนลูกศรแทง" นี้เป็นปฏิฆะ ฯ ก็ความยินดีและปฏิฆะ เป็นฝ่ายแห่งตัณหา ก็แล อายตนะทั้งหลายมี 10 รูป เป็นปทัฏฐาน (เป็นเหตุใกล้) แห่งตัณหา นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ อายตนะที่มีรูป 10 รูปเหล่านั้นนั่นแหละ เป็นรูปกาย ประกอบด้วยนามทั้ง 2 นั้น เรียกว่า นามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา พุทธวจนะนี้ทั้งปวงย่อมเป็นไปด้วยอาการอย่างนี้นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งปวง ฯ นามรูปนั้นนั่นแหละ เป็นธาตุ 18 นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ ในนามรูปนั้น รูปกายอันใด นี้เป็นอินทรีย์ที่เป็นรูป 5 นามกายอันใดนี้อินทรีย์ที่เป็นอรูป 5 อินทรีย์เหล่านี้ เป็น 10 อย่าง นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ ในคาถานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ในกาลใด ผู้ใด งดเว้นกามเหมือนอย่างบุคคลเว้นศีรษะงูด้วยเท้าของตน ผู้นั้น เป็นผู้มีสติ ย่อมก้าวล่วงตัณหาในโลกนี้ได้" ดังนี้คาถานี้ เป็นสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุนั้นนั่นแหละ เป็นวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา อวิชชาจึงดับ เพราะความดับแห่งอวิชชา สังขารจึงดับ คำทั้งปวง ย่อมเป็นไป ด้วยอาการอย่างนี้ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ วิชชานั้นนั่นแหละเป็นปัญญาขันธ์ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยขันธ์ทั้งหลาย ฯ วิชชานั้นนั่นแหละ เป็นอินทรีย์ 2 คือ วิริยินทรีย์และปัญญินทรีย์ นี้ชื่อว่าโอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ วิชชานั้นนั่นแหละ นับเนื่องในสังขาร สังขารเหล่าใด ไม่มีอาสวะและไม่มีองค์แห่งภพ สังขารเหล่านั้นสงเคราะห์ด้วยธัมมธาตุนี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ ธัมมธาตุนั้น นับเนื่องในธัมมายตนะ อายตนะใดไม่มีอาสวะและไม่มีองค์แห่งภพ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "กามํ กามยมานสฺส" เป็นต้น ฯ ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ อินทรีย์ ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ อาศัยการประชุมลงและการหยั่งลง พึงให้อินทรีย์ ขันธ์ ธาตุ และอายตนะอาศัยหยั่งลงอย่างนี้ ด้วยเหตุนั้นท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "โย จ ปฏิจฺจสมุปฺปาโท"เป็นต้น ฯ จบ โอตรณหารวิภังค์ 13. โสธนหารวิภังค์ [45] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระ คือ โสธนะ เป็นไฉน คาถาว่า "วิสชฺชิตมฺหิ ปเญฺห" เป็นต้น เป็นโสธนหาระ ฯ ท่านอชิตะ ย่อมทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคเจ้า ในปารายนวรรคโดยประการใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวิสัชนาแล้ว โดยประการนั้น ฯ นี้พึงทราบว่า โสธนหาระ ฯ เนื้อความแห่งคาถา อันท่านอชิตะทูลถามว่า"โลก คือ หมู่สัตว์อันอะไรหุ้มห่อไว้ โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะอะไร พระองค์ตรัสอะไร ว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อะไรเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น" ดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกร อชิตะ โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความสงสัย เรากล่าวตัณหาว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น" ดังนี้ ฯ ในปัญหาที่ทูลถามว่า"โลก คือหมู่สัตว์อันอะไรหุ้มห่อไว้"พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชำระบทด้วยพระดำรัสว่า"โลก อันอวิชชาหุ้มห่อไว้" แต่มิได้ทรงชำระบทริเริ่ม (เพราะยังไม่สิ้นสุดเนื้อความที่ต้องการเพื่อจะรู้) ฯ ในปัญหาว่า "โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะอะไร"พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชำระบทว่า"โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความสงสัย เพราะความประมาท" แต่มิได้ทรงชำระบทริเริ่ม ฯ ในปัญหาว่า"พระองค์ตรัสอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชำระบทว่า "เรากล่าวตัณหาว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้" แต่มิได้ทรงชำระบทริเริ่ม ฯ ในปัญหาว่า"อะไร เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มบทอันหมดจดแล้วด้วยพระดำรัสว่า"ทุกข์ เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น" ดังนี้ เพราะเนื้อความที่ท่านอชิตะต้องการเพื่อจะรู้นั้นเป็นบทที่ให้เข้าใจ ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"โลก อันอวิชชาหุ้มห่อไว้" เป็นต้น ฯ ท่านอชิตะทูลถามว่า"กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสบอกเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสทั้งหลายอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยอะไร" ดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกร อชิตะ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา" ดังนี้ ฯ ในปัญหาที่ทูลถามว่า"กระแสทั้งหลาย ย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย" ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงชำระบทว่า"สติ เป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น" แต่มิใช่ทรงชำระบทริเริ่ม ฯ ในปัญหาว่า "ขอพระองค์จงตรัสบอกเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยอะไร" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มบทอันหมดจดแล้ว ด้วยพระดำรัสว่า"กระแสเหล่านั้น อันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา" ดังนี้ ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"ยานิ โสตานิ โลกสฺมิํ" เป็นต้น ฯ ในปัญหาของท่านอชิตะว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ และนามรูป ธรรมทั้งหมดนี้ย่อมดับไป ณ ที่ไหน พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกปัญหาข้อนี้แก่ข้าพระองค์เถิด" ดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มบทอันบริสุทธิ์ว่า"ดูกร อชิตะ เราจะบอกปัญหาที่ท่านถามแล้ว นามและรูปย่อม ดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด สติและปัญญานี้ ย่อมดับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณ" ดังนี้ ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"ดูกร อชิตะ เราจะบอกปัญหาที่ท่านถามแล้ว" เป็นต้น ฯ ในปัญหาใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มบทอันบริสุทธิ์แล้วด้วยอาการอย่างนี้ปัญหานั้น ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวิสัชนาแล้ว ฯ แต่ในปัญหาใด พระองค์ทรงเริ่มบทอัน (ยัง) ไม่บริสุทธิ์ ปัญหานั้นย่อมไม่เป็นอันวิสัชนาก่อน ฯ ด้วยเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า"ในปัญหา อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวิสัชนาแล้ว" ดังนี้ ฯ จบ โสธนหารวิภังค์ 14. อธิฏฐานหารวิภังค์ [46] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระ คือ อธิฏฐานะเป็นไฉน คาถาว่า "เอกตฺตตาย ธมฺมา เยปิ จ เวมตฺตตาย นิทฺทิฏฺฐา" เป็นต้น เป็น อธิฏฐานหารวิภังค์ ธรรมเหล่าใด มีทุกขสัจจะเป็นต้น อันพระองค์ทรงแสดงแล้ว (โดยความเป็นอันเดียวกันและต่างกัน) ในธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่านั้น บัณฑิตพึงทรงไว้อย่างนั้น คือ ไม่พึงใคร่ครวญโดยประการอื่น ฯ คำว่า "ทุกฺขํ" ได้แก่ เอกัตตตา (ภาวะอย่างเดียวกัน) ฯ ในอรรถะทั้งหลายมีทุกข์เป็นต้นนั้น ทุกข์เป็นไฉน การเกิดเป็นทุกข์ (ชาติ ทุกฺขา) ความแก่เป็นทุกข์(ชรา ทุกฺขา) ความป่วยไข้เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ รูปเป็นทุกข์ เวทนาเป็นทุกข์สัญญาเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ วิญญาณเป็นทุกข์ ความแปลกกันแห่งทุกข์นั้น ๆ นี้ ชื่อว่า เวมัตตตา (ความต่างกัน) แห่งทุกข์ ฯ คำว่า "ทุกฺขสมุทโย" ได้แก่ เอกัตตตา คือ ความเสมอกันแห่งสมุทัย ฯ ในอรรถะแห่งทุกขสมุทัยนั้น ทุกขสมุทัยเป็นไฉน ตัณหานี้ใด อันเป็นเหตุเกิดในภพใหม่ ประกอบด้วยความยินดีและกำหนัด มีความเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ความต่างกันนี้ ชื่อว่า เวมัตตตา(แห่งสมุทัย) ฯ คำว่า "ทุกฺขนิโรโธ" ได้แก่ เอกัตตตา คือ ภาวะอย่างเดียวกันแห่งการดับ ฯในอรรถะนั้น ทุกขนิโรธเป็นไฉน ความสำรอก ความดับโดยไม่เหลือ ความสละความสละคืน ความพ้น ความไม่ติดอยู่ (ความไม่มีอาลัย) แห่งตัณหานั้นนั่นแหละภาวะนี้ ชื่อว่า เวมัตตตา ฯ คำว่า "ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา" ได้แก่ เอกัตตตา คือ ภาวะอย่างเดียวกัน แห่งปฏิปทาที่ถึงความดับทุกข์ ฯ ในอรรถะนั้น ทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทาเป็นไฉน อริยมรรคมีองค์ 8 นี้เท่านั้น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้ ชื่อว่า เวมัตตตา ฯ คำว่า "มคฺโค" ได้แก่ เอกัตตตา คือ ภาวะอย่างเดียวกันแห่งมรรค ชื่อเอกัตตตา ฯ ในอรรถะแห่งมรรคนั้น มรรคเป็นไฉน มรรค (หนทาง) อันยังสัตว์ให้ถึงนรก มรรคอันยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน มรรคอันยังสัตว์ให้ถึงเปตวิสัย มรรคอันยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดอสูร มรรคอันยังสัตว์ให้ถึงสวรรค์ มรรคอันยังสัตว์ให้ถึงความเป็นมนุษย์ มรรคอันยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน มรรคนี้ ชื่อว่าเวมัตตตา ฯ คำว่า "นิโรโธ" ได้แก่ เอกัตตตา คือ ความเสมอกันแห่งความดับ ชื่อว่าเอกัตตตา ฯ ในอรรถะแห่งนิโรธะนั้น นิโรธะเป็นไฉน ความดับ (นิโรธะ) โดยพิจารณา (เจริญธรรมตรงกันข้าม) ความดับโดยไม่พิจารณา (ธณิกนิโรธะ) ความดับความยินดี ความดับปฏิฆะ ความดับมานะ ความดับมักขะ (ความลบหลู่)ความดับปฬาสะ (ความขึ้งเคียด) ความดับอิสสา ความดับมัจฉริยะ ความดับกิเลสทั้งปวง ความดับต่างกันนี้ ชื่อว่า เวมัตตตา ฯ คำว่า "รูปํ" ได้แก่ เอกัตตตา คือ ความที่รูปเสมอกันโดยไม่เพ่งรูปที่ต่างกันชื่อว่า เอกัตตตา ฯ ในอรรถะแห่งรูปนั้น รูปเป็นไฉน รูปที่เป็นมหาภูตะมี 4 การเรียกรูปอาศัยมหาภูตะ 4 (มี 24) ความต่างกัน นี้ชื่อว่า เวมัตตตา แห่งรูป ฯ บรรดารูปเหล่านั้น มหาภูตะ 4 เป็นไฉน ปถวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ นี้เรียกว่า มหาภูตะ 4 ฯ [47] บัณฑิต ย่อมกำหนดธาตุทั้งหลาย โดยอาการ 2 อย่าง คือ โดยสังเขปและโดยพิสดาร ฯ บัณฑิต ย่อมกำหนดธาตุทั้งหลายโดยพิสดารอย่างไร ย่อมกำหนดปถวีธาตุโดยพิสดารด้วยอาการทั้งหลาย 20 อย่าง ย่อมกำหนดอาโปธาตุโดยพิสดารด้วยอาการทั้งหลาย 12 อย่าง ย่อมกำหนดเตโชธาตุโดยพิสดารด้วยอาการทั้งหลาย 4 อย่าง ย่อมกำหนดวาโยธาตุโดยพิสดารด้วยอาการทั้งหลาย 6 อย่าง ฯ ย่อมกำหนดปถวีธาตุโดยพิสดารด้วยอาการ 20 เป็นไฉน ย่อมกำหนดรู้ปถวีธาตุโดยอาการ 20 เหล่านี้ คือ ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็นกระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อยอาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมองในศีรษะ ดังนี้ ฯ ย่อมกำหนดอาโปธาตุโดยพิสดารด้วยอาการ 12 เป็นไฉน ย่อมกำหนดรู้อาโปธาตุด้วยอาการ 12 เหล่านี้ คือ ในกายนี้มี น้ำดี เสมหะ น้ำเหลือง โลหิตเหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ดังนี้ ฯ ย่อมกำหนดเตโชธาตุโดยพิสดารด้วยอาการ 4 เป็นไฉน ย่อมกำหนดรู้เตโชธาตุ ด้วยอาการ 4 เหล่านี้ คือ กายนี้ ย่อมเร่าร้อน ด้วยเตโชธาตุอันใดที่กำเริบแล้ว กายนี้ ย่อมคร่ำคร่าด้วยเตโชธาตุอันใด ที่ให้ถึงความบกพร่องแห่งอินทรีย์ กายนี้ ย่อมแผดเผา ด้วยเตโชธาตุอันใด ที่ทำให้คร่ำครวญว่า เราร้อน ฯ ของที่กินแล้ว ที่ดื่มแล้ว ที่เคี้ยวแล้ว ที่ลิ้มแล้ว ย่อมถึงการแปรเปลี่ยนไป(ย่อย) ด้วยเตโชธาตุอันใด เตโชธาตุทั้ง 4 นั้น มีอยู่ในกายนี้ ดังนี้ ฯ ย่อมกำหนดวาโยธาตุโดยพิสดารด้วยอาการ 6 เป็นไฉน ย่อมกำหนดรู้วาโยธาตุ ด้วยอาการ 6 เหล่านี้ว่า ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้องลมในสำไส้ใหญ่น้อย ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ (ทำให้เหยียดคู้เป็นต้น)ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ดังนี้ ฯ พระโยคาวจร พิจารณารูปพระโยคาวจร ผู้เข้าไปหมายรู้อยู่ ชั่งอยู่ ใคร่ครวญอยู่ หยั่งลงอยู่พิจารณาอยู่ ซึ่งธาตุทั้งหลายโดยสภาวะโดยพิสดาร ด้วยอาการ 42 เหล่านี้อย่างนี้ ย่อมไม่เห็นกาย หรือส่วนแห่งกายอะไร ๆ ที่ควรถือเอา เมื่อบุคคลใคร่ครวญอยู่ซึ่งบ่อน้ำครำ ไม่พึงเห็นอะไร ๆ ที่ควรถือเอา ฉันใด เมื่อบุคคลใคร่ครวญอยู่ซึ่งกองอยากเยื่อ ไม่พึงเห็นอะไร ๆ ที่พึงถือเอา ฉันใด เมื่อบุคคลใคร่ครวญอยู่ ซึ่งกระท่อมที่ถ่ายอุจจาระ ไม่พึงเห็นอะไร ๆ ที่พึงถือเอา ฉันใดเมื่อบุคคลใคร่ครวญอยู่ซึ่งป่าช้า (ศพ) ไม่พึงเห็นอะไร ๆ ที่ควรถือเอา ฉันใดพระโยคาวจร ผู้เข้าไปหมายรู้อยู่ ชั่งอยู่ ใคร่ครวญอยู่ หยั่งลงอยู่ พิจารณาอยู่ซึ่งธาตุทั้งหลายโดยสภาวะโดยพิสดาร ด้วยอาการ 42 เหล่านี้ ย่อมไม่เห็นกาย หรือ ส่วนแห่งกายอะไร ๆ ที่ควรถือเอา ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"ก็ปถวีธาตุทั้งภายใน ทั้งภายนอกเหล่านี้แล ปถวีธาตุนั้นสักว่าเป็นปถวีธาตุเท่านั้น พึงเห็นรูปทั้งปวงนั้นตามเป็นจริง ด้วยสัมมัปปัญญาอย่างนี้ว่า รูปนั้น ไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเราครั้นเห็นรูปทั้งปวงนั้น ตามความเป็นจริง ด้วยสัมมัปปัญญาอย่างนี้แล้วย่อมเบื่อหน่ายในปถวีธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในปถวีธาตุ ฯ ก็อาโปธาตุทั้งภายใน ทั้งภายนอก ฯลฯ ก็เตโชธาตุ ทั้งภายใน ทั้งภายนอก ฯลฯ ก็วาโยธาตุ ทั้งภายใน ทั้งภายนอก วาโยธาตุนั้น สักว่าเป็นวาโยธาตุเท่านั้นพึงเห็นรูปทั้งปวงนั้น ตามเป็นจริง ด้วยสัมมัปปัญญาอย่างนี้ว่า รูปนั้นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นรูปนั้น ตามความเป็นจริงด้วยสัมมัปปัญญา อย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายวาโยธาตุจิตย่อมคลายกำหนัดในวาโยธาตุ" ความต่างกันแห่งรูปนั้น ชื่อว่า เวมัตตตาแห่งรูป ฯ [48] คำว่า "อวิชฺชา" ชื่อว่า เอกัตตตา (ความมีภาวะอย่างเดียว) ฯ บรรดาอกุศลธรรมเหล่านั้น อวิชชาเป็นไฉน ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในขันธ์ อายตนะ ธาตุอันเป็นส่วนเบื้องต้น (อดีตอัทธา) ความไม่รู้ในขันธ์ อายตนะ ธาตุอันส่วนเบื้องปลาย (อนาคตอัทธา) ความไม่รู้ทั้งส่วนเบื้องต้น ทั้งส่วนเบื้องปลาย ความไม่รู้ในธรรมอันอาศัยกันเกิดขึ้น คือ เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น ความไม่รู้ ความไม่เห็นความไม่ตรัสรู้ ความไม่ตรัสรู้ตาม ความไม่รู้ตามเป็นจริง ความไม่แทงตลอดความไม่พิจารณา การไม่เข้าไปกำหนด การไม่เข้าไปกำหนดเฉพาะภาวะ การไม่เข้าไปเพ่งพินิจ การไม่กระทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลาความไม่รู้ชัด ความหลง ความลุ่มหลง ความหลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชาโยคะคืออวิชชา อนุสัยคืออวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ นี้ ชื่อว่า เวมัตตตา แห่งอวิชชา ฯ คำว่า "วิชฺชา" ชื่อว่า เอกัตตตา (ความมีภาวะอย่างเดียว) ฯ บรรดากุศลธรรมเหล่านั้น วิชชาเป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความรู้ในส่วนอดีต ความรู้ในส่วนอนาคต ความรู้ทั้งในส่วนอดีตทั้งในส่วนอนาคต ความรู้ในธรรมทั้งหลายอันเป็นอิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาท ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ธัมมวิจยะ การกำหนดโดยชอบ การเข้าไปกำหนด การเข้าไปกำหนดเฉพาะภาวะ ภาวะที่รู้ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญปัญญาดังแผ่นดิน (ภูริ) ปัญญากำจัดกิเลส (เมธา) ปัญญาเป็นเครื่องนำไป วิปัสสนาความรู้ชัด ปัญญาเป็นเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท แสงสว่างคือปัญญา ความรุ่งเรืองคือปัญญาปัญญาดังดวงแก้ว อโมหะ ธัมมวิจยะ สัมมาทิฏฐิ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์(การณะ) แห่งอริยมรรค (มคฺคงฺคํ) การหยั่งลงในอริยมรรค (มคฺคปริยาปนฺนํ)นี้ชื่อว่า เวมัตตตา แห่งวิชชา ฯ คำว่า "สมาปตฺติ" ชื่อว่า เอกัตตตา ฯ ในอรรถะแห่งสมาบัตินั้น สมาบัติเป็นไฉน สัญญาสมาบัติ (การเข้าฌาณประกอบด้วยสัญญา) อสัญญาสมาบัติ (คือสมาบัติที่เกิดขึ้นเพื่อสงบระงับสัญญา หรือสัญญาวิราคะ) เนวสัญญานาสัญญาสมาบัติ วิภูตสัญญาสมาบัติ (คือวิญญาณัญจายตนสมาบัติ) นิโรธสมาบัติสมาบัติที่ต่างกันนี้ ชื่อว่า เวมัตตตา ฯ คำว่า "ฌายี" คือ ฌาณลาภี ชื่อว่า เอกัตตตา ฯ ในอรรถะแห่งฌายีนั้น ฌายีเป็นไฉน พระเสกขะผู้มีปกติเพ่ง (ฌายี) มีอยู่ พระอเสกขะ ผู้มีปกติเพ่งมีอยู่ เนวเสกขนาเสกขบุคคล ผู้มีปกติเพ่งมีอยู่ อาชานิยบุคคล (พระอรหันต์) ผู้มีปกติเพ่งมีอยู่ บุคคลเปรียบด้วยม้ามีฝีเท้าเลว มีปกติเพ่งมีอยู่ บุคคลผู้ยิ่งด้วยทิฏฐิมีปกติเพ่ง บุคคลผู้่ยิ่งด้วยตัณหา มีปกติเพ่ง บุคคลผู้ยิ่งด้วยปัญญา มีปกติเพ่ง(ด้วยลักขณูปนิชฌาณ) มีอยู่ ฌายีที่ต่างกันนี้ ชื่อว่า เวมัตตตา ฯ คำว่า "สมาธิ" คือ เอกัคคตา ชื่อว่า เอกัตตตา ฯ ในอรรถะแห่งสมาธินั้น สมาธิเป็นไฉน สรณสมาธิ (คือ เอกัคคตาในอกุศลจิต) อรณสมาธิ (คือ สมาธิที่เป็นกุศลและอัพยากตะ) สเวรสมาธิ (คือ เอกัคคตาในปฏิฆจิต) อเวรสมาธิ (คือ เมตตาเจโตวิมุตติ) สัพยาปัชชสมาธิ (คือ เอกัคคาในปฏิฆจิต) อัพยาปัชชสมาธิ (คือเมตตาเจโตวิมุตติ) สัปปีติกสมาธิ นิปปีติกสมาธิ สามิสสมาธิ (คือ โลกียสมาธิ)นิรามิสสมาธิ (คือ โลกุตตรสมาธิ) สสังขารสมาธิ (สมาธิข่มกิเลสได้ยาก คือทุกขาปฏิปโท ทันธาภิญโญสมาธิ และสุขาปฏิปโท ทันธาภิญโญสมาธิ) อสังขารสมาธิ (คือ นอกจากสสังขารสมาธินั้น) เอกังสภาวิตสมาธิ (สมาธิของสุกขวิปัสสกะ)อุภยังสภาวิตสมาธิ (คือ สมาธิของสมถยานิก) อุภยโย ภาวิตภาวโนสมาธิ (คือสมาธิของกายสักขีผู้หลุดพ้นโดยส่วนทั้งสอง) สวิตักกสวิจารสมาธิ อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ อวิตักกอวิจารสมาธิ หานภาคิยสมาธิ (คือ สมาธิอันเป็นไปในส่วนที่เสื่อม) ฐิติภาคิยสมาธิ (คือ สมาธิอันเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่) วิเสสภาคิยสมาธิ (คือสมาธิอันเป็นส่วนวิเศษ) นิพเพธภาคิยสมาธิ (คือ สมาธิอันเป็นส่วนแห่งการแทงตลอด) โลกียสมาธิ โลกุตตรสมาธิ มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ นี้ ชื่อว่าเวมัตตตา แห่งสมาธิ ฯ คำว่า "ปฏิปทา" คือ ข้อปฏิบัติ ชื่อว่า เอกัตตตา ฯ ในอรรถะแห่งปฏิปทานั้น ปฏิปทาเป็นไฉน อาคาฬหปฏิปทา (คือ ปฏิปทาในการประกอบเนือง ๆ ในกามสุข) นิชฌามปฏิปทา (คือ ปฏิปทาในอัตตกิลมถานุโยค) มัชฌิมปฏิปทา อขมาปฏิปทา (ไม่อดทนในการทำความเพียร) ขมาปฏิปทา สมาปฏิปทา (คือ ให้มิจฉาวิตกสงบ)ปฏิปทาที่ฝึกมนินทรีย์ ทุกขาปฏิปทาที่รู้ได้ช้า ทุกขาปฏิปทาที่รู้ได้เร็ว สุขาปฏิปทาที่รู้ได้ช้า สุขาปฏิปทาที่รู้ได้เร็ว ปฏิปทานี้ ชื่อว่า เวมัตตตา ฯ คำว่า "กาโย" คือ กาย ชื่อว่า เอกัตตตา ฯ ในอรรถะแห่งกายนั้น กายเป็นไฉน นามกาย และ รูปกาย ในนามกายและรูปกายทั้ง 2 นั้น รูปกายเป็นไฉน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มังสัง นหารู อัฏฐี อัฏฐิมิญชัง วักกัง หทยังยกนัง กิโลมกัง ปิหกัง บัปผาสัง อันตัง อันตคุณัง อุทริยัง กรีสัง ปิตตัง เสมหังปุพโพ โลหิตัง เสโท เมโท อัสสุ วสา เขโฬ สิงฆานิกา ลสิกา มุตตัง มัตถลุงคังนี้ ชื่อว่า รูปกาย ฯ นามกาย คือ นาม เวทนา สัญญา เจตนา จิต ผัสสะ มนสิการกายทั้ง 2 นี้ ชื่อว่า เวมัตตตาแห่งกาย ฯ โดยนัยตามที่กล่าวแล้วนี้ ธรรมใด (มีชาติเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง) มีภาวะเสมอแก่ธรรมใด (คือ มีภาวะเสมอแก่ชราเป็นต้น) ธรรมนั้น ชื่อว่า เอกี(มีภาวะอย่างเดียวโดยเป็นทุกข์เป็นต้น) เพราะความที่ธรรมนั้นมีความเป็นไปได้อย่างเดียว (ภาวะนี้เรียกว่า เอกัตตตา) ฯ ก็หรือว่า ธรรมใด แปลกไปด้วยภาวะใด ๆ ธรรมนั้น ย่อมถึงความต่างกันด้วยภาวะนั้น ๆ (นี้ เรียกว่า เวมัตตตา) ฯ ด้วยอาการอย่างนี้ อันบุคคลผู้ถาม พึงพิจารณาในพระสูตร หรือในไวยากรณ์หรือในคาถาก่อน บุคคลย่อมถามอะไรโดยเอกัตตตา หรือ โดยเวมัตตตา ฯ ถ้าถามโดยเป็นเอกัตตตา ก็พึงตอบโดยเอกัตตตา ถ้าถามโดยเวมัตตตา ก็พึงตอบโดยเวมัตตตา ฯ ถ้าถามโดยสัตตาธิฏฐาน ก็พึงตอบโดยสัตตาธิฏฐานถ้าถามโดยธัมมาธิฏฐาน ก็พึงตอบโดยธัมมาธิฏฐาน หรือถามโดยประการใด ๆก็พึงตอบโดยประการนั้น ๆ เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายะจึงกล่าวว่า"ธรรมทั้งหลาย โดยที่ทรงแสดงแล้ว โดยความเป็นอย่างเดียวกัน"เป็นต้น ฯ จบ อธิฏฐานหารวิภังค์ 15. ปริกขารหารวิภังค์ [49] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระ คือ ปริกขารเป็นไฉน คาถาว่า "เย ธมฺมา ยํ ธมฺมํ ชนยนฺติ" เป็นต้น ชื่อว่า ปริกขารหาระ ฯ ธรรมใด ย่อมยังธรรมใดให้เกิดขึ้น ธรรมนั้น ชื่อว่า ปริกขาร (ปริกฺขาโร)แห่งธรรมนั้น ปริกขารมีลักษณะอย่างไร ปริกขารมีการให้เกิดเป็นลักษณะโดยสังเขป ธรรม 2 อย่าง คือ เหตุและปัจจัย ย่อมยังธรรมให้เกิดขึ้น ฯ บรรดาธรรม 2 นั้น เหตุมีลักษณะอย่างไร ปัจจัยมีลักษณะอย่างไรเหตุมีลักษณะไม่ทั่วไป (อสาธารณะ) คือ เหตุมีลักษณะให้ผลไม่ทั่วไป นอกจากผลที่ตนให้เกิดขึ้น ส่วนปัจจัยมีลักษณะเป็นปัจจัยทั่วไป (สาธารณะ) แก่ผลทั้งปวงทั้ง 2 นั้น พึงมีอย่างไร เหมือนเมล็ดพืช เป็นของไม่ทั่วไปแก่หน่อที่เกิดขึ้น ดิน(ปฐวี) น้ำ (อาโป) เป็นของทั่วไปแก่หน่อ เพราะดินและน้ำเป็นปัจจัย อีกนัยหนึ่งน้ำนมสดที่ใส่เก็บไว้ในหม้อ ย่อมเป็นนมส้ม (เปรี้ยว) ก็การกำหนดที่ยั่งยืน ย่อมไม่มีแก่นมสดและนมส้ม ฉันใด การกำหนดที่ยั่งยืน ก็ย่อมไม่มีแก่เหตุและปัจจัยฉันนั้น ฯ จริงอยู่ สังสารนี้ มีเหตุมีปัจจัยก็เกิดขึ้น เพราะพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่าเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายจึงเกิด เพราะสังสารเป็นปัจจัยวิญญาณจึงเกิด ปฏิจจสมุปบาททั้งปวง ย่อมเป็นสังขารเกิดขึ้น โดยเหตุปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้นอย่างนี้ อย่างไร คือ อวิชชาเป็นเหตุแห่งอวิชชา มนสิการโดยไม่แยบคายเป็นปัจจัยแก่อวิชชา อวิชชาที่เกิดก่อนเป็นเหตุของอวิชชาที่เกิดภายหลัง ในปฏิจจสมุปบาทนั้น อวิชชาที่เกิดก่อนเป็นอวิชชานุสัย อวิชชาที่เกิดภายหลังเป็นอวิชชาปริยุฏฐาน อวิชชาที่เกิดก่อนเป็นเหตุพอกพูนอวิชชาปริยุฏฐานเพราะสมนันตรเหตุดุจหน่อแห่งพืช ก็ผลใด เกิดในที่ใด ผลนี้ก็เป็นเหตุโดยปรัมปรเหตุ จริงอยู่ เหตุมี 2 อย่าง คือ สมนันตรเหตุและปรัมปรเหตุ แม้อวิชชาก็เป็นเหตุทั้ง 2 อย่างนี้ ฯ ก็หรือว่า ภาชนะกระเบื้อง ไส้น้ำมันเป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องอุปการะแก่ประทีป มิใช่สภาวเหตุ เพราะภาชนะกระเบื้องเป็นต้น ไม่อาจให้ไฟที่ยังไม่มี เพื่อให้ลุกโพลงได้ จึงเป็นเพียงปัจจัยแก่ประทีป สภาวเหตุจึงเป็นดุจประทีป ฯ ด้วยประการฉะนี้ เหตุจึงเป็นดุจประทีปที่มีอยู่ ปัจจัยจึงเป็นดุจภาชนะกระเบื้องเป็นต้นที่ไม่มีไฟ ฉะนั้น ฯ อนึ่ง ภาวะที่มีอยู่ภายในเป็นเหตุ ภาวะภายนอกเป็นปัจจัยภาวะที่ให้เกิดเป็นเหตุ ภาวะที่อุปการะเป็นปัจจัย เหตุไม่ทั่วไปแก่ผลอื่น แต่ปัจจัยทั่วไปแก่ผลทั้งปวง ฯ ผลใด ของเหตุกล่าวคือ เหตุปัจจัยซึ่งยังไม่ขาดสาย ผลนั้น เป็นผลแห่งการสืบต่อ ผลใด ที่เกิดจากเหตุ ผลนั้น คือการเกิด ผลใดมีปฏิสนธิ ผลนั้นมีการเกิดใหม่ในภพใหม่ อันใดเป็นอรรถะแห่งปลิโพธ อันนั้นเป็นอรรถะแห่งปริยุฏฐานอันใดไม่มีการถอนขึ้น อันนั้นเป็นอนุสัย อันใดไม่มีการแทงตลอด อันนั้นเป็นอรรถะแห่งอวิชชา อรรถะใดไม่มีการกำหนดรู้ อรรถะนั้นเป็นพืชเชื้อแห่งวิญญาณ ฯ ในที่ใด ไม่มีการเข้าไปตัด ในที่นั้นย่อมมีสันตติ ในที่ใดมีสันตติที่นั้นย่อมมีการเกิด ในที่ใดมีการเกิดที่นั้นมีผล ที่ใดมีผลที่นั้นมีปฏิสนธิ ที่ใดมีปฏิสนธิที่นั้นมีภพใหม่ ที่ใดมีภพใหม่ที่นั้นมีปลิโพธ ที่ใดมีปลิโพธที่นั้นมีปริยุฏฐาน ที่ใดมีปริยุฏฐานที่นั้นไม่มีการถอนขึ้น ที่ใดไม่มีการถอนขึ้นที่นั้นมีอนุสัย ที่ใดมีอนุสัยที่นั้นไม่มีการแทงตลอด ที่ใดไม่มีการแทงตลอดที่นั้นมีอวิชชา ที่ใดมีอวิชชาที่นั้นมีวิญญาณเป็นไปกับอาสวะที่ไม่กำหนดรู้ ที่ใดวิญญาณอันเป็นไปกับอาสวะยังไม่หมายรู้แล้ว ที่นั้นย่อมมีพืชแห่งวิญญาณ (นี้เป็นการแสดง ปรัมปรปัจจัย คือปัจจัยที่เกิดสืบต่อกัน) ฯ ศีลขันธ์ เป็นปัจจัยแก่สมาธิขันธ์ สมาธิขันธ์เป็นปัจจัยแก่ปัญญาขันธ์ ปัญญาขันธ์เป็นปัจจัยแก่วิมุตติขันธ์ วิมุตติขันธ์เป็นปัจจัยแก่วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ฯ ความเป็นผู้รู้จักท่าเป็นที่หยั่งลง เป็นปัจจัยแก่ความเป็นผู้รู้จักปราโมชอันตนดื่มแล้ว ความเป็นผู้รู้จักปราโมชอันตนดื่มแล้ว เป็นปัจจัยแก่ความเป็นผู้รู้จักธรรมอันตนบรรลุแล้ว ความเป็นผู้รู้จักธรรมอันตนบรรลุแล้ว เป็นปัจจัยแก่ความเป็นผู้รู้จักตน ฯ อีกนัยหนึ่ง จักขุวิญญาณย่อมเกิดเพราะอาศัยจักษุและรูป ฯ ใน 2 อย่างนั้น จักขุ ชื่อว่า ปัจจัย เพราะความเป็นใหญ่ (อินทรีย์) รูปทั้งหลาย ชื่อว่า ปัจจัยเพราะความเป็นอารมณ์ อาโลกะ ชื่อว่า ปัจจัย เพราะความเป็นอุปนิสสยะ (ทั้ง 3นี้ ไม่เป็นสภาวเหตุเพราะไม่มีการสืบต่อ) มนสิการ คือ กิริยามโนธาตุ เป็นสภาวเหตุ สังขารทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ เป็นสภาวเหตุ วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป เป็นสภาวเหตุ นามรูปเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ เป็นสภาวเหตุเวทนาเป็นปัจจัยแก่ตัณหา เป็นสภาวเหตุ ตัณหาเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน เป็นสภาวเหตุ อุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพ เป็นสภาวเหตุ ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ เป็นสภาวเหตุ ชาติเป็นปัจจัยแก่ชรามรณะ เป็นสภาวเหตุ ชรามรณะเป็นปัจจัยแก่โสกะ เป็นสภาวเหตุ โสกะเป็นปัจจัยแก่ปริเทวะ เป็นสภาวเหตุ ปริเทวะเป็นปัจจัยแก่ทุกข์ เป็นสภาวเหตุ ทุกข์เป็นปัจจัยแก่โทมนัส เป็นสภาวเหตุ โทมนัสเป็นปัจจัยแก่อุปายาส เป็นสภาวเหตุ ฯ เหตุปัจจัย อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสภาพมีกำลัง (คือ อุปนิสสยะ) ให้เกิดขึ้นและอุปถัมภ์ตามที่ได้กล่าวมานี้ เหตุปัจจัยทั้งปวงนั้น ชื่อว่า ปริกขาระ ฯ ด้วยเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะจึงกล่าวว่า "เย ธมฺมา ยํ ธมฺมํ ชนยนฺติ" เป็นต้นฉะนี้แล ฯ จบ ปริกขารหารวิภังค์ 16. สมาโรปนหารวิภังค์ [50] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระ คือ สมาโรปนะ เป็นไฉน คาถาว่า "เย ธมฺมา ยํมูลา เย เจกตฺถา ปกาสิกตา มุนินา" เป็นต้น ชื่อว่าสมาโรปนหาระ ฯ ปทัฏฐานทั้งหลาย (ธรรมที่เป็นเหตุ) มีประมาณเท่าไร ย่อมหยั่งลง (ประชุม)ในปทัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ปทัฏฐานเหล่าใด ที่ไม่ได้กล่าวไว้ในพระสูตรพึงแสวงหาปทัฏฐานเหล่านั้นแล้วยกขึ้นด้วยหาระ คือ สมาโรปนะนี้ เหมือนปทัฏฐานจำนวนมาก ย่อมหยั่งลงในหาระคืออาวัฏฏะ ฉะนั้น ฯ ในหาระ คือสมาโรปนะที่พึงยกขึ้นเหล่านั้น สมาโรปนะ (คือการยกขึ้น) มี 4 อย่าง คือปทัฏฐาน 1 เววจนะ 1 ภาวนา 1 ปหานะ 1 ฯ ในสมาโรปนะ 4 เหล่านั้น สมาโรปนะ ด้วยปทัฏฐาน เป็นไฉน "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํพุทฺธานสาสนํ" การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม การยังจิตให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ ด้วยพระพุทธพจน์ตามที่กล่าวนี้ อะไรเป็นปทัฏฐานแห่งคำสอนนั้น สุจริต 3 คือ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต สุจริต 3 นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งคำสอนในปทัฏฐาน คือ หมวด 3 แห่งสุจริตนั้น สุจริตอันเป็นไปทางกาย และทางวาจาอันใด นี้เป็นศีลขันธ์ ในมโนสุจริต คือ อนภิชฌา (ความไม่เพ่งเล็ง) และอัพยาบาท อันใด นี้เป็นสมาธิขันธ์ และสัมมาทิฏฐิ อันใด นี้เป็นปัญญาขันธ์หมวด 3 แห่งขันธ์นี้เป็นปทัฏฐาน ในหมวด 3 แห่งขันธ์นั้น ศีลขันธ์และสมาธิขันธ์ เป็นสมถะ ปัญญาขันธ์ เป็นวิปัสสนา หมวด 2 แห่งสมถะและวิปัสสนานี้เป็นปทัฏฐาน ในหมวด 2 ชื่อว่า เจโตวิมุตติ เพราะสำรอกราคะ เป็นผลของสมถะ ชื่อว่า ปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชา เป็นผลของวิปัสสนาหมวด 2 นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งคำสอน ฯ วนะ (ป่า) เป็นปทัฏฐานแห่งสิ่งที่เกิดในป่า (วนถะ) ฯ ก็อะไร ชื่อว่า ป่า อะไร ชื่อว่า สิ่งที่เกิดในป่า ฯ กามคุณ 5 ชื่อว่า ป่าตัณหา ชื่อว่า สิ่งที่เกิดในป่า นี้ชื่อว่า ปทัฏฐาน ฯ การถือซึ่งนิมิตว่า "หญิง" หรือว่า "ชาย" ชื่อว่า ป่า ฯ การถืออนุพยัญชนะ แห่งอวัยวะน้อยใหญ่เหล่านั้น ว่า"ตาสวย หูสวย จมูกสวย ลิ้นสวย กายสวย" ดังนี้ ชื่อว่า สิ่งที่เกิดในป่า (วนถะ)นี้ ชื่อว่า ปทัฏฐาน ฯ อายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก 6 อันยังมิได้รู้โดยรอบแล้ว ชื่อว่าป่า สังโยชน์อาศัยอายตนะทั้ง 2 นั้นเกิดขึ้นอันใด นี้ชื่อว่า สิ่งที่เกิดในป่า นี้ชื่อว่าปทัฏฐาน ฯ อนุสัย ชื่อว่า ป่า ปริยุฏฐาน ชื่อว่า สิ่งที่เกิดในป่า นี้ชื่อว่า ปทัฏฐานฯ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "จงตัดป่าและสิ่งที่เกิดในป่า"การยกขึ้นแสดงนี้ ชื่อว่า สมาโรปนะ โดยปทัฏฐาน ฯ [51] ในสมาโรปนหาระนั้น สมาโรปนะ โดยเววจนะเป็นไฉน ชื่อว่า เจโตวิมุตติ เพราะสำรอกราคะ เป็นเสกขผล ชื่อว่า ปัญญาวิมุตติเพราะสำรอกอวิชชา เป็นอเสกขผล นี้ชื่อว่า เววจนะ ฯ ชื่อว่า เจโตวิมุตติเพราะสำรอกราคะ เป็นอนาคามิผล ชื่อว่า ปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชาเป็นอรหัตตผลอันเลิศ นี้ชื่อว่า เววจนะ ฯ ชื่อว่า เจโตวิมุตติ เพราะสำรอกราคะเป็นการก้าวล่วงกามธาตุ ชื่อว่า ปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชา เป็นการก้าวล่วงธาตุ 3 นี้ชื่อว่า เววจนะ ฯ ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ อธิปัญญาสิกขา ปัญญาขันธ์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ญาณ สัมมาทิฏฐิ การพิจารณา การใคร่ครวญ ภูริวิปัสสนา ญาณในธรรมทั้งปวง นี้ชื่อว่า เววจนะการยกขึ้นนี้ ชื่อว่า สมาโรปนะ โดยเววจนะ ฯ ในสมาโรปนะ 4 นั้น สมาโรปนะ โดยภาวนาเป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสภาวนาใด โดยประการใดว่า"ดูกรภิกษุ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอเป็นผู้มีปกติตามเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออก" ดังนี้ ฯ คำว่า "อาตาปี" ได้แก่ วิริยินทรีย์ ฯ คำว่า "สมฺปชาโน"ได้แก่ ปัญญินทรีย์ ฯ คำว่า "สติมา" ได้แก่ สตินทรีย์ ฯ ข้อว่า "พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออก" ได้แก่ สมาธินทรีย์ ฯ สติปัฏฐาน 4 ของภิกษุ ผู้ตามเห็นกายในกายอยู่อย่างนี้ ย่อมถึงความบริบูรณ์ด้วยภาวนา ฯ เพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์ 4 มีลักษณะอย่างเดียวกัน ฯ เมื่อสติปัฏฐาน 4 อันภิกษุเจริญอยู่ สัมมัปปธาน 4 ย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา ฯ เมื่อสัมมัปธาน 4 อันภิกษุเจริญอยู่ อิทธิบาท 4 ย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา ฯ เมื่ออิทธิบาท 4 อันภิกษุเจริญอยู่ อินทรีย์ 5ย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา ฯ ธรรมทั้งปวง ย่อมถึงความบริบูรณ์ด้วยภาวนาโดยประการนั้น ๆ อย่างนี้ ฯ เพราะเหตุไร เพราะธรรมทั้งปวงเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นฝ่ายตรัสรู้ มีลักษณะอย่างเดียวกัน โดยมีการนำออกเป็นลักษณะ ธรรมทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมถึงความบริบูรณ์เพราะความมีลักษณะอย่างเดียวกัน ภาวนานี้ ชื่อว่า สมาโรปนะ โดยภาวนา ฯ ในสมาโรปนะ 4 นั้น สมาโรปนะ โดยปหานะเป็นไฉน ภิกษุผู้มีปกติตามเห็นกายในกายอยู่ ย่อมละวิปลาส "ในความไม่งามว่างาม" ดังนี้ คำข้าวเป็นอาหารของกายนั้นย่อมถึงการรู้รอบ เป็นผู้ไม่ยึดมั่นด้วยกามุปาทาน เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยกามโยคะ ย่อมไม่ประกอบด้วยอภิชฌากายคันถะ เป็นผู้ไม่มีอาสวะด้วยกามาสวะ เป็นผู้ข้ามขึ้นแล้วซึ่งกาโมฆะ เป็นผู้ไม่มีลูกศรด้วยลูกศรคือราคะ วิญญาณฐิติที่เข้าถึงรูปของกายนั้น ย่อมถึงการรู้รอบ ราคะในรูปธาตุของกายนั้นย่อมเป็นอันภิกษุนั้นละได้แล้ว และย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ฯ ภิกษุผู้มีปกติตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ย่อมละวิปลาส"ในทุกข์ว่าเป็นสุข" ดังนี้ และผัสสะเป็นอาหารของเวทนานั้น ย่อมถึงการรู้รอบย่อมเป็นผู้ไม่มีความยึดมั่นด้วยอุปาทานคือภพ ย่อมไม่ประกอบด้วยภวโยคะย่อมไม่ประกอบด้วยพยาปาทกายคันถะ ย่อมเป็นผู้ไม่มีอาสวะด้วยอาสวะคือภวาสวะ ย่อมเป็นผู้ข้ามขึ้นแล้วซึ่งภโวฆะ ย่อมเป็นผู้ไม่มีลูกศรด้วยลูกศรคือโทสะวิญญาณฐิติที่เข้าถึงเวทนาของเวทนานั้นย่อมถึงการรู้รอบ ราคะในเวทนาธาตุของเวทนานั้นย่อมเป็นอันภิกษุนั้นละได้แล้ว และย่อมไม่ถึงโทสาคติ ฯ ภิกษุผู้มีปกติเห็นจิตในจิตอยู่ ย่อมละวิปลาส "ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง"ดังนี้ และวิญญาณเป็นอาหารของจิตนั้น ย่อมถึงการรู้รอบ ย่อมไม่เป็นผู้ยึดมั่นด้วยทิฏฐุปาทาน ย่อมไม่ประกอบด้วยทิฏฐิโยคะ ย่อมไม่ประกอบด้วยสีลัพพตปรามาสกายคันถะ ย่อมเป็นผู้ไม่มีอาสวะด้วยทิฏฐาสวะ ย่อมเป็นผู้ข้ามขึ้นแล้วซึ่งทิฏโฐฆะ ย่อมเป็นผู้ไม่มีลูกศรด้วยลูกศรคือมานะ วิญญาณฐิติที่เข้าถึงสัญญาของจิตนั้น ย่อมถึงการรู้รอบ ราคะในสัญญาธาตุย่อมเป็นอันภิกษุนั้นละได้แล้วและย่อมไม่ถึงภยาคติ ฯ ภิกษุผู้มีปกติตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมละวิปลาส "ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา" ดังนี้ และมโนสัญเจตนาเป็นอาหารของสิ่งที่เป็นอนัตตานั้น ย่อมถึงการรู้รอบ ย่อมเป็นผู้ไม่ยึดมั่นด้วยอัตตวาทุปาทาน ย่อมเป็นผู้ไม่ประกอบแล้วด้วยอวิชชาโยคะ ย่อมไม่ประกอบด้วยอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ย่อมเป็นผู้ไม่มีอาสวะด้วยอวิชชาสวะ ย่อมเป็นผู้ข้ามขึ้นแล้วซึ่งอวิชโชฆะ ย่อมเป็นผู้ไม่มีลูกศรด้วยลูกศรคือโมหะ วิญญาณฐิติที่เข้าถึงสังขารของสิ่งที่เป็นอนัตตานั้น ย่อมถึงการรู้รอบ ราคะในสังขารธาตุของอนัตตานั้นย่อมเป็นอันภิกษุนั้นละได้แล้ว และย่อมไม่ถึงโมหาคติ การยกเทศนาขึ้นนี้ ชื่อว่าสมาโรปนะ ด้วยปหานะ แล ฯ ด้วยเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า"ธรรมเหล่าใด เป็นมูลแก่ธรรมเหล่าใด และธรรมเหล่าใด มีอรรถะอย่างเดียวกัน อันพระมหามุนีทรงประกาศแล้ว ธรรมเหล่านั้น อันบัณฑิตพึงยกขึ้นแสดง หาระที่มีลักษณะนี้ ชื่อว่า สมาโรปนะ" ดังนี้ ฯ จบ สมาโรปนหารวิภังค์ และจบหารวิภังค์ 16 เพียงเท่านี้ ฯ หารสัมปาตวาระ 16 1. เทสนาหารสัมปาตะ [52] ท่านพระมหากัจจยนะกล่าวคาถาว่า"หาระ 16 ควรกระทำก่อน แล้วใคร่ครวญธรรมที่เป็นทิศด้วย ทิสโล-จนนัย และย่อไว้ด้วยอังกุสนัย พึงแสดงสุตตะด้วยนัยทั้ง 3 อย่างนี้" ดังนี้ถามว่า นิทเทสแห่งคาถานั้น พึงเห็น ณ ที่ไหนตอบว่า พึงเห็นในการประชุมแห่งหาระ ฯ ในหารสัมปาตะ 16 นั้น เทสนาหารสัมปาตะ เป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ภิกษุมีจิตไม่รักษาแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ และถูกถีนมิทธะครอบงำแล้วย่อมไปสู่อำนาจแห่งมาร" ดังนี้ ฯ ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอะไร ด้วยคำว่า "มีจิตไม่รักษา แล้ว" นี้ ตอบว่า ความประมาท ความประมาทนั้นเป็นทางแห่งความตาย ฯคำว่า "มิจฺฉาทิฏฺฐิหเตน จ" (เป็นมิจฉาทิฏฐิ) อธิบายว่า เมื่อใด บุคคลเห็นขันธปัญจกะ ที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง เมื่อนั้น บุคคลนั้นก็วิปลาส พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมตรัสถึงบุคคลวิปลาสนั้นว่า ชื่อว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ฯ ก็วิปลาสนั้นมีลักษณะอย่างไร วิปลาสมีความถือเอาสิ่งตรงกันข้ามเป็นลักษณะ ฯ บุคคลผู้ถือเอาสิ่งตรงกันข้ามนั้น ย่อมให้คลาดเคลื่อนอย่างไร ย่อมให้คลาดเคลื่อนในธรรม 3 อย่าง คือ ยังสัญญาให้คลาดเคลื่อน ยังจิตให้คลาดเคลื่อน และยังทิฏฐิให้คลาดเคลื่อน ฯ บุคคลนั้น ย่อมให้คลาดเคลื่อนในที่ไหน ย่อมให้คลาดเคลื่อนในวัตถุแห่งอัตภาพ 4 (คือ ในรูปกาย เวทนา จิต ธรรม) บุคคลนั้น ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตนบ้าง ย่อมตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง ย่อมตามเห็นรูปในตนบ้าง ย่อมตามเห็นตนในรูปบ้าง ฯ ย่อมตามเห็นเวทนา ฯลฯ ย่อมตามเห็นสัญญา ฯลฯ ย่อมตามเห็นสังขารทั้งหลาย ฯลฯ ย่อมตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตนบ้าง ย่อมตามเห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง ย่อมตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง ย่อมตามเห็นตนในวิญญาณบ้าง อย่างนี้ ฯ วัตถุแห่งอัตภาพ 4ในวัตถุแห่งอัตภาพ 4 มีรูปเป็นต้นนั้น รูป เป็นวัตถุวิปัลลาสที่ 1 ย่อมเป็นไปโดยนัยว่า "อสุเภ สุภํ" ดังนี้ ฯ เวทนา เป็นวัตถุวิปัลลาสที่ 2 ย่อมเป็นไปโดยนัยว่า "ทุกฺเข สุขํ" ดังนี้ ฯ สัญญาและสังขารทั้งหลาย เป็นวัตถุแห่งวิปัลลาสที่ 3 ย่อมเป็นไปโดยนัยว่า "อนตฺตนิ อตฺตา" ดังนี้ ฯ วิญญาณ เป็นวัตถุแห่งวิปัลลาสที่ 4 ย่อมเป็นไปโดยนัยว่า "อนิจฺเจ นิจฺจํ" ดังนี้ ฯ ธรรมทั้ง 2 เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต คือ ตัณหาและอวิชชา จิตอันตัณหาหุ้มห่อแล้ว ย่อมให้วิปัลลาสด้วยวิปัลลาส 2 คือ ในสิ่งที่ไม่งามว่างามในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ฯ จิตอันทิฏฺฐิ (ทิฏฺฐิสหิตอวิชฺชา) หุ้มห่อแล้ว ย่อมให้วิปัลลาสด้วยวิปัลลาส 2 คือ ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าตนในตัณหาและอวิชชาประกอบด้วยทิฏฐินั้น บุคคลใด มีอวิชชา ประกอบด้วยทิฏฐิวิปัลลาส บุคคลนั้น ย่อมตามเห็นรูปที่เป็นอดีตโดยความเป็นตน ย่อมตามเห็นเวทนาอันเป็นอดีต ฯลฯ ย่อมตามเห็นสัญญาอันเป็นอดีต ฯลฯ สังขารทั้งหลายอันเป็นอดีต ฯลฯ ย่อมตามเห็นวิญญาณอันเป็นอดีตโดยความเป็นตนฯ ในธรรมทั้ง 2 นั้น บุคคลใดมีตัณหาวิปัลลาส บุคคลนั้นย่อมยินดียิ่งซึ่งรูปอันยังไม่มาถึง (อนาคต) ฯลฯ เวทนาอันยังไม่มาถึง ฯลฯ สัญญาอันยังไม่มาถึง ฯลฯ สังขารทั้งหลายอันยังไม่มาถึง ย่อมยินดียิ่งซึ่งวิญญาณอันยังไม่มาถึง ฯ ธรรมทั้ง 2 คือ ตัณหาและอวิชชา เป็นอุปกิเลสของจิต เพราะเป็นมูลเหตุแห่งวิปัลลาสที่มีโทษอย่างยิ่ง ฯ จิตเมื่อหมดจด (บริสุทธิ์) ย่อมหมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้ง 2 นั้น ฯ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น แก่ผู้มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพัน คือว่า ย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ผู้แล่นไปอยู่ ผู้ท่องเที่ยว ไปอยู่สู่นรกคราวเดียว สู่กำเนิดสัตว์เดรัจฉานคราวเดียว สู่เปตวิสัยคราวเดียว สู่อสุรกายคราวเดียว สู่เทพทั้งหลายคราวเดียว และสู่มนุษย์ทั้งหลายคราวเดียวฯ คำว่า "ถูกถีนมิทธะครอบงำ" ได้แก่ ความป่วยไข้ คือ ความไม่ควรแก่การงานของจิต ชื่อว่า ถีนะ ความหดหู่ของกาย (นามขันธ์ 3 ที่เหลือ) ชื่อว่ามิทธะ ฯ คำว่า "ไปสู่อำนาจของมาร" ได้แก่ ไปสู่อำนาจของกิเลสมารและสัตตมาร (คือเทวปุตตมาร) จริงอยู่ บุคคลนั้นผู้อันมารกำบังแล้ว ย่อมเป็นผู้มุ่งหน้าไปสู่สังสาร ฯ ประชุมเทสนาลงในสัจจะ 4สัจจะเหล่านี้ 2 สัจจะแรก พระองค์ทรงแสดง ทุกข์และสมุทัย พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความรอบรู้และเพื่อการละ คือ เพื่อการกำหนดรู้ทุกข์ เพื่อการละสมุทัยแห่งสัจจะทั้ง 2 นั้น ฯ สัจจะใด ย่อมรู้ทั่วด้วยอริยมรรคใด และย่อมละด้วยอริยมรรคใด นี้ชื่อว่า มรรค ฯ การละตัณหาและอวิชชา นี้ ชื่อว่า นิโรธ ฯ เทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าประชุมลงในสัจจะ 4นี้ ฉะนีิ้ ฯ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า "อรกฺขิเตน จิตฺเตน" เป็นต้น เพราะเหตุนั้นท่านพระมหากัจจายนะจึงประชุมเทสนาหาระนี้ว่า"อัสสาทะ (ความยินดี) อาทีนวะ (โทษ) นิสสรณะ (การสลัดออก)ผล (อานิสงส์) อุบาย (ข้อแนะนำ) อาณัตติ (บัญญัติเทสนา) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า เทสนาหาระ" ดังนี้ จบ เทสนาหารสัมปาตะ 2. วิจยหารสัมปาตะ [53] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น วิจยหารสัมปาตะ เป็นไฉน ในวิจยหารสัมปาตะนั้น ความปรารถนามี 2 อย่าง คือ มีกุศล (เป็นปัจจัย)บ้าง มีอกุศล (เป็นปัจจัย) บ้าง ฯ ความปรารถนาที่มีอกุศล (เป็นปัจจัย) ย่อมยังสัตว์ให้ถึงสังสาร แต่ความปรารถนาที่มีกุศล (เป็นปัจจัย) ย่อมให้ถึงพระนิพพาน คือความปรารถนาที่เป็นเหตุละ ฯ แม้มานะก็มี 2 อย่าง คือ มีกุศล (เป็นปัจจัย) บ้าง มีอกุศล (เป็นปัจจัย)บ้าง ฯ บุคคลอาศัยมานะใด ย่อมละมานะ มานะนี้ชื่อว่า กุศล (คือ อาศัยกุศล)แต่มานะใด ย่อมให้ทุกข์เกิดขึ้น มานะนี้เป็นอกุศล ฯ ในความปรารถนาที่ยังสัตว์ให้ถึงสังสารและนิพพานนั้น ความปรารถนาที่มีกุศล (เป็นปัจจัย) ได้แก่ความปรารถนา ย่อมเกิดแก่กุลบุตรผู้ปรารถนาอริยผลว่า "พระอริยะทั้งหลายย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งอายตนะอันสงบแล้ว (อริยผล) อันใด เราก็จักกระทำให้แจ้งอายตนะ (อริยผล) อันนั้น" ดังนี้ โทมนัสนี้ เรียกว่า เนกขัมมสิตะ เพราะความปรารถนาเป็นปัจจัย โทมนัสจึงเกิดขึ้น ฯ ความปรารถนามีกุศล (เป็นปัจจัย) นี้ชื่อว่า เจโตวิมุตติเพราะสำรอกราคะ ความปรารถนามีกุศล (เป็นปัจจัย) นั้นชื่อว่า ปัญญาวิมุตติเพราะสำรอกอวิชชา (ความปรารถนามีกุศลเป็นปัจจัยย่อมไม่มีโทษ เพราะมุ่งอริยผลอันไม่มีโทษ) ฯ ถามว่า อะไร เป็นเครื่องตรวจสอบปัญญาวิมุตตินั้น ฯ ตอบว่า องค์แห่งมรรคมีองค์ 8 คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีิวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ย่อมตรวจสอบปัญญาวิมุตติ เพราะอริยมรรคนั้นเป็นมูล ฯ ถามว่า การตรวจสอบปัญญาวิมุตตินั้น พึงเห็นในที่ไหนตอบว่า พึงเห็นในฌานที่ 4 เพราะเป็นฌานสูงสุด จริงอยู่ บุคคลใดได้ฌานที่ 4 ย่อมยังจิตประกอบด้วยองค์ 8 เหล่านี้ คือ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน จิตควรแก่การงาน จิตตั้งมั่น จิตไม่หวั่นไหว ให้เจริญอยู่ ฌานลาภีบุคคลนั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษ 8 อย่างในฌานที่ 4 นั้น คือ ย่อมบรรลุอภิญญา 6 และคุณธรรมพิเศษอีก 2 คือ มโนมยิทธิและวิปัสสนาญาน ฯ ก็จิตในฌาณที่ 4 นั้น ย่อมมีเมื่อไร ความผ่องแผ้วก็ย่อมมีเมื่อนั้นความผ่องแผ้วย่อมมีเมื่อไร กิเลสเพียงดังเนินก็ย่อมไม่มีเมื่อนั้น กิเลสเพียงดังเนินย่อมไม่มีเมื่อไร จิตควรแก่การงานก็ย่อมมีเมื่อนั้น จิตควรแก่การงานย่อมมีเมื่อไร จิตตั้งมั่นก็ย่อมมีเมื่อนั้น จิตตั้งมั่นย่อมมีเมื่อไร จิตไม่หวั่นไหวก็ย่อมมีเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น การตรวจสอบปัญญาวิมุตตินั้น จึงทราบได้ในฌานที่ 4 ฯ ในฝ่ายทั้ง 2 คือตัณหาและอวิชชานั้น คำทั้ง 2 คือ กิเลสเพียงดังเนินและอุปกิเลส เป็นฝ่ายแห่งตัณหา ความหวั่นไหวอันใด และความไม่ตั้งมั่นแห่งจิตอันใด นี้เป็นฝ่ายแห่งทิฏฐิ (อวิชชา) ฯ อินทรีย์ 4 คือ ทุกขินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ สุขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ ย่อมดับไปในฌานที่ 4 อุเบกขินทรีย์ที่เหลือ ย่อมมีแก่พระโยคีนั้น ฯ พระโยคีนั้นย่อมใส่ใจซึ่งสมาบัติเบื้องบน เพราะความยินดีในสมาบัติอันสงบ เมื่อพระโยคีนั้นใส่ใจสมาบัติเบื้องบนอยู่ สัญญาในฌานที่ 4 ย่อมเป็นราวกะว่าสัญญาหยาบตั้งอยู่ และไม่ยินดีปฏิฆสัญญา (ปัญจวิญญาณ) อยู่ พระโยคีนั้นจึงกระทำในใจถึง"อนนฺตํ อากาสํ" เป็นไปเพราะการก้าวล่วงรูปสัญญาโดยไม่เหลือ เพราะการตั้งอยู่ไม่ได้แห่งปฏิฆสัญญาทั้งหลาย และเพราะไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา (อกุศลสัญญาต่างๆ ) กระทำให้แจ้งซึ่งอากาสานัญจายตนะสมาบัติ เข้าถึงอยู่ ฯ รูปาวจรสัญญา ชื่อว่า มีการนำออกด้วยอภิญญา โวการ (ความลามก) ในอารมณ์ต่าง ๆชื่อว่า นานัตตสัญญา พระโยคีย่อมก้าวล่วงรูปาวจรสัญญาและนานัตตสัญญานั้นและปฏิฆสัญญาของพระโยคาวจรนั้น ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ รูปาวจรสมาธิ คือโอภาสของพระโยคีผู้มีจิตตั้งมั่นอย่างนี้ย่อมอันตรธานไป และการเห็นกสิณรูปทั้งหลายก็ย่อมอันตรธานไป ด้วยอำนาจแห่งอรูปาวจรสมาธิ รูปาวจรสมาธิทั้ง 2 นั้น ประกอบด้วยองค์ 6 นั้น ควรพิจารณาว่า ใจของเราไม่ประกอบด้วยอภิชฌาในโลกทั้งปวง จิตของเราไม่มุ่งร้ายในสัตว์ทั้งปวง ความเพียรอันเราเริ่มประคองไว้แล้ว กายของเราสงบแล้ว ไม่ปั่นป่วนแล้ว จิตของเราตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่านแล้ว สติของเราปรากฏ ไม่หลงลืมแล้ว ฯ ในองค์ 6 เหล่านั้น ใจไม่ประกอบด้วยอภิชฌาในโลกทั้งปวงอันใด จิตไม่มุ่งร้ายในสัตว์ทั้งปวงอันใด ความเพียรเริ่มแล้วประคองไว้อันใด จิตที่ตั้งมั่นไม่ซัดส่ายอันใด ทั้งหมดนี้ ชื่อว่า สมถะ ฯ กายอันสงบแล้วไม่ปั่นป่วนอันใด นี้ ชื่อว่าสมาธิบริกขาร ฯ สติปรากฏแล้ว ไม่หลงลืมอันใด นี้ชื่อว่า วิปัสสนา ฯ ญาณทัสสนะ 5 สมาธิอรหัตผลใด ได้ด้วยสมถะวิปัสสนาปฏิปทาสมาธินั้น พึงทราบว่ามีญาณทัสสนะ 5 อย่างคือ ญาณทัสสนะ ย่อมปรากฏเฉพาะแก่พระอรหันต์เท่านั้นว่า "สมาธินี้ เป็นสมาธิมีสุขในปัจจุบัน" ดังนี้ญาณทัสสนะ ย่อมปรากฏเฉพาะแก่พระอรหันต์เท่านั้นว่า "สมาธินี้เป็นสมาธิ มีสุขวิบากต่อไป" ดังนี้ ญาณทัสสนะ ย่อมปรากฏเฉพาะแก่พระอรหันต์เท่านั้นว่า"สมาธินี้ เป็นอริยะไม่มีอามิส" ดังนี้ ญาณทัสสนะ ย่อมปรากฏเฉพาะแก่พระอรหันต์เท่านั้นว่า "สมาธินี้ เป็นสมาธิอันบุรุษผู้ไม่ต่ำทรามเสพแล้ว" ดังนี้ญาณทัสสนะ ย่อมปรากฏเฉพาะแก่พระอรหันต์เท่านั้นว่า "สมาธินี้ เป็นสมาธิสงบแล้ว ประณีต ได้ความสงบระงับ มีการบรรลุภาวะแน่วแน่ และมีการข่มการห้ามปัจจนิกธรรมที่มีการปรุงแต่งเป็นไป" ดังนี้ ฯ ก็ญาณทัสสนะ ย่อมปรากฏเฉพาะแก่พระอรหันต์เท่านั้นว่า "เรามีสติเข้าถึง เรามีสติออก ซึ่งสมาธินี้นั้น" ดังนี้แล ฯ [54] ในสมาธิเหล่านั้น สมาธิใดมีสุขในปัจจุบัน สมาธิใดมีสุขวิบากต่อไป สมาธินี้เป็นสมถะ ฯ สมาธิใดเป็นอริยะไม่มีอามิส สมาธิใดอันบุรุษผู้ไม่ต่ำทรามเสพแล้ว สมาธิใด สงบแล้ว ประณีต ได้ความสงบระงับ บรรลุภาวะแน่วแน่ มีการข่มการห้ามปัจจนิกธรรมซึ่งมีการปรุงแต่งเป็นไป และสมาธิที่ท่านกล่าวว่า เรามีสติเข้าถึง เรามีสติออก ดังนี้ สมาธิเหล่านี้ เป็นวิปัสสนา ฯ สมาธิใด อันเป็นปฏิปทาเบื้องต้นแห่งอรหัตผลสมาธิสมาธินั้น บัณฑิตพึงทราบว่า โดยอาการ 5 อย่าง คือ ความแผ่ซ่านไปแห่งปีติ ความแผ่ซ่านไปแห่งสุข ความแผ่ซ่านไปแห่งใจ (เจโตปริยะ) ความแผ่ซ่านไปแห่งอาโลกะและปัจจเวกขณานิมิต ฯ ในอาการ 5 เหล่านั้น การแผ่ไปแห่งปีติอันใด การแผ่ไปแห่งสุขอันใด การแผ่ไปแห่งใจอันใด การแผ่ไปอันนี้เป็นสมถะ ฯ การแผ่ไปแห่งอาโลกะอันใดและปัจจเวกขณานิมิตอันใด นี้ชื่อว่าเป็นวิปัสสนาฯ [55] กสิณายตนะมี 10 คือ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณนีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ อากาสกสิณ (คือ ปฐมอรูปฌานที่เป็นไปในกสิณุคฆาฏิมากาส) วิญญาณกสิณ (คือ อรูปฌานที่ 2 ซึ่งมีอรูปวิญญาณที่ 1 เป็นอารมณ์) ฯ ในกสิณายตนะ 10 นั้น ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณวาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ อันใด กสิณทั้ง 8 นี้เป็นสมถะ ฯ อากาสกสิณและวิญญาณกสิณอันใด ทั้ง 2 นี้ ท่านกล่าวว่า เป็นวิปัสสนา (เพราะภาวะแห่งวิปัสสนาธิฏฐาน) ฯ โดยอาการอย่างนี้ อริยมรรคทั้งปวงอันเรากล่าวแล้วโดยอาการใด ๆ ก็พึงประกอบด้วยสมถะและวิปัสสนาโดยอาการนั้นๆ ฯ สมถะ (สมถาธิฏฐาน) และวิปัสสนาธรรมเหล่านี้ ท่านสงเคราะห์ไว้ด้วยธรรม 3 คือ ด้วยอนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนา อนัตตานุปัสสนา ฯ พระโยคีนั้น เมื่อยังสมถะวิปัสสนาให้เจริญ ย่อมยังวิโมกขมุขทั้ง 3ให้เจริญ ฯ เมื่อยังวิโมกขมุขทั้ง 3 ให้เจริญ ย่อมยังขันธ์ 3 (มีศีลขันธ์เป็นต้น)ให้เจริญ ฯ เมื่อยังขันธ์ 3 ให้เจริญ ย่อมยังอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8ให้เจริญ ฯ วิโมกขมุข 3 บุคคลผู้ราคจริต เมื่อศึกษาด้วยอธิจิตตสิกขา เมื่อละอกุศลมูลคือโลภะเมื่อเข้าถึงซึ่งผัสสะอันเป็นเหตุแห่งสุขเวทนา เมื่อกำหนดรู้ซึ่งสุขเวทนา เมื่อนำออกซึ่งมลทินคือราคะ เมื่อสลัดออกซึ่งธุลีคือราคะ เมื่อคายออกซึ่งพิษร้ายคือราคะ เมื่อให้ดับซึ่งไฟคือราคะ เมื่อถอนลูกศรคือราคะ เมื่อสางซึ่งชัฏคือราคะย่อมนำออกไป ด้วยอนิมิตตวิโมกขมุข คือ อนิจจานุปัสสนา ฯ บุคคลผู้โทสจริต เมื่อศึกษาด้วยอธิศีลสิกขา เมื่อละอกุศลมูลคือโทสะเมื่อเข้าถึงผัสสะอันเป็นเหตุแห่งทุกขเวทนา เมื่อกำหนดรู้ทุกขเวทนา เมื่อนำออกซึ่งมลทินคือโทสะ เมื่อสลัดออกซึ่งธุลีคือ โทสะ เมื่อคายพิษร้ายคือโทสะเมื่อให้ดับซึ่งไฟคือโทสะ เมื่อถอนลูกศรคือโทสะ เมื่อสางซึ่งชัฏคือโทสะ ย่อมออกไปด้วย อัปปณิหิตวิโมกขมุข คือ ทุกขานุปัสสนา ฯ บุคคลผู้โมหจริต เมื่อศึกษาด้วยอธิปัญญาสิกขา เมื่อละอกุศลมูลคือโมหะเมื่อเข้าถึงผัสสะอันเป็นเหตุแห่งอทุกขมสุขเวทนา เมื่อกำหนดรู้ซึ่งอทุกขมสุขเวทนา เมื่อนำออกซึ่งมลทินคือโมหะ เมื่อสลัดออกซึ่งธุลีคือโมหะ เมื่อคายพิษร้ายคือโมหะ เมื่อให้ดับซึ่งไฟคือโมหะ เมื่อถอนลูกศรคือโมหะ เมื่อสางซึ่งชัฏคือโมหะ ย่อมออกไปด้วยสุญญตวิโมกขมุข คือ อนัตตานุปัสสนา ฯ บรรดาวิโมกขมุข 3 นั้น สุญญตวิโมกขมุข (ทางหรือทวารแห่งสุญญตวิโมกข์) มีปัญญาเป็นประธาน อนิมิตตวิโมกขมุขมีสมาธิเป็นประธาน อัปปณิหิตวิโมกขมุขมีศีลเป็นประธาน บุคคลนั้น เมื่อยังวิโมกขมุข 3 ให้เจริญ ชื่อว่าย่อมยังขันธ์ 3 ให้เจริญ เมื่อยังขันธ์ 3 ให้เจริญ ชื่อว่า ย่อมเจริญซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ในอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 นั้น สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะ อันใด นี้ชื่อว่า ศีลขันธ์ สัมมาวายามะ สัมมาสติสัมมาสมาธิ อันใด นี้ชื่อว่า สมาธิขันธ์ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ อันใด นี้ชื่อว่า ปัญญาขันธ์ ฯ ในขันธ์ 3 นั้น ศีลขันธ์และสมาธิขันธ์ เป็นสมถะ ปัญญาขันธ์ เป็นวิปัสสนา บุคคลใดย่อมยังสมถวิปัสสนาให้เจริญ องค์แห่งภพ (อุปปัตติภพ) 2 คือกายและจิตของบุคคลนั้น ย่อมถึงซึ่งความเจริญ บาททั้ง 2 คือ ศีลและสมาธิเป็นปฏิปทาให้ถึงความดับภพ ฯ ภิกษุนั้น ชื่อว่า เป็นผู้มีกายอบรมแล้ว มีศีลอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว มีปัญญาอบรมแล้ว เมื่อกายอันบุคคลนั้นอบรมอยู่ธรรมทั้ง 2 คือ สัมมากัมมันตะและสัมมาวายามะ ย่อมถึงซึ่งความเจริญ เมื่อศีล อันบุคคลนั้นอบรมอยู่ ธรรมทั้ง 2 คือ สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ ย่อมถึงซึ่งความเจริญ เมื่อจิตอันบุคคลนั้นอบรมอยู่ ธรรมทั้ง 2 คือ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ย่อมถึงซึ่งความเจริญ เมื่อปัญญา อันบุคคลนั้นอบรมอยู่ ธรรมทั้ง 2 คือสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ ย่อมถึงซึ่งความเจริญ ฯ ในธรรมทั้ง 2 นั้น สัมมากัมมันตะอันเป็นกายสุจริต เจตนาอันใด สัมมาวายามะที่เป็นไปกับกายสุจริตนั้น อันใด พึงเป็นไปทางกาย พึงเป็นไปทางใจ ในมรรคทั้ง 2 นั้น มรรคใดสงเคราะห์ทางกาย มรรคนั้นเมื่อกายอันบุคคลอบรมแล้วย่อมถึงความเจริญ มรรคใด สงเคราะห์เข้าในจิต มรรคนั้นเมื่อจิตอันบุคคลอบรมแล้ว ย่อมถึงความเจริญ ฯ พระโยคีนั้นเมื่อยังสมถะและวิปัสสนาให้เจริญ ย่อมถึงอธิคม 5 อย่าง คือเป็นผู้บรรลุเร็วพลัน (ขิปปาธิคม) เป็นผู้บรรลุวิมุตติ (วิมุตตาธิคม) เป็นผู้บรรลุใหญ่ (มหาธิคม) เป็นผู้บรรลุไพบูลย์ (วิปุลาธิคม) เป็นผู้บรรลุไม่เหลือ (อนวเสสาธิคม) ในอธิคมเหล่านั้น ขิปปาธิคม มหาธิคมและวิปุลาธิคม ย่อมมีด้วยสมถะวิมุตตาธิคมและอนวเสสาธิคม ย่อมมีด้วยวิปัสสนา ฯ [56] ในการอบรมสมถะวิปัสสนานั้น พระศาสดาใดย่อมแสดง พระศาสดานั้นประกอบด้วยกำลัง 10 ย่อมยังสาวกทั้งหลาย ไม่ให้ขัดแย้งกันด้วยโอวาทพระศาสดานั้นย่อมทรงแสดงพระโอวาทนั้น โดยอาการ 3 อย่างว่า พวกเธอจงทำสิ่งนี้ (คือ จงเข้าถึงสรณคมน์มีศีลเป็นต้นนี้อยู่เถิด) พวกเธอจงทำโดยอุบายนี้(คือ จงชำระสรณคมน์มีศีลเป็นต้นให้บริสุทธิ์โดยวิธีนี้) ธรรมนี้ อันพวกเธอกระทำอยู่ จักมีประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่พวกเธอ พระสาวกนั้น อันพระศาสดากล่าวสอนแล้ว พร่ำสอนแล้วโดยประการนั้น ก็กระทำอยู่โดยประการนั้น ปฏิบัติอยู่โดยประการนั้น ย่อมไม่บรรลุภูมิ (คือ ทัสสนภูมิและภาวนาภูมิ)นั้น นี้มิใช่ฐานะที่มีได้ (คือ เหตุนี้ไม่มีอยู่ประการที่หนึ่ง) พระสาวกนั้น อันพระศาสดากล่าวสอนแล้วโดยประการนั้น พร่ำสอนแล้วโดยประการนั้น จักไม่ยังศีลขันธ์ให้บริบูรณ์ จักไม่บรรลุซึ่งภูมินั้น นี้มิใช่ฐานะที่มีได้ (ประการที่ 2)พระสาวกนั้น อันพระศาสดาโอวาทแล้วอย่างนั้น พร่ำสอนแล้วอย่างนั้นจักยังศีลขันธ์ให้บริบูรณ์ จักบรรลุซึ่งภูมิ (ทัสสนภูมิหรือภาวนาภูมิ) นั้น ดังนี้นี้เป็นฐานะที่มีอยู่ (ประการที่ 3) ฯ ฐานะนี้ว่า "เมื่อท่านปฏิญาณตนว่า เป็นสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านก็มิได้ตรัสรู้แล้ว" ดังนี้ ย่อมไม่มี ฐานะนี้ว่า "ท่านปฏิญาณตนว่า มีอาสวะทั้งปวงสิ้นแล้ว ก็อาสวะทั้งหลายเหล่านี้ของท่านยังไม่สิ้นไป" ดังนี้ ย่อมไม่มี ฯ ฐานะนี้ว่า "ท่านแสดงธรรม เพื่อประโยชน์แก่ธรรมใด ธรรมนั้นย่อมไม่นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่บุคคลผู้ปฏิบัตินั้น" ดังนี้ ย่อมไม่มี ฯ ฐานะนี้ว่า"สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรม สาวกนั้น จักไม่กระทำให้แจ้งซึ่งวิเสสาธิคมอันโอฬารอื่นอีกโดยลำดับ" ดังนี้ ย่อมไม่มี ฯ ฐานะนี้ว่า "ก็ธรรมเหล่าใดแล เป็นธรรมกระทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่สมควรเพื่อทำอันตรายแก่ผู้เสพอยู่" ดังนี้ มิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ฐานะนี้ว่า "ก็ธรรมเหล่าใด ไม่เป็นธรรมนำออก ธรรมเหล่านั้น ย่อมนำออก เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่บุคคลผู้ปฏิบัตินั้น" ดังนี้ มิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ฐานะนี้ว่า "ก็ธรรมเหล่าใด เป็นธรรมนำออก ธรรมเหล่านั้น ย่อมนำออกเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ปฏิบัตินั้น" ดังนี้ เป็นฐานะที่มีได้ ฯ ฐานะนี้ว่า "ก็แล สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ถึงสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ (นิพพานที่มีขันธ์เหลือ) จักไม่ถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุนิพพานที่ไม่มีขันธ์เหลือ" ดังนี้ มิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ฐานะนี้ว่า "พระอริยบุคคล ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยมัคคทิฏฐิ พึงปลงซึ่งมารดาจากชีิวิต หรือพึงทำการฆ่าด้วยมือ หรือด้วยเท้า" ดังนี้ มิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ฐานะนี้ว่า "ปุถุชนพึงปลงซึ่งมารดาจากชีวิต หรือ พึงทำการฆ่าด้วยมือหรือเท้า"ดังนี้ เป็นฐานะที่มีได้ ฯ พระอริยบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ พึงปลงซึ่งบิดาจากชีวิต ฯลฯ พึงปลงซึ่งพระอรหันต์จากชีวิต ก็มีโดยนัยที่กล่าวแล้ว ฯ "พระอริยบุคคล ผู้ถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ พึงทำลายสงฆ์ ผู้มีสังวาสเสมอกัน ผู้อยู่ในสีมาเดียวกัน (ด้วยเหตุ 5 คือ ด้วยกรรม อุทเทส โวหาร อนุสาวนาการจับสลาก) หรือว่า พึงยังสงฆ์ให้ร้าวรานกัน" ดังนี้ มิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ฐานะนี้ว่า "บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ มีจิตประทุษร้ายพระตถาคต พึงยังโลหิตให้ห้อขึ้น หรือมีจิตประทุษร้าย พึงทำลายสถูปของพระตถาคตผู้ปรินิพพานแล้ว" ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ฐานะนี้ว่า "ปุถุชนผู้มีจิตประทุษร้ายพระตถาคตพึงยังโลหิตให้ห้อขึ้น หรือมีจิตประทุษร้ายถึงทำลายสถูปของพระตถาคตผู้ปรินิพพานแล้ว" ดังนี้ เป็นฐานะที่มีได้ ฯ ฐานะนี้ว่า "บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ พึงอ้างศาสดาอื่น แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต" ดังนี้ มิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ฐานะนี้ว่า "ปุถุชน พึงอ้างศาสดาอื่น" ดังนี้เป็นฐานะที่มีได้ ฯ ฐานะนี้ว่า "บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ พึงแสวงหาบุคคลผู้ควรซึ่งทักษิณาอื่นจากพระศาสนานี้" ดังนี้ มิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ฐานะนี้ว่า"ปุถุชน พึงแสวงหาบุคคลอื่นจากพระศาสนานี้" ดังนี้ เป็นฐานะที่มีได้ ฯ ฐานะนี้ว่า "บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ พึงเชื่อถือซึ่งความบริสุทธิ์ของตน ด้วยทิฏฐสุตมุตมงคลกล่าวคือการตื่นข่าว" ดังนี้ มิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ฐานะนี้ว่า "ปุถุชนพึงเชื่อถือซึ่งความบริสุทธิ์ของตน ด้วยทิฏฐสุตมุตมงคลกล่าวคือการตื่นข่าว" ดังนี้เป็นฐานะที่มีได้ ฯ [57] ตำแหน่งอันสูุงสุดข้อว่า "หญิงจะพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ได้ไซร้" นั่นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ ฯ ข้อที่ว่า "บุรุษจะพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์" ดังนี้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ ข้อที่ว่า "หญิงจะพึงเป็นท้าวสักกะจอมเทพ" ดังนี้ นั่นมิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ข้อว่า "บุรุษจะพึงเป็นท้าวสักกะจอมเทพ" ดังนี้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ ข้อว่า"หญิงจะพึงเป็นมารผู้ลามก (มาราธิราช)" ดังนี้ นั่นมิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ข้อว่า"บุรุษพึงเป็นมารผู้ลามก" ดังนี้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ ข้อว่า "หญิงจะพึงเป็นมหาพรหม" ดังนี้ นั่นมิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ข้อว่า "บุรุษจะพึงเป็นมหาพรหม" ดังนี้นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ ข้อว่า "หญิงจะพึงเป็นพระตถาคต เป็นพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ" ดังนี้ นั่นมิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ข้อที่ว่า "พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า 2 พระองค์ จะพึงเสด็จอุบัติขึ้น หรือจะพึงแสดงธรรมพร้อมกัน ในโลกธาตุเดียวกัน" ดังนี้ นั่นมิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฯ ข้อว่า "พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เดียวเท่านั้น จักเสด็จอุบัติขึ้น หรือจักแสดงธรรมในโลกธาตุหนึ่ง" ดังนี้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ วิบากของทุจริตและสุจริตข้อที่ว่า "วิบากอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ของทุจริต 3 จักมี"ดังนี้ นั่นมิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ข้อว่า "วิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจแห่งทุจริต 3 จักมี" ดังนี้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ ข้อว่า "วิบากอันไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจของสุจริต 3 จักมี" ดังนี้ นั่นมิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฯ ข้อว่า"วิบากอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ของสุจริต 3 จักมี" ดังนี้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ ข้อที่ว่า "สมณะ (สักว่าบวช) หรือพราหมณ์ (สักว่าชาติ) คนใดคนหนึ่ง ผู้หลอกลวง ผู้ประจบ (ประจบด้วยสามารถประกอบคำพูด) ผู้ทำนิมิต (คือ ลวงเพื่อให้เกิดลาภ) ผู้กระทำนิมิตหลอกลวงหรือประจบไว้เบื้องหน้า ไม่ละนิวรณ์ 5อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งใจ อันทำปัญญาให้ทุรพล ไม่มีสติเข้าไปตั้งไว้ในสติปัฏฐาน 4 ไม่เจริญโพชฌงค์ 7 อยู่ จักตรัสรู้ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิ"ดังนี้ นั่นมิใช่ฐานะที่มีได้ ฯ ข้อว่า "สมณะ หรือพราหมณ์ (สัพพัญญูโพธิสัตว์) คนใดคนหนึ่งผู้ปราศจากโทษ อันเป็นข้าศึกต่อบารมีทั้งปวง ผู้ละนิวรณ์ 5 อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ อันทำปัญญาให้ทุรพล เป็นผู้มีสติเข้าไปตั้งมั่นแล้วในสติปัฏฐาน 4 เจริญโพชฌงค์ 7 อยู่ จักตรัสรู้ยิ่งซึ่งสัมมาสัมโพธิอันยอดเยี่ยม" ดังนี้ เป็นฐานะที่มีได้ฯ ในฐานะและอฐานะนี้ ญาณใด เป็นไปโดยเหตุ โดยฐานะไม่มีอะไรคั่น (คือ ในขณะพิจารณา) ญาณนี้ ท่านเรียกว่า ฐานาฐานญาณ เป็นกำลังของพระตถาคต ข้อที่หนึ่ง ฯ ธรรมทั้งปวง มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา ถึงซึ่งฐานะและอฐานะด้วยประการฉะนี้ สัตว์บางพวกเข้าถึงสวรรค์ บางพวกเข้าถึงอบาย บางพวกเข้าถึงพระนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า [58] "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม ผู้เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป คือ ผู้มีบาปกรรมจักไปสู่นรก ผู้มีบุญกรรมจักไปสู่สุคติ อนึ่ง สัตว์เหล่าอื่นยังมรรคให้เจริญแล้ว ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน" ดังนี้ ฯ คำว่า "สพฺเพ สตฺตา" ได้แก่ สัตว์ที่เป็นพระอริยะ และไม่ใช่พระอริยะสัตว์ผู้ที่มีกายเป็นของตน (สกฺกายปริยาปนฺนา) และสัตว์ผู้ปราศจากกาย(อรูปพรหม) ฯ คำว่า "จักตาย" ได้แก่ ด้วยการตาย 2 อย่าง คือ ด้วยการตายช้า และด้วยการตายไม่ช้า การตายไม่ช้า (เร็ว) ย่อมมีแก่ผู้มีกายเป็นของตน การตายช้าย่อมมีแก่สัตว์ผู้ปราศจากกาย (อายุยืน) ฯ คำว่า "เพราะชีวิต มีความตายเป็นที่สุด" ได้แก่ สัตว์ผู้สิ้นอายุ ชื่อว่า มีความตายเป็นที่สุด เพราะความสิ้นไปแห่งอายุของอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ คำว่า "จักไปตามกรรม" ได้แก่ สัตว์ผู้มีกรรมเป็นของตน ฯ คำว่า "สัตว์ผู้เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป" ได้แก่ ความที่กรรมทั้งหลายแสดงผล และการไม่อยู่ปราศจากกรรม ฯ คำว่า "ผู้มีบาปกรรมจักไปสู่นรก" คือ ผู้มีอปุญญสังขารทั้งหลาย ฯ คำว่า "ผู้มีบุญกรรมจักไปสู่สุคติ" ได้แก่ มีปุญญสังขารทั้งหลายจักนำไปสู่สุคติ ฯ คำว่า "สัตว์เหล่าอื่นยังมรรคให้เจริญแล้ว ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน" ได้แก่ การก้าวล่วงสังขารทั้งหลายทั้งปวง ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "สพฺเพ สตฺตา ฯ เป ฯ อนาสวา" ดังนี้ ฯ ข้อว่า "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม ผู้มีบาปกรรมจักไปสู่นรก" นี้เป็นปฏิปทาหยาบช้าและถูกเผาผลาญ ฯ ข้อว่า "สัตว์เหล่าอื่น ยังมรรคให้เจริญแล้ว ไม่มีอาสวะ" นี้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ฯข้อว่า "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุดสัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม จักไปสู่นรก" นี้เป็นสังกิเลส ฯ สังกิเลส ย่อมยังสังสารให้เกิดขึ้น ด้วยประการฉะนี้ ฯ (ผู้เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป)ข้อว่า "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ฯลฯ ผู้มีบาปกรรม จักไปสู่นรก" ดังนี้ เป็นวัฏฏะ 3 เหล่านี้ คือ ทุกขวัฏฏะ กรรมวัฏฏะ และกิเลสวัฏฏะ ฯ ข้อว่า "สัตว์เหล่าอื่นเจริญมรรคแล้ว ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน" ดังนี้เป็นการหมุนกลับแห่งวัฏฏะ 3 ฯ ข้อว่า "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจักตาย ฯลฯ ผู้มีบาปกรรม จักไปสู่นรก" นี้เป็นอาทีนวะ (โทษ) ข้อว่า "ผู้มีบุญกรรม จักไปสู่สุคติ" นี้เป็นอัสสาทะ (ความยินดี) ข้อว่า "สัตว์เหล่าอื่นเจริญมรรคแล้ว ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน" นี้ เป็นนิสสรณะ (การสลัดออก) ฯ ข้อว่า "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจักตาย ฯลฯ ผู้มีบาปกรรมจักไปสู่นรก" ดังนี้เป็นทั้งเหตุ ทั้งผล คือ ปัญจขันธ์เป็นผล ตัณหาเป็นเหตุ ข้อว่า "สัตว์เหล่าอื่นเจริญมรรคแล้ว ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน" ดังนี้ เป็นทั้งมรรคทั้งผล ฯ ข้อว่า "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุดสัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม ผู้เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป ผู้มีบาปกรรมจักไปสู่นรก" นี้เป็นสังกิเลส สังกิเลสนั้น มี 3 อย่าง คือ ตัณหาสังกิเลส ทิฏฐิสังกิเลสและทุจริตสังกิเลส ฯ [59] ในสังกิเลส 3 อย่างนั้น ตัณหาสังกิเลส สามารถแสดงเป็น 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาฯ ก็หรือว่า วัตถุใดๆ ถูกตัณหาสังกิเลสยึดแล้ว ก็สามารถแสดงวัตถุนั้นๆ ได้เช่นกัน(ไม่จำเป็นต้องแสดงแค่ 3)ฯ ความพิสดารแห่งวัตถุนั้น เช่น การท่องเที่ยวไปแห่งข่ายคือตัณหา มี 36 ประการ (ตัณหาชาลวิจริต) ฯ ในสังกิเลส 3 นั้น สังกิเลส คือ ทิฏฐิ พึงแสดงด้วยอุจเฉทะและสัสสตะ ก็หรือว่า ทิฏฐินี้ ย่อมยึดมั่นด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิด้วยวัตถุใด ๆ พึงแสดงการยึดมั่นด้วยทิฏฐินั้น ๆ นั่นแหละ ความพิสดารแห่งทิฏฐินั้น ได้แก่ ทิฏฐิ 62 ประการ ฯ ในสังกิเลสนั้น สังกิเลส คือ ทุจริต ได้แก่ เจตนา อันบุคคลพึงแสดงด้วยกรรมแห่งเจตสิก คือ พึงแสดงด้วยทุจริต 3 ได้แก่ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ความพิสดารแห่งทุจริต 3 นั้น ได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 อย่าง ฯ ข้อว่า "สัตว์เหล่าอื่น เจริญมรรคแล้ว ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน" ดังนี้คำนี้ เป็นโวทาน (ความผ่องแผ้ว) ฯ โวทานนี้นั้น เป็นธรรมบริสุทธิ์ 3 อย่าง คือ ตัณหาสังกิเลส ย่อมบริสุทธิ์ด้วยสมถะ สมถะนั้นเป็นสมาธิขันธ์ ทิฏฐิสังกิเลสย่อมบริสุทธิ์ด้วยวิปัสสนาวิปัสสนานั้นเป็นปัญญาขันธ์ ทุจริตสังกิเลสย่อมบริสุทธิ์ด้วยสุจริต สุจริตนั้นเป็นศีลขันธ์ ฯ ข้อว่า "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม ผู้เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป ผู้มีบาปกรรมจักไปสู่นรก"ดังนี้ เป็นอปุญญปฏิปทา ฯ ข้อว่า "ผู้มีบุญกรรมย่อมไปสู่สุคติ" ดังนี้เป็นปุญญปฏิปทา ฯ ข้อว่า "สัตว์เหล่าอื่นเจริญมรรคแล้ว ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน" ดังนี้ เป็นปฏิปทาที่ก้าวล่วงบุญและบาป ฯ ในปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) 3 นั้น บุญญปฏิปทาอันใด และอปุญญปฏิปทาอันใด นี้เป็นปฏิปทาอย่างหนึ่งอันยังสัตว์ให้ถึงในที่ทั้งปวง ปฏิปทาอย่างหนึ่งมีปกตินำสัตว์ไปในอบายทั้งหลายปฏิปทาอย่างหนึ่งมีปกตินำสัตว์ไปในเทพทั้งหลาย ปฏิปทาอันก้าวล่วงซึ่งบุญและบาปอันใด ปฏิปทานี้ (เมื่อมรรคยังไม่เกิด) เป็นปฏิปทายังสัตว์ให้ไปในที่่นั้นๆ ฯ ปฏิปทาเนื่องด้วยราสี 3ราสีมี 3 คือ มัจฉัตตราสี (ราสีที่แน่นอนต่อภาวะที่ผิด) สัมมัตตราสี(ราสีที่แน่นอนต่อภาวะที่ชอบ) และอนิยตราสี (ราสีที่ไม่แน่นอน) ในราสี 3 นั้นมิจฉัตตราสีอันใด และสัมมัตตราสีอันใด นี้เป็นปฏิปทาอย่างหนึ่่ง ที่ยังสัตว์ให้ถึงในที่นั้น ๆ ในราสี 3 นั้น อนิยตราสีอันใด นี้เป็นปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงในที่ทั้งปวง คือ เมื่อได้ปัจจัยด้วยเหตุอะไร พึงให้เกิดในนรก ก็พึงเกิดในนรก เมื่อได้ปัจจัยพึงให้เกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย เมื่อได้ปัจจัยพึงให้เกิดในเปตวิสัยทั้งหลาย เมื่อได้ปัจจัยพึงให้เกิดในอสุรกายทั้งหลาย เมื่อได้ปัจจัยพึงให้เกิดในเทพทั้งหลาย เมื่อได้ปัจจัยพึงให้เกิดในมนุษย์ทั้งหลาย เมื่่อได้ปัจจัยด้วยเหตุอะไรพึงให้นิพพาน ก็นิพพาน เพราะฉะนั้น ปฏิปทานี้ เป็นปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงในที่ทั้งปวง ญาณใดในปฏิปทานี้ เป็นไปโดยเหตุ โดยฐานะไม่มีอะไรกั้นญาณนี้ ท่านเรียกว่า สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ เป็นกำลังของพระตถาคตข้อที่ 2 ฯ [60] โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้น ปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงในที่ทั้งปวง เป็นอเนกธาตุโลก (โลกธาตุมิใช่น้อย) ปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงในที่นั้น ๆ เป็นนานาธาตุโลก (โลกธาตุที่่ต่างกัน)ฯ ในโลกทั้ง 2 นั้น อเนกธาตุโลก เป็นไฉน จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุกายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ กามธาตุพยาปาทธาตุ วิหิงสาธาตุ เนกขัมมธาตุ อัพยาปาทธาตุ อวิหิงสาธาตุ ทุกขธาตุ โทมนัสสธาตุ อวิชชาธาตุ สุขธาตุ โสมนัสสธาตุ อุเปกขาธาตุ รูปธาตุอรูปธาตุ นิโรธธาตุ สังขารธาตุ นิพพานธาตุ นี้เป็น อเนกโลกธาตุ ฯ ในโลกทั้ง 2 นั้น นานาธาตุโลก เป็นไฉน จักขุธาตุเป็นอย่างหนึ่ง รูปธาตุเป็นอย่างหนึ่ง จักขุวิญญาณธาตุเป็นอย่างหนึ่ง นานาธาตุโลกทั้งปวง เป็นไปโดยทำนองนี้ และนิพพานธาตุก็เป็นอย่างหนึ่่งญาณใด ในอเนกธาตุโลกและนานาธาตุโลกนี้ เป็นไปโดยเหตุ โดยฐานะ ไม่มีอะไรกั้น คือ เป็นไปในขณะพิจารณา ญาณนี้ ท่านเรียกว่า อเนกธาตุนานาธาตุญาณเป็นกำลังของพระตถาคต ข้อที่ 3 ฯ ธาตุมิใช่น้อย (อเนกธาตุ) ของโลกที่มีธาตุต่างกัน เป็นไปโดยนัยที่กล่าวแล้วนั้น สัตว์ทั้งหลาย ย่อมน้อมไปสู่ธาตุใด ๆ นั่นแหละ สัตว์เหล่านั้น ย่อมตั้งมั่นย่อมยึดถือธาตุนั้น ๆ นั่นแหละ ฯ สัตว์บางพวกน้อมไปในรูป สัตว์บางพวกน้อมไปในเสียง สัตว์บางพวกน้อมไปในกลิ่น สัตว์บางพวกน้อมไปในรส สัตว์บางพวกน้อมไปในโผฏฐัพพะ สัตว์บางพวกน้อมไปในธรรม สัตว์บางพวกน้อมไปในหญิงสัตว์บางพวกน้อมไปในบุรุษ สัตว์บางพวกน้อมไปในจาคะ (บริจาค) สัตว์บางพวกน้อมไปในธรรมอันเลว สัตว์บางพวกน้อมไปในธรรมอันประณีต สัตว์บางพวกน้อมไปในเทวดา สัตว์บางพวกน้อมไปในมนุษย์ สัตว์บางพวกน้อมไปในพระนิพพาน ฯ ญาณใดในการน้อมไปนี้ เป็นไปโดยเหตุ โดยฐานะ ไม่มีอะไรขัดข้องว่า "สัตว์นี้เป็นเวไนยสัตว์ สัตว์นี้มิใช่เวไนยสัตว์ สัตว์นี้มีปกติไปสู่สวรรค์สัตว์นี้มีปกติไปสู่ทุคติ" ดังนี้ ญาณนี้ เรียกว่า ญาณรู้ความที่สัตว์ทั้งหลายมีอัธยาศัยต่าง ๆ เป็นกำลังของพระตถาคต ข้อที่ 4 ฯ ด้วยคำที่กล่าวแล้วนี้ สัตว์เหล่านั้นผู้มีอัธยาศัยเลวหรือประณีต ย่อมน้อมไปโดยประการใด ๆ ก็ยึดถือซึ่งกรรมสมาทาน (การทำกรรม) นั้น ๆ สัตว์เหล่านั้นย่อมสมาทานซึ่งกรรม 6 อย่าง สัตว์บางพวกย่อมกระทำกรรมด้วยอำนาจแห่งโลภะ สัตว์บางพวกย่อมทำกรรมด้วยอำนาจแห่งโทสะ สัตว์บางพวกย่อมทำกรรมด้วยอำนาจแห่งโมหะ สัตว์บางพวกย่อมทำกรรมด้วยอำนาจแห่งศรัทธา สัตว์บางพวกย่อมทำกรรมด้วยอำนาจแห่งวิริยะ สัตว์บางพวกย่อมทำกรรมด้วยอำนาจแห่งปัญญา ฯ กรรมสมาทานนั้น เมื่อจำแนกก็มี 2 อย่างคือ สังสารคามีและนิพพานคามี ฯ ในกรรมสมาทาน 6 นั้น บุคคลย่อมทำกรรมใด ด้วยอำนาจแห่งโลภะหรือโทสะหรือโมหะ กรรมนี้เป็นกรรมดำ มีวิบากดำ (เพราะให้เกิดในอบาย) ฯ ในกรรมสมาทานนั้น บุคคลย่อมทำกรรมใด ด้วยอำนาจแห่งศรัทธา (กุศลกรรมบถ 10) กรรมนี้เป็นกรรมขาว มีวิบากขาว ฯ ในกรรมสมาทานนั้น บุคคลย่อมทำกรรมใด ด้วยอำนาจแห่งโลภะ โทสะ โมหะ และด้วยอำนาจแห่งศรัทธากรรมนี้มีทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว ในกรรมสมาทานนั้น บุคคลย่อมทำกรรมใด ด้วยอำนาจแห่งวิริยะ และด้วยอำนาจแห่งปัญญา กรรมนี้ไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นกรรมสูงสุด ประเสริฐสุด เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ฯ กรรมสมาทาน 4 อย่างกรรมสมาทาน 4 คือ กรรมสมาทานบางอย่าง มีสุขในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไปมีอยู่ กรรมสมาทานบางอย่าง มีทุกข์ในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไปมีอยู่ กรรมสมาทานบางอย่าง มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์ต่อไปมีอยู่ กรรมสมาทานบางอย่าง มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขต่อไปมีอยู่ ฯ กรรมสมาทานใด ในชาติมีประการตามที่กล่าวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ตรัสสอนบุคคลผู้มีวิบากเป็นเครื่องกั้นนั้นว่า "กรรมสมาทานฝ่ายอกุศล อันบุคคลนี้สั่งสมไว้ไม่สำเร็จผลเป็นกรรมปรากฏเฉพาะวิบาก และผู้นั้นก็ไม่สามารถเพื่อบรรลุมรรคอันเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง" ดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมตรัสสอนบุคคลเหล่านั้นผู้มีกรรมอันไม่บริบูรณ์คือ พระเทวทัตต์ พระโกกาลิกะ พระสุนักขัตตะบุตรของเจ้าลิจฉวี ก็หรือว่าสัตว์แม้เหล่าอื่นผู้เป็นมิจฉัตตนิยตะ อนึ่ง อกุศลของบุคคลเหล่านี้เริ่มเพื่อกระทำยังไม่ถึงความบริบูรณ์ก่อน อกุศลบริบูรณ์ย่อมยังผลให้เกิดขึ้น ผลของกรรมในกาลก่อนนั้น ย่อมห้ามซึ่งมรรค เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ผลกรรมในกาลก่อน ย่อมก้าวล่วงความเป็นเวไนยสัตว์ เหมือนตรัสกับนายปุณณะผู้ประพฤติอย่างโค และชีเปลือยประพฤติอย่างสุนัข ฉะนั้น ฯ [61] พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมตรัสสอนผู้มีกรรมอันไม่สมบูรณ์ (คือผู้มีกรรมเป็นอันตราย) ว่า "กรรมสมาทานฝ่่ายอกุศล เมื่อบริบูรณ์ จักห้ามมรรค อกุศลที่บริบูรณ์ย่อมให้เกิดผล ย่อมห้ามมรรค ย่อมยังความเป็นเวไนยสัตว์ให้ก้าวล่วง" ดังนี้ เหมือนที่ตรัสกับท่านพระองคุลิมาล ฉะนั้น ฯ ความที่สัตว์มีใจอ่อน (มุทุ) มีใจปานกลาง (มชฺฌํ) มีใจยิ่ง (อธิมตฺตํ) แห่งกรรมทั้งปวง ตามที่กล่าวไว้ในที่นี้ ในภาวะ 3 เหล่านั้น อาเนญชาภิสังขาร ชื่อว่ามุทุ กุศลสังขารที่เหลือ ชื่อว่า มัชฌะ สังขารที่เป็นอกุศล ชื่อว่า อธิมัตตะ ญาณใดในภาวะทั้ง 3 มีความเป็นผู้มีใจอ่อนเป็นต้นนี้ เป็นไปโดยเหตุ โดยปัจจัย ไม่มีอะไรขัดข้อง ญาณนี้เป็นทิฏฐธัมมเวทนียะ ญาณนี้เป็นอุปปัชชเวทนียะ ญาณนี้เป็นอปราปริยเวทนียะ ญาณนี้เป็นนิรยเวทนียะ ญาณนี้เป็นติรัจฉานเวทนียะญาณนี้เป็นเปตวิสยเวทนียะ ญาณนี้เป็นอสุรเวทนียะ ญาณนี้เป็นเทวเวทนียะญาณนี้เป็นมนุสสเวทนียะ ญาณรู้ความต่างกันแห่งวิบากของกรรมสมาทาน อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน โดยเหตุ โดยฐานะ ไม่มีอะไรขัดข้อง ชื่อว่า ญาณ เป็นกำลังของพระตถาคต ข้อที่ 5 ฯ [62] ด้วยประการฉะนี้ ญาณรู้ว่า สภาพธรรมนี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งกรรมอันตนสมาทานแล้ว แห่งฌาน แห่งวิโมกข์ แห่งสมาธิ แห่งสมาบัติทั้งหลาย อันตนสมาทานแล้ว รู้ว่าเป็นโวทาน (ความผ่องแผ้ว) นี้เป็นวุฏฐานะ (การออก)สภาพนี้จักเศร้าหมองอย่างนี้ สภาพนี้ย่อมผ่องแผ้วอย่างนี้ สภาพนี้ย่อมออกอย่างนี้ ชื่่อว่า อนาวรณญาณ (ญาณไม่มีอะไรขัดขวาง) ฯ ในกรรมสมาทานนั้น ฌานมีเท่าไร ฌาณ มี 4 ฯ วิโมกข์ มีเท่าไร วิโมกข์มี 11 อย่าง มี 8 อย่าง มี 3 อย่าง และมี 2 อย่าง ฯ สมาธิมีเท่าไร สมาธิมี 3 คือ สวิตักกสวิจารสมาธิ อวิตักกาวิจารมัตตสมาธิ อวิตักกอวิจารสมาธิสมาบัติมีเท่าไร สมาบัติมี 5 คือ สัญญาสมาบัติ อสัญญาสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญาสมาบัติ วิภูตสัญญาสมาบัติ และนิโรธสมาบัติ ฯ ในกรรมสมาทานนั้น สังกิเลส (ความเศร้าหมอง) เป็นไฉน กามราคะและพยาบาท เป็นความเศร้าหมองของปฐมฌาน ได้แก่ ธรรมเบื้องต้น 2 อย่าง คือผู้มีปกติเพ่งดุจไก่ (ไม่พยายามในธรรมส่วนบน) ก็หรือว่า สมาธิอันเป็นส่วนแห่งความเสื่อม อันใด นี้เป็นสังกิเลส ฯ ในกรรมสมาทานนั้น โวทานเป็นไฉน ความบริสุทธิ์จากนิวรณ์ ได้แก่ ธรรมภายหลัง 2 อย่างแห่งปฐมฌาน คือ ผู้มีปกติเพ่งดุจไก่ ก็หรือว่า สมาธิอันเป็นส่วนวิเศษอันใด นี้เป็น โวทาน ฯ ในกรรมสมาทานนั้น วุฏฐานะเป็นไฉน ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาบัติ อันใด นี้เป็นวุฏฐานะ ฯ ญาณใด ในความเศร้าหมองและผ่องแผ้วเป็นต้นนี้ เป็นไปโดยเหตุ โดยฐานะ ไม่มีอะไรขัดข้อง ญาณนี้ ท่านเรียกว่า ญาณรู้ในความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว และการออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งปวง เป็นกำลังของพระตถาคต ข้อที่ 6 ฯ [63] ด้วยประการตามที่กล่าวนี้ ธรรมทั้ง 3 คือ อินทรีย์ทั้งหลาย พละทั้งหลายและวิริยะเป็นบริกขาร (คือ ธรรมให้เกิดขึ้น) แห่งสมาธินั้นนั่นแล อินทรีย์ทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ เป็นพละทั้งหลายด้วยสามารถแห่งความเพียร ชื่่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถะว่า ความเป็นใหญ่ ชื่่อว่า พละ เพราะอรรถะว่า เป็นธรรมไม่หวั่นไหว โดยนัยที่กล่าวนี้ ความที่อินทรีย์เหล่านั้นอ่อน ปานกลาง แก่กล้าคือ บุคคลนี้มีอินทรีย์อ่อน บุคคลนี้มีอินทรีย์ปานกลาง บุคคลนี้มีอินทรีย์แก่กล้า ฯ ในบุคคล 3 นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมตรัสสอนบุคคลผู้มีอินทรีย์แก่กล้าด้วยโอวาทย่อ ย่อมตรัสสอนบุคคลผู้มีอินทรีย์ปานกลางด้วยโอวาทที่พิสดารอย่างย่อ ย่อมตรัสสอนบุคคลผู้มีอินทรีย์อ่อนด้วยโอวาทพิสดาร ฯ ในบุคคลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาเล็กน้อย (คือ เพียงยกอุทเทสขึ้น)แก่บุคคลผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ย่อมแสดงธรรมเทศนาอันควรแก่บุคคลผู้มีปัญญาไม่คมกล้านัก (โดยอุทเทสและนิทเทส) แก่ผู้มีอินทรีย์ปานกลาง ย่อมแสดงธรรมเทศนาพิสดาร (โดยอุทเทส นิทเทส และปฏินิทเทส) แก่ผู้มีอินทรีย์อ่อน ฯ ในบุคคลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำสมถะ แก่บุคคลผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ทรงแนะนำสมถะวิปัสสนาแก่ผู้มีอินทรีย์ปานกลาง ทรงแนะนำวิปัสสนาแก่ผู้มีอินทรีย์อ่อน ฯ ย่อมแสดงนิสสรณะ (การออกไป) แก่ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ย่อมแสดงอาทีนวะ (โทษ) และนิสสรณะ แก่ผู้มีอินทรีย์ปานกลางย่อมแสดงอัสสาทะ (ความยินดี) อาทีนวะ และนิสสรณะ แก่ผู้มีอินทรีย์อ่อน ฯ ในบุคคลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมยังบุคคลผู้มีอินทรีย์แก่กล้าให้รู้ด้วยอธิปัญญาสิกขา ย่อมยังบุคคลผู้มีอินทรีย์ปานกลางให้รู้ด้วยอธิจิตตสิกขา ย่อมยังบุคคลผู้มีอินทรีย์อ่อนให้รู้ด้วยอธิสีลสิกขา ฯ ญาณใด เป็นไปโดยเหตุ โดยฐานะ ไม่ขัดข้องในการรู้อินทรีย์มีความอ่อนปานกลาง และแก่กล้านี้ ญาณนี้ เรียกว่า ญาณรู้ความแตกต่างกันแห่งอินทรีย์ที่ยิ่งและหย่อนแห่งสัตว์เหล่าอื่น แห่งบุคคลเหล่าอื่น เพื่อแสดงความเป็นไปแห่งเทศนานั้นว่า "บุคคลนี้ถึงแล้ว (กำลังถึง หรือจักถึง) ซึ่งภูมินี้ ซึ่งภาวนานี้ ในเวลานี้ ด้วยอนุสาสนีนี้ บุคคลนี้มีธาตุอย่างนี้ บุคคลนี้มีอาสยะ (ทิฏฐิ) นี้และบุคคลนี้มีอนุสัยนี้" ดังนี้ เป็นกำลังของพระตถาคต ข้อที่ 7 ฯ ญาณใดของพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่อาศัยในกาลก่อน มีประการมิใช่น้อย ในความเป็นแห่งอินทริยปโรปริยัตตญาณนั้น ญาณนี้เป็นกำลังของพระตถาคต ข้อที่ 8 ฯ คือ พระองค์ย่อมทรงระลึกถึงชาติหนึ่งบ้าง 2 ชาติบ้าง 3 ชาติบ้าง 4 ชาติบ้าง 5 ชาติบ้าง 10 ชาติบ้าง 20 ชาติบ้าง 30 ชาติบ้าง 40 ชาติบ้าง 50 ชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ร้อยชาติเป็นอเนกบ้าง พันชาติเป็นอเนกบ้าง แสนชาติเป็นอเนกบ้างหลายสังวัฏฏกัปบ้าง (กัปที่เสื่อม) หลายวิวัฏฏกัปบ้าง (กัปที่เจริญ) หลายสังวัฏฏกัปวิวัฏฏกัปบ้าง ว่า "เราอยู่ในสังวัฏฏกัปโน้น หรือในภพโน้น ในกำเนิดโน้นในคติโน้น ในวิญญาณฐิติโน้น ในสัตตาวาสโน้น หรือในสัตตนิกายโน้น มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ มีการเสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีการกำหนดอายุอย่างนี้ เรานั้น เคลื่อนจากชาตินั้นแล้วเกิดขึ้นในที่โน้น เราอยู่ในที่นั้น ได้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้มีอาหารอย่างนี้ มีการเสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีการกำหนดอายุอย่างนี้ เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้วเกิดขึ้นในภพนี้" ดังนี้ พระตถาคตย่อมทรงระลึกถึงขันธสันดานที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส มีอเนกประการ ด้วยประการฉะนี้ ฯ [64] พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงระลึกถึงภพนั้น ๆ ย่อมทรงทราบได้โดยไม่เหลือว่า บรรดาสัตว์ผู้เข้าถึงสวรรค์ ผู้เข้าถึงมนุษย์ ผู้เข้าถึงอบายเหล่านั้นอกุศลมีโลภะเป็นต้นของบุคคลนี้หนา กุศลมีอโลภะเป็นต้นของบุคคลนี้น้อยก็หรือว่า อินทรีย์เหล่านี้ของบุคคลนี้ สั่งสมไว้หนาหรือน้อย หรือไม่ได้สั่งสมในโกฏิแห่งกัป หรือในแสนแห่งกัป หรือในพันแห่งกัป หรือในร้อยแห่งกัป หรือในระหว่างแห่งกัป หรือในครึ่่งกัป หรือในปีหนึ่่ง หรือในครึ่่งปี หรือในเดือนหนึ่่งหรือในปักษ์หนึ่ง หรือในวันหนึ่่ง หรือในครู่หนึ่่ง ด้วยความประมาทนี้ หรือด้วยความเลื่่อมใส ดังนี้ ฯ ในพระญาณนั้น ญาณใด ย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลาย กำลังจุติ กำลังเกิด เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ผู้ไปดี ไปไม่ดี ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์อันก้าวล่วงของมนุษย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบสัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยญาณนั้นว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายเหล่านี้หนอ ประกอบด้วยกายทุจริต ด้วยวจีทุจริต ด้วยมโนทุจริต ติเตียนพระอริยะทั้งหลาย มีความเห็นผิด ยึดมั่นในกรรมอันมีความเห็นวิปริตเป็นเหตุ สัตว์เหล่านั้น เมื่่อตายเพราะกายแตกก็เข้าถึงซึ่งอบาย ทุคติ วินิบาตและนรก ก็หรือว่า สัตว์ผู้เจริญทั้งหลายเหล่านี้หนอ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะทั้งหลายเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นผู้สมาทานกรรมอันเป็นสัมมาทิฏฐิ สัตว์เหล่านั้น เมื่อตายเพราะกายแตกเป็นผู้เข้าถึงซึ่งสุคติ และซึ่งโลกมีอารมณ์อันเลิศด้วยรูปารมณ์เป็นต้น ฯ กิจแห่งพระญาณทั้ง 2 คือ ที่ 8 และ 9 (ที่กระทำเป็นอันเดียวกันแสดง)ว่า "ในสัตว์ทั้งหลายที่เข้าถึงสวรรค์ เข้าถึงมนุษย์ เข้าถึงอบายเหล่านั้นกรรมอย่างนี้ อันบุคคลนี้สั่งสมแล้ว ในโกฏิแห่งกัป หรือในแสนแห่งกัป หรือในพันแห่งกัป หรือในร้อยแห่งกัป หรือในกัปหนึ่ง หรือในระหว่างแห่งกัป หรือในครึ่่งกัป หรือในหนึ่งปี หรือในครึ่งปี หรือในเดือนหนึ่ง หรือในปักษ์หนึ่งหรือในวันหนึ่ง หรือในเวลาครู่หนึ่ง ด้วยความไม่ประมาทหรือด้วยความผ่องใส"ดังนี้ ญาณทั้ง 2 ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ และทิพยจักขุญาณ ของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ ชื่่อว่า เป็นกำลังของพระตถาคตข้อที่ 8 และ 9 แล ฯ ในพระญาณเหล่านั้น มีนัยตามที่กล่าวแล้ว ญาณใดเป็นสัพพัญญุตญาณปราศจากธุลี มีมลทินไปปราศแล้ว มีมารอันขจัดแล้ว เพราะความที่พระองค์ถึงความเป็นผู้รู้ทั้งปวง เพราะธรรมทั้งปวงอันพระองค์ทรงทราบแล้ว ณ ควงแห่งไม้โพธิ์ ญาณดังกล่าวนี้เป็นกำลังที่ 10 ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมประกอบด้วยกำลัง 10 อย่างฉะนี้แล ฯ จบ วิจยหารสัมปาตะ ฯ 3. ยุตติหารสัมปาตะ [65] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น การประชุมยุตติหาระเป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิต มีความดำริชอบเป็นโคจร มุ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า รู้ความเกิดและความเสื่อมแล้วครอบงำถีนมิทธะ พึงละทุคติทั้งปวง" ดังนี้ ฯ คาถาว่า "เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิต มีความดำริชอบเป็นโคจร" เป็นต้น พึงประกอบความว่า อารมณ์ของสัมมาสังกัปปะมีเนกขัมมะเป็นต้น จักมีแก่บุคคลผู้มีจิตอันรักษาแล้ว ดังนี้ ย่อมควร บุคคลผู้มีความดำริชอบเป็นอารมณ์ จักเป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะวิตกไม่วิปริต ดังนี้ ย่อมควร บุคคลผู้มุ่งวิปัสสนาญาณ คือสัมมาทิฏฐิอยู่ จักแทงตลอดอุทยัพพยญาณแห่งขันธ์ 5ด้วยมรรค ดังนี้ ย่อมควร บุคคลเมื่่อแทงตลอดซึ่่งอุทยัพพยญาณ จักละทุคติทั้งปวง อันมีสภาพ เป็นทุกข์ ดังนี้ ย่อมควร บุคคลนั้น เมื่อละทุคติทั้งปวง จักก้าวล่วงภัยคือการให้ตกไปในทุคติทั้งปวง ดังนี้ ย่อมควร ฉะนี้แล ฯ จบ ยุตติหารสัมปาตะ 4. ปทัฏฐานหารสัมปาตะ [66] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น การประชุมปทัฏฐานหาระเป็นไฉน คาถาว่า "ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส สมฺมาสงฺกปฺปโคจโร" เป็นต้น แปลว่าเพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิต มีความดำริชอบเป็นโคจร (เหมือนยุตติหารสัมปาตะ) ฯ คำว่า "ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส" นี้ เป็นปทัฏฐาน (คือเป็นเหตุใกล้) แห่งสุจริต 3 ฯ คำว่า "สมฺมาสงฺกปฺปโคจโร" นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งสมถะ ฯคำว่า "สมฺมาทิฏฺฐิปุเรกฺขาโร" นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งวิปัสสนา ฯ คำว่า "ญตฺวาน อุทยพฺพยํ" นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งทัสสนภูมิ ฯ คำว่า "ถีนมิทฺธาภิภู ภิกฺขุ" นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งความเพียร ฯ คำว่า "สพฺพา ทุคฺคติโย ชเห" นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งภาวนา ฯ จบ ปทัฏฐานหารสัมปาตะ 5. ลักขณหารสัมปาตะ [67] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น การประชุมลักขณหาระเป็นไฉน คาถาว่า "ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส สมฺมาสงฺกปฺปโคจโร" เป็นต้น ฯ คำว่า"เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิต มีความดำริชอบเป็นโคจร" นี้ เป็นสตินทรีย์ ครั้นเมื่อสตินทรีย์อันบุคคลถือเอาแล้ว อินทรีย์ 5 มีสัทธินทรีย์เป็นต้นย่อมเป็นอันบุคคลนั้นถือเอาแล้ว เพราะความที่อินทรีย์มีลักษณะเสมอกันโดยอรรถะว่าเป็นใหญ่ ฯ คำว่า "มุ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า" ความว่า เมื่อสัมมาทิฏฐิอันสัมมาสังกัปปะถือเอาแล้ว อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ย่อมเป็นอันบุคคลนั้นถือเอาแล้ว ฯ ย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาสังกัปปะ สัมมากัมมันตะย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาวาจาสัมมาอาชีวะย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมากัมมันตะ สัมมาวายามะย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาอาชีวะ สัมมาสติย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาวายามะ สัมมาสมาธิย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาสติ สัมมาวิมุตติย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาสมาธิ สัมมาวิมุตติญาณทัสสนะย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาวิมุตติ ฯ จบ ลักขณหารสัมปาตะ 6. จตุพยูหหารสัมปาตะ [68] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น การประชุมจตุพยูหหาระเป็นไฉน คาถาว่า "ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส สมฺมาสงฺกปฺปโคจโร" เป็นต้น ฯ ในจตุพยูหคือ นิรุตติ อธิปปายะ นิทานและสนธินั้น พระสูตรว่า "ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส"เป็นต้นนี้ มีวิเคราะห์ว่า ชื่่อว่า รักขิตะ เพราะอรรถะว่า อันบุคคลรักษา ชื่อว่า จิตเพราะอรรถะว่า คิด ชื่อว่า สัมมาสังกัปปะ เพราะอรรถะว่า ตรึกโดยชอบเป็นต้นนี้ ชื่อว่า นิรุตติ หรือ เนรุตติ ฯ ในจตุพยูหะนี้ อะไร เป็นอธิปปายะ(ความประสงค์) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ความประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ ในพระสูตรนี้ว่า "สัตว์เหล่าใด ปรารถนาเพื่อจะพ้นจากทุคติ สัตว์เหล่านั้นจักประพฤติธรรม" ดังนี้ ฯ ก็พระโกกาลิกะไม่รักษาจิต ประทุษร้ายพระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานเถระ เป็นผู้เข้าถึงมหาปทุมนรก นี้เป็นนิทาน ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าประกอบด้วยจิตมีสติเป็นเครื่องรักษา และในพระสูตรว่า บุคคลพึงรักษาจิตด้วยสติ นี้เป็นสนธิเบื้องต้น ส่วนพระสูตรว่า "เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิต ฯลฯ พึงละทุคติทั้งปวง" เป็นอนุสนธิ ย่อมหลั่งไหลไป ย่อมประชุมกัน เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า สนธิ (ต่อ) เบื้องต้นและเบื้องปลาย แล ฯ จบ จตุพยูหหารสัมปาตะ 7. อาวัฏฏหารสัมปาตะ [69] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น การประชุมอาวัฏฏหาระเป็นไฉน คาถาว่า "ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส สมฺมาสงฺกปฺปโคจโร" เป็นต้น ฯ คำว่า"เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิต มีความดำริชอบเป็นโคจร" นี้ เป็นสมถะ ฯ คำว่า "มุ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า" นี้เป็นวิปัสสนา ฯ คำว่า "รู้ความเกิด และความเสื่อมแล้ว" นี้เป็นทุกขปริญญา คือ การกำหนดรู้ทุกข์ ฯ คำว่า "ภิกษุครอบงำถีนมิทธะ" นี้ เป็นการละสมุทัย ฯ คำว่า "พึงละทุคติทั้งปวง" นี้เป็นนิโรธ ฯ ธรรม 4 ตามที่กล่าวแล้วนี้ เป็นสัจจะ 4 ฉะนี้ ฯ จบ อาวัฏฏหารสัมปาตะ 8. วิภัตติหารสัมปาตะ [70] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น การประชุมวิภัตติหาระเป็นไฉน คาถาว่า "เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิต มีความดำริชอบเป็นโคจร"เป็นต้นนี้ ธรรมฝ่ายกุศลพึงแสดงโดยฝ่ายกุศล ฝ่ายอกุศลพึงแสดงโดยฝ่ายอกุศล ฯ คือ ฝ่ายกุศล ได้แก่ สติสังวร ฝ่ายโลกียะ 6 โลกุตตระ 2 ทัสสนภูมิ และภาวนาภูมิ ฯ สังกัปปะ 3 มีเนกขัมมะ เป็นต้น ฯ สัมมาทิฏฐิ 8 มีญาณในทุกข์เป็นต้น ฯ อุทยัพพยญาณ ฝ่ายเกิด 25 ดับ 25 มีรูปเกิดเพราะอวิชชาเป็นต้น ฯ การครอบงำถีนมิทธะ ด้วยอำนาจมรรค 4 ฯ ฝ่ายอกุศล คือ อสังวร 8 ได้แก่ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายอสังวรโจปนกายอสังวร วาจาอสังวร และมโนอสังวร ฯ มิจฉาสังกัปปะ 3 ฯ อัญญาณ(ความไม่รู้) 8 ฯ ถีนมิทธะ 5 โดยภูมิที่เกิด โดยย่อฉะนี้ ฯ จบ วิภัตติหารสัมปาตะ 9. ปริวัตตนหารสัมปาตะ [71] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น การประชุมปริวัตตนหาระเป็นไฉน คาถาว่า "ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส สมฺมาสงฺกปฺปโคจโร" เป็นต้น ฯ พึงปริวรรต(เปลี่ยนไป) อย่างนี้ คือ เมื่อสมถะและวิปัสสนา อันบุคคลเจริญแล้ว การดับอกุศล (นิโรธะ) เป็นผลย่อมมี ทุกข์ที่กำหนดรู้แล้วย่อมมี สมุทัยที่เขาละแล้วย่อมมี มรรคที่เจริญแล้วย่อมมี โดยเป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศล โดยนัยที่กล่าวในวิภัตติหารสัมปาตะนั้นแล ฯ จบ ปริวัตตนหารสัมปาตะ 10. เววจนหารสัมปาตะ [72] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น การประชุมเววจนหาระเป็นไฉน คาถาว่า "ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส สมฺมาสงฺกปฺปโคจร" เป็นต้น ฯ บทว่า "จิต"ในคำว่า "เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิต" นี้แห่งคาถานั้น คำว่า "จิต มโนวิญญาณ มนินทรีย์ มนายตนะ วิชานนา (การรู้แจ้ง) วิชานิตัตตะ (ภาวะที่รู้แจ้ง)"นี้ เป็นเววจนะของจิต ฯ บทว่า "สัมมาสังกัปปะ" ในคำว่า "สมฺมาสงฺกปฺปโคจโร" นี้ คำว่า "เนกขัมมสังกัปปะ อัพยาปาทสังกัปปะ อวิหิงสาสังกัปปะ" นี้ เป็นเววจนะแห่งบทสัมมาสังกัปปะ ฯ บทว่า "สัมมาทิฏฐิ" ในคำว่า "สมฺมาทิฏฺฐิปุเรกฺขาโร" นี้ คำว่า "ปัญญาเพียงดังศาสตรา ปัญญาเพียงดังพระขรรค์ ปัญญาเพียงดังรัตนะ ปัญญาเพียงดังแสงสว่าง ปัญญาเพียงดังปฏัก ปัญญาเพียงดังปราสาท ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ" นี้เป็นเววจนะแห่งบทสัมมาทิฏฐิ ฯ จบ เววจนหารสัมปาตะ 11. บัญญัติหารสัมปาตะ [73] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น การประชุมบัญญัติหาระนั้นเป็นไฉน คาถาว่า "ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส สมฺมาสงฺกปฺปโคจโร" เป็นต้น ฯ คำว่า"เพราะเหตุนั้นภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิต" ดังนี้ ชื่่อว่า บัญญัติแห่งปทัฏฐานของสติ ฯ คำว่า "มีความดำริชอบเป็นโคจร" ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งสมถะ ฯคำว่า "มุ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า รู้ความเกิดและความเสื่อมแล้ว" ชื่อว่านิกเขปบัญญัติแห่งทัสสนภูมิ ฯ คำว่า "ครอบงำถีนมิทธะ" ชื่อว่า ปหานบัญญัติโดยไม่เหลือแห่งสมุทัย ฯ คำว่า "พึงละทุคติทั้งปวง" ชื่อว่า ภาวนาบัญญัติแห่งมรรค ฯ จบ บัญญัติหารสัมปาตะ 12. โอตรณหารสัมปาตะ [74] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น การประชุมโอตรณหาระเป็นไฉน คาถาว่า "ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส สมฺมาสงฺกปฺปโคจโร" เป็นต้น ฯ ข้อว่า"เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิต มีความดำริชอบเป็นโคจร มุ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า" ความว่า เมื่อสัมมาทิฏฐิ อันบุคคลถือเอาแล้ว อินทรีย์ 5 ย่อมเป็นอันถือเอาแล้ว นี้ชื่อว่า โอตรณา (การหยั่งลง) ด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ อินทรีย์เหล่านั้นนั่นเอง เป็นวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา อวิชชาจึงดับ เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นไปอย่างนี้ นี้ชื่อว่า โอตรณาแห่งอินทรีย์ทั้งหลายด้วยปฏิจจสมุปบาท ฯ อินทรีย์ 5 เหล่านั้นนั่นแหละ สงเคราะห์ด้วยขันธ์ 3 คือ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ และปัญญาขันธ์ นี้ชื่่อว่า โอตรณาแห่งอินทรีย์ 5 ด้วยขันธ์ทั้งหลาย ฯอินทรีย์ 5 เหล่านั้นนั่นแหละ นับเนื่องในสังขาร สังขารเหล่าใด ไม่มีอาสวะ และไม่เป็นองค์แห่งภพ สังขารเหล่านั้น สงเคราะห์ด้วยธัมมธาตุ นี้ชื่อว่าโอตรณาแห่งอินทรีย์ 5 ด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ ธัมมธาตุนั้น นับเนื่องในธัมมายตนะ อายตนะใดไม่มีอาสวะและไม่เป็นองค์แห่งภพ นี้ชื่อว่า โอตรณาแห่งธัมมธาตุด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ จบ โอตรณหารสัมปาตะ 13. โสธนหารสัมปาตะ [75] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น การประชุมโสธนหาระเป็นไฉน คาถาว่า "ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส สมฺมาสงฺกปฺปโคจโร" ดังนี้ ฯ ในปัญหาใด มีอรรถะที่พระองค์ทรงเริ่มวิสัชชนาบริบูรณ์แล้ว ปัญหานั้นบริสุทธิ์แล้วฯ แต่ในปัญหาใด ทรงเริ่มแล้วเนื้อความยังไม่บริบูรณ์ ปัญหานั้นชื่อว่า ยังมิได้วิสัชชนาก่อน ฯ จบ โสธนหารสัมปาตะ 14. อธิฏฐานหารสัมปาตะ [76] คาถาว่า "ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส สมฺมาสงฺกปฺปโคจโร" ดังนี้ ฯ คำว่า "เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิต" นี้มีภาวะเป็นอย่างเดียวกัน ฯ จิต มโน วิญญาณนี้มีอรรถะที่ต่างกัน ฯ คำว่า "มีความดำริชอบเป็นโคจร" นี้ มีภาวะอย่างเดียวกัน ฯ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน นี้เป็นอารมณ์ที่ต่างกัน ฯ คำว่า "มุ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า" นี้ มีภาวะเป็นอย่างเดียวกัน ฯ ญาณในทุกข์ ญาณในทุกขสมุทัย ญาณในทุกขนิโรธ ญาณในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ญาณในเหตุ ญาณในธรรมที่เกิดขึ้นสัมปยุตกับเหตุ ญาณในปัจจัยญาณในธรรมที่เกิดขึ้นสัมปยุตกับปัจจัยอันใด ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ ญาณทัสสนะตามความเป็นจริงในญาณนั้น ๆ อันใด การตรัสรู้ และการถึงสัจจะ อันเป็นอารมณ์นั้น ๆ อันใด นี้เป็นภาวะที่ต่างกัน ฯ คำว่า "รู้ความเกิดและความเสื่อมแล้ว" นี้ มีภาวะเป็นอย่างเดียวกัน ฯ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยโดยการเกิดขึ้น สังขารทั้งหลายจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ธรรมทั้งปวงเป็นไปอย่างนี้ ความเกิดขึ้นจึงมี ฯ ว่าโดยความเสื่อมไป เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ธรรมทั้งปวงเป็นอย่างนี้ความดับจึงมี นี้เป็นความต่างกัน ฯ คำว่า "ภิกษุครอบงำถีนมิทธะ" นี้ มีภาวะอย่างเดียวกัน ฯ ความป่วยความไม่ควรแก่การงานของจิตอันใด นี้ชื่อว่า ถีนะ ความหดหู่แห่งกายอันใดชื่อว่า มิทธะ นี้เป็นความต่างกัน ฯ คำว่า "พึงละทุคติทั้งปวง" นี้ เป็นภาวะอย่างเดียวกัน ฯ อบายทั้งหลายชื่อว่า ทุคติ เพราะเปรียบกับเทวดาและมนุษย์ อุปปัตติ (การเกิด) ทั้งปวงชื่อว่า ทุคติ เพราะเปรียบกับพระนิพพาน นี้เป็นความต่างกันแห่งทุคติ ฯ จบ อธิฏฐานหารสัมปาตะ 15. ปริกขารหารสัมปาตะ [77] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น การประชุมปริกขารหาระเป็นไฉน คาถาว่า "ตสฺมา รกฺขิตจิตฺตสฺส สมฺมาสงฺกปฺปโคจโร" ดังนี้ ฯ ธรรมนี้เป็นปริกขารของสมถะและวิปัสสนา ฯ จบ ปริกขารหารสัมปาตะ 16. สมาโรปนหารสัมปาตะ [78] ในหารสัมปาตะ 16 นั้น การประชุมสมาโรปนหาระเป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้รักษาจิต มีความดำริชอบเป็นโคจร มุ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า รู้ความเกิดและความเสื่อมแล้ว ครอบงำถีนมิทธะ พึงละทุคติทั้งปวง" ดังนี้ ฯ คำว่า "เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงรักษาจิต มีความดำริชอบเป็นโคจร" นี้เป็นปทัฏฐานแห่งสุจริต 3 คือ เมื่อจิตอันตนรักษาแล้ว กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม นั้นก็ย่อมเป็นอันตนรักษาแล้ว ฯ คำว่า "มุ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า" ความว่า เมื่อสัมมาทิฏฐิอันตนอบรมแล้ว อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ย่อมเป็นอันตนอบรมแล้ว เพราะเหตุไรเพราะ สัมมาสังกัปปะย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาทิฏฐิ สัมมาวาจาย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาสังกัปปะ สัมมากัมมันตะย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาวาจา สัมมาอาชีวะย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมากัมมันตะ สัมมาวายามะย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาอาชีวะสัมมาสติย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาวายามะ สัมมาสมาธิย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาสติสัมมาวิมุตติย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาสมาธิ สัมมาวิมุตติญาณทัสสนะย่อมเกิดขึ้นเพราะสัมมาวิมุตติ นี้เป็นบุคคลผู้มีอุปาทิเหลืออยู่ และนิพพานธาตุไม่มีอุปาทิเหลืออยู่ ฯ จบ สมาโรปนหารสัมปาตะ เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะจึงกล่าวว่าหาระ 16 ควรกระทำก่อนแล้วใคร่ครวญธรรมที่เป็นทิศ (กุศล 9 อกุศล 9)ด้วยนัยที่ชื่อว่า ทิสโลจนะแล้วย่อไว้ด้วยอังกุสนัย พึงแสดงพระสูตรด้วยนัยทั้ง 3 อย่างนี้แล" ดังนี้ ฯ จบ หารสัมปาตะ 16 ฉะนี้ ฯ +นยสมุฏฐาน นันทิยาวัฏฏนัย [79] ในสมุฏฐานนั้น เหตุที่เกิดแห่งนัย เป็นไฉน ที่สุดเบื้องต้น แห่งอวิชชาและภวตัณหา ย่อมไม่ปรากฏ ฯ ในอวิชชาและภวตัณหานั้น เครื่องกางกั้น คือ อวิชชา เครื่องผูกพัน คือ ตัณหา ฯ สัตว์ทั้งหลายมีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีอวิชชาประกอบไว้ ย่อมประพฤติเป็นไป โดยฝ่ายแห่งอวิชชา สัตว์เหล่านั้น ท่านเรียกว่า ทิฏฐิจริต ฯ สัตว์ทั้งหลายมีตัณหาเป็นเครื่องผูกพัน มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ย่อมประพฤติเป็นไป โดยฝ่ายแห่งตัณหา สัตว์เหล่านั้น ท่านเรียกว่า ตัณหาจริต ฯ สัตว์ผู้ทิฏฐิจริตบวชในภายนอกจากพระศาสนานี้ ย่อมขวนขวายในอัตตกิลมถานุโยคอยู่ ฯ สัตว์ผู้ตัณหาจริตบวชในภายนอกจากพระศาสนานี้ ขวนขวายในกามสุขัลลิกานุโยคในกามทั้งหลายอยู่ ฯ ในทิฏฐิจริตและตัณหาจริตเหล่านั้น อะไรเป็นเหตุ เหตุทั้งหลายมีอยู่เหตุนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้มีทิฏฐิจริตบวชในภายนอกจากพระศาสนานี้เป็นผู้ขวนขวายในการประกอบตนให้ลำบาก บุคคลผู้มีตัณหาจริต บวชในภายนอกจากพระศาสนานี้ เป็นผู้ขวนขวายในการประกอบตนให้ชุ่มอยู่ด้วยกามสุขในกามทั้งหลายอยู่ ฯ การกำหนดสัจจะ ย่อมไม่มีในภายนอกจากพระศาสนานี้การประกาศสัจจะ 4 หรือความเป็นผู้ฉลาดในสมถวิปัสสนา หรือการถึงสุขอันสงบ จักมีแต่ที่ไหน ฯ ชนเหล่านั้น ไม่รู้แจ้งซึ่งสุขอันสงบระงับ มีใจวิปริต ย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า "ความสุข อันบุคคลพึงบรรลุด้วยความสุข ย่อมไม่มี ชื่อว่าความสุข อันบุคคลพึงบรรลุด้วยความทุกข์ มีอยู่" ดังนี้ ฯ ชนเหล่านั้น มีความสำคัญอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า "ชนใดย่อมเสพกาม ชนนั้นย่อมยังโลกให้เจริญ คนใดยังโลกให้เจริญ คนนั้น ย่อมประสบซึ่งบุญเป็นอันมาก" ดังนี้ เมื่อปรารถนาสุขด้วยทุกข์ มีความสำคัญบุญในกามทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้ขวนขวายในอัตตกิลมถานุโยค และขวนขวายในกามสุขัลลิกานุโยค ชนเหล่านั้น ไม่รู้ความสุขอันสงบ มีอยู่ ย่อมยังโรคเท่านั้นให้เจริญ ย่อมยังฝีนั่นแหละให้เจริญย่อมยังลูกศรนั่นแหละให้เจริญ ชนเหล่านั้นผู้อันโรคครอบงำแล้ว ผู้อันฝีเบียดเบียนแล้ว ผู้อันลูกศรเสียบแทงแล้ว ก็กระทำการจุติและเกิดขึ้นในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในกำเนิดเปรตและอสุรกาย เสวยอยู่เฉพาะซึ่งการฆ่าและถูกข่มเหง ย่อมไม่ประสบเภสัชเป็นเครื่องเยียวยารักษาโรค ฝี และลูกศร ฯ บรรดาสังกิเลส โวทาน โรคและเภสัชเป็นต้นนั้น อัตตกิลมถานุโยคและกามสุขัลลิกานุโยค เป็นสังกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) สมถวิปัสสนาเป็นโวทานอัตตกิลมถานุโยคและกามสุขัลลิกานุโยคเป็นโรค สมถวิปัสสนาเป็นเภสัชกำจัดโรค อัตตกิลมถานุโยคและกามสุขัลลิกานุโยคเป็นฝี สมถวิปัสสนาเป็นเภสัชกำจัดฝีอัตตกิลมถานุโยคและกามสุขัลลิกานุโยคเป็นลูกศร สมถวิปัสสนาเป็นเภสัชถอนลูกศร ฯ ในธรรมมีสังกิเลสเป็นต้นเหล่านั้น สังกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) เป็นทุกข์ตัณหาเกี่ยวข้องกับทุกข์นั้นเป็นสมุทัย การดับตัณหาเป็นการดับทุกข์ สมถวิปัสสนาเป็นปฏิปทาให้ถึงการดับทุกข์ บัณฑิตพึงประกอบสัจจะ 4 เหล่านี้ ในสัจจะ 4เหล่านั้น ทุกข์เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นธรรมที่ควรละ มรรคเป็นธรรมที่ควรเจริญ นิโรธเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ฯ [80] บรรดาทิฏฐิจริตและตัณหาจริตเหล่านั้น บุคคลผู้ทิฏฐิจริต ย่อมยึดรูปโดยความเป็นตน ย่อมยึดเวทนา ฯลฯ ย่อมยึดสัญญา ฯลฯ ย่อมยึดสังขารทั้งหลาย ฯลฯ ย่อมยึดวิญญาณ โดยความเป็นตน (อัตตา) ฯ บุคคลผู้ตัณหาจริต ย่อมยึดตนมีรูป หรือยึดรูปในตน หรือว่า ยึดตนในรูป ย่อมยึดตนมีเวทนาฯลฯ ย่อมยึดตนมีสัญญา ฯลฯ ย่อมยึดตนมีสังขาร ฯลฯ ย่อมยึดตนมีวิญญาณหรือย่อมยึดตนวิญญาณในตน หรือว่า ย่อมยึดตนในวิญญาณ มิจฉาทิฏฐิ มีวัตถุ 20 นี้ ท่านเรียกว่า สักกายทิฏฐิ ฯ โลกุตตรสัมมาทิฏฐิ (ปฐมมรรค) เป็นปฏิปักษ์ต่อสักกายทิฏฐิ 20 นั้นสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ย่อมคล้อยตามสัมมาทิฏฐินั้น ธรรมมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นนี้ เป็นอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 มรรค 8 เหล่านั้นเป็นขันธ์ 3 คือสีลขันธ์ สมาธิขันธ์ และปัญญาขันธ์ ฯ สีลขันธ์และสมาธิขันธ์เป็นสมถะ ปัญญาขันธ์เป็นวิปัสสนา ฯ ในทิฏฐิจริตและตัณหาจริตเหล่านั้น สักกายะ (กายของตน)เป็นทุกข์ สักกายสมุทัยเป็นเหตุเกิดของทุกข์ สักกายนิโรธเป็นการดับทุกข์อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์ ธรรมเหล่านี้เป็นสัจจะ 4 ในสัจจะเหล่านั้น ทุกข์เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นธรรมที่พึงละมรรคเป็นธรรมที่ควรเจริญ นิโรธเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้งแล ฯ ในทิฏฐิจริตและตัณหาจริตเหล่านั้น บุคคลเหล่าใด ย่อมยึดรูป โดยความเป็นตน ย่อมยึดเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ ย่อมยึดวิญญาณโดยความเป็นตน บุคคลผู้มีทิฏฐิจริตเหล่านี้ เรียกว่า มีปกติกล่าวว่าขาดสูญ(อุจเฉทวาทะ) เพราะมีรูปเป็นต้นเป็นตน และความที่ธรรมมีรูปเป็นต้นไม่เที่ยงและแม้ความที่อัตตาก็ไม่เที่ยง อัตตาย่อมขาดสูญ อัตตาย่อมพินาศ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกอัตตาย่อมขาดสูญ ฯ บุคคลเหล่าใด ย่อมยึดตนมีรูปหรือยึดรูปในตน หรือยึดตนมีในรูป ย่อมยึดตนมีเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ ย่อมยึดตนมีวิญญาณ หรือยึดวิญญาณในตน หรือยึดตนมีในวิญญาณ บุคคลมีทิฏฐิจริตเหล่านี้ เรียกว่า มีปกติกล่าวว่าเที่ยง (สัสสตวาทะ) ฯ เพราะเห็นเป็น 2 อย่าง ฯ ในบุคคลผู้มีปกติกล่าวว่าขาดสูญและเที่ยงนั้น วาทะว่าขาดสูญและเที่ยงเป็นปฏิปทาที่สุด (โต่ง) 2 อย่าง ฯ ปฏิปทาทั้ง 2 ที่สุดโต่งนี้ ย่อมเป็นไปในสังสาร ฯ ในปฏิปทาที่เป็นไปในสังสารและไม่เป็นไปในสังสารนั้น ปฏิปทาที่เป็นไปในสังสารเป็นทุกข์ ตัณหาที่เกี่ยวข้องกับทุกข์นั้นเป็นสมุทัย การดับตัณหาเป็นการดับทุกข์ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 เป็นปฏิปทาให้ถึงการดับทุกข์ธรรมเหล่านี้เป็นสัจจะ 4 ในสัจจะ 4 นั้น ทุกข์เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นธรรมที่ควรละ มรรคเป็นธรรมที่ควรเจริญ นิโรธเป็นธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง ฯ ในอุทเฉทะ สัสสตะและมรรคนั้น อุจเฉททิฏฐิและสัสสตทิฏฐิ ได้แก่สักกายทิฏฐิมีวัตถุ 20 โดยย่อ โดยพิสดาร ได้แก่ ทิฏฐิ 62 ประการ ฯ ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อทิฏฐิเหล่านั้น ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม 43 วิโมกข์ 8 และ กสิณายตนะ 10 ฯ ทิฏฐิ 62 เป็นโมหะและชาละ อันเป็นไปไม่มีที่สุดในเบื้องต้น ฯ โพธิปักขิยธรรม 43 เป็นวชิรญาณ เป็นเครื่องทำลายโมหะและ ชาละอันเป็นไปไม่มีที่สุดในเบื้องต้น ฯ ในโมหะและชาละ (ข่าย) ทั้ง 2 นั้น โมหะ ได้แก่อวิชชา ข่าย (ชาลํ) ได้แก่ ภวตัณหา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"ที่สุดเบื้องต้นแห่งอวิชชาและภวตัณหา ย่อมไม่ปรากฏ" ดังนี้ ฯ [81] ในบุคคลผู้มีทิฏฐิจริตและตัณหาจริตเหล่านั้น บุคคลผู้ทิฏฐิจริต บวชในพระศาสนานี้ย่อมประพฤติสืบต่อเนือง ๆ ในการขัดเกลา เป็นผู้คารวะกล้าในการขัดเกลา ฯ บุคคลผู้ตัณหาจริต บวชในพระศาสนานี้ เป็นผู้ประพฤติเนือง ๆ ในสิกขา เป็นผู้เคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา ฯ บุคคลผู้ทิฏฐิจริต เมื่อก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า ธัมมานุสารี ฯ บุคคลผู้ตัณหาจริต เมื่อก้าวล่วงลงสู่สัมมัตตนิยาม ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า สัทธานุสารี ฯ บุคคลผู้ทิฏฐิจริต ย่อมออก(จากสังสาร) ด้วยสุขาปฏิปทาทันธาภิญญา และย่อมออกไปด้วยสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ฯ บุคคลผู้ตัณหาจริต ย่อมออกด้วยทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาและทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ฯ ในบุคคลทั้ง 2 เหล่านั้น บุคคลใดย่อมออกด้วยเหตุใด เหตุนั้นเป็นไฉน กามทั้งหลายของบุคคลผู้ตัณหาจริตนั้น เป็นกามไม่สละได้โดยง่าย เหตุใด เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ตัณหาจริต จึงออกด้วยปฏิปทาที่ลำบากทั้งตรัสรู้ช้า และออกไปด้วยปฏิปทาที่ลำบากและตรัสรู้เร็ว ฯ บุคคลผู้ตัณหาจริตนั้น ผู้อันวัตถุกามและกิเลสกามรึงรัดอยู่ สลัดออกโดยยากและรู้ธรรมช้า ฯ แต่บุคคลใด คือ ผู้มีทิฏฐิจริตนี้ไม่ต้องการกามทั้งหลายตั้งแต่ต้นทีเดียว บุคคลผู้ทิฏฐิจริตนั้น ผู้อันกามเหล่านั้นไม่รึงรัดอยู่ (ปล่อยอยู่) จึงสลัดออกได้พลัน และย่อมรู้ธรรมได้เร็วพลัน ฯ ปฏิปทา แม้ลำบากก็มี 2 อย่าง คือ ตรัสรู้ช้าและตรัสรู้เร็ว ฯ ปฏิปทาแม้สบายก็มี 2 อย่างคือ ตรัสรู้ช้าและตรัสรู้เร็ว ฯ แม้สัตว์ทั้งหลายก็มี 2 อย่างคือ ผู้มีอินทรีย์อ่อนก็มี ผู้มีิอินทรีย์แก่กล้าก็มี ฯ สัตว์เหล่าใดมีอินทรีย์อ่อน สัตว์เหล่านั้น ย่อมสลัดออกช้าและรู้ธรรมช้า ฯ สัตว์เหล่าใด มีอินทรีย์แก่กล้า สัตว์เหล่านั้น ย่อมสลัดออกได้เร็วและย่อมรู้ธรรมได้เร็ว ฯ ปฏิปทา 4 เหล่านี้ มีอยู่ ฯ จริงอยู่ สัตว์เหล่าใด ออกไปด้วยปฏิปทา 4 ในอดีตบ้าง หรือย่อมออกไปในปัจจุบันบ้าง หรือจักออกไปในอนาคตบ้าง สัตว์เหล่านั้นก็ออกไปด้วยปฏิปทา 4 เหล่านี้ ฯ ด้วยประการตามที่กล่าวแล้วนี้ พระอริยะทั้งหลาย ย่อมประกาศหมวด 4 แห่งมรรคปฏิปทา 4 เพื่ออันไม่หมุนไปแห่งภวตัณหา อันเพลิดเพลิน อันมีปกติอยู่ในราตรีของผู้กำหนัด อันชนผู้ไม่มีปัญญาเสพแล้ว อันชนพาลใคร่ ความประกอบสัจจะ 4 ด้วยอำนาจตัณหา อวิชชา และด้วยอำนาจสมถวิปัสสนา นี้เรียกว่า ภูมิ เพราะเป็นสมุฏฐานแห่งนัย ชื่อว่า นันทิยาวัฏฏะ แล เพราะเหตุนั้นท่านพระมหากัจจายนะจึงกล่าวว่า "ตณฺหญฺจ อวิชฺชมฺมิ จ สมเถน" เป็นต้น ฯ +สีหวิกีฬิตนัย [82] ก็ธรรมเหล่าใด (ที่เป็นทิศ) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "กุศลและอกุศล"ในไวยากรณ์ทั้งหลาย ธรรมเหล่านั้น บัณฑิตพึงใคร่ครวญ โดยภาวะ 2 อย่างคือโลกวัฏฏานุสารี (หมุนไปตามโลก) และโลกวิวัฏฏานุสารี (ไม่หมุนไปตามโลก) ฯ สังสาร ชื่อว่า วัฏฏะ ฯ พระนิพพาน ชื่อว่า วิวัฏฏะ ฯ กรรมและกิเลสเป็นเหตุแห่งสังสาร ฯ บรรดากรรมและกิเลสนั้น บัณฑิตพึงแสดงว่า เจตนาเป็นกรรม และเป็นเจตสิก ฯ คำนั้นพึงเห็นได้อย่างไร กรรมพึงเห็นได้โดยการสั่งสม กิเลสแม้ทั้งหมดพึงเห็นได้ด้วยวิปลาส ฯ กิเลสเหล่านั้น พึงเห็นได้ในที่ไหน ในกองแห่งกิเลสมีวัตถุ 10 หมวด ฯ วัตถุ 10 หมวดเป็นไฉน วัตถุ 10 คืออาหาร 4 วิปลาส 4 อุปาทาน 4,โยคะ 4 คันถะ 4 อาสวะ 4,โอฆะ 4 สัลละ 4 วิญญาณฐิติ 4,การถึงอคติ 4 ฯ, วิปลาสที่ 1 (รูปสุภะ) ย่อมเป็นไปในกวฬิงการาหารที่ 1 เป็นอารมณ์,วิปลาสที่ 2 ย่อมเป็นไปในอาหารที่ 2 เป็นอารมณ์,วิปลาสที่ 3 ย่อมเป็นไปในอาหารที่ 3 เป็นอารมณ์,วิปลาสที่ 4 ย่อมเป็นไปในอาหารที่ 4 เป็นอารมณ์ ฯ อุปาทานที่ 1 (กาม) ย่อมเป็นไปในวิปลาสที่ 1 เป็นอารมณ์,อุปาทานที่ 2 ย่อมเป็นไปในวิปลาสที่ 2 เป็นอารมณ์,อุปาทานที่ 3 ย่อมเป็นไปในวิปลาสที่ 3 เป็นอารมณ์,อุปาทานที่ 4 ย่อมเป็นไปในวิปลาสที่ 4 เป็นอารมณ์ ฯ โยคะที่ 1 (กาม) ย่อมเป็นไปในอุปาทานที่ 1 เป็นอารมณ์,โยคะที่ 2 ย่อมเป็นไปในอุปาทานที่ 2 เป็นอารมณ์,โยคะที่ 3 ย่อมเป็นไปในอุปาทานที่ 3 เป็นอารมณ์,โยคะที่ 4 ย่อมเป็นไปในอุปาทานที่ 4 เป็นอารมณ์ ฯ คันถะที่ 1 (อภิชฌา) ย่อมเป็นไปในโยคะที่ 1 เป็นอารมณ์,คันถะที่ 2 ย่อมเป็นไปในโยคะที่ 2 เป็นอารมณ์,คันถะที่ 3 ย่อมเป็นไปในโยคะที่ 3 เป็นอารมณ์,คันถะที่ 4 ย่อมเป็นไปในโยคะที่ 4 เป็นอารมณ์ ฯ อาสวะที่ 1 (กาม) ย่อมเป็นไปในคันถะที่ 1 เป็นอารมณ์,อาสวะที่ 2 ย่อมเป็นไปในคันถะที่ 2 เป็นอารมณ์,อาสวะที่ 3 ย่อมเป็นไปในคันถะที่ 3 เป็นอารมณ์,อาสวะที่ 4 ย่อมเป็นไปในคันถะที่ 4 เป็นอารมณ์ ฯ โอฆะที่ 1 (กาม) ย่อมเป็นไปในอาสวะที่ 1 เป็นอารมณ์,โอฆะที่ 2 ย่อมเป็นไปในอาสวะที่ 2 เป็นอารมณ์,โอฆะที่ 3 ย่อมเป็นไปในอาสวะที่ 3 เป็นอารมณ์,โอฆะที่ 4 ย่อมเป็นไปในอาสวะที่ 4 เป็นอารมณ์ ฯ สัลละ (ลูกศร) ที่ 1 (ราคะ) เป็นไปในโอฆะที่ 1 เป็นอารมณ์,สัลละที่ 2 เป็นไปในโอฆะที่ 2 เป็นอารมณ์,สัลละที่ 3 เป็นไปในโอฆะที่ 3 เป็นอารมณ์,สัลละที่ 4 เป็นไปในโอฆะที่ 4 เป็นอารมณ์ ฯ วิญญาณฐิติที่ 1 เป็นไปในลูกศร (สัลละ) ที่ 1 เป็นอารมณ์,วิญญาณฐิติที่ 2 เป็นไปในลูกศรที่ 2 เป็นอารมณ์,วิญญาณฐิติที่ 3 เป็นไปในลูกศรที่ 3 เป็นอารมณ์,วิญญาณฐิติที่ 4 เป็นไปในลูกศรที่ 4 เป็นอารมณ์ ฯ อคติที่ 1 (ฉันทะ) เป็นไปในวิญญาณฐิติที่ 1 เป็นอารมณ์,อคติที่ 2 เป็นไปในวิญญาณฐิติที่ 2 เป็นอารมณ์,อคติที่่ 3 เป็นไปในวิญญาณฐิติที่ 3 เป็นอารมณ์,อคติที่ 4 เป็นไปในวิญญาณฐิติที่ 4 เป็นอารมณ์ ฯ [83] ในธรรมที่เป็นปัจจัยมีอาหารเป็นต้นเหล่านั้น กวฬิงการาหารและผัสสาหารอันใด อาหาร 2 เหล่านี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ตัณหาจริต ฯ มโนสัญเจตนาหารและวิญญาณาหารอันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้มีทิฏฐิจริต ฯ ในวิปลาสเหล่านั้น วิปลาสในสิ่งที่ไม่งามว่างาม และวิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าสุขอันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ตัณหาจริต วิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง และวิปลาสในสิ่งที่มิใช่ตนว่าตนอันใด ทั้ง 2 นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ทิฏฐิจริต ฯ ในอุปาทานเหล่านั้น กามุปาทานและภวุปาทาน อันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ตัณหาจริต ทิฏฐุปาทานและอัตตวาทุปาทาน อันใด ทั้ง 2นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ทิฏฐิจริต ฯ ในโยคะเหล่านั้น กามโยคะและภวโยคะ อันใด ทั้ง 2 นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ตัณหาจริต ทิฏฐิโยคะและอวิชชาโยคะ อันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ทิฏฐิจริต ฯ ในคันถะเหล่านั้น อภิชฌากายคันถะและพยาปาทคันถะ อันใด ทั้ง 2 นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ตัณหาจริต ปรามาสกายคันถะและอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ อันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ทิฏฐิจริต ฯ ในอาสวะเหล่านั้น กามาสวะและภวาสวะ อันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ตัณหาจริต ทิฏฐาสวะและอวิชชาสวะ อันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ทิฏฐิจริต ฯ ในโอฆะเหล่านั้น กาโมฆะและภโวฆะ อันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ตัณหาจริต ทิฏโฐฆะและอวิชโชฆะ อันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ทิฏฐิจริต ฯ ในสัลละเหล่านั้น ลูกศรคือราคะและลูกศรคือโทสะ อันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ตัณหาจริต ลูกศรคือมานะและลูกศรคือโมหะ อันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ทิฏฐิจริต ฯ ในวิญญาณฐิติเหล่านั้น วิญญาณฐิติที่เข้าถึงรูปและวิญญาณฐิติที่เข้าถึงเวทนา อันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ตัณหาจริต วิญญาณฐิติที่เข้าถึงสัญญาและวิญญาณฐิติที่เข้าถึงสังขาร อันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ทิฏฐิจริต ฯ ในอคติเหล่านั้น ฉันทาคติและโทสาคติ อันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ตัณหาจริต ภยาคติและโมหาคติ อันใด ทั้ง 2 นี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของบุคคลผู้ทิฏฐิจริต ฯ [84] บรรดาธรรมเหล่านั้น วิปลาส "ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม" ในกวฬิงการาหารวิปลาส "ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข" ในผัสสาหาร วิปลาส "ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง" ในวิญญาณาหาร วิปลาส "ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าตน" ในมโนสัญเจตนาหาร บุคคลผู้ตั้งอยู่ในวิปลาสที่ 1 ย่อมยึดมั่นกามทั้งหลาย การยึดมั่นนี้ เรียกว่ากามุปาทาน ฯ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในวิปลาสที่ 2 ย่อมยึดมั่นภพอันเป็นอนาคต นี้เรียกว่า ภวุปาทาน บุคคลผู้ตั้งอยู่ในวิปลาสที่ 3 ย่อมยึดมั่นซึ่งทิฏฐิอันเพลิดเพลินในสังสาร นี้เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน ฯ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในวิปลาสที่ 4 ย่อมยึดมั่นซึ่งตนว่าสมควร นี้เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน ฯ บุคคลอันกามุปาทานใด ผูกไว้กับกามทั้งหลาย ธรรมคือ กามุปาทานนี้เรียกว่า กามโยคะ ฯ บุคคลอันภวุปาทานใด ผูกไว้กับภพทั้งหลาย ธรรมคือภวุปาทาน นี้เรียกว่า ภวโยคะ ฯ บุคคลอันทิฏฐุปาทานใด ผูกไว้กับทิฏฐิธรรมคือทิฏฐุปาทานนี้ เรียกว่า ทิฏฐิโยคะ ฯ บุคคลอันอัตตวาทุปาทานใดผูกไว้กับอวิชชา ธรรมคือ อัตตวาทุปาทานนี้ เรียกว่า อวิชชาโยคะ ฯ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในโยคะที่ 1 นามกายย่อมผูก คือย่อมสืบต่อด้วยอภิชฌาอันมีลักษณะเพ่งเล็ง (โลภ) ในวัตถุของคนอื่นนี้ ท่านเรียกว่า อภิชฌากายคันถะ ฯ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในโยคะที่ 2 นามกายย่อมผูก คือย่อมสืบต่อด้วยพยาบาทอันมีลักษณะยังจิตให้ประทุษร้าย ในอาฆาตวัตถุทั้งหลายนี้ ท่านเรียกว่าพยาปาทกายคันถะ ฯ บุคคผู้ตั้งอยู่ ในโยคะที่ 3 นามกายย่อมผูก คือ ย่อมสืบต่อด้วยการยึดมั่นนี้ ท่านเรียกว่า ปรามาสกายคันถะ ฯ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในโยคะที่ 4 นามกายย่อมผูก คือย่อมสืบต่อด้วยการยึดมั่นว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง นี้ท่านเรียกว่า อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ฯ กิเลสทั้งหลายของบุคคลนั้นผูกไว้แล้วอย่างนี้ ย่อมไหลไปฯ กิเลสทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมไหลไปแต่ที่ไหน ย่อมไหลไปแต่อนุสัย หรือแต่ปริยุฏฐาน ฯ ในกิเลสเหล่านั้น ชื่อว่า กามาสวะเป็นธรรมสำเร็จแล้ว เพราะเป็นสภาพแห่งกามราคะอันสำเร็จแล้วโดยอภิชฌากายคันถะ ชื่อว่า ภวาสวะเป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยความสำเร็จโดยพยาปาทกายคันถะ ชื่อว่า ทิฏฐาสวะเป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยความสำเร็จโดยปรามาสกายคันถะ ชื่อว่า อวิชชาสวะเป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยความสำเร็จโดยอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ฯ อาสวะ 4 เหล่านี้ของบุคคลนั้นถึงความมั่งคั่งแล้ว ท่านเรียกว่า โอฆะเพราะอรรถะว่าถ่วงลง คือให้จมลงในวัฏฏะ เพราะฉะนั้น ชื่่อว่า ความมั่งคั่งแห่งโอฆะ เพราะความมั่งคั่งแห่งอาสวะ ฯ ในโอฆะเหล่านั้น ชื่อว่า กาโมฆะ สำเร็จแล้วด้วยกามาสวะ ชื่อว่า ภโวฆะสำเร็จแล้วด้วยภวาสวะ ชื่อว่า ทิฏโฐฆะ สำเร็จแล้วด้วยทิฏฐาสวะ ชื่อว่า อวิชโชฆะสำเร็จแล้วด้วยอวิชชาสวะ ฯ โอฆะ 4 เหล่านี้ ของบุคคลผู้พรั่งพร้อมแล้วนั้น ถึงความเป็นไปร่วมกับอนุสัย เข้าไปสู่อัธยาสัย กระทบแล้วซึ่งหทัยตั้งอยู่ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า สัลละ (ลูกศร) เพราะถอนได้โดยยาก ฯ ในลูกศรเหล่านั้น ชื่อว่า ลูกศร คือราคะ เป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยกาโมฆะ ชื่อว่า ลูกศร คือโทสะ เป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยภโวฆะ ชื่อว่า ลูกศร คือมานะ เป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยทิฏโฐฆะ ชื่อว่าลูกศร คือโมหะ เป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยอวิชโชฆะ ฯ วิญญาณของบุคคลนั้น อันลูกศร 4 เหล่านี้ ไม่ให้โอกาสแล้ว ถือเอาโดยรอบ ย่อมตั้งอยู่ในธรรม 4 คือ ในรูป เวทนา สัญญา และสังขาร อันเป็นอารมณ์ ฯ ในลูกศรเหล่านั้น ชื่อว่า วิญญาณฐิติ (การตั้งอยู่ของวิญญาณ) ที่เข้าถึงรูป เพราะวิญญาณสัมปยุตด้วยความยินดีอันมีลูกศรคือราคะเป็นเหตุ ชื่อว่าวิญญาณฐิติที่เข้าถึงเวทนา เพราะวิญญาณสัมปยุตด้วยความพอใจมีลูกศร คือโทสะเป็นเหตุ ชื่อว่า วิญญาณฐิติที่เข้าถึงสัญญา เพราะวิญญาณสัมปยุตด้วยความพอใจมีลูกศร คือ มานะเป็นเหตุ ชื่อว่า วิญญาณฐิติที่เข้าถึงสังขาร เพราะวิญญาณสัมปยุตด้วยความพอใจมีลูกศร คือโมหะเป็นเหตุ ฯ วิญญาณของบุคคลนั้น อันวิญญาณฐิติ 4 เหล่านี้อุปถัมภ์แล้ว ย่อมถึงความลำเอียง 4 อย่าง คือ ลำเอียงเพราะฉันทะ เพราะโทสะ เพราะความกลัวเพราะโมหะ ในอคติ 4 เหล่านั้น บุคคลย่อมถึงฉันทาคติเพราะราคะ ย่อมถึงโทสาคติเพราะโทสะ ย่อมถึงภยาคติเพราะความกลัว ย่อมถึงโมหาคติเพราะโมหะ ฯ ก็กรรมใดที่กล่าวไว้ก่อนว่า เจตนาเจตสิก กรรมนั้นด้วย กิเลสทั้งหลายเหล่านี้ด้วย นี้เป็นเหตุแห่งสังสาร กิเลสทั้งปวง บัณฑิตพึงแสดงด้วยวิปลาส 4อย่างนี้ ฉะนี้แล ฯ [85] บรรดาพระสูตร 10 มีอาหาร 4 เป็นต้นเหล่านั้น กวฬิงการาหาร เป็นวิปลาส "ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม" เป็นกามุปาทาน เป็นกามโยคะ เป็นอภิชฌากายคันถะ เป็นกามาสวะ เป็นกาโมฆะ เป็นลูกศรคือราคะ เป็นวิญญาณฐิติที่เข้าถึงรูป และเป็นการเข้าถึงความลำเอียงเพราะฉันทะ ดังนี้ ชื่อว่า ทิศที่ 1 ผัสสาหารเป็นวิปลาส "ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าสุข" ดังนี้ เป็นภวุปาทาน เป็นภวโยคะ เป็นพยาปาทกายคันถะ เป็นภวาสวะ เป็นภโวฆะ เป็นลูกศรคือโทสะเป็นวิญญาณฐิติที่เข้าถึงเวทนา และเป็นการถึงความลำเอียงเพราะโทสะ ดังนี้ชื่อว่า ทิศที่ 2 วิญญาณาหารเป็นวิปลาส "ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง" ดังนี้ เป็นทิฏฐุปาทานเป็นทิฏฐิโยคะ เป็นปรามาสกายคันถะ เป็นทิฏฐาสวะ เป็นทิฏโฐฆะ เป็นลูกศรคือมานะ เป็นวิญญาณฐิติที่เข้าถึงสัญญา และเป็นการถึงความลำเอียงเพราะความกลัว ดังนี้ ชื่อว่า ทิศที่ 3 มโนสัญเจตนาหารเป็นวิปลาส "ในสิ่งที่ไม่ใช่ตน ว่าเป็นตน" ดังนี้ เป็นอัตตวาทุปาทาน เป็นอวิชชาโยคะ เป็นอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ เป็นอวิชชาสวะ เป็นอวิชโชฆะ เป็นลูกศรคือโมหะ เป็นวิญญาณฐิติที่เข้าถึงสังขาร และเป็นการถึงความลำเอียงเพราะโมหะ ดังนี้ ชื่อว่า ทิศที่ 4 ในพระสูตร 10 มีอาหาร 4 เป็นต้นนั้น กวฬิงการาหารอันใด และวิปลาสว่า"อสุเภ สุภํ" ดังนี้ อันใดจัดเป็นกามุปาทาน เป็นกามโยคะ เป็นอภิชฌากายคันถะเป็นกามาสวะ เป็นกาโมฆะ เป็นลูกศรคือราคะ เป็นวิญญาณฐิติที่เข้าถึงรูปและเป็นการถึงอคติเพราะฉันทะ ดังนี้ อรรถะแห่งพระสูตร 10 เหล่านี้อย่างเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ธรรมเหล่านี้ เป็นอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) ของบุคคลผู้ราคจริต ฯ ในพระสูตร 10 เหล่านั้น ผัสสาหารอันใด วิปลาสว่า "ทุกฺเข สุขํ" ดังนี้อันใดจัดเป็นภวุปาทาน เป็นภวโยคะ เป็นพยาปาทกายคันถะ เป็นภวาสวะเป็นภโวฆะ เป็นลูกศรคือโทสะ เป็นวิญญาณฐิติที่เข้าถึงเวทนา และเป็นการถึงอคติเพราะโทสะ ดังนี้ พระสูตร 10 เหล่านี้ มีอรรถะอย่างเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ธรรมเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้โทสจริต ฯ ในพระสูตร 10 เหล่านั้น วิญญาณาหารอันใด วิปลาสว่า "อนิจฺเจ นิจฺจํ"ดังนี้ อันใดจัดเป็นทิฏฐุปาทาน เป็นทิฏฐิโยคะ เป็นปรามาสกายคันถะ เป็นทิฏฐาสวะ เป็นทิฏโฐฆะ เป็นลูกศรคือมานะ เป็นวิญญาณฐิติที่เข้าถึงสัญญา และเป็นการถึงอคติเพราะกลัว ดังนี้ พระสูตรเหล่านี้มีอรรถะอย่างเดียวกัน มีพยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ธรรมเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสของทิฏฐิจริตมันทบุคคล ฯ ในอาหาร 4 เหล่านั้น กวฬิงการาหารอันใด ผัสสาหารอันใด อาหารทั้ง 2นี้ย่อมถึงซึ่งการรู้รอบ (ปริญญา) ด้วยวิโมกขมุข ชื่อว่า อัปปณิหิตะ วิญญาณาหารย่อมถึงซึ่งการรอบรู้ด้วยวิโมกขมุข ชื่อว่า สุญญตะ มโนสัญเจตนาหารย่อมถึงซึ่งการรู้รอบด้วยวิโมกขมุข ชื่อว่า อนิมิตตะ ฯ ในวิปลาส 4 เหล่านั้น วิปลาสว่า "อสุเภ สุภํ" ดังนี้อันใด และวิปลาสว่า"ทุกฺเข สุขํ" ดังนี้อันใด วิปลาสทั้ง 2 นี้ย่อมถึงการละ อันตั้งอยู่ไม่ได้ ด้วยอัปปณิหิตวิโมกขมุข ฯ วิปลาสว่า "อนิจฺเจ นิจฺจํ" ดังนี้ วิปลาสนี้ย่อมถึงการละตั้งอยู่ไม่ได้ ด้วยสุญญตวิโมกขมุข ฯ วิปลาสว่า "อนตฺตนิ อตฺตา" ดังนี้วิปลาสนี้ย่อมถึงการละตั้งอยู่ไม่ได้ ด้วยอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในอุปาทาน 4 เหล่านั้น กามุปาทานและภวุปาทานย่อมถึงการละด้วยอัปปณิหิตวิโมกขมุข ทิฏฐุปาทานย่อมถึงการละด้วยสุญญตวิโมกขมุข อัตตวาทุปาทานย่อมถึงการละด้วยอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในโยคะ 4 เหล่านั้น กามโยคะและภวโยคะย่อมถึงการละด้วยอัปปณิหิตวิโมกขมุข ทิฏฐิโยคะย่อมถึงการละด้วยสุญญตวิโมกขมุข อวิชชาโยคะย่อมถึงการละด้วยอนิมิตตวิโมกขมุขในคันถะ 4 เหล่านั้น อภิชฌากายคันถะและพยาปาทกายคันถะย่อมถึงการละด้วยอัปปณิหิตวิโมกขมุข ปรามาสกายคันถะย่อมถึงการละด้วยสุญญตวิโมกขมุข อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะย่อมถึงการละด้วยอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในอาสวะ 4 เหล่านั้น กามาสวะและภวาสวะย่อมถึงการละ ด้วยอัปปณิหิตวิโมกขมุข ทิฏฐาสวะย่อมถึงการละด้วยสุญญตวิโมกขมุข อวิชชาสวะย่อมถึงการละด้วยอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในโอฆะ 4 เหล่านั้น กาโมฆะและภโวฆะย่อมถึงการละด้วยอัปปณิหิตวิโมกขมุข ทิฏโฐฆะย่อมถึงการละด้วยสุญญตวิโมกขมุข อวิชโชฆะย่อมถึงการละด้วยอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในลูกศร 4 เหล่านั้น ลูกศรคือราคะ และลูกศรคือโทสะย่อมถึงการละด้วยอัปปณิหิตวิโมกขมุข ลูกศรคือมานะย่อมถึงการละด้วยสุญญตวิโมกขมุข ลูกศรคือโมหะย่อมถึงการละด้วยอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในวิญญาณฐิติ 4 เหล่านั้น วิญญาณฐิติที่เข้าถึงรูป และวิญญาณฐิติที่เข้าถึงเวทนาย่อมถึงการละด้วยอัปปณิหิตวิโมกขมุข วิญญาณฐิติที่เข้าถึงสัญญาย่อมถึงการละด้วยสุญญตวิโมกขมุข วิญญาณฐิติที่เข้าถึงสังขารย่อมถึงการละด้วยอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในอคติ 4 เหล่านั้น ฉันทาคติและโทสาคติย่อมถึงการละด้วยอัปปณิหิตวิโมกขมุข ภยาคติย่อมถึงการละด้วยสุญญตวิโมกขมุข โมหาคติย่อมถึงการละด้วยอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ธรรมทั้งปวง มีอาหารเป็นต้นมีปกติแล่นไปตามวัฏฏะกล่าวคือโลกอย่างนี้ ธรรมที่เป็นทิศฝ่ายสังกิเลส ย่อมออกไปจากโลกด้วยวิโมกขมุข 3 มี อนิจจานุปัสสนา เป็นต้น ด้วยประการฉะนี้ ฯ [86] ในธรรมเหล่านั้น การนำออกนี้ เป็นไฉน ปฏิปทา 4 สติปัฏฐาน 4 ฌาน 4 วิหารธรรม 4 สัมมัปปธาน 4อัจฉริยอัพภูตธรรม 4 อธิฏฐาน 4 สมาธิภาวนา 4 สุขภาคิยธรรม 4 และอัปปมัญญา 4 ฯ ปฏิปทาข้อที่ 1 (เป็นไปแล้ว) สติปัฏฐานข้อที่ 1 (ย่อมมี) ปฏิปทาข้อที่ 2เป็นสติปัฏฐานข้อที่ 2 ปฏิปทาข้อที่ 3 เป็นสติปัฏฐานข้อที่ 3 ปฏิปทาข้อที่ 4เป็นสติปัฏฐานข้อที่ 4 ฯ สติปัฏฐานข้อที่ 1 เป็นฌานที่ 1 สติปัฏฐานข้อที่ 2เป็นฌานที่ 2 สติปัฏฐานข้อที่ 3 เป็นฌานที่ 3 สติปัฏฐานข้อที่ 4 เป็นฌานที่ 4ฯ ฌานที่ 1 เป็นวิหารธรรมที่ 1 ฌานที่ 2 เป็นวิหารธรรมที่ 2 ฌานที่ 3 เป็นวิหารธรรมที่ 3 ฌานที่ 4 เป็นวิหารธรรมที่ 4 ฯ วิหารธรรมที่ 1 เป็นสัมมัปปธานที่ 1 วิหารธรรมที่ 2 เป็นสัมมัปปธานที่ 2 วิหารธรรมที่ 3 เป็นสัมมัปปธานที่ 3 วิหารธรรมที่ 4 เป็นสัมมัปปธานที่ 4 ฯ สัมมัปปธานที่ 1 เป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 1 สัมมัปปธานที่ 2 เป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 2 สัมมัปปธานที่ 3เป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 3 สัมมัปปธานที่ 4 เป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 4 ฯ อัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 1 เป็นอธิฏฐานที่ 1 อัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 2 เป็นอธิฏฐานที่ 2 อัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 3 เป็นอธิฏฐานที่ 3 อัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 4 เป็นอธิฏฐานที่ 4 ฯ อธิฏฐานที่ 1 เป็นสมาธิภาวนาที่ 1 อธิฏฐานที่ 2 เป็นสมาธิภาวนาที่ 2 อธิฏฐานที่ 3 เป็นสมาธิภาวนาที่ 3 อธิฏฐานที่ 4 เป็นสมาธิภาวนาที่ 4 ฯ สมาธิภาวนาที่ 1 เป็นสุขภาคิยธรรมที่ 1 สมาธิภาวนาที่ 2เป็นสุขภาคิยธรรมที่ 2 สมาธิภาวนาที่ 3 เป็นสุขภาคิยธรรมที่ 3 สมาธิภาวนาที่ 4 เป็นสุขภาคิยธรรมที่ 4 ฯ สุขภาคิยธรรมที่ 1 เป็นอัปปมัญญาที่ 1สุขภาคิยธรรมที่ 2 เป็นอัปปมัญญาที่ 2 สุขภาคิยธรรมที่ 3 เป็นอัปปมัญญาที่ 3สุขภาคิยธรรมที่ 4 เป็นอัปปมัญญาที่ 4 ฯ คืออย่างไรปฏิปทาที่ 1 อันพระโยคาวจรอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐานที่ 1 ให้บริบูรณ์,ปฏิปทาที่ 2 อันพระโยคาวจรอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐานที่ 2 ให้บริบูรณ์,ปฏิปทาที่ 3 อันพระโยคาวจรอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐานที่ 3 ให้บริบูรณ์,ปฏิปทาที่ 4 อันพระโยคาวจรอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐานที่ 4 ให้บริบูรณ์ ฯ สติปัฏฐานที่ 1 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังฌานที่ 1ให้บริบูรณ์, สติปัฏฐานที่ 2 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังฌานที่ 2ให้บริบูรณ์, สติปัฏฐานที่ 3 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังฌานที่ 3ให้บริบูรณ์, สติปัฏฐานที่ 4 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังฌานที่ 4ให้บริบูรณ์ ฯ ฌานที่ 1 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิหารธรรมที่ 1ให้บริบูรณ์, ฌานที่ 2 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิหารธรรมที่ 2ให้บริบูรณ์, ฌานที่ 3 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิหารธรรมที่ 3ให้บริบูรณ์, ฌานที่ 4 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิหารธรรมที่ 4ให้บริบูรณ์ ฯ วิหารธรรมที่ 1 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังการไม่ให้เกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้บริบูรณ์,วิหารธรรมที่ 2 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังการละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้บริบูรณ์,วิหารธรรมที่ 3 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น ให้บริบูรณ์,วิหารธรรมที่ 4 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งอยู่ ไม่หลงลืม ให้เจริญขึ้น ให้บริบูรณ์ ฯ สัมมัปปธานที่ 1 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังการละมานะ ให้บริบูรณ์,สัมมัปปธานที่ 2 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังการถอนขึ้นซึ่งความอาลัยให้บริบูรณ์,สัมมัปปธานที่ 3 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังการละอวิชชาให้บริบูรณ์,สัมมัปปธานที่ 4 อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังการเข้าไปสงบแห่งภพให้บริบูรณ์ ฯ การละมานะ อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัจจาธิฏฐานให้บริบูรณ์, การถอนขึ้นซึ่งความอาลัย อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมยังจาคาธิฏฐานให้บริบูรณ์,การละอวิชชา อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังปัญญาธิฏฐานให้บริบูรณ์,การเข้าไปสงบภพ อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังอุปสมาธิฏฐานให้บริบูรณ์ ฯ สัจจาธิฏฐานอันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังฉันทสมาธิให้บริบูรณ์, จาคาธิฏฐานอันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิริยสมาธิให้บริบูรณ์, ปัญญาธิฏฐานอันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังจิตตสมาธิให้บริบูรณ์, อุปสมาธิฏฐานอันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิมังสาสมาธิ ให้บริบูรณ์ ฯฉันทสมาธิอันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังอินทริยสังวรให้บริบูรณ์, วิริยสมาธิอันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังตบะให้บริบูรณ์,จิตตสมาธิอันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังพุทธิให้บริบูรณ์,วิมังสาสมาธิ อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังการสละคืนอุปธิทั้งปวงให้บริบูรณ์ ฯ อินทริยสังวร อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังเมตตาให้บริบูรณ์, ตบะ อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังกรุณาให้บริบูรณ์,พุทธิ อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังมุทิตาให้บริบูรณ์,สัพพูปธิปฏินิสสัคคะ อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังอุเบกขาให้บริบูรณ์ ฯ ธรรมที่เป็นทิศ 4 เป็นไฉน [87] ในธรรม 10 มีปฏิปทาเป็นต้นนั้น ทิศ 4 เหล่านั้น คือ ปฏิปทาที่ 1,สติปัฏฐานที่ 1 ฌานที่ 1 วิหารธรรมที่ 1 สัมมัปปธานที่ 1 อัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 1,อธิฏฐานคือสัจจะ ฉันทสมาธิ อินทริยสังวร เมตตา ดังนี้ เป็นทิศที่ 1 ฯ ปฏิปทาที่ 2 สติปัฏฐานที่ 2 ฌานที่ 2 วิหารธรรมที่ 2 สัมมัปปธานที่ 2,อัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 2 อธิฏฐานคือจาคะ วิริยสมาธิ ตบะ กรุณา ดังนี้ เป็นทิศที่ 2 ฯ ปฏิปทาที่ 3 สติปัฏฐานที่ 3 ฌานที่ 3 วิหารธรรมที่ 3 สัมมัปปธานที่ 3 อัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 3 อธิฏฐานคือปัญญา จิตตสมาธิ พุทธิ มุทิตา ดังนี้เป็นทิศที่ 3 ฯ ปฏิปทาที่ 4 สติปัฏฐานที่ 4 ฌานที่ 4 วิหารธรรมที่ 4,สัมมัปปธานที่ 4 อัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 4 อธิฏฐานคืออุปสมะ วิมังสาสมาธิสัพพูปธิปฏินิสสัคคะ อุเบกขา ดังนี้ เป็นทิศที่ 4 ฯ ในธรรม 10 เหล่านั้น พระสูตร 10 คือ ปฏิปทาที่ 1 สติปัฏฐานที่ 1,ฌานที่ 1 วิหารธรรมที่ 1 สัมมัปปธานที่ 1 อัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 1 สัจจาธิฏฐานฉันทสมาธิ อินทริยสังวร เมตตา เหล่านี้ มีอรรถะอย่างเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ธรรมนี้เป็นเภสัชชะ (ยาแก้โรค) แห่งบุคคลผู้ราคจริต ฯ ในธรรม 10 เหล่านั้น พระสูตร 10 คือ ปฏิปทาที่ 2 สติปัฏฐานที่ 2 ฌานที่ 2 วิหารธรรมที่ 2 สัมมัปปธานที่ 2 อัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 2 จาคาธิฏฐานวิริยสมาธิ ตบะ และกรุณา เหล่านี้ มีอรรถะอย่างเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ธรรมนี้เป็นยาแก้โรคของบุคคลผู้โทสจริต ฯ ในธรรม 10 เหล่านั้น พระสูตร 10 คือ ปฏิปทาที่ 3 สติปัฏฐานที่ 3 ฌานที่ 3 วิหารธรรมที่ 3 สัมมัปปธานที่ 3 อัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 3 ปัญญาธิฏฐานจิตตสมาธิ พุทธิ มุทิตา เหล่านี้ มีอรรถะอย่างเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกันธรรมนี้เป็นยาแก้โรคของคนทิฏฐิจริตผู้มีปัญญาน้อย ฯ ในธรรม 10 เหล่านั้นพระสูตร 10 คือ ปฏิปทาที่ 4 สติปัฏฐานที่ 4 ฌานที่ 4 วิหารธรรมที่ 4สัมมัปปธานที่ 4 อัจฉริยอัพภูตธรรมที่ 4 อุปสมาธิฏฐาน วิมังสา สมาธิสัพพูปธิปฏินิสสัคคะและอุเบกขา เหล่านี้ มีอรรถะอย่างเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ธรรมนี้เป็นยาแก้โรคของคนมีทิฏฐิจริตผู้มีปัญญาแก่กล้า ฯ ในปฏิปทา 4 นั้น ปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า และปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว เป็นทางแห่งความหลุดพ้น (วิโมกฺขมฺุขํ) ชื่อว่า อัปปณิหิตะ ปฏิบัติสบาย รู้ได้ช้า เป็นทางแห่งความหลุดพ้น ชื่อว่า สุญญตะ ปฏิบัติสบาย รู้ได้เร็ว เป็นทางแห่งความหลุดพ้น ชื่อว่า อนิมิตตะ ฯ ในสติปัฏฐาน 4 นั้น สติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นกายในกาย และสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายเป็นอัปปณิหิตวิโมกขมุขสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นสุญญตวิโมกขมุข สติปัฏฐาน คือการพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายเป็นอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในฌาน 4 นั้น ปฐมฌานและทุติยฌานเป็นอัปปณิหิตวิโมกขมุข ตติยฌานเป็นสุญญตวิโมกขมุข จตุตถฌานเป็นอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในวิหารธรรม 4 นั้น วิหารธรรมที่ 1 และวิหารธรรมที่ 2 เป็นอัปปณิหิตวิโมกขมุข วิหารธรรมที่ 3 เป็นสุญญตวิโมกขมุข วิหารธรรมที่ 4 เป็นอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในสัมมัปปธาน 4 นั้น สัมมัปปธานที่ 1 และสัมมัปปธานที่ 2 เป็นอัปปณิหิตวิโมกขมุข สัมมัปปธานที่ 3 เป็นสุญญตวิโมกขมุข สัมมัปปธานที่ 4เป็นอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในอัจฉริยอัพภูตธรรม 4 นั้น การละมานะ และการถอนขึ้นซึ่งความอาลัยเป็นอัปปณิหิตวิโมกขมุข การละอวิชชาเป็นสุญญตวิโมกขมุข การยังภพให้สงบเป็นอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในอธิฏฐาน 4 นั้น สัจจาธิฏฐาน และจาคาธิฏฐานเป็นอัปปณิหิตวิโมกขมุขปัญญาธิฏฐานเป็นสุญญตวิโมกขมุข อุปสมาธิฏฐานเป็นอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในสมาธิ 4 นั้น ฉันทสมาธิ และวิริยสมาธิเป็นอัปปณิหิตวิโมกขมุข จิตตสมาธิเป็นสุญญตวิโมกขมุข วิมังสาสมาธิเป็นอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในสุขภาคิยธรรม 4 นั้น อินทริยสังวรและตบะเป็นอัปปณิหิตวิโมกขมุขพุทธิ (โพชฌงค์) เป็นสุญญตวิโมกขมุข สัพพูปธิปฏินิสสัคคะเป็นอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ ในอัปปมัญญา 4 นั้น เมตตา และกรุณาเป็นอัปปณิหิตวิโมกขมุขมุทิตาเป็นสุญญตวิโมกขมุข อุเบกขาเป็นอนิมิตตวิโมกขมุข ฯ สีหวิกกีฬิตนัยวิกกีฬิตะใด กล่าวคือการก้าวล่วง และการละซึ่งกิเลสวัตถุ 10 หมวด มีอาหาร 4 เป็นต้น วิกกีฬิตะใด กล่าวคือการเจริญกุศลธรรม 10 หมวด มีปฏิปทา 4 เป็นต้น วิกกีฬิตะใด กล่าวคือการกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทั้ง 3นัยนี้ เป็นวิกกีฬิตะของพระอริยะผู้พ้นแล้วเหล่านั้น ฯ ความที่ธรรมเหล่านั้นเป็นปฏิปักษ์กัน ความที่ธรรมเหล่านั้นอันบุคคลพึงละ ความที่ธรรมเหล่านั้นเป็นผู้ละ พึงทราบด้วยอำนาจฉันทราคะที่ผูกพันกับสิ่ง นั้น ๆ ดังนี้ อาหาร 4 มีอยู่ ปฏิปทา 4 เป็นปฏิปักษ์ต่ออาหารเหล่านั้น ฯลฯ วิปลาส 4มีอยู่ สติปัฏฐาน 4 เป็นปฏิปักษ์ต่อวิปลาสเหล่านั้น ฯ อุปาทาน 4 มีอยู่ ฌาน 4เป็นปฏิปักษ์ต่ออุปาทานเหล่านั้น ฯ โยคะ 4 มีอยู่ วิหารธรรม 4 เป็นปฏิปักษ์ต่อโยคะเหล่านั้น ฯ คันถะ 4 มีอยู่ สัมมัปปธาน 4 เป็นปฏิปักษ์ต่อคันถะเหล่านั้นฯ อาสวะ 4 มีอยู่ อัจฉริยอัพภูตธรรม 4 เป็นปฏิปักษ์ต่ออาสวะเหล่านั้น ฯ โอฆะ 4 มีอยู่ อธิฏฐาน 4 เป็นปฏิปักษ์ต่อโอฆะเหล่านั้น ฯ ลูกศร 4 มีอยู่ สมาธิภาวนาเป็นปฏิปักษ์ต่อลูกศรเหล่านั้น ฯ วิญญาณฐิติ 4 มีอยู่ สุขภาคิยธรรม 4 เป็นปฏิปักษ์ต่อวิญญาณฐิติเหล่านั้น ฯ การถึงอคติ 4 มีอยู่ อัปปมัญญา 4 เป็นปฏิปักษ์ต่อการถึงอคติเหล่านั้น ฯ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธะและพระสาวกทั้งหลาย ผู้ฆ่าราคะโทสะ โมหะแล้ว ชื่อว่า สีหะ การเจริญโพธิปักขิยธรรมที่ควรเจริญ การกระทำให้แจ้งซึ่งผลและนิพพานอันควรกระทำให้แจ้ง การกระทำให้สิ้นไปไม่เหลือแห่งกองกิเลส ชื่อว่า วิกกีฬิตะ ของพระอริยะผู้เป็นสีหะเหล่านั้น ฯ อธิฏฐานคือการเป็นไป การเจริญ และการกระทำให้แจ้งแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ชื่อว่า วิกกีฬิตะและการละ ไม่ให้วิปลาสเกิดขึ้นเป็นไป ชื่่อว่า วิกกีฬิตะ ฯ อินทรีย์มีสัทธินทรีย์เป็นต้น เป็นอารมณ์แห่งสัทธรรมในฝ่ายแห่งโวทาน เป็นเหตุละวิปลาส เป็นอารมณ์แห่งกิเลส นัยนี้เป็นภูมิแห่งนัย ชื่อว่า สีหวิกกีฬิตะและทิสาโลจนะ ฯ เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะจึงกล่าวว่า "นัยใด ย่อมนำไปซึ่งสังกิเลสทั้งหลาย เพราะเป็นอารมณ์วิปลาสทั้งหลาย" เป็นต้น และในการวิสัชชนาอรรถะแห่งพระสูตรว่า "ธรรมเหล่าใดเป็นกุศลและอกุศล" เป็นต้น ฯ +ติปุกขลนัย [88] ในบุคคล 4 เหล่านั้น บุคคลเหล่าใด ย่อมออกไปด้วยการปฏิบัติลำบากรู้ช้า และการปฏิบัติลำบาก รู้เร็ว บุคคลทั้ง 2 เหล่านี้ มีอยู่ บุคคลเหล่าใดย่อมออกไปด้วยการปฏิบัติสบาย รู้ช้า และปฏิบัติสบาย รู้เร็ว บุคคลทั้ง 2 เหล่านี้มีอยู่ ฯ บุคคลทั้ง 4 เหล่านั้น มีสังกิเลสนี้คือ อาหาร 4 วิปลาส 4 อุปาทาน 4โยคะ 4 คันถะ 4 อาสวะ 4 โอฆะ 4 ลูกศร 4 วิญญาณฐิติ 4 และการถึงอคติ 4 ฯ บุคคล 4 เหล่านั้น มีโวทานนี้ คือ ปฏิปทา 4 สติปัฏฐาน 4 ฌาน 4วิหารธรรม 4 สัมมัปปธาน 4 อัจฉริยอัพภูตธรรม 4 อธิฏฐาน 4 สมาธิภาวนา 4 สุขภาคิยธรรม 4 และอัปปมัญญา 4 ฯ ในบุคคล 4 เหล่านั้น บุคคลเหล่าใด ย่อมออกไป ด้วยการปฏิบัติลำบากรู้ช้า และปฏิบัติลำบาก รู้เร็ว บุคคลทั้ง 2 เหล่านี้ ฯ และบุคคลเหล่าใด ย่อมออกไปด้วยการปฏิบัติสบาย รู้ช้า และปฏิบัติสบาย รู้เร็ว บุคคลทั้ง 2 เหล่านี้ ฯ ในบุคคล 4 เหล่านั้น บุคคลใด ย่อมออกไปด้วยการปฏิบัติสบาย รู้เร็ว บุคคลนี้เป็นอุคฆฏิตัญญู ฯ บุคคลใดย่อมออกไปด้วยการปฏิบัติอันเป็นสาธารณะ คือปฏิบัติลำบาก รู้เร็ว และปฏิบัติสบาย รู้ช้า บุคคลนี้เป็นวิปัญจิตัญญู ฯ บุคคลย่อมออกไป ด้วยการปฏิบัติลำบาก รู้ช้า บุคคลนี้เป็นเนยยะ ฯ ในบุคคล 3 เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงแนะนำ สมถะแก่บุคคลผู้อุคฆฏิตัญญู ย่อมทรงแสดงวิปัสสนาแก่เนยยบุคคล ย่อมทรงชี้แจงสมถะและวิปัสสนาแก่วิปัญจิตัญญูบุคคล ฯ ในบุคคลทั้ง 3 นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงแสดงธรรมน้อยแก่อุคฆฏิตัญญูบุคคล ย่อมแสดงธรรมมากแก่เนยยบุคคล ย่อมแสดงธรรมไม่น้อยไม่มากแก่วิปัญจิตัญญูบุคคล ฯ ในบุคคลทั้ง 3 นั้น ย่อมทรงแนะนำการสลัดออกแก่อุคฆฏิตัญญูบุคคล ย่อมทรงชี้แจงถึงโทษ และการสลัดออกแก่วิปัญจิตัญญูบุคคล ย่อมแสดงอัสสาทะ (ความยินดี)อาทีนวะ (โทษ) และการสลัดออกแก่เนยยบุคคล ฯ ในบุคคลทั้ง 3 นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงประกาศ อธิปัญญาสิกขาแก่อุคฆฏิตัญญูบุคคลย่อมทรงประกาศอธิจิตตสิกขาแก่วิปัญจิตัญญูบุคคล ย่อมทรงประกาศอธิศีลสิกขาแก่เนยยบุคคล ฯ ในบุคคล 4 เหล่านั้น บุคคลเหล่าใด ย่อมออกไปด้วยทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาและทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา บุคคล 2 เหล่านี้ และบุคคลเหล่าใดย่อมออกไปด้วยสุขาปฏิปทาทันธาภิญญา และสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา บุคคล 2 เหล่านี้ รวมเป็นบุคคล 4 พวกนี้แล ย่อมเป็นบุคคล 3 คือ อุคฆฏิตัญญูวิปัญจิตัญญและเนยยบุคคล ฉะนี้ ฯ เครื่องเศร้าหมองของบุคคล 3 พวกบุคคล 3 พวกเหล่านั้น มีสังกิเลสนี้ คืออกุศลมูล 3 คือ โลภอกุศลมูล โทสอกุศลมูล โมหอกุศลมูลทุจริต 3 คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตอกุศลวิตก 3 คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกอกุศลสัญญา 3 คือ กามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญาวิปริตสัญญา 3 คือ นิจจสัญญา สุขสัญญา อัตตสัญญาเวทนา 3 คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาทุกขตา 3 คือ ทุกขทุกขตา สังขารทุกขตา วิปริณามทุกขตาอัคคิ 3 คือ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะลูกศร 3 คือ ลูกศรคือราคะ ลูกศรคือโทสะ ลูกศรคือโมหะชัฏ (ชฏา) 3 คือ ชัฏคือราคะ ชัฏคือโทสะ ชัฏคือโมหะอกุสลูปปริกขา 3 คือ อกุศลกายกรรม อกุศลวจีกรรม อกุศลมโนกรรมวิบัติ 3 คือ ศีลวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ ฯ ความผ่องแผ้วของบุคคล 3 พวกบุคคล 3 พวกเหล่านั้น มีโวทาน (ความผ่องแผ้ว) นี้ คือ กุศลมูล 3 คืออโลภะ อโทสะ อโมหะสุจริต 3 คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตกุศลวิตก 3 คือ เนกขัมมวิตก อัพยาปาทวิตก อวิหิงสาวิตกสมาธิ 3 คือ สวิตักกสวิจารสมาธิ อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ อวิตักกอวิจารสมาธิ กุศลสัญญา 3 คือ เนกขัมมสัญญา อัพยาปาทสัญญา อวิหิงสาสัญญาสัญญาไม่วิปริต 3 คือ อนิจจสัญญา ทุกขสัญญา อนัตตสัญญาการตรวจสอบกุศล (กุสลูปปริกฺขา) 3 คือ กายกรรมอันเป็นกุศล วจีกรรมอันเป็นกุศล มโนกรรมอันเป็นกุศลความสะอาด 3 คือ ความสะอาดกาย ความสะอาดวาจา ความสะอาดใจสมบัติ 3 คือ ศีลสมบัติ สมาธิสมบัติ ปัญญาสมบัติสิกขา 3 คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขาขันธ์ 3 คือ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์วิโมกขมุข 3 คือ สุญญตะ อนิมิตตะ อัปปณิหิตะ ฯ บุคคลเป็น 4 พวก ด้วยอำนาจแห่งปฏิปทา 4 เป็น 3 พวกด้วยอำนาจแห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ และเป็น 2 พวก คือ บุคคลผู้ตัณหาจริต และบุคคลผู้ทิฏฐิจริต ฉะนี้แล ฯ เครื่องเศร้าหมองของบุคคล 2 พวกบุคคล 2 พวกเหล่านั้น มีสังกิเลส นี้ คือ ตัณหา อวิชชา อหิริกะ อโนตตัปปะไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มนสิการโดยไม่แยบคาย ความเกียจคร้าน ความเป็นคนว่ายาก (ดื้อรั้น) อหังการ (การถือตัว) มมังการ (ความเห็นแก่ตัว)ไม่มีศรัทธา ประมาท ไม่ฟังพระสัทธรรม ไม่สังวร มีอภิชฌา มีพยาบาทมีนิวรณ์ มีสังโยชน์ มีความโกรธ มีความผูกโกรธ มีความลบหลู่มีการตีเสมอ มีริษยา ความตระหนี่ มีมายา มีความโอ้อวด มีความเห็นว่าเที่ยงและมีความเห็นว่าขาดสูญ ฯ ความผ่องแผ้วของบุคคล 2 พวกบุคคล 2 พวกเหล่านั้น มีโวทาน คือ ความผ่องแผ้วนี้ คือ มีสมถะวิปัสสนา มีิหิริ โอตตัปปะ สติ สัมปชัญญะ มนสิการโดยแยบคาย ปรารภความเพียร มีความเป็นผู้ว่าง่าย ธัมมญาณ (ญาณในปรมัตถ์) อันวยญาณ(อนุโลมญาณ) ขยญาณ อนุปาทญาณ (ญาณในความไม่เกิด) มีศรัทธา มีความไม่ประมาท มีการฟังพระสัทธรรม มีสังวร ไม่มีอภิชฌา ไม่มีพยาบาทเป็นเจโตวิมุตติเพราะสำรอกราคะ เป็นปัญญาวิมุตติเพราะสำรอกอวิชชา มีการตรัสรู้ มีความปรารถนาน้อย มีความสันโดษ มีความไม่โกรธ มีความไม่ผูกโกรธ มีความไม่ลบหลู่ มีความไม่ตีเสมอ ละความริษยา ละความตระหนี่ มีวิชชา มีวิมุตติ มีวิโมกข์อันเป็นสังขตะอารมณ์ มีวิโมกข์อันเป็นอสังขตะอารมณ์มีนิพพานธาตุที่มีวิบากอันเหลืออยู่ และมีอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ฯ นัยนี้ บัณฑิตเรียกว่า ภูมิแห่งติปุกขลมัย และอังกุสนัย ฉะนี้ เพราะเหตุนั้นท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "บุคคลใด ย่อมนำไปซึ่งอกุศลทั้งหลายโดยมูลทั้งหลาย ด้วยกุศลมูล" และ "ด้วยการดูแล้วพิจารณาดูทิศ" ดังนี้ เป็นต้น ฯ จบ นยสมุฏฐาน +สาสนปัฏฐาน [89] ในสาสนปัฏฐานนั้น มูลบท 18 พึงเห็นได้ ณ ที่ไหน? ตอบว่า มูลบท 18 นั้น พึงเห็นในสาสนปัฏฐาน ฯ ในสาสนปัฏฐานอันเป็นไปกับมูลบทนั้น สาสนปัฏฐานนั้นเป็นไฉน สาสนปัฏฐานนั้น เป็นพระสูตรในส่วนแห่งสังกิเลส เป็นพระสูตรในส่วนแห่งวาสนา เป็นพระสูตรในส่วนแห่งสังกิเลสและในส่วนแห่งวาสนา เป็นพระสูตรในส่วนสังกิเลสและในส่วนแห่งปัญญาเครื่องแทงตลอด เป็นพระสูตรในส่วนสังกิเลสและในส่วนแห่งอเสกขะ เป็นพระสูตรในส่วนสังกิเลสและในส่วนแห่งปัญญาเครื่่องแทงตลอดและในส่วนแห่งอเสกขะ เป็นพระสูตรในส่วนแห่งวาสนาและในส่วนแห่งปัญญาเครื่องแทงตลอด เป็นพระสูตรในส่วนแห่งตัณหาสังกิเลส เป็นพระสูตรในส่วนแห่งทิฏฐิสังกิเลส เป็นพระสูตรในส่วนแห่งทุจริตสังกิเลส เป็นพระสูตรในส่วนแห่งตัณหาและโวทาน เป็นพระสูตรในส่วนแห่งทิฏฐิและโวทาน เป็นพระสูตรในส่วนแห่งทุจริตและโวทาน ฯ ในพระสูตรเหล่านั้น สังกิเลสมี 3 อย่างคือ ตัณหาสังกิเลส ทิฏฐิสังกิเลสและทุจริตสังกิเลส ฯ ในสังกิเลสเหล่านั้น ตัณหาสังกิเลส ย่อมหมดจดด้วยสมถะ สมถะนั้นเป็นสมาธิขันธ์ ฯ ทิฏฐิสังกิเลส ย่อมหมดจดด้วยวิปัสสนาวิปัสสนานั้นเป็นปัญญาขันธ์ ฯ ทุจริตสังกิเลสย่อมหมดจดด้วยสุจริต สุจริตนั้นเป็นศีลขันธ์ ฯ ถ้าความปรารถนาในภพย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีลนั้น ผู้ยังไม่อาจตัดฉันทราคะในภพทั้งหลายได้ไซร้ บุญญกิริยาวัตถุอันสำเร็จด้วยภาวนาคือสมถะและวิปัสสนา มีอยู่ บุญญกิริยาวัตถุนี้ ย่อมให้เป็นไปพร้อมเพื่อการเกิดขึ้นในภพนั้น ๆ ฯ พระสูตร 4 เบื้องต้น มีพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งสังกิเลสเป็นต้นเหล่านี้(เป็นอสาธารณะตามนัยแห่งฎีกาจารย์) พระสูตรที่เป็นสาธารณะท่านกระทำไว้ 8 สูตร 8 สูตรนั้นนั่นแหละกระทำไว้เป็น 16 สูตร ฯ ปริยัตติสูตรทั้งสิ้น 9 อย่าง (นวังคสัตถุศาสน์) มีสุตตะและเคยยะเป็นต้นท่านจำแนกโดยพระสูตร 16 เหล่านี้ ฯ พึงนับพระสูตรมีสังกิเลสภาคิยสูตร เป็นต้น อย่างไร คาถาพึงคำนวนด้วยคาถาอันเป็นประเภทแห่งสังกิเลสภาคิยะเป็นต้นไวยากรณ์พึงคำนวนด้วยไวยากรณ์อันเป็นประเภทแห่งสังกิเลสภาคิยะเป็นต้นพระสูตรพึงคำนวนด้วยพระสูตรอันเป็นประเภทแห่งสังกิเลสภาคิยะ เป็นต้น ฯ +สังกิเลสภาคิยสูตร [90] ในโสฬสสูตรนั้น สังกิเลสภาคิยสูตรเป็นไฉน คาถาที่กล่าวไว้ในหนหลังว่า"สัตว์ทั้งหลายมืดมนเพราะกาม ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้แล้ว ถูกเครื่องมุงคือตัณหาปกปิดไว้แล้ว ถูกกิเลสมารและเทวปุตตมารผูกพันไว้แล้ว ย่อมไปสู่ชราและมรณะ เหมือนปลาที่ปากไซ เหมือนลูกโคที่ยังดื่มนม ไปตามแม่โค ฉะนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคตินี้มี 4 อย่าง 4 อย่างเป็นไฉน คือบุคคลย่อมถึงฉันทาคติ ย่อมถึงโทสาคติ ย่อมถึงโมหาคติและย่อมถึงภยาคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ 4 อย่างนี้แล" ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสพระธรรมเทศนาไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว ครั้นแล้วจึงตรัสนิคมคาถาประพันธ์นี้อีกว่า"บุคคลใด ย่อมประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก เพราะความชังเพราะความกลัว เพราะความหลง ยศของผู้นั้น ย่อมเสื่อมไป เหมือนดวงจันทร์ในวันกาฬปักษ์ ฉะนั้น" ดังนี้ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จแล้วด้วยใจถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม กระทำอยู่ก็ตามทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต 3 อย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ ฉะนั้น" ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"เมื่อใด บุคคลเป็นผู้บริโภคมาก มักง่วงซึม นอนหลับ พลิกกลับไปมา ดุจสุกรใหญ่ อันบุคคลปรนปรือเหยื่อ เมื่อนั้น บุคคลนั้น เป็นคนเขลาย่อมเข้าห้องบ่อย ๆ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูุตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"สนิมเกิดขึ้นแต่เหล็ก ครั้นเกิดขึ้นแต่เหล็กแล้ว ย่อมกัดเหล็กนั่นแหละฉันใด กรรมของตน ย่อมนำบุคคลผู้มีปกติประพฤติล่วงปัญญา ชื่อ โธนาไปสู่ทุคติ ฉันนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูุตร พระรัฏฐบาลเถระได้ภาษิตไว้ว่า"โจร ผู้มีธรรมอันชั่วช้า ถูกเขาจับได้พร้อมทั้งของกลาง ย่อมเดือดร้อนและถูกจับเพราะกรรมของตน ฉันใด หมู่สัตว์ผู้มีธรรมอันชั่วช้านี้ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนและถูกจับไปในปรโลกเพราะกรรมของตนฉันนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูุตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ผู้ใด แสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมไม่ได้ความสุขในโลกหน้า" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"เมื่อฝูงโคข้ามแม่น้ำอยู่ ถ้าโคผู้นำไปคดไซร้ โคเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปคด เพราะมีผู้นำไปคด ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใด ได้สมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรมไซร้ จะกล่าวไปใยถึงปวงประชาเหล่านี้ก็ย่อมประพฤติอธรรมเหมือนกัน แว่นแคว้นทั้งหมด จะประสบความทุกข์เพราะผู้นำไม่ตั้งอยู่ในธรรม" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"มนุษย์เหล่านี้ มีรูปอันถึงความลำบากแล้วหนอ ยินดีในอุปธิทั้งหลายแล้ว ย่อมทำบาป มนุษย์เหล่านั้น ย่อมไปสู่นรกอเวจีอันน่ากลัว อันเป็นที่อยู่ของชนหมู่มาก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูุตรพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ผลกล้วยย่อมฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ ดอกอ้อย่อมฆ่าต้นอ้อ ลูกม้าอัสสดรย่อมฆ่าแม่ม้าอัสสดร ฉันใด สักการะย่อมฆ่าบุรุษชั่วฉันนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูุตรพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ภิกษุ เป็นผู้หนักในความโกรธและความลบหลู่ในคุณของผู้อื่นหนักในลาภและสักการะ ย่อมไม่งอกงามในพระสัทธรรม เหมือนเมล็ดพืชเน่าที่บุคคลหว่านแล้ว แม้ในนาดี ฉะนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร [91] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดใจด้วยใจอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ชัดบุคคลบางคนในโลกนี้ ผู้มีจิตอันโทษประทุษร้ายแล้วว่า บุคคลนี้แล ย่อมเคลื่อนย่อมดำเนินไปในทางที่ผิด ถ้าบุคคลนี้ พึงทำกาละในสมัยนี้ พึงตกนรกเหมือนถูกนำไปขังไว้ในนรก ข้อนี้เพราะเหตุอะไร เพราะจิตของเขาอันโทษประทุษร้ายแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะจิตประทุษร้ายเป็นเหตุแลเมื่อกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก" ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคาถาประพันธ์ ดังนี้ว่า"พระพุทธเจ้าทรงทราบบุคคลบางคนในโลกนี้ ผู้มีจิตอันโทษประทุษร้ายแล้ว ได้พยากรณ์เนื้อความนี้แก่ภิกษุทั้งหลายในสำนักของพระองค์ว่าถ้าในสมัยนี้ บุคคลพึงทำกาละไซร้ เขาพึงเข้าถึงนรก เพราะจิตของเขาขุ่นมัว เขาเป็นอย่างนั้น เหมือนถูกนำมาทอดทิ้งไว้ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายย่อมไปสู่ทุคติเพราะเหตุที่จิตขุ่นมัว บุคคลนั้นมีปัญญาทราม ย่อมเข้าถึงนรกเพราะกายแตก" ดังนี้เนื้อความแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ถ้าท่านทั้งหลายกลัวต่อความทุกข์ ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่รักของท่านทั้งหลายไซร้ ท่านทั้งหลายอย่าได้ทำบาปกรรมทั้งในที่แจ้งหรือในที่ลับถ้าท่านทั้งหลายจักทำหรือทำอยู่ซึ่่งบาปกรรมไซร้ ท่านทั้งหลายแม้จะเหาะหนีไป ก็ย่อมไม่พ้นไปจากความทุกข์" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวไว้ว่า"คนพาลเหล่าใด ได้ทรัพย์โดยไม่เป็นธรรม และด้วยการพูดเท็จย่อมสำคัญทรัพย์ทั้ง 2 นั้น ว่าเป็นของเราดังนี้ ทรัพย์นั้นของคนพาลเหล่านั้น จักมีโดยประการใดหนอ อันตรายทั้งหลายจักมี ทรัพย์อันคนพาลนั้นรวบรวมไว้จักพินาศ เมื่อตาย ย่อมไม่ไปสุคติ เพราะอันความเสื่อมในโลกนี้และโลกหน้าขจัดแล้ว" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวไว้ว่า"คนพาลย่อมทำลายตนอย่างไร ย่อมเสื่อมจากมิตรทั้งหลายอย่างไรคนพาลนั้นย่อมไม่เจริญเพราะธรรมอะไร ย่อมไม่ไปสู่สุคติ เพราะอะไร คนพาลย่อมทำลายตนเพราะโลภะ คนโลภย่อมเสื่อมจากมิตรทั้งหลาย ย่อมไม่เจริญเพราะโลภะ ย่อมไม่ไปสุคติเพราะโลภะ" ดังนี้แม้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"คนพาลมีปัญญาทราม มีตนเหมือนข้าศึก เที่ยวทำบาปกรรมอันมีผลเผ็ดร้อน บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลมีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ย่อมเสพผลของกรรมใดกรรมนั้นทำแล้ว ไม่ดี" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร เทวดากล่าวว่า "ธรรมของสมณะ คนไม่ฉลาด ทำได้ยาก ทนได้ยาก เพราะธรรมของสมณะนั้น มีความลำบากมาก ในความเป็นแห่งสมณะ เป็นที่ติดขัดข้องของคนพาล" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูุตร คำกล่าวว่า "จริงอยู่ บุคคลใด เมื่อพระตถาคตกำลังแสดงอรรถะและธรรมะ เป็นคนพาลย่อมยังใจให้ประทุษร้าย ชีวิตของบุคคลนั้นย่อมเป็นโมฆะแลก็บุคคลใด ยังไม่ปราศจากราคะ ย่อมยังจิตให้ประทุษร้ายในพระตถาคตผู้มีคุณไม่มีประมาณ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมติเตียนคนนั้นว่าเป็นผู้มีทุกข์ และมีบาปยิ่งกว่าทุกข์นั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร สุทธาวาสพรหม ปรารภพระกตโมรกติสสกะ ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า"ใครเล่า ผู้มีปัญญาในโลกนี้ จะพึงกำหนดวัดซึ่งพระขีณาสพผู้มีคุณไม่มีประมาณได้ ข้าพระองค์ย่อมเห็นผู้นั้นว่า ไม่มีธุตธรรม ไม่มีปัญญา วัดอยู่ซึ่งพระขีณาสพผู้อันบุคคลไม่พึงประมาณ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร ตุทุปัจเจกพรหมได้กล่าวกะโกกาลิกภิกษุว่า "คนพาล เมื่อกล่าวคำทุพภาษิต ชื่อว่า ย่อมตัดตนด้วยศาสตราใด ก็ศาสตรานั้น ย่อมเกิดในปากของบุรุษผู้เกิดแล้ว จริงอยู่ ศาสตราที่เขาลับดีแล้ว ยาพิษที่มีพิษกล้าย่อมเป็นไปโดยประการใด วาจาทุพภาษิต ย่อมยังสัตว์ผู้ทำผิดให้ตกไป โดยประการนั้น หามิได้ เพราะวาจาทุพภาษิตนั้นย่อมให้ตกไปในอบาย" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร [92] ตุทุปัจเจกพรหมกล่าวต่อไปว่า"ผู้ใด สรรเสริญผู้ที่ควรติหรือติผู้ที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้น ชื่อว่าสั่งสมโทษด้วยปาก เพราะโทษนั้น เขาย่อมไม่ประสบความสุข ความปราชัยด้วยทรัพย์ ในเพราะการพนันทั้งหลาย พร้อมด้วยสิ่งของอันเป็นของตนทั้งหมดก็ดี พร้อมด้วยตนก็ดี ก็เป็นโทษเพียงเล็กน้อย บุคคลใดทำใจให้ประทุษร้าย ในท่านทั้งหลายผู้ดำเนินไปโดยชอบ ความประทุษร้ายแห่งใจของบุคคลนั้น เป็นโทษใหญ่กว่า บุคคลตั้งวาจาและใจอันลามกไว้ เป็นผู้มักติเตียนพระอริยเจ้าย่อมเข้าถึงนรก ซึ่งมีประมาณแห่งอายุถึงแสนสามสิบหกนิรัพพุทะกับห้าอัพพุทะ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสประพันธ์คาถาว่า"ผู้ประกอบเนือง ๆ ในคุณคือความโลภ ไม่มีศรัทธา กระด้างคือห้ามคนอื่นไม่ให้ทำทาน ไม่รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความตระหนี่ ประกอบเนือง ๆ ในคำส่อเสียด ย่อมบริภาษผู้อื่นด้วยวาจาแน่ะคนผู้มีปากเป็นหล่มกล่าวคำอันไม่จริง แน่ะอสัตบุรุษ ผู้กำจัดความเจริญ ผู้ลามก ผู้กระทำความชั่ว ผู้เป็นบุรุษอธรรม เป็นคนกลี เป็นอวชาติ ท่านอย่าได้พูดมากในที่นี้ อย่าเป็นสัตว์นรกท่านย่อมเกลี่ยธุลีคือกิเลสลงในตน ผู้กระทำกรรมมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ผู้กระทำกรรมหยาบ ย่อมติเตียนสัตบุรุษ ท่านประพฤติทุจริตเป็นอันมากแล้ว ย่อมไปสู่นรกสิ้นกาลนาน" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร +วาสนาภาคิยสูตร [93] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่่อว่า วาสนาภาคิยะเป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจถ้าบุคคลมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตาม กระทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะสุจริต 3 อย่างนั้น เหมือนเงามีปกติไปตามตัว ฉะนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร เจ้ามหานามศากยราช ได้กราบทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนครกบิลพัสดุ์นี้ เป็นพระนครมั่งคั่งเจริญรุ่งเรือง มีผู้คนมาก แออัดไปด้วยมนุษย์ มีถนนคับแคบ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันนั่งใกล้ (เยี่ยมเยียน) พระผู้มีพระภาคเจ้าหรือนั่งใกล้ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นที่เจริญใจแล้ว เมื่อเข้าไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลาเย็น ย่อมไม่เข้าไปพร้อมกับช้าง ม้า รถ เกวียน และแม้กับบุรุษสมัยนั้น หม่อมฉันลืมสติที่ปรารภถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมพระสงฆ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมีความดำริว่า ถ้าในเวลาเย็นเราพึงทำกาละ คติของเราจะเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพจะเป็นอย่างไร"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ขอถวายพระพร มหาบพิตรอย่ากลัวเลย ๆ การสวรรคตอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตรดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ธรรม 4 ประการเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้าว่า อิติปิโส ภควา อรหํ ฯลฯ พุทฺโธ ภควา ดังนี้เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิทั้งหลาย ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนต้นไม้ ที่น้อมไป โน้มไปโอนไป ทางทิศปราจีน เมื่อรากขาดแล้ว จะพึงล้มไปทางไหน" "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พึงล้มไปทางต้นไม้น้อมไป โน้มไป โอนไป พระเจ้าข้า""ดูกรมหาบพิตร ฉันนั้นเหมือนกัน อริยสาวก ผู้ประกอบด้วยธรรม 4เหล่านี้แล ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่พระนิพพาน โน้มไปสู่พระนิพพาน โอนไปสู่พระนิพพาน ขอถวายพระพร มหาบพิตรอย่ากลัวเลย การสวรรคตอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ผู้ใด แสวงหาความสุขเพื่่อตน ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่กามสุขด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมได้รับความสุขในโลกหน้า" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"เมื่อฝูงโคข้ามแม่น้ำอยู่ ถ้าโคผู้นำไปตรงไซร้ โคเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปตรง เพราะมีผู้นำไปตรง ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใด ได้รับสมมติให้เป็นผู้ประเสริฐสุด (พระราชา) ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรมไซร้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงปวงประชานอกนี้ ก็ย่อมประพฤติธรรมเหมือนกัน ชาวแว่นแคว้นทั้งหมดจะประสบความสุข เพราะพระราชาตั้งมั่นอยู่ในธรรม" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูุตร [94] พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปย่อมกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคิดว่าพระผู้มีพระภาคเจ้ามีจีวรสำเร็จแล้ว จะเสด็จจาริกไปโดยล่วงสามเดือน ก็สมัยนั้น พวกช่างไม้นามว่า อิสิทัตตะและปุราณะ อาศัยอยู่ในเมืองสาเกตด้วยกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง พวกเขาทั้ง 2 นั้น ได้ข่าวว่า "ได้ยินว่า ภิกษุมากรูปย่อมกระทำจีวรกรรม เพื่่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีจีวรสำเร็จแล้ว จะเสด็จจาริกไปโดยล่วงสามเดือน" ดังนี้ครั้งนั้นแล ช่างไม้นามว่า อิสิทัตตะและปุราณะ จึงวางบุรุษไว้ในหนทางโดยสั่งว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านเห็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาในเวลาใด พึงบอกพวกเราในเวลานั้น ดังนี้ บุรุษนั้นยืนอยู่ที่นั้น 2-3 วัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จมาแต่ไกล จึงเข้าไปหาช่างไม้ทั้ง 2 นั้น แล้วบอกว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังเสด็จมา ขอพวกท่านจงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ดังนี้ ครั้งนั้นแล ช่างไม้ทั้ง 2 นามว่า อิสิทัตตะและปุราณะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เดินตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไปข้างพระปฤษฎางค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแวะจากหนทาง เสด็จเข้าไปยังโคนไม้แห่งหนึ่ง แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดถวาย ช่างไม้ทั้ง 2 นามว่า อิสิทัตตะและปุราณะ อภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใด พวกข้าพระองค์ ได้ฟังข่าวพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า จักเสด็จจาริกจากพระนครสาวัตถีไปในโกศลชนบท เวลานั้น พวกข้าพระองค์มีความเสียใจ น้อยใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักห่างพวกเราไป เวลาใด ได้ข่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกจากพระนครสาวัตถี ไปในโกศลชนบทแล้ว เวลานั้น พวกข้าพระองค์มีความเสียใจน้อยใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าห่างพวกเราไปแล้ว" ดังนี้ ฯลฯ "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใด พวกข้าพระองค์ ได้ฟังข่าวพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า จักเสด็จจาริกจากแคว้นกาสีไปในมคธ เวลานั้น พวกข้าพระองค์มีความเสียใจ น้อยใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักห่างพวกเราไปเวลาใด ได้ข่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกจากแคว้นกาสีไปในมคธแล้ว เวลานั้น พวกข้าพระองค์ มีความเสียใจ น้อยใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าห่างพวกเราไปแล้ว" ดังนี้ ฯลฯ "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใด พวกข้าพระองค์ ได้ฟังข่าวพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า จักเสด็จจาริกจากมคธไปในกาสี เวลานั้น พวกข้าพระองค์มีความดีใจปลื้มใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า จักใกล้พวกเรา ก็เวลาใด ได้ข่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกจากมคธไปในกาสีแล้ว ดังนี้ พวกข้าพระองค์มีความดีใจ ปลื้มใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าใกล้พวกเราแล้ว"ดังนี้ ฯลฯ "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใด พวกข้าพระองค์ ได้ฟังข่าวพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า จักเสด็จจาริกจากโกศลไปสู่พระนครสาวัตถี เวลานั้นพวกข้าพระองค์มีความดีใจปลื้มใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักใกล้พวกเราดังนี้ เวลาใด พวกข้าพระองค์ได้ข่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ดังนี้ พวกข้าพระองค์มีความดีใจมากปลื้มใจมากว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ใกล้พวกเราแล้ว" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรช่างไม้ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ ฆราวาสคับแคบ เป็นทางแห่งธุลี บรรพชาชื่อว่า โอกาสอันว่าง เพราะอรรถะว่า ไม่มีปลิโพธเป็นเครื่องกังวล ดูกรช่างไม้ทั้งหลาย ก็การที่ท่านทั้งหลายผู้อยู่ครองเรือนมีความคับแคบอย่างนี้ สมควรแล้ว เพื่อทำความไม่ประมาท""ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความคับแคบอย่างอื่น ที่เป็นความคับแคบกว่า และที่นับว่าคับแคบยิ่งกว่าความคับแคบนี้ มีอยู่หนอ""ดูกรนายช่างไม้ ความคับแคบของท่าน เป็นไฉน""ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อใดพระเจ้าปเสนทิโกศล มีพระราชประสงค์จะเสด็จออกไปยังพระราชอุทยาน เมื่อนั้นข้าพระองค์ทั้งหลายต้องกำหนดช้างที่ขึ้นทรงของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้วให้พระชายาที่โปรดปราน ที่พอพระทัยของพระเจ้าปเสนทิโกศลประทับข้างหน้าพระองค์หนึ่ง ข้างหลังพระองค์หนึ่ง กลิ่นของพระชายาเหล่านั้นเป็นอย่างนี้ คือ เหมือนกลิ่นของนางราชกัญญาผู้ประพรมด้วยของหอม ดังขวดน้ำหอมที่เขาเปิดในขณะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายสัมผัสของพระชายาเหล่านั้น เป็นอย่างนี้ คือ เหมือนกายสัมผัสของนางราชกัญญาผู้ดำรงอยู่ด้วยความสุข ดังปุยนุ่น หรือปุยฝ้าย ก็ในสมัยนั้น แม้ช้างข้าพระองค์ทั้งหลายก็ต้องระวัง แม้ชายาทั้งหลาย พวกข้าพระองค์ก็ต้องระวังแม้พระเจ้าปเสนทิโกศลเล่า พวกข้าพระองค์ก็ต้องระวัง แม้ตัวข้าพระองค์ทั้งหลายก็ต้องระวัง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ไม่รู้ว่า จิตอันลามก บังเกิดขึ้นในพระชายาเหล่านั้นเลย ข้อนี้แล คือ ความคับแคบอย่างอื่นที่คับแคบกว่า และที่นับว่าเป็นความคับแคบยิ่งกว่าความคับแคบ" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรช่างไม้ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละการครองเรือนจึงคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง ดูกรช่างไม้ ก็การอยู่ครองเรือนคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลีอย่างนี้ สมควรแล้วเพื่อทำความไม่ประมาท" "ดูกรช่างไม้ทั้งหลาย อริยสาวกประกอบด้วยธรรม 4 ประการย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ข้างหน้า" "ธรรม 4 ประการเป็นไฉน ดูกรนายช่างไม้ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ฯลฯ ในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน กระทำการเฉลี่ยไทยธรรม ดูกรนายช่างไม้ทั้งหลายอริยสาวก ผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประกากรเหล่านี้แล เป็นพระโสดาบันมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า" "ดูกรนายช่างไม้ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ฯลฯ ในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ ก็ไทยธรรมสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีอยู่ในตระกูล ท่านเฉลี่ยไทยธรรมนั้นทั้งหมด กับผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ท่านทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ชนเหล่าใด เป็นผู้มีศีล เป็นต้น มีประมาณเท่าไร ในแคว้นโกศล ชนเหล่านั้นท่านพึงแบ่งทำให้เสมอกันจำแนกทาน" ดังนี้"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นลาภของข้าพระองค์ทั้งหลาย ข้าพระองค์ได้ดีแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบพฤติการณ์อย่างนี้ของข้าพระองค์ทั้งหลาย" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า วาสนาภาคิยสูตร [95] พระสูตรใดที่กล่าวว่า "เราสละดอกไม้เพียงดอกเดียวบูชาแล้ว ก็ได้ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตลอดหมื่นล้านกัป ด้วยวิบากที่เหลือเป็นผู้ปรินิพพานแล้ว" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระสันธิตเถระกล่าวคาถาว่า"เราเป็นผู้มีสติ ได้อนิจจสัญญา ที่เป็นไปในพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ที่่ต้นอัสสัตถพฤกษ์อันพระรัศมีนำมาแล้ว ถอยไป 30 กัปแห่งภัททกัปนี้ เราย่อมไม่รู้จักทุคติ วิชชา 3 เรากระทำให้แจ้งแล้ว เพราะการอบรมสัญญาอันเป็นไปในพระพุทธเจ้านั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวไว้ว่า"พระสัมมาพุทธมุนี ผู้ฆ่าตัณหา เป็นอัครบุคคลผู้อนุเคราะห์ ได้เสด็จเข้าไปยังโกศลบุรี เพื่อทรงรับบิณฑะ ในกาลก่อนกาลแห่งภัตร บุรุษคนหนึ่ง มีเครื่องประดับด้วยดอกไม้นานาชนิดอยู่ในมือ ได้เห็นพระสัมพุทธะผู้อันหมู่แห่งภิกษุกระทำไว้เบื้องหน้า ผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว กำลังเสด็จเข้าไป โดยทางแห่งพระราชา จึงร่าเริงแล้ว ยังจิตให้เลื่อมใสแล้ว ได้เข้าไปยังสำนักพระสัมพุทธะ บุรุษนั้น ครั้นเข้าไปแล้ว มีความเลื่อมใสจึงกระทำขั้วดอกไม้ให้มีสีสวย อันมีกลิ่นหอม อันเป็นที่รื่่นเริงใจแล้วน้อมไปเพื่อพระสัมพุทธะ ด้วยมือทั้งสองของตน ลำดับนั้นเปลวพระรัศมีอันรุ่งโรจน์ ในภายในแห่งวาจาที่เปล่งออกของพระพุทธเจ้าเป็นสหัสสรังสี ดุจสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ สหัสสรังสีออกจากพระรัศมี ไปกระทำประทักษิณสิ้น 3 รอบ ที่พระเศียรแห่งพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธ์แห่งพระอาทิตย์ ครั้นทำประทักษิณแล้วก็อันตรธานไปในพระเศียร พระอานนท์เห็นปาฏิหาริย์อันอัศจรรย์ อันไม่เคยมี กระทำให้ขนชูชันนี้แล้ว จึงกระทำผ้าเฉวียงบ่าแล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า ข้าแต่พระมหามุนี อะไรเป็นเหตุแห่งการแย้ม ขอพระองค์ทรงพยากรณ์เหตุนั้น ข้าแต่พระมุนี แสงสว่างแห่งธรรมจักมี ขอพระองค์ทรงเปลื้องความสงสัยของข้าพระองค์เถิด ญาณในสัทธรรมทั้งปวงของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ย่อมเป็นไปทุกเมื่อ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงข้ามความสงสัยได้ตรัสกับพระอานนท์ผู้มีความสงสัยอย่างนี้ว่า ดูกรอานนท์ บุรุษใด ยังจิตให้เลื่อมใสในเรา บุรุษนั้นจักไม่ไปสู่ทุคติ 84 กัป จักปกครองราชอาณาจักรอันเป็นทิพย์ เป็นเทพมีความงามในเทวดาทั้งหลาย ในมนุษย์จักเป็นจอมราชาในมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลนั้น บวชแล้วในภพสุดท้ายจักทำให้แจ้งซึ่งสัจจธรรม 4 หรือจักเป็นพระปัจเจกโพธิ นามว่า วฏังสกะผู้มีราคะอันขจัดแล้ว เมื่อจิตเลื่อมใสในพระตถาคตสัมมาสัมพุทธะ หรือในสาวกของพระตถาคต ทักขิณาย่อมไม่ชื่อว่า มีผลน้อย พระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันใคร ๆ ไม่อาจคิดได้ ธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันใคร ๆไม่อาจคิดได้ เมื่อบุคคลเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าและพระธรรมอันใคร ๆไม่อาจคิดได้ ย่อมมีวิบากอันใคร ๆ ไม่อาจคิดได้" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร [96] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดรู้จิตด้วยจิต ย่อมรู้บุคคลบางคนในโลกนี้ ผู้มีจิตเลื่อมใสแล้วว่า บุคคลนี้ย่อมดำเนินไปอย่างไร เป็นผู้ดำเนินไปสู่ปฏิปทามีทานเป็นต้น และยังมรรคมีทัสสนะเป็นต้นให้งอกงามแล้วถ้าบุคคลนี้ พึงทำกาละในสมัยนี้ ก็พึงเกิดในสุคติ เหมือนบุคคลเชิญมาไว้ด้วยทานนั้น ด้วยมรรคนั้น ฉะนั้น ข้อนี้เพราะเหตุอะไร เพราะจิตของเขาผ่องใส ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุแห่งจิตแล สัตว์บางพวกในโลกนี้เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์" พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า "พระพุทธเจ้า ทรงทราบบุคคลบางคนในโลกนี้ ผู้มีจิตผ่องใส ได้พยากรณ์เนื้อความนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ในสำนักพระองค์ว่า ถ้าในสมัยนี้บุคคลนี้พึงทำกาละไซร้ บุคคลนี้พึงเข้าถึงสุคติ เพราะจิตของเขาผ่องใสเขาเป็นอย่างนั้น เหมือนเชิญมาไว้ เพราะเหตุแห่งจิตผ่องใสแล บุคคลผู้มีปัญญานั้น ย่อมเข้าถึงสุคติ เพราะกายแตกไป" ดังนี้ เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวว่า"ดูกรเทพนารี ท่านขึ้นนั่งบนวิมานเรือ หุ้มไว้ด้วยทองคำ ด้วยบุญกรรม เล่นในสระโบกขรณี เก็บดอกปทุมอยู่ ท่านมีวรรณะเช่นนี้ เพราะบุญอะไร ท่านมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ เพราะบุญอะไร โภคะทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง อันใจปรารถนาแล้ว ย่อมเกิดแก่ท่าน เพราะบุญอะไรดูกรเทวดา เราขอถามท่าน นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร" เทพนารีนั้น ผู้อันเทวราชถามแล้ว มีใจยินดี (ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า) "ข้าพระองค์สดับมาว่า เทวดานั้นผู้อันเทวราชถามปัญหาแล้วได้พยากรณ์ในสำนักแห่งท้าวสักกเทวราชว่า หม่อมฉันเดินทางไกลเห็นพระสถูป อันเป็นที่รื่นรมย์งดงาม ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะผู้ทรงยศ ได้ยังใจให้เลื่อมใสในพระสถูปนั้น หม่อมฉันเลื่อมใสแล้วได้บูชาด้วยดอกปทุม ด้วยมือทั้ง 2 ของหม่อมฉัน ผลทั้งปวงนี้เป็นวิบากแห่งกรรมนั้น หม่อมฉันกระทำบุญแล้วจึงได้ผลเช่นนี้" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวถึงทานและผลแห่งทาน ศีลและผลแห่งศีล สวรรค์และการให้เกิดในสวรรค์ บุญ 10 มีทาน มีศีล และภาวนาเป็นต้น และกล่าวถึงผลแห่งบุญ 10 เหล่านั้น สูตรนี้ ชื่่อว่า วาสนาภาคิยสูตร อีกอย่างหนึ่ง "เมื่อสถูปดินที่เขากระทำอุทิศพระสัมมาสัมพุทธะ บรรจุพระสรีรธาตุไว้ภายใน นระเหล่าใดมีใจเลื่อมใส นระเหล่านั้น พึงทำการนอบน้อมในสถูปแม้นั้นแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์ทั้งหลาย"คำที่กล่าวนี้ก็ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร [97] พระสูตรใดที่กล่าวว่า"ชนทั้งหมด มีวรรณะเช่นกับเทพบุตร มีสัณฐานงดงาม เพราะทำดินให้ชุ่มด้วยน้ำสร้างสถูปของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธะ ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้ดำเนินไปดีแล้ว พระสถูปนี้เป็นของพระสุคต ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้ทรงไว้ซึ่งพลธรรม 10 ประการ พวกเทวดาและมนุษย์เลื่อมใสในพระสถูปนั้นแล้ว กระทำการนอบน้อมอยู่ จักพ้นจากชรามรณะ" ดังนี้สูตรนี้ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร สูตรใดที่กล่าวว่า"ข้าพเจ้าได้ยกอุบล 4 ดอก และพวงมาลัยขึ้นสู่สถูปของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ บุญนั้น ข้าพเจ้ากระทำแล้ว เป็นบุญโอฬาร(ประเสริฐ) ได้มีแล้วหนอ นับแต่ภัททกัปนี้ถอยไป 30 กัป ข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติ ไม่ไปสู่วินิบาต เพราะบูชาสถูปของพระศาสดา" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร สูตรใดที่ท่านกล่าวว่า"ข้าพเจ้า ได้บูชาสถูปของพระโลกนาถผู้ชนะมาร ผู้ทรงไว้ซึ่งพระลักษณะ 32 ประการ จึงเป็นผู้มีใจร่าเริงในอายุกัปสิ้นแสนอัตภาพ บุญใดที่ข้าพเจ้ากระทำไว้ ด้วยบุญนั้น ข้าพเจ้าไม่ไปสู่วินิบาตเลย บุญเหล่านั้นได้กระทำสมบัติอันเลิศ และความเป็นพระราชาอันประเสริฐทั้งหลายปัญญาจักษุใด อันข้าพเจ้าตั้งไว้แล้ว ในศาสนาของพระโลกนาถผู้ฝึกคนที่ยังไม่ได้ฝึก วิมุตตจิตใดที่ตั้งไว้อย่างนั้น ปัญญาจักษุและวิมุตตจิตนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้าได้แล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้ขจัดตัณหาเพียงดังเครือเถาได้แล้วเป็นผู้พร้อมด้วยผลวิมุตตจิต" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร [98] สูตรใดที่ท่านกล่าวว่า"ก็ข้าพเจ้าได้ถวายไทยธรรม เพียงข้าวฟ่างและข้าวสุกประมาณทะนานหนึ่ง ในพระปัจเจกพุทธะ ผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ผู้ไม่กระด้าง (ไม่มีตะปูตรึงใจ) ไม่มีอาสวะ ผู้มีปกติอยู่ด้วยธรรมอันไม่มีข้าศึก ผู้มีใจไม่ข้องข้าพเจ้าเชื่อมั่น ซึ่งปัจเจกธรรมอันสูงสุดในพระปัจเจกพุทธะนั้น ข้าพเจ้าได้ปรารถนาว่า แม้ข้าพเจ้า ก็พึงกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันพระปัจเจกพุทธะได้แล้ว เมื่อข้าพเจ้า ผู้อันพระปัจเจกพุทธะผู้มีปกติอยู่ด้วยวิหารธรรมอย่างนี้สงเคราะห์แล้ว ข้าพเจ้าอย่าได้มีความอาลัยแม้ในกาลไหน ๆ ด้วยเพราะวิบากกรรมที่กระทำแล้วในพระปัจเจกพุทธะนั้นนั่นแหละ ข้าพเจ้าเข้าถึงอุตตรกุรุทวีปสิ้น 1,000 ครั้ง ข้าพเจ้าเข้าถึงกายอันประเสริฐที่สุดในหมู่บริวารทั้งหลาย ผู้ลูบไล้ประดับด้วยมาลาและอาภรณ์อันวิจิตร เพราะวิบากแห่งกรรมนั้นแหละ ข้าพเจ้ามีจิตหลุดพ้นแล้ว ไม่กระด้าง ไม่มีอาสวะ เป็นผู้มีร่างกายอันทรงไว้ในที่สุด เพราะก้าวล่วงกุศลและอกุศลแล้ว สมาคมของข้าพเจ้าได้มีแล้วแก่พระปัจเจกพุทธะทั้งหลายเหล่านี้ฉะนี้ พระตถาคตชินเจ้า ทรงกระทำให้ประจักษ์แล้ว ได้ตรัสคำว่า "สิ่งใดอันผู้มีศีลปรารถนาแล้ว สิ่งนั้นย่อมสำเร็จ" ดังนี้ ข้าพเจ้า คิดด้วยใจโดยประการใด ๆ ความสำเร็จโดยประการนั้นย่อมมี ภพนี้เป็นภพมีในที่สุดของข้าพเจ้า" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวไว้ว่า"ในกัปที่ 31 พระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าสิขี เป็นพระชินเจ้า ผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็น (ทรงทราบ) หาที่สุดมิได้ พระราชาผู้เป็นพระภาดาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้นั้น ทรงเลื่อมใสยิ่งในพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี และในพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เมื่อพระพุทธเจ้าผู้นำวิเศษของโลกปรินิพพานแล้ว ได้ทรงกระทำพระสถูปใหญ่กว้างขวางประมาณหนึ่งคาวุตโดยรอบ เพื่อพระมเหสีพุทธเจ้า ผู้สูงสุดกว่านระ ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ มนุษย์ผู้มีปกตินำวัตถุมาบูชาพระสถูปนั้น มีใจร่าเริง ประคองดอกมะลิซ้อนบูชา ดอกมะลิดอกหนึ่งของคนนั้นถูกลมพัดตกไปแล้ว ข้าพเจ้าเก็บดอกมะลินั้นนั่นแหละมนุษย์นั้น ผู้มีความสำเร็จด้วยดอกไม้ มีใจเลื่อมใสยิ่ง ได้กล่าวกะข้าพเจ้าว่าเราให้ดอกไม้นั้นแก่ท่านนั่นแหละ ข้าพเจ้าถือเอาดอกไม้ดอกเดียวนั้นตั้งใจมั่นในการกำหนดพระสถูปนั้น ตามระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าบ่อย ๆ ตั้งแต่ 30 กัป จนถึงภัททกัปนี้ ข้าพเจ้า ไม่รู้จักทุคติ และย่อมไม่ไปสู่วินิบาต นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระสถูป" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวว่า"พระนครชื่่อว่ากปิละ ของพระราชาพระนามว่า พรหมทัต เป็นพระนครมีทางใหญ่ ที่เขาจัดไว้ดีแล้ว มีมนุษย์เกลื่อนก่น เป็นพระนครมั่งคั่งรุ่งเรือง ในพระนครอันประเสริฐนั้น ข้าพเจ้า ขายขนมกุมมาสแห่งแคว้นปัญจาละ ข้าพเจ้านั้นได้เห็นพระปัจเจกสัมพุทธะพระนามว่า อริฏฐะผู้มียศ ผู้ยืนอยู่ในเบื้องบน (เวหาส) เป็นผู้ร่าเริงแล้ว ยังจิตให้เลื่อมใสแล้วนิมนต์พระอริฏฐะ ผู้สูงสุดแห่งนระ ด้วยธุวภัตรที่มีอยู่ในเรือนของข้าพเจ้าก็ในกาลนั้น เป็นเดือนกัตติกา ใกล้วันปัณณรสี ข้าพเจ้าถือเอาคู่แห่งผ้าใหม่ น้อมเข้าไปถวายพระปัจเจกพุทธะอริฏฐะ ในกาลนั้น พระมุนีปัจเจกพุทธะ ผู้สูงสุดแห่งนระ ผู้อนุเคราะห์ ผู้กรุณา ผู้ฆ่าตัณหา ทราบว่าข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใสแล้วรับเอา ข้าพเจ้านั้น ครั้นกระทำกรรมดีที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญแล้ว จึงท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เคลื่อนจากเทวโลกนั้น เกิดเป็นบุตรคนเดียวของเศรษฐี ในตระกูลมั่งคั่งในพระนครพาราณสี เป็นที่รักใคร่กว่าสัตว์มีปาณะทั้งหลาย ในกาลนั้น ข้าพเจ้าถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา (ความผิดความชอบ) ผู้อันเทวบุตรตักเตือน จึงลงจากปราสาทเข้าไปเฝ้าพระสัมพุทธะพระนามว่า โคดม พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า โคดมนั้น ได้ทรงแสดงแล้วซึ่งธรรมแก่ข้าพเจ้าเพื่ออนุเคราะห์พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มุนีนั้น ได้ทรงแสดงสัจจธรรม คือ สัจจ 4 เหล่านี้ คือทุกข์ (ทุกขสัจจะ) ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ (สมุทยสัจจะ) การก้าวล่วงซึ่งทุกข์ (นิโรธสัจจะ) และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 อันเข้าไปสงบทุกข์(มัคคสัจจะ) ข้าพเจ้าฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล้ว เป็นผู้ยินดีในพระศาสนาอยู่ เป็นผู้ไม่ประมาททั้งกลางวันทั้งกลางคืน แทงตลอดแล้วซึ่งสมถะ อาสวะเหล่าใด ทั้งภายในและภายนอกของข้าพเจ้าในกาลก่อน อาสวะเหล่านั้นทั้งสิ้น อันมรรคตัดขาดแล้ว และจักไม่เกิดขึ้นอีก ทุกข์ย่อมเป็นอันข้าพเจ้ากระทำให้ถึงที่สุดแล้ว อัตภาพนี้มีการท่องเที่ยวไปแห่งความเกิดและความตายได้มีที่สุดแล้ว บัดนี้ ย่อมไม่มีภพใหม่ต่อไป" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร +นิพเพธภาคิยสูตร [99] ในสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า นิพเพธภาคิยะ เป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วในภพทั้งปวง ในเบื้องสูง ในเบื้องต่ำ ไม่ตามเห็นว่า นี้เป็นเรา บุคคลพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ ข้ามได้แล้วซึ่งโอฆะที่ตนยังไม่เคยข้าม เพื่อความไม่เกิดอีก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้มีศีล ไม่ต้องทำจิตว่า ขอความไม่เดือดร้อนพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่ความไม่เดือดร้อนของคนมีศีลพึงเกิดขึ้นนี้ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันบุคคลผู้ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องกระทำว่า ขอความปราโมชพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ดูกรอานนท์ ข้อที่ปราโมชพึงเกิดแก่บุคคลผู้ไม่เดือดร้อนนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันบุคคลผู้ปราโมช ไม่ต้องกระทำว่าขอปีติพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่ปีติพึงเกิดแก่บุคคลผู้ปราโมชนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ไม่ต้องกระทำว่า ขอกายของเราพึงสงบเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ข้อที่กายของบุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีตินี้พึงสงบ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้มีกายสงบแล้ว ไม่ต้องกระทำว่า ขอเราพึงเสวยสุขเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ข้อที่บุคคลผู้ที่มีกายสงบแล้วพึงเสวยสุข ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้ที่เสวยสุขแล้ว ไม่ต้องกระทำว่าขอสมาธิพึงเกิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่สมาธิพึงเกิดแก่บุคคลผู้มีสุขนี้ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ไม่ต้องกระทำว่า ขอเราพึงรู้ตามความเป็นจริงเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่บุคคลมีจิตตั้งมั่นแล้วพึงรู้ตามความเป็นจริงนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของบุคคลผู้รู้ตามความเป็นจริง ไม่ต้องกระทำว่า ขอนิพพิทาพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่บุคคลรู้ตามความเป็นจริงพึงเบื่อหน่ายนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันผู้เบื่อหน่าย ไม่ต้องทำใจว่า ขอวิราคะพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่ผู้เบื่อหน่ายพึงคลายกำหนัดนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันบุคคลผู้คลายกำหนัด ไม่ต้องกระทำว่า ขอวิมุตติพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ดูกรอานนท์ ข้อที่ผู้คลายกำหนัดพึงหลุดพ้นนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันบุคคลผู้หลุดพ้นแล้ว ไม่ต้องกระทำว่า ขอวิมุตติญาณทัสสนะพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่วิมุตติญาณทัสสนะพึงเกิดแก่บุคคลผู้หลุดพ้นแล้วนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร [100] พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไปเพราะรู้แจ้งธรรมพร้อมกับเหตุ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระองค์ทรงเปล่งอุทานครั้งที่ 2 ว่า"ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลาย ย่อมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไปเพราะได้รู้แจ้งความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาว่า"ดูกร ติสสะ เธอโกรธทำไมหนอ เธออย่าโกรธ ความไม่โกรธ เป็นความประเสริฐของเธอ เพราะบุคคลย่อมประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกำจัดความโกรธ มานะ และความลบหลู่คุณท่าน" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาว่า"เมื่อไร เราพึงเห็นนันทะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยโภชนะที่่เจือปนกัน ผู้ไม่อาลัยในกามทั้งหลาย" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พราหมณ์ภารทวาชโคตร ได้กล่าวว่า"บุคคลฆ่าอะไรซิ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าอะไร ย่อมไม่เศร้าโศกข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจ ในการฆ่าอะไรเป็นธรรมอันเอก" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า"บุคคลฆ่าความโกรธ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ ย่อมไม่เศร้าโศก ดูกรพราหมณ์ พระอริยะทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะการฆ่าความโกรธได้ จึงไม่เศร้าโศก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร เทวดาทูลถามว่า"ข้าแต่พระโคดม นักปราชญ์ผู้ฆ่า พึงฆ่าอะไรหนอที่ปรากฏ นักปราชญ์ผู้บรรเทา พึงบรรเทาอะไรหนอที่เกิด นักปราชญ์ผู้ละ พึงละอะไรหนอ การตรัสรู้ธรรมอะไรของนักปราชญ์ จึงเป็นสุข" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรเทพบุตร นักปราชญ์ผู้ฆ่า พึงฆ่าความโกรธ นักปราชญ์ผู้บรรเทา พึงบรรเทาราคะ นักปราชญ์ฺผู้ละ พึงละอวิชชา การตรัสรู้สัจจธรรมเป็นสุข" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร [100] เทวดายืนอยู่ในสำนักพระศาสดากล่าวว่า"ภิกษุผู้มีสติ พึงเว้นรอบ เพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษผู้ถูกประหารด้วยหอกมุ่งถอนหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ ฉะนั้น" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ภิกษุผู้มีสติ พึงเว้นรอบ เพื่อละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ ฉะนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร เทวดายืนในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า"โภคะทั้งปวงที่รวบรวมไว้ มีความสิ้นไปเป็นที่สุด ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น มีความตกไปเป็นที่สุด ชีวิตของสัตว์ทั้งปวงไม่ยั่งยืน เพราะสัตว์ทั้งปวงต้องตายเป็นธรรมดา บุคคลเห็นอยู่ซึ่งภัยคือความตายนี้ พึงทำบุญทั้งหลาย อันนำมาซึ่งสุข" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรเทวบุตร โภคะทั้งปวงที่รวบรวมไว้ มีความสิ้นไปเป็นที่สุดธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น มีความตกไปเป็นที่สุด ชีวิตของสัตว์ทั้งปวงไม่ยั่งยืน เพราะสัตว์ทั้งปวงต้องตายเป็นธรรมดา บุคคลเห็นอยู่ซึ่งภัย คือ ความตายนี้ พึงละโลกามิสเสีย มุ่งนิพพานอันสงบสังขารทั้งปวง" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรจันทนเทวบุตร จิตของมุนีเหล่าใด ยินดีในฌาน มุนีเหล่านั้นย่อมอยู่เป็นสุข ย่อมไม่เศร้าโศก บุคคลมีปัญญา มีใจตั้งมั่นดีแล้ว ปรารภความเพียร มีจิตส่งไปสู่นิพพาน ย่อมข้ามโอฆะที่ข้ามได้ยาก พระขีณาสพใด เว้นขาดจากกามสัญญา ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง มีความยินดีและภพสิ้นไปแล้ว พระขีณาสพนั้นย่อมไม่จมลงในห้วงน้ำลึก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบอาฬวกยักษ์ว่า"บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ ไม่ประมาท เป็นผู้ฉลาด เพื่อบรรลุพระนิพพาน พึงฟังอยู่ด้วยดี ย่อมได้ซึ่งปัญญา บุคคลใดมีความเพียรเป็นผู้กระทำเหมาะสม ไม่ทอดธุระ ถึงพร้อมด้วยอุตสาหะ บุคคลนั้นย่อมหาทรัพย์ได้ บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ บุคคลผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ บุคคลนั้นแล ละจากโลกนี้ไปสู่ปรโลก ย่อมไม่เศร้าโศก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร ยักษ์ฝ่ายมารชื่อสักกะกล่าวว่า"ดูกรพระโคดม การสั่งสอนคนอื่นมีเทวดาและมนุษย์ เป็นต้น ไม่เหมาะแก่สมณะเช่นท่าน ผู้ละกิเลสทั้งหมด ผู้พ้นจากไตรภพ" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรสักกะ ธรรมเครื่องอยู่ร่วมกัน ย่อมเกิดด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คนมีปัญญาไม่ควรเพื่ออนุเคราะห์คนอื่นด้วยใจอย่างเดียว ถ้าคนใดมีใจผ่องใสสั่งสอนคนอื่น คนผู้มีใจผ่องใสนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่พัวพันด้วยเหตุนั้น นอกจากจะอนุเคราะห์เอ็นดู" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร [102] สูจิโลมยักษ์ทูลถามว่า"ดูกรสมณะ ราคะและโทสะมีอะไรเป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดี และความสยดสยองเกิดแต่เหตุอะไร ความตรึกในใจเกิดแต่อะไรแล้วดักจิตไว้ได้ เหมือนพวกเด็กดักกาด้วยเชือกฉะนั้น"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า"ราคะและโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดี และความสยดสยอง เกิดแต่อัตภาพ ความตรึกในใจเกิดแต่อัตภาพนี้ แล้วดักจิตไว้ได้ เหมือนพวกเด็กดักกาด้วยเชือก ฉะนั้น อกุศลวิตกเป็นอันมากเกิดแต่ความเยื่อใย คือ ตัณหา เกิดในตนแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย เหมือนย่านไทรเกิดแต่ลำต้นไทรแล้วแผ่ซ่านไปในป่า ฉะนั้น ชนเหล่าใด ย่อมรู้อัตภาพนั้นว่า เกิดแต่สิ่งใด ชนเหล่านั้น ย่อมบรรเทาเหตุเกิดนั้นเสียได้ ดูกรยักษ์ ท่านจงฟัง ชนเหล่านั้นย่อมข้ามห้วงกิเลสนี้ ซึ่งข้ามได้โดยยากและไม่เคยข้ามในอนมตัคคสงสาร เพื่อความไม่เกิดอีกต่อไป" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร กามทเทวบุตรกราบทูลว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า การกระทำสมณธรรม กระทำได้โดยยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สมณธรรม กระทำได้ยากอย่างยิ่ง" ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรกามทะ ชนทั้งหลาย ตั้งมั่นแล้วในศีล แห่งพระเสกขะ มีตนตั้งมั่นแล้ว ย่อมกระทำแม้ซึ่งสมณธรรมอันบุคคลกระทำได้โดยยาก ความยินดีของบุคคลผู้เข้าถึงความไม่มีเรือน ย่อมนำสุขมาให้" ดังนี้ กามทเทวบุตรกราบทูลว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อที่หาได้ยากนี้ คือความสันโดษ(ความยินดี)" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรกามทะ ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบแห่งจิต ชนเหล่านั้น มีใจยินดีแล้วในความอบรมจิต ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ชนเหล่านั้นย่อมได้แม้ซึ่งสิ่งที่ได้โดยยาก"ดังนี้ กามทเทวบุตรกราบทูลว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ธรรมชาติที่ตั้งมั่นได้ยากนี้ คือ จิต" ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า"ดูกรกามทะ ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบแห่งอินทรีย์ ชนเหล่านั้น ย่อมตั้งมั่นซึ่งจิตที่ตั้งมั่นได้ยาก ดูกรกามทะ พระอริยะทั้งหลายตัดข่ายแห่งมัจจุแล้ว ย่อมไป" ดังนี้ กามทเทวบุตรกราบทูลว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทางที่ไปได้ยาก คือทางที่ไม่เสมอ (โดยมุ่งถึงปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น)" ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรกามทะ พระอริยะทั้งหลาย ย่อมไปได้ แม้ในทางที่ไม่เสมอ ที่ไปได้ยาก บุคคลผู้มิใช่พระอริยะ ย่อมเป็นผู้บ่ายศีรษะลงเบื้องต่ำ ตกไปในทางอันไม่เสมอ ทางของพระอริยะทั้งหลายสม่ำเสมอ เพราะพระอริยะทั้งหลายเป็นผู้สม่ำเสมอ ในทางอันไม่เสมอ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร [103] เทวบุตรองค์หนึ่งได้กล่าวคาถาในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า"ก็พระเชตวันนี้นั้น อันหมู่แห่งพระฤๅษีพำนักอยู่ พระธรรมราชาก็ประทับอยู่แล้ว เป็นที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ด้วยส่วน 5 นี้ คือ กรรม วิชชา ธรรม ศีล และชีวิตอันอุดม หาได้บริสุทธิ์ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ไม่ เพราะเหตุนั้นแหละ บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเมื่่อเห็นประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายอย่างนี้ จึงจะบริสุทธิ์ในธรรมนั้น พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา ศีล และธรรมเครื่องสงบระงับ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงฝั่่ง ภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรนี้ เป็นอย่างยิ่ง" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอุทเทสและวิภังค์นี้ว่า"บุคคล ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว (ด้วยตัณหาและทิฏฐิ) ไม่ควรมุ่งหวังถึงสิ่่งที่ยังไม่มาถึง (ด้วยตัณหาและทิฏฐิ) สิ่งใดล่วงไปแล้วสิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งใดที่ยังไม่มาถึงสิ่งนั้นก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ในธรรมนั้น ๆ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนือง ๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรในวันนี้แหละใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ ผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ธรรม 4 เหล่านี้ อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้ง ธรรม 4 เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันบุคคลพึงกระทำให้แจ้ง ด้วยจักษุและปัญญามีอยู่ธรรมอันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยกายและปัญญา มีอยู่ ธรรมอันบุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา และพึงกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา มีอยู่ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยจักษุและปัญญา เป็นไฉน ทิพยจักษุอันหมดจดดีแล้ว อันก้าวล่วงจักษุอันเป็นของมนุษย์นี้แล อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยจักษุและปัญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าไหน อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยสติและปัญญาปุพเพนิวาสานุสติ อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยสติและปัญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าไหน อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยกายและปัญญา อิทธิวิธะและนิโรธะ อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยกายและปัญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าไหน อันบุคคลพึงรู้ด้วยปัญญาพึงกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา ญาณในอันสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย อันบุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา และพึงกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร +อเสกขภาคิยสูตร [104] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า อเสกขภาคิยะเป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"จิตของบุคคลใด เปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัด ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่โกรธเคือง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความโกรธเคือง จิตของผู้ใดอบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้น แต่ที่ไหน" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร สารีปุตตสูตรที่ 10 ท่านพระสารีบุตรเถระ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงพิจารณาความสงบระงับของตนอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ ได้เปล่งอุทานว่า "ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับ มีตัณหาอันจะนำไปในภพตัดขาดแล้ว ชาติสงสารสิ้นแล้ว พ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"พราหมณ์ใด มีบาปธรรมอันลอยแล้ว ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ ไม่มีกิเลสเพียงดังน้ำฝาด มีตนอันสำรวมแล้ว ถึงที่สุดแห่งเวท (มรรคที่ 4) มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้นในโลกไหน ๆ พราหมณ์นั้นพึงกล่าวว่า เป็นพราหมณ์โดยธรรม" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ชนเหล่าใดลอยบาปธรรมแล้ว มีสติทุกเมื่อ มีสังโยชน์สิ้นแล้วตรัสรู้แล้ว ชนเหล่านั้นแล ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ในโลก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า"ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใด พราหมณ์ชื่่อว่า มุนี เพราะรู้ รู้แล้วด้วยตน เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมหลุดพ้นจากรูปและอรูป จากสุขและทุกข์" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ในกาลใด บุคคลเป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมทั้งหลายของตน เป็นพราหมณ์ในกาลนั้น ย่อมไม่กลัวปีศาจ และเสียงว่า ปักกุละอย่างนี้" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"เราเรียกผู้ไม่ยินดีในภรรยาเก่าผู้มาอยู่ ผู้ไม่เศร้าโศกถึงภรรยาเก่าผู้หลีกไปอยู่ ผู้ชนะสงคราม พ้นแล้วจากธรรมเป็นเครื่องข้องนั้น ว่าเป็นพราหมณ์" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ความสะอาดย่อมไม่มีเพราะน้ำ ชนเป็นอันมาก ย่อมอาบอยู่ในน้ำนี้สัจจะและธรรมะมีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นเป็นผู้สะอาดและเป็นพราหมณ์" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่ ในกาลนั้น พราหมณ์นั้น ย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์กำจัดอยู่ซึ่งความมืด ส่องแสงสว่างอยู่ในอากาศ ฉะนั้น" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวว่า"ภิกษุใด ทรงผ้าบังสุกุลจีวร ข้ามโอฆะทั้งปวงแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ผู้ยังอิริยาบถ 4 ให้เป็นไป พวกเธอจงดูภิกษุผู้ถือบังสุกุลจีวรเป็นวัตรนั้น ผู้มีธรรมไม่เสื่อม ผู้บรรลุวิชชา 3 ผู้มีอินทรีย์สงบแล้วเที่ยวไปอยู่ เทวดาผู้ประเสริฐทั้งหลายเป็นอันมาก เข้าไปสู่วิมานอันประเสริฐ มีจิตเลื่่อมใส นมัสการภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรนั้น ผู้เป็นบุรุษอาชาไนยผู้เกียดกันมลทินอันเกิดแต่มานะว่าเราเป็นพราหมณ์มีอยู่ในพระศาสนานี้พวกเทพเหล่านั้นได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน ข้าแต่บุรุษผู้สูงสุด ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน พวกเราย่อมไม่รู้ธรรมอันเป็นที่อาศัยของท่านใด ท่านนั้น อาศัยอะไรเพ่งอยู่" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ว่า"ภิกษุเหล่านี้เป็นสหายกัน เป็นผู้มีความรู้คู่เคียงกันมาตลอดกาลนานสัทธรรมของเธอเหล่านั้น ย่อมเทียบเคียงได้ในธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศแล้ว เธออันกัปปินภิกษุแนะนำดีแล้ว ในธรรมที่พระอริยะประกาศแล้วเธอทั้ง 2 ชำนะมารพร้อมทั้งพาหนะได้แล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งอัตภาพมีในที่สุด" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ว่า"บุคคลปรารภความเพียรอันย่อหย่อน ปรารภความเพียรด้วยกำลังน้อย ไม่พึงบรรลุพระนิพพาน อันเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวงได้ แต่ภิกษุหนุ่มรูปนี้ เป็นอุดมบุรุษชำนะมารพร้อมทั้งพาหนะได้แล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งอัตภาพอันมีในที่สุด" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระสูตรที่กล่าวไว้ว่า"พระโมฆราช มีผิวพรรณทราม มีจีวรเศร้าหมอง เป็นพระขีณาสพมีสติทุกเมื่อ มีธรรมประกอบไว้ในภพไปปราศแล้ว มีกิจอันกระทำแล้ว ไม่มีอาสวะ พระโมฆราชนั้น มีวิชชา 3 ถึงความเป็นผู้มีฤทธิ์ ฉลาดในการกำหนดจิต ชนะมารและเสนามารแล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งอัตภาพอันมีในที่สุด" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร [105] ในพุทธสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ฯลฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เทวดาและมนุษย์ย่อมเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้ภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ก็หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ฯลฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เราก็เรียกว่า ปัญญาวิมุตติ ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้น มีอะไรเป็นข้อแปลกกัน มีอะไรเป็นข้อที่แตกต่างกัน มีอะไรเป็นเหตุทำให้แตกต่างกันระหว่างพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลาย ของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นรากฐาน ฯลฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิด ยังประชุมชนให้รู้จักมรรค ที่ใคร ๆ ไม่รู้ ให้รู้แล้ว บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้ทาง ประกาศทางให้ปรากฏ เป็นผู้ฉลาดในทางดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สาวกทั้งหลายในบัดนี้ เป็นผู้ดำเนินไปตามทาง เป็นผู้ตามมาในภายหลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้แล เป็นข้อแปลกกัน อันนี้เป็นข้อที่แตกต่างกัน อันนี้เป็นเหตุให้แตกต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร +มิสสกสูตร [106] ในพระสูตร 16 นี้ สูตรชื่อว่า"สังกิเลสภาคิยะและวาสนาภาคิยะเป็นไฉน"ในอุโปสถสูตร พระองค์ทรงเปล่งอุทานว่า"ฝนคือกิเลส ย่อมรั่วรดสิ่งที่ปกปิด ย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิด เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงเปิดสิ่งที่ปกปิด ฝนคือกิเลสย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิดนั้นอย่างนี้" ดังนี้คำว่า "ฝนคือกิเลสย่อมรั่วรดสิ่งที่ปกปิด" นี้ เป็นสังกิเลส ฯ คำว่า"ฝนย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิด" นี้ เป็นวาสนา ฯ คำว่า "เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงเปิดสิ่งที่ปกปิดไว้ ฝนคือกิเลส ย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิดอย่างนี้" นี้เป็นสังกิเลสและวาสนา ฯ คำนี้เป็นสูตร ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและวาสนาภาคิยะ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรมหาบพิตร บุคคล 4 เหล่านี้ มีอยู่ในโลก บุคคล 4 เหล่านั้นเป็นไฉน บุคคลผู้มืดมา มืดไป บุคคลผู้มืดมา สว่างไป บุคคลผู้สว่างมามืดไป และบุคคลผู้สว่างมา สว่างไป" ดังนี้ ในบุคคลเหล่านั้น บุคคลใดสังกิเลส ฯ บุคคลใดมืดมา สว่างไป และสว่างมา สว่างไป บุคคลทั้ง 2 นี้เป็นส่วนแห่งวาสนา ฯ คำนี้ ชื่่อว่า สูตรอันเป็นส่วนแห่งสังกิเลสและส่วนแห่งวาสนา ฯ ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า"สังกิเลสภาคิยะและนิพเพธภาคิยะเป็นไฉน"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"นักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าว เครื่องผูกอันเกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้ และเกิดแต่หญ้าปล้องว่ามั่น แต่สัตว์ผู้กำหนัดแล้ว กำหนัดนักแล้วในแก้วมณี ในแก้วกุณฑล และความห่วงใยในบุตรและภรรยา" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นสังกิเลส ฯ "นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวว่า ความกำหนัด และความกำหนัดนักแล้วเป็นต้น อันหน่วงลง (ลงอบาย) อันหย่อน และอันบุคคลเปลื้องได้ยากนี้ว่ามั่น นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูก แม้นั้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีความห่วงใยละกามสุขแล้ว ย่อมเว้นรอบ" ดังนี้ข้อนี้ เป็นนิพเพธะ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและนิพเพธะภาคิยะ ฯ [107] ในเจตนาสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจถึงสิ่งใด ย่อมดำริถึงสิ่งใด และย่อมครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณเมื่อมีอารมณ์เป็นปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ตัณหาอันให้เกิดในภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อตัณหาอันให้เกิดในภพใหม่ต่อไปมี ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงมี ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ แต่ยังครุ่นคิดถึงสิ่งใดสิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อความตั้งมั่นแห่งวิญญาณ เมื่อมีอารมณ์เป็นปัจจัยความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้วตัณหาอันให้เกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อตัณหาอันให้เกิดในภพใหม่ต่อไปมี ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงมีความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้" ดังนี้ข้อนี้ เป็นสังกิเลส ฯ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ ไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารมณ์เพื่อความตั้งมั่นแห่งวิญญาณ เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งมั่นแล้ว ไม่เจริญแล้ว ตัณหาอันให้เกิดในภพใหม่ต่อไปจึงไม่มีเมื่อตัณหาอันให้เกิดใหม่ต่อไปไม่มี ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาส จึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี ด้วยประการฉะนี้" ดังนี้ข้อนี้เป็นนิพเพธะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและนิพเพธภาคิยะ ฯ [108] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและอเสกขภาคิยะเป็นไฉน ในมุทสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน ผู้มิได้สดับแล้ว ย่อมกล่าวว่า "สมุทร สมุทร" ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้นไม่ชื่อว่า เป็นสมุทร ในวินัยของพระอริยเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้น เป็นกองแห่งน้ำใหญ่ เป็นห้วงแห่งน้ำใหญ่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของจักษุนั้นสำเร็จแล้วด้วยรูปายตนะ" ดังนี้เป็นสังกิเลส ฯ "บุคคลใด ย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากรูปายตนะนั้นได้ บุคคลนี้เราเรียกว่าเป็นพราหมณ์ ข้ามสมุทร คือ จักษุ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวนมีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่่ง ตั้งอยู่บนบก" ดังนี้ นี้เป็นอเสกขะ ฯ "ดูกรภิกษุ โสตะเป็นสมุทร ฯลฯ ฆานะเป็นสมุทร ฯลฯ ชิวหาเป็นสมุทร ฯลฯ กายเป็นสมุทร ฯลฯ ใจเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของใจนั้นสำเร็จแล้วด้วยธัมมารมณ์" ดังนี้ นี้เป็นสังกิเลส ฯ "บุคคลใด ย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากธัมมายตนะนั้นได้ บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นพราหมณ์ ข้ามสมุทร คือ ใจ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก" ดังนี้ นี้เป็นอเสกขะพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ครั้นตรัสเนื้อความนี้แล้ว จึงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า"บุคคลใด ข้ามสมุทรนี้ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ อันน่าหวาดกลัว ซึ่งข้ามได้แสนยากได้แล้ว บุคคลนั้นเราเรียกว่าผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์ ถึงที่สุดแห่งโลก ข้ามถึงฝั่งแล้ว" ดังนี้ ฯ นี้เป็นอเสกขะ สูตรนี้ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและอเสกขภาคิยะ ฯ ในพาลิสิกสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้มีเบ็ด 6 ชนิด เพื่อนำสัตว์ไปในสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ (ฆ่า) สัตว์ทั้งหลาย เบ็ด 6 ชนิด เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจน่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุ ย่อมเพลิดเพลินย่อมสรรเสริญ หมกมุ่นซึ่งรูปนั้นอยู่ไซร้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้กลืนกินเบ็ดของมาร ถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ อันมารผู้มีบาป พึงกระทำได้ตามชอบใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียง ฯลฯ กลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์ อันพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารักชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมสรรเสริญหมกมุ่นซึ่่งธัมมารมณ์นั้นอยู่ไซร้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้กลืนกินเบ็ดของมารถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ อันมารผู้มีบาป จึงกระทำได้ตามชอบใจ" ดังนี้ข้อนี้ เป็นสังกิเลส"ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลินไม่สรรเสริญ ไม่หมกหมุ่นรูปนั้นไซร้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ไม่กลืนกินเบ็ดของมาร ได้ทำลายเบ็ด ได้ย่ำยีเบ็ด ไม่ถึงความพิบัติ ไม่ถึงความพินาศ อันมารผู้มีบาปพึงกระทำตามชอบใจไม่ได้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียง ฯลฯ กลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์ อันพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารักชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่นธัมมารมณ์นั้นไซร้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ไม่กลืนกินเบ็ดของมาร ได้ทำลายเบ็ด ได้ย่ำยีเบ็ด ไม่ถึงความพิบัติ ไม่ถึงความพินาศ อันมารผู้มีบาปพึงกระทำตามชอบใจไม่ได้" ดังนี้ข้อนี้เป็นอเสกขะ พระสูตรนี้ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและอเสกขภาคิยะ ฯ [109] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรว่า"สังกิเลสภาคิยะ นิพเพทภาคิยะและอเสกขภาคิยะ เป็นไฉน" ในโลกสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า "โลก (คือหมู่สัตว์) นี้ มีความเร่าร้อนเกิดขึ้นแล้ว ผู้อันทุกขสัมผัสครอบงำแล้ว ร้องไห้อยู่ ย่อมบ่นเพ้อ โดยความเป็นตัวตน เพราะสัตว์ทั้งหลาย ย่อมสำคัญซึ่งการกระทำแห่งทุกข์ของตนโดยประการใด ๆ ทุกข์นั้นอันบุคคลพึงเยียวยาโดยประการอื่น สัตวโลกนี้ ข้องแล้วในภพ อันมีความแปรปรวนเป็นอย่างอื่่นเป็นผู้เดือดร้อนในภพแล้ว ก็ยินดีเพลิดเพลินนั่นแหละ สัตวโลก ย่อมยินดีเพลิดเพลินสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นภัย สัตวโลก ย่อมกลัวสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นทุกข์"ดังนี้ ข้อนี้ เป็นสังกิเลส ฯ และคำว่า "พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติเพื่อการละภพ" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นนิพเพธะ ฯ "ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวการหลุดพ้นจากภพด้วยภพ (หลุดจากกามภพด้วยรูปภพเป็นต้น) เรากล่าว สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดว่า เป็นผู้ไม่หลุดพ้นจากภพ ก็หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวการสลัดออกจากภพด้วยความไม่มี (วิภวะ) เรากล่าวว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดว่า เป็นผู้ไม่สลัดออกไปจากภพเพราะทุกข์นี้อาศัยอุปธิมีขันธ์เป็นต้นจึงเกิดขึ้น" ดังนี้ ข้อนี้เป็น สังกิเลส ฯ และคำว่า "เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทานทั้งปวง ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ย่อมไม่มี" ดังนี้ข้อนี้ ชื่่อว่า นิพเพธะ ฯ "เธอจงดูโลก (จิต) นี้ สัตว์ทั้งหลายมากอันอวิชชาครอบงำแล้ว หรือยินดีแล้ว ซึ่งขันธปัญจกะที่เกิดแล้ว เป็นผู้ไม่พ้นจากภพ ก็ภพเหล่าใดเหล่าหนึ่งในที่ทั้งปวง (คือเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวาง) โดยสภาพทั้งปวง (คือ อบาย 4 และสุคติ เป็นต้น) ภพทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นสังกิเลส ฯ "เมื่อภิกษุเห็นขันธปัญจกะ กล่าวคือภพ ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้อยู่ ย่อมละภวตัณหาได้ ทั้งไม่ยินดีในวิภวตัณหาเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา โดยประการทั้งปวง นิพพานจึงมี เพราะความดับด้วยอริยมรรคอันสำรอกโดยไม่เหลือ" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นนิพเพธะ ฯ เพราะความไม่เกิดแห่งภิกษุผู้มีตัณหาอันดับแล้วนั้น ภพใหม่จึงไม่มีภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำมาร เป็นผู้ชนะสงครามแล้ว ก้าวล่วงภพทั้งปวงเป็นผู้คงที่" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นอเสกขะ ฯ สูตรนี้ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะนิพเพธภาคิยะและอเสกขภาคิยะ ฉะนี้ ฯ ในอนุโสตสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล 4 จำพวกนี้ มีอยู่ บุคคล 4 จำพวกเป็นไฉน บุคคลผู้ไปตามกระแส 1 บุคคลผู้ไปทวนกระแส 1 บุคคลผู้มีตน (จิต)ตั้งมั่นแล้ว 1 และบุคคลผู้เป็นพราหมณ์ ข้ามฝั่งแล้วยืนอยู่บนบก 1 ฯ ในบุคคล 4 นั้น บุคคลใด ไปตามกระแส (เสพกามและทำบาปกรรม) บุคคลนี้(เป็นอันธปุถุชน) ชื่อว่า เป็นผู้มีส่วนแห่งสังกิเลส ฯ ในบุคคล 4 นั้น บุคคลใด ไปทวนกระแส (กัลยาณปุถุชน) และบุคคลใด มีตนตั้งมั่นแล้ว (พระเสกขะ) บุคคลทั้ง 2 นี้ เป็นผู้มีส่วนแห่งปัญญาเครื่องแทงตลอด ฯ ในบุคคล 4 นั้น บุคคลใด เป็นพราหมณ์ข้ามฝั่งยืนอยู่บนบก บุคคลนี้เป็นพระอเสกขะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะ นิพเพธภาคิยะและอเสกขภาคิยะ ฉะนี้แล ฯ" [110] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า"สังกิเลสภาคิยะ วาสนาภาคิยะและนิพเพธภาคิยะ เป็นไฉน" ในฉฬาภิชาติสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "บุคคลดำมีชาติดำ (สกุลต่ำ) ประพฤติธรรมดำมีอยู่ บุคคลดำมีชาติดำ ประพฤติธรรมขาวมีอยู่ บุคคลดำมีชาติดำ ยังนิพพานอันตนเห็นแล้วโดยสิ้นเชิงว่า ธรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ให้สำเร็จมีอยู่บุคคลขาวมีชาติขาว (สกุลสูง) ประพฤติธรรมดำมีอยู่ บุคคลขาวมีชาติขาว ประพฤติธรรมขาวมีอยู่ บุคคลขาวมีชาติขาว ย่อมยังพระนิพพานอันตนเห็นแล้วโดยสิ้นเชิงว่า ธรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ให้สำเร็จมีอยู่" ฯ ในบุคคล 6 เหล่านั้น บุคคล 2 นี้ คือ บุคคลดำมีชาติดำประพฤติธรรมดำ และบุคคลขาวมีชาติขาว ประพฤติธรรมดำ นี้ เป็นส่วนแห่งสังกิเลส ฯ ในบุคคล 6 นั้น บุคคล 2 นี้ คือ บุคคลดำมีชาติดำ ประพฤติธรรมขาวและบุคคลขาวมีชาติขาว ประพฤติธรรมขาวนี้เป็นส่วนแห่งวาสนา ฯ ในบุคคล 6 นั้น บุคคล 2 นี้ คือ บุคคลดำมีชาติดำ ย่อมยังพระนิพพานอันตนเห็นแล้วว่า ธรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ให้สำเร็จ และบุคคลขาวมีชาติขาว ย่อมยังพระนิพพานอันตนเห็นแล้วว่าธรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาวให้สำเร็จ นี้ เป็นส่วนแห่งนิพเพธะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะ วาสนาภาคิยะและนิพเพธภาคิยะ ฯ ในกรรมวรรค ตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม 4 เหล่านี้มีอยู่ กรรม 4 เหล่านั้น เป็นไฉน กรรมดำมีวิบากดำ มีอยู่ กรรมขาวมีวิบากขาว มีอยู่ กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาวมีอยู่ กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นกรรมสูงสุด เป็นกรรมประเสริฐสุด ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม"ในกรรม 4 เหล่านั้น กรรมดำมีวิบากดำ และกรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำและขาว ทั้ง 2 นี้ เป็นสังกิเลส ฯ กรรมขาวมีวิบากขาว นี้เป็นวาสนา ฯ กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นกรรมสูงสุด เป็นกรรมประเสริฐสุด ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม นี้เป็นนิพเพธะ ฯ สูตรนี้ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะ วาสนาภาคิยะและนิพเพธภาคิยะ ฉะนี้แล ฯ [111] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า"วาสนาภาคิยะและนิพเพธภาคิยะเป็นไฉน" สูตรที่กล่าวว่า"การได้ความเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นผู้มีกิจ (หน้าที่) 2 อย่าง คือกิจที่ควร และกิจที่ไม่ควรทีเดียว บุญทั้งหลาย หรือการละสังโยชน์ เป็นกิจดี ควรทำ" ดังนี้คำว่า "บุญทั้งหลาย เป็นกิจดี" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นวาสนา ฯ คำว่า"หรือการละสังโยชน์" ดังนี้ เป็นนิพเพธะ ฯ พระสูตรว่า "บุคคลทั้งหลายผู้ทำบุญ ครั้นทำบุญทั้งหลายแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์จากสวรรค์นั่นแหละบุคคลผู้ละสังโยชน์ทั้งหลาย ย่อมพ้นจากชราและมรณะ" ดังนี้ คำว่า"บุคคลผู้ทำบุญ ครั้นทำบุญทั้งหลายแล้วย่อมไปสู่สวรรค์จากสวรรค์"ดังนี้ เป็นวาสนา ฯ คำว่า "บุคคลผู้ละสังโยชน์ทั้งหลาย ย่อมพ้นจากชราและมรณะ" ดังนี้ เป็นนิพเพธะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยะและนิพเพธภาคิยะ ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเพียรเหล่านี้ มี 2 อย่าง ความเพียร 2อย่างเป็นไฉน บุคคลใด ย่อมสละจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (ถวาย) ในบรรพชิตผู้ไม่มีเรือน ผู้ออกบวชจากเรือน และในบรรพชิตทั้งหลายผู้ไม่มีเรือนออกบวชจากเรือนนั้น บุคคลใด สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นการสิ้นไปแห่งตัณหา เป็นวิราคะ นิโรธะ และนิพพาน" ดังนี้ ฯ ใน 2 อย่างนั้น บุคคลใด สละจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ในบรรพชิตผู้ไม่มีเรือน นี้ เป็นวาสนา ฯ ในบรรพชิตผู้ไม่มีเรือนนั้น บุคคลใด สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นการสิ้นไปแห่งตัณหา เป็นวิราคะนิโรธะ และนิพพาน นี้ เป็นนิพเพธะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยะ และนิพเพธภาคิยะ ฉะนี้ แล ฯ ในพระสูตร 16 นั้น พระสูตรที่ชื่อว่า ส่วนแห่งตัณหาสังกิเลส พึงแสดงด้วยตัณหา 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา เพราะเป็นฝ่ายแห่งตัณหาอย่างเดียว หรือตัณหานั้นยึดมั่นโดยอาศัยวัตถุใด ๆ พึงแสดงด้วยวัตถุนั้น ๆความพิสดารแห่งตัณหานั้น เป็นตัณหาที่ท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่าง ๆ เพียงดังข่ายมี 36 ประการ ฯ ในพระสูตร 16 นั้น พระสูตร ที่ชื่อว่า ส่วนแห่งทิฏฐิสังกิเลส พึงแสดงโดยสัสสตะและอุทเฉทะ เพราะเป็นฝ่ายแห่งทิฏฐินั่นแหละ ก็หรือว่า ทิฏฐินั้นย่อมยึดมั่นด้วยอำนาจความเห็นในวัตถุใด ๆ ว่า "สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า"ดังนี้ ก็พึงแสดงโดยวัตถุนั้น ๆ นั่นแหละ ความพิสดารแห่งทิฏฐินั้น ได้แก่ทิฏฐิคตะ 62 ประการในพระสูตร 16 นั้น พระสูตรที่เป็นส่วนแห่งทุจริตสังกิเลส พึงแสดงด้วยทุจริต 3 คือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ด้วยเจตนาและกรรมคือเจตสิกความพิสดารแห่งทุจริตนั้น ได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ประการในพระสูตร 16 นั้น สูตรอันเป็นส่วนแห่ง ตัณหาโวทาน (คือความผ่องแผ้วจากตัณหา) บัณฑิตพึงแสดงด้วยสมถะ สูตรอันเป็นส่วนแห่งทิฏฐิโวทาน(ความผ่องแผ้วจากทิฏฐิ) พึงแสดงด้วยวิปัสสนา สูตรอันเป็นส่วนแห่งทุจริตโวทาน (ความผ่องแผ้วจากทุจริต) บัณฑิตพึงแสดงด้วยสุจริต อกุศลมูลมี 3อย่าง ข้อนั้นเป็นเหตุแห่งอะไร เป็นเหตุของความเกิดขึ้นแห่งสังสาร จริงอย่างนั้น เมื่อสังสารเกิดขึ้นแล้ว กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มีอยู่ พาลลักษณะนี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยวิบากแห่งกรรมอันไม่งามนี้ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะ ฯ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีอยู่ มหาปุริสลักษณะนี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยวิบากแห่งกรรมอันงดงาม เพราะเหตุนั้น สูตรนี้จึงชื่่อว่า วาสนาภาคิยะ ฯ ในพระสูตร 16 เหล่านั้น สูตรอันเป็นส่วนแห่งสังกิเลส บัณฑิตพึงแสดงด้วยภูมิแห่งกิเลส 4 คือ ภูมิแห่งอนุสัย 1 ภูมิแห่งปริยุฏฐาน 1 ภูมิแห่งสังโยชน์ 1 และภูมิแห่งอุปาทาน 1 ฯ คืออย่างไรปริยุฏฐานกิเลส ย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ละอนุสัยยังไม่ได้ บุคคลผู้อันปริยุฏฐานมีกามราคะเป็นต้นกลุ้มรุมแล้ว ย่อมประกอบด้วยสังโยชน์มีกามราคะเป็นต้นบุคคลผู้ประกอบด้วยสังโยชน์ ย่อมยึดมั่นอกุศลกรรม มีกามุปาทานเป็นต้นเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงมี การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี ด้วยประการฉะนี้ กิเลสทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมถึงการสงเคราะห์ คือ ประชุมลงด้วยภูมิแห่งกิเลส 4 นี้ สูตรนี้ จึงชื่อว่า ส่วนแห่งกิเลส ฯ พระสูตร อันเป็นส่วนแห่งวาสนา พึงแสดงด้วยสุจริต 3 ฯ พระสูตร อันเป็นส่วนแห่งนิพเพธะ พึงแสดงด้วยสัจจะ 4 ฯ พระสูตร อันเป็นส่วนแห่งอเสกขะบัณฑิตพึงแสดงด้วยธรรม 3 อย่าง คือ ด้วยธรรมของพระพุทธเจ้า 1 ด้วยธรรมของพระปัจเจกพุทธะ 1 และด้วยภูมิแห่งพระสาวก 1 ภูมินี้ พึงแสดงด้วยอารมณ์แห่งฌานทั้งหลาย ฉะนี้แล ฯ +มูลบท 18 [112] ในหาระ 16 เป็นต้นนั้น มูลบท 18 เป็นไฉน มูลบท 18 พึงทราบด้วย สาสนปัฏฐาน 28 นี้ คือ 1. โลกียธรรม, 2. โลกุตตรธรรม โลกิยะและโลกุตตระ, 3. สัตตาธิฏฐาน 4. ธัมมาธิฏฐาน สัตตาธิฏฐานและธัมมาธิฏฐาน, 5 ญาณ (ความรู้) 6. เญยยะ (ควรรู้) ญาณและเญยยะ, 7. ทัสสนะ 8. ภาวนา ทัสสนะและภาวนา, 9. สกวจนะ (พุทธพจน์) 10. ปรวจนะ สกวจนะและปรวจนะ, 11. วิสัชชนียะ (พึงวิสัชชนา) 12. อวิสัชชนียะ วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ, 13. กรรม 14. วิบาก กรรมและวิบาก, 15. กุศล 16. อกุศล กุศลและอกุศล, 17. อนุญญาตะ 18. ปฏิกขิตตะ อนุญญาตะปฏิกขิตตะ 0. ถวะ (สรรเสริญ)ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "โลกียะเป็นไฉน"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ก็บาปกรรม อันบุคคลทำแล้วยังไม่เปลี่ยนไป เหมือนน้ำนมในวันนี้ยังไม่แปรไปฉะนั้น บาปกรรมนั้น ย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้าปกปิดแล้ว ฉะนั้น" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกียะ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า, "ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคตินี้มี 4 ประการ 4 ประการเป็นไฉน บุคคลย่อมถึงฉันทาคติ ฯลฯ ยศของผู้นั้น ย่อมเสื่อม เหมือนพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น" ดังนี้ เป็นโลกียะ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม 8 เหล่านี้ โลกธรรม 8 เป็นไฉน คือลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม 8 เหล่านี้แล" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกียะ ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "โลกุตตระเป็นไฉน"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"อินทรีย์ของภิกษุใด ถึงความสงบระงับ เหมือนม้าอันนายสารถีฝึกดีแล้ว แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ภิกษุนั้นผู้มีมานะอันละได้แล้ว ผู้ไม่มีอาสวะ ผู้คงที่" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกุตตระ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 5 เหล่านี้ เป็นโลกุตตระ อินทรีย์ 5 นั้นเป็นไฉน คือสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 5 เหล่านี้แล" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกุตตระ ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "โลกียะและโลกุตตระเป็นไฉน"คาถาทั้ง 2 ว่า "การได้ความเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นผู้มีิกิจ 2 อย่าง คือ ที่ควรทำและไม่ควรทำ" บทใด ในที่นี้ว่า "บุญทั้งหลาย เป็นกิจดี" และบทใดว่า "บุคคลทำบุญ ครั้นทำบุญแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์จากสวรรค์" ดังนี้ บทนี้ เป็นโลกียะ ฯ บทใด ในที่นี้ว่า "หรือ การละสังโยชน์" และบทใดว่า "การละสังโยชน์ ย่อมพ้นจากชรามรณะ" ดังนี้ บทนี้ เป็นโลกุตตระ ฯ ทั้ง 2 นี้เป็นโลกียะและโลกุตตระ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่่อวิญญาณาหารมีอยู่ การหยั่งลงของนามรูปย่อมมี เมื่อมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ภพใหม่ย่อมมี เมื่อมีภพใหม่ ชาติย่อมมี เมื่อมีชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสย่อมมี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ มีรากหยั่งลงและแผ่ไปข้าง ๆ รากทั้งหมดนั้น ย่อมดูดโอชาไปเบื้องบน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่นั้นมีอาหารอย่างนั้น มีความยึดมั่นอย่างนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ ก็พึงตั้งอยู่ตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อวิญญาณาหารมีอยู่ การหยั่งลงของนามรูปย่อมมี ฯลฯ การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลย่อมมีอย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกียะ ฯ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มีวิญญาณาหาร การหยั่งลงของนามรูปย่อมไม่มี เมื่อไม่มีนามรูปหยั่งลง ภพใหม่ย่อมไม่มี เมื่อไม่มีภพใหม่ ชาติย่อมไม่มี เมื่อไม่มีชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมดับ การดับของกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่พึงอยู่อย่างนั้น ที่นั้นบุรุษเอาจอบและภาชนะมาตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้นแล้ว ขุดลงไป ครั้นขุดลงไปแล้ว คุ้ยเอารากใหญ่เล็กแม้เท่าก้านแฝกขึ้น บุรุษนั้นพึงตัดต้นไม้นั้นเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่แล้วพึงผ่า ครั้นผ่าแล้ว พึงเจียกให้เป็นชิ้น ๆ ครั้นเจียกให้เป็นชิ้น ๆแล้ว พึงผึ่งลมตากแดด ครั้นผึ่งลมตากแดดแล้ว พึงเอาไฟเผา ครั้นเอาไฟเผาแล้ว พึงทำให้เป็นเขม่า ครั้นทำให้เป็นเขม่าแล้ว พึงโปรยที่ลมแรงหรือลอยในแม่น้ำที่มีกระแสอันเชี่ยว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ต้นไม้ใหญ่นั้นมีรากอันถอนขึ้นแล้ว ถูกทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อวิญญาณาหารไม่มี การหยั่งลงของนามรูป ย่อมไม่มี เมื่อการหยั่งลงของนามรูปไม่มีฯลฯ ย่อมดับ ฉันนั้นเหมือนกัน ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการฉะนี้" ดังนี้ นี้ เป็นโลกุตตระ คำที่กล่าวนี้ เป็นโลกียะและโลกุตตระ ฯ +สัตตาธิฏฐานและธัมมาธิฏฐาน [113] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "สัตตาธิษฐานเป็นไฉน" ในราชสูตรตรัสว่า"ใคร ๆ ตรวจดูด้วยจิตทั่วทุกทิศแล้ว หาได้พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหน ๆ ไม่ สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นสัตตาธิฏฐาน ฯ ในอัปปายุกาสูตรตรัสว่า"สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้เกิดแล้ว หรือแม้จักเกิด สัตว์ทั้งหมดเหล่านั้น จักละร่างกายไป ท่านผู้ฉลาด ทราบความเสื่อมแห่งสัตว์ทั้งปวงนั้นแล้ว พึงเป็นผู้มีความเพียรประพฤติพรหมจรรย์" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นสัตตาธิฏฐาน ฯ ในสขสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย กัลยาณมิตร ประกอบด้วยองค์ 7 อันบุคคลผู้ฉลาด ไม่พึงเว้นตลอดชีวิต แม้ถูกตำหนิประณามเสือกใสที่คอ กัลยาณมิตรประกอบด้วยองค์ 7 เป็นไฉน คือ บุคคลเป็นที่รักใคร่พอใจ (เพราะประกอบด้วยคุณ คือมีศีลและทิฏฐิอันบริสุทธิ์) 1 บุคคลเป็นครู (เป็นดุจฉัตรหิน) 1 บุคคลผู้ควรสรรเสริญ (ด้วยคุณ) 1 บุคคลผู้ฉลาดพูด (ในการให้โอวาท) 1 เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ 1 เป็นผู้กล่าวถ้อยคำอันลึกซึ้ง(มีสัจจะและปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น) 1 เป็นผู้ไม่ชักนำในทางไม่ควร 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย องค์ 7 ประการเหล่านี้แล ฯลฯ อันบุคคลไม่พึงเว้นตลอดชีวิต" พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว พระสุคตผู้ศาสดาครั้นตรัสเนื้อความนี้แล้ว ได้ตรัสคาถานี้ว่า"บุคคลผู้เป็นที่รักใคร่พอใจ เป็นครู เป็นผู้ควรสรรเสริญ เป็นผู้ฉลาดพูด เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้กล่าวถ้อยคำอันลึก เป็นผู้ไม่ชักนำไปในทางที่ไม่ควร บุคคลผู้ต้องการมิตร ควรเสพมิตรนั้นเช่นนั้นตลอดชีวิต" ดังนี้ข้อนี้ เป็นสัตตาธิฏฐาน ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ธัมมาธิฏฐานเป็นไฉน"ในราชสูตร ทรงเปล่งอุทานว่า"กามสุขในโลกและทิพยสุข ย่อมไม่ถึงซึ่่งเสี้ยวที่ 16 (ที่จำแนกออก 16 ส่วน) แห่งสุขคือความสิ้นตัณหา" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นธัมมาธิฏฐาน ฯ พระพากุลเถระกล่าวว่า"นิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธะทรงแสดงแล้ว ไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสธุลี เป็นแดนเกษม เป็นที่ดับทุกข์ เป็นสุขดีหนอ" ดังนี้ ข้อนี้เป็นธัมมาธิฏฐาน ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น"สัตตาธิษฐานและธัมมาธิษฐานเป็นไฉน""พราหมณ์ ฆ่าแล้วซึ่งมารดา (ตัณหา) และบิดา (มานะ) ฆ่าราชาผู้เป็นกษัตริย์ทั้ง 2 (สัสสตะและอุทเฉทะ) ฆ่าแว่นแคว้น (อายตนะ 12)พร้อมทั้งผู้ติดตาม (นันทิราคะ) เป็นผู้ไม่มีทุกข์ย่อมไป" ดังนี้ คำว่า"ฆ่ามารดาและบิดา ฆ่าราชาผู้เป็นกษัตริย์ทั้ง 2 ฆ่าแว่นแคว้น พร้อมทั้งผู้ติดตาม" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นธัมมาธิฏฐาน ฯ คำว่า "พราหมณ์เป็นผู้ไม่มีทุกข์ย่อมไป" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นสัตตาธิฏฐาน ฯ สูตรนี้ เป็นสัตตาธิฏฐานและธัมมาธิฏฐาน ฯ ในอิทธิบาทสังยุตต์ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาท 4 เหล่านี้ อิทธิบาท 4 เป็นไฉน อิทธิบาทประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร วิริยะ ฯลฯ จิตตะ ฯลฯ อิทธิบาทประกอบด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร นี้เป็นธัมมาธิฏฐาน ฯ บุคคลผู้ประกอบด้วยอิทธิบาท 4 นั้น (ปรารถนาไปด้วยกายที่ปรากฏ) จึงตั้งจิตไว้ในฌานที่เป็นบาท ในกรชกายบ้าง ปรารถนาไปเร็วตั้งกรชกายในจิตที่มีฌานเป็นบาทบ้าง ก้าวล่วงสุขวิหารสัญญา และลหุคมนสัญญาในกรชกาย ย่อมเข้าถึงอยู่ ส่วนแห่งพระสูตรนี้ เรียกว่าสัตตาธิฏฐาน ฯ ข้อนี้ เป็นธัมมาธิฏฐาน ฯ +ญาณและเญยยะ [114] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ญาณเป็นไฉน" คำว่า "ญาณใด ก้าวขึ้นครอบงำโลกทั้งปวงตั้งอยู่ ญาณนั้นเป็นโลกุตตระ พระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตเรียกว่าสัพพัญญูด้วยสัพพัญญุตญาณใด ญาณนั้นไม่เสื่อม ย่อมเป็นไปในการรำพึงเพื่อจะรู้ในกาลทั้งปวง" ข้อนี้ ชื่อว่า ญาณ ฯ คำว่า "ปัญญา อันให้ถึงพระนิพพานนี้แล ประเสริฐที่สุดในโลกด้วยว่า ปัญญานั้นย่อมรู้ชัด ซึ่งความสิ้นไปแห่งชาติและมรณะโดยชอบ"ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า ญาณ ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "เญยยะเป็นไฉน"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรโธตกะ เราจักแสดงธรรมเครื่องระงับกิเลส (นิพพาน) แก่ท่านในธรรมที่เราเห็นแล้ว ที่บุคคลรู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ในโลก"โธตกะกราบทูลว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ข้าพระองค์ ย่อมยินดีอย่างยิ่งซึ่งธรรมเป็นเครื่องระงับอันสูงสุด ที่บุคคลรู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ในโลก"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรโธตกะ เธอจงรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในส่วนเบื้องต่ำ(ทั้งอดีตและอนาคต) ทั้งในเบื้องขวางสถานกลาง (ปัจจุบัน) จงรู้แจ้งสิ่งนั้นว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลกนี้แล้ว อย่าได้ทำตัณหา เพื่อภพน้อยและภพใหญ่" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า เญยยะ (เพราะเป็นไปในอารมณ์ที่พึงรู้) ฯ ในโกฏิคามวรรคตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะการไม่ตรัสรู้ เพราะการไม่แทงตลอดอริยสัจจ์ 4 เราด้วย พวกเธอด้วย จึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปยังสังสารวัฏฏ์นี้ตลอดกาลนานอย่างนี้ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจจ์นี้นั้น อันเราด้วย อันพวกเธอด้วย แทงตลอดแล้ว ตรัสรู้แล้ว ทุกขสมุทยอริยสัจจ์นี้นั้นอันเราด้วย อันพวกเธอด้วย แทงตลอดแล้ว ตรัสรู้แล้ว ทุกขนิโรธอริยสัจจ์อันเราด้วย อันพวกเธอด้วย แทงตลอดแล้ว ตรัสรู้แล้ว ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์ อันเราด้วย อันพวกเธอด้วย แทงตลอดแล้ว ตรัสรู้แล้วตัณหาในภพขาดสูญแล้ว ตัณหาที่จะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี"ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว พระสุคตผู้ศาสดาครั้นตรัสเนื้อความนี้แล้ว จึงตรัสคาถาอีกว่า"เพราะการไม่เห็นอริยสัจจ์ 4 ตามความเป็นจริง เราและพวกเธอจึงท่องเที่ยวไปในชาตินั้น ๆ ตลอดกาลนาน อริยสัจจ์ 4 เหล่านี้ เราและพวกเธอเห็นแล้ว ตัณหาที่นำไปสู่ภพ ถอนขึ้นได้แล้ว มูลแห่งทุกข์ตัดขาดแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า เญยยะ ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ญาณและเญยยะเป็นไฉน"คำว่า "รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยงวิญญาณไม่เที่ยง" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นเญยยะ (เพราะเป็นไปในรูปธรรมเป็นต้นที่พึงรู้) ฯ พระอริยสาวกนั้น เมื่อรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเห็นว่า "รูปนี้ไม่เที่ยง"ดังนี้ ย่อมเห็นว่า "เวทนานี้ไม่เที่ยง" ดังนี้ ย่อมเห็นว่า "สัญญานี้ไม่เที่ยง" ดังนี้ย่อมเห็นว่า "สังขารนี้ไม่เที่ยง" ดังนี้ ย่อมเห็นว่า "วิญญาณนี้ไม่เที่ยง" ดังนี้ ข้อนี้เป็นญาณ ฯ พระอริยสาวกนั้น เมื่อเห็น โดยประการมีอาทิว่า รูปไม่เที่ยง ย่อมหลุดพ้นจากความกำหนัดในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เราย่อมกล่าวว่า "พระอริยสาวกนี้ ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นญาณและเญยยะ ฯ ส่วนแห่งพระสูตร ในข้อว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง" ดังนี้ ชื่อว่า เญยยะ ฯในข้อว่า "เมื่อใด พระอริยสาวก ย่อมเห็นด้วยปัญญา" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า ญาณ ฯ ในข้อว่า "ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น พระอริยสาวกนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์นั่นเป็นทางหมดจด" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่อว่า ญาณและเญยยะ ฯ ส่วนแห่งพระสูตร ในข้อว่า "สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่าเญยยะ ฯ ในข้อว่า "เมื่่อใด ย่อมเห็นด้วยปัญญา" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า ญาณ ฯ ในข้อว่า "ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางหมดจด"ดังนี้ สูตรนี้ ชื่อว่า ญาณและเญยยะ ฯ ส่วนแห่งพระสูตรว่า "ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่าเญยยะ ฯ ในข้อว่า "เมื่อใดเห็นด้วยปัญญา" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่่อว่า ญาณ ฯ ในข้อว่า"ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น ย่อมเบื่่อหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด"ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า ญาณและเญยยะ ฯ ในโสณสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะบุตรคหบดีว่า"ดูกรโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมเห็นว่าเราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา หรือย่อมเห็นว่า เราเป็นผู้เสมอเขา หรือเห็นว่า เราเป็นผู้เลวกว่าเขา ด้วยรูปอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้ มิใช่เหตุอื่น เพราะการไม่เห็นตามความเป็นจริง ย่อมเห็นว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ฯลฯ ด้วยเวทนาอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ฯลฯ ด้วยสัญญา ฯลฯ ด้วยสังขาร ฯลฯ ด้วยวิญญาณ ฯลฯ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้ มิใช่เหตุอื่น เพราะไม่เห็นตามความเป็นจริง"ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า เญยยะ ฯ "ดูกรโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่เห็นว่าเราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ไม่เห็นว่า เราเป็นผู้เสมอเขา หรือไม่เห็นว่าเราเลวกว่าเขา ด้วยรูปอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ฯลฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ ด้วยวิญญาณ อันไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่เหตุอื่น นอกจากการเห็นตามความเป็นจริง" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า ญาณ ฯ พระสูตรนี้ชื่อว่า ญาณและเนยยะ +ทัสสนะและภาวนา [115] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ทัสสนะเป็นไฉน" ในรัตนสูตรตรัสว่า"พระอริยะเหล่าใด ทำให้แจ้งซึ่งอริยสัจจะทั้งหลาย อันพระศาสดาทรงแสดงดีแล้ว ด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง พระอริยบุคคลเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประมาทอย่างแรงกล้า (ในกาลที่เป็นเทวราชและพระเจ้าจักรพรรดิราชเป็นต้น) อยู่ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านก็ไม่ยึดถือเอาภพที่ 8" ดังนี้ ชื่อว่าทัสสนะ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"เสาเขื่อน ที่ฝังลงดิน ไม่พึงหวั่นไหว เพราะลมทั้ง 4 ทิศ ฉันใดบุคคลใด ย่อมเห็นอริยสัจจ์ทั้งหลาย อันไม่หวั่นไหว เราย่อมเรียกบุคคลผู้เปรียบด้วยเสาเขื่อนนั้นว่า สัตบุรุษ" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า ทัสสนะ ฯ ในพระสูตรหนึ่งตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวก ผู้ประกอบด้วยองค์เป็นเครื่่องบรรลุเป็นพระโสดาบัน 4 ประการ หวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์เดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปตวิสัยสิ้นแล้วมีอบายทุคติวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นผู้ถึงอริยมรรคครั้งแรก มีการไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแล้ว มีการตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า จักแล่นไป ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์แล้ว จักกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย องค์แห่งการบรรลุเป็นพระโสดาบัน 4 เป็นไฉน ศรัทธาของอริยสาวก ในธรรมวินัยนี้ มั่นคงแล้วในพระตถาคตตั้งมั่นแล้ว งอกงามแล้ว มีรากหยั่งลงแล้ว พร้อมด้วยธรรม เพราะไม่หวั่นไหวด้วยสมณะ หรือด้วยพราหมณ์ หรือเทวดา มาร พรหมคนใดคนหนึ่งในโลก ก็อริยสาวกนั้นแล เป็นผู้ถึงความมั่นใจในพระธรรมว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เป็นธรรมอันผู้ปฏิบัติพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู พึงน้อมเข้าไปในตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้เฉพาะตน พระธรรมนี้ใด เป็นที่ขจัดเสียซึ่งความเมา เป็นเครื่องขจัดความกระหาย ถอนขึ้นซึ่งความอาลัย อันเข้าไปตัดซึ่งวัฏฏะเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นวิราคะ นิโรธะและนิพพาน พระอริยสาวกผู้เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจพร้อมกับธรรมของท่านนั้นแล ก็พระอริยสาวก ผู้ประกอบด้วยศีลทั้งหลายอันเป็นที่รัก ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาและทิฏฐิไม่ยึดไว้ อันเป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวก ผู้ประกอบแล้วด้วยองค์แห่งการบรรลุโสดาบัน 4 เหล่านี้แล หวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนได้ว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์เดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบายทุคติวินิบาตสิ้นแล้ว เป็นผู้ถึงกระแส (อริยมรรค) ครั้งแรก มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแล้ว เป็นผู้มีการตรัสรู้ในเบื้องหน้า ครั้นแล่นไป ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์แล้ว จักกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์"ดังนี้ ข้อนี้ชื่อว่า ทัสสนะ ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ภาวนาเป็นไฉน"ในสภิยสูตรตรัสว่า"ผู้ใด อบรมอินทรีย์แล้ว แทงตลอดโลกนี้และโลกอื่น ทั้งภายในและภายนอกในโลกทั้งปวง มีตนอบรมแล้ว รออยู่ซึ่งกาลสิ้นชีวิต ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่า ผู้ฝึกตนแล้ว" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า ภาวนา ฯ ในธรรมปทสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย บทธรรม 4 ประการเป็นไฉน บทธรรมคืออนภิชฌา (ความไม่เพ่งเล็ง) 1 บทธรรมคือความไม่พยาบาท 1 บทธรรมคือสัมมาสติ 1 บทธรรมคือสัมมาสมาธิ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย บทธรรม 4ประการเหล่านี้แล" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นภาวนา ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ทัสสนะและภาวนาเป็นไฉน"ในคาถาธรรมบทว่า "ภิกษุพึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 พึงละอุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นทัสสนะ ฯ คำว่า "พึงเจริญอินทรีย์ 5 ให้ยิ่ง ภิกษุล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง 5 อย่างได้แล้ว เรากล่าวว่า เป็นผู้ข้ามโอฆะแล้ว" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นภาวนา ฯ บทธรรมที่กล่าวนี้ เป็นทัสสนะและภาวนา ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 3 ประการเหล่านี้ อินทรีย์ 3 เป็นไฉน คือ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ 1 อัญญินทรีย์ 1 อัญญาตาวินทรีย์ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียรย่อมประคองจิตไว้ ย่อมทำความเพียร เพื่อตรัสรู้ทุกขอริยสัจจ์อันยังไม่ได้ตรัสรู้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิตไว้ ย่อมทำความเพียร เพื่อการตรัสรู้ ซึ่งทุกขสมุทยอริยสัจจ์อันยังไม่เคยตรัสรู้ ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจจ์ ฯลฯ ย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิตไว้ ย่อมตั้งความเพียรเพื่อการตรัสรู้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์ อันยังไม่เคยตรัสรู้ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่าทัสสนะ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัญญินทรีย์เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกข์" ดังนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกขสมุทัย" ดังนี้ ฯลฯ "นี้ทุกขนิโรธ" ดังนี้ ฯลฯ ว่า"นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา" ดังนี้ นี้เป็นอัญญินทรีย์ ฯ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัญญาตาวินทรีย์เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งหลาย เพราะการรู้ยิ่งเองในธรรมอันเห็นแล้วนั่นแหละเข้าถึงอยู่ จึงรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่พึงทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่่น เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอัญญาตาวินทรีย์" ดังนี้ นี้เป็นภาวนา ฯ พระสูตรนี้ ชื่อว่า ทัสสนะและภาวนา ฯ +สกวจนะและปรวจนะ [116] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "สกวจนะเป็นไฉน" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม การยังจิตให้ผ่องแผ้วนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ดังนี้ พุทธพจน์นี้ ชื่อว่า สกวจนะ(เพราะเป็นดำรัสของพระพุทธเจ้า) ฯ ในพาลบัณฑิตสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะแห่งความเป็นพาล นิมิตแห่งความเป็นพาล ความประพฤติแห่งความเป็นพาล 3 ประการเหล่านี้ มีอยู่แก่คนพาล ชนเหล่าอื่นย่อมรู้จักคนพาลด้วยเหตุเหล่าใดว่า เป็นคนพาล ดังนี้เหตุนั้นมี 3 ประการ เหตุ 3 ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลมักคิดแต่เรื่องที่คิดชั่ว มักพูดแต่เรื่องที่พูดชั่ว มักกระทำแต่กรรมที่ชั่วดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ 3 ประการนี้แล ฯ""ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะแห่งความเป็นบัณฑิต นิมิตแห่งความเป็นบัณฑิต ความประพฤติแห่งความเป็นบัณฑิต 3 ประการเหล่านี้ มีอยู่แก่บัณฑิต ชนเหล่าอื่น ย่อมรู้จักบัณฑิตด้วยเหตุเหล่าใดว่า เป็นบัณฑิตดังนี้ เหตุนั้นมี 3 ประการ เหตุ 3 ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายบัณฑิตมีปกติคิดแต่เรื่องที่คิดดี มีปกติพูดแต่คำพูดที่ดี มีปกติกระทำแต่กรรมดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ 3 ประการเหล่านี้แล " ดังนี้ สูตรนี้ชื่อว่าสกวจนะ ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ปรวจนะเป็นไฉน"คำว่า "พื้นที่กว้างเสมอด้วยแผ่นดินย่อมไม่มี พื้นที่ลุ่มเสมอด้วยบาดาลย่อมไม่มี สิ่งที่สูงเสมอด้วยเขาสิเนรุย่อมไม่มี บุรุษผู้เช่นกับพระเจ้าจักรพรรดิ์ย่อมไม่มี" ดังนี้ เป็น ปรวจนะ (เป็นคำของเทวดา)ในสุภาสิตชยสูตรตรัสว่า"ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ตรัสว่า แน่ะจอมเทพ เราจงเอาชนะกันด้วยการกล่าวคำสุภาษิตเถิด ท้าวสักกะจอมเทพตรัสว่า แน่ะท้าวเวปจิตติตกลง เราจงเอาชนะกัน ด้วยการกล่าวคำสุภาษิต ดูก่อนเวปจิตติ ท่านจงกล่าวคาถา ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้กล่าวคาถาว่าพวกคนพาลยิ่งกริ้วโกรธ ถ้าบุคคลไม่ตัดรอนเสีย ฉะนั้นนักปราชญ์ผู้มีปัญญา จึงควรกำจัดคนพาลเสียด้วยอาญาอันรุนแรง ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่่อท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ตรัสคาถาแล้ว พวกอสูรพากันอนุโมทนา พวกเทวดาต่างก็พากันนิ่ง ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพว่า แน่ะจอมเทพ ท่านจงกล่าวคาถาเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติตรัสเช่นนี้แล้วท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสคาถานี้ว่าผู้ใด รู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ เราเห็นว่า การระงับไว้ของผู้นั้น เป็นเครื่องตัดรอนคนพาล ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อท้าวสักกะจอมเทพ ได้ภาษิตคาถาแล้ว พวกเทวดาก็พากันอนุโมทนา พวกอสูรต่างก็นิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแลท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสกะท้าวเวปจิตติจอมอสูรว่า "แน่ะท้าวเวปจิตติท่านจงตรัสคาถาเถิด" ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะตรัสเช่นนี้ ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถานี้ว่า"ดูก่อนท้าววาสวะ เราเห็นโทษของความอดกลั้นนี้นั่นแหละ เพราะว่า เมื่อใด คนพาลย่อมสำคัญเห็นผู้อดกลั้นนั้นว่า "บุคคลนี้ย่อมอดกลั้นต่อเรา เพราะกลัว" เมื่่อนั้น คนพาล ผู้ทรามปัญญา ยิ่งข่มขี่ผู้อดกลั้นนั้นยิ่งขึ้น เหมือนโคข่มขี่โคตัวที่แพ้หนีไป ฉะนั้น" ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูร ภาษิตคาถาแล้วพวกอสูรพากันอนุโมทนา พวกเทวดาต่างก็นิ่ง ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพว่า "แน่ะ จอมเทพ ท่านจงตรัสคาถาเถิด" ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูร ตรัสเช่นนี้แล้วท้าวสักกะจอมเทพ ได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า"บุคคล ย่อมสำคัญเห็นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเรา เพราะกลัว หรือหาไม่ก็ตาม ประโยชน์ทั้งหลาย มีประโยชน์ของตนเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติย่อมไม่มี ผู้ใดแลเป็นคนมีกำลัง ย่อมอดกลั้นต่อคนทุรพลได้ความอดกลั้นของผู้นั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นขันติอย่างยิ่ง คนทุรพลจำต้องอดทนอยู่เป็นนิจ บัณฑิตเรียกกำลังของผู้โง่เขลาอย่างคนพาลนั้นว่า มิใช่กำลัง ไม่มีคนใดที่จะกล่าวโต้ต่อคนที่มีกำลังอันธรรมคุ้มครองแล้วเพราะความโกรธนั้น บุคคลใด โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้วบุคคลนั้นลามกกว่าบุคคลผู้โกรธแล้วนั้น บุคคลผู้ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้วย่อมชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่า ผู้อื่่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ ผู้นั้น ชื่่อว่า ประพฤติประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายตนทั้งฝ่ายคนอื่น ชนเหล่าใดไม่ฉลาดในธรรม ชนเหล่านั้น ย่อมสำคัญเห็นผู้รักษาประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนั้นว่าเป็นคนโง่" ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะจอมเทพ ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้แล้ว พวกเทวดาพากันอนุโมทนา พวกอสูรต่างก็นิ่ง" พระสูตรนี้ ชื่อว่าปรวจนะ ฯ [117] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "สกวจนะและปรวจนะเป็นไฉน"คำว่า "อุปกรณ์แห่งกาม อันบุคคลเสพอยู่ ที่ถึงแล้วในบัดนี้ และจะพึงถึงต่อไปอันใด สิ่งทั้ง 2 นั้น เกลื่อนกล่นด้วยธุลีมีราคะเป็นต้น เป็นของคนที่ศึกษาในสำนักแห่งคนที่กระสับกระส่าย ก็บุคคลเหล่าใด สำคัญสิกขาที่ไม่มีสาระว่าเป็นสาระ มีความยึดมั่นศีล พรต ชีวิตว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ วาทะนี้ เป็นวาทะลามกที่สุดที่หนึ่่งแห่งบุคคลผู้ยึดมั่นเหล่านั้น และบุคคลเหล่าใด มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีปกติเห็นอย่างนี้ว่าโทษในกามทั้งหลายไม่มี วาทะนี้เป็นวาทะลามกที่สุดที่ 2 บุคคลผู้มีวาทะที่สุดทั้ง 2 นี้ ผู้ยังป่าช้าให้เจริญ โดยนัยที่กล่าวแล้วนี้ ย่อมยังป่าช้าทั้งหลายและทิฏฐิให้เจริญ คือว่า บุคคล 2 พวกนี้ พวกหนึ่งย่อมติดอยู่เพราะความไม่รู้ พวกหนึ่งย่อมแล่นเลยไปด้วยทิฏฐิ" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่อว่า ปรวจนะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ก็สัมมาทิฏฐิบุคคลเหล่าใดแล ไม่มีที่สุดอันลามกนั้น เพราะรู้ยิ่งที่สุดทั้ง 2 นั้น ไม่สำคัญที่สุดทั้ง 2 นั้น วัฏฏะของชนเหล่านั้น ย่อมไม่มีเพราะการบรรลุด้วยปัญญา" ดังนี้ คำนี้ เป็นสกวจนะ ฯ สูตรทั้ง 2 นี้ ชื่อว่า สกวจนะและปรวจนะ ฯ ในอัตตรักขิตสูตร พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หม่อมฉันได้เข้าไปที่ลับ พักผ่อนอยู่ได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า ชนพวกไหนหนอ มีตนเป็นที่รัก พวกไหนหนอไม่มีตนเป็นที่รัก ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ดำริต่อไปว่า ก็ชนพวกใดพวกหนึ่ง ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจาและด้วยใจชนเหล่านั้นไม่มีตนเป็นที่รัก ถึงชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวว่า พวกเรารักตนแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ไม่มีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชนที่ไม่รักใคร่กัน พึงกระทำทุจริตเพื่อความพินาศแก่คนที่ไม่รักกัน ชนเหล่านั้นย่อมกระทำทุจริตนั้น เพื่อความพินาศแก่ตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้นชนเหล่านั้น จึงชื่อว่ามีตนไม่เป็นที่รัก ก็แต่ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจาและด้วยใจ ชนเหล่านั้นชื่อว่า มีตนเป็นที่รัก ชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวว่า เราไม่มีตนเป็นที่่รัก ดังนี้ แม้ก็จริงถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่ามีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่รักกัน พึงกระทำสุจริต เพื่อความเจริญแก่คนที่รัก ชนเหล่านั้นย่อมกระทำสุจริตเพื่อตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่ามีตนเป็นที่รัก" ดังนี้"ดูกรมหาบพิตร ข้อนี้ เป็นอย่างนั้น ดูกรมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรมหาบพิตร ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกายย่อมประพฤติทุจริตด้วยวาจา ย่อมประพฤติทุจริตด้วยใจ เพราะฉะนั้นชนเหล่านั้นชื่อว่า มีตนไม่เป็นที่รัก ชนเหล่านั้น ถึงจะกล่าวว่า เรามีตนเป็นที่รัก ดังนี้ ก็จริง ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่มีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไรดูกรมหาบพิตร เพราะชนไม่เป็นที่รักใคร่กัน พึงกระทำทุจริตเพื่อความพินาศแก่คนที่ไม่รักกัน ชนเหล่านั้นย่อมกระทำทุจริตนั้นเพื่อความพินาศแก่ตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงไม่ชื่อว่า มีตนเป็นที่รักดูกรมหาบพิตร ก็แต่ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกายด้วยวาจาและด้วยใจ ชนเหล่านั้น ชื่อว่ามีตนเป็นที่่รัก ชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวว่า เราไม่มีตนเป็นที่่รัก ดังนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้นก็มีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรมหาบพิตร คนที่รักใคร่กัน พึงกระทำสุจริตเพื่อความเจริญแก่คนที่รัก ชนเหล่านั้น ย่อมกระทำสุจริตนั้น เพื่อตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่า มีตนเป็นที่รัก" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาประพันธ์อีกว่า"ถ้าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รัก ไม่พึงประกอบตนด้วยบาป เพราะว่าความสุขนั้นไม่เป็นผลที่บุคคลผู้ทำชั่ว จะพึงได้โดยง่าย เมื่อบุคคลถูกมรณะครอบงำ ละทิ้งภพมนุษย์ไป ก็อะไรเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาอะไรไปได้ อนึ่ง อะไรเล่า จะติดตามเขาไปประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้นผู้ที่เกิดมาแล้ว จำต้องตายในโลกนี้ ย่อมทำซึ่งกรรมใดไว้ คือ บุญและบาปทั้งสอง บุญและบาปนั้นแล เป็นสมบัติของเขา และเขาจะพาเอาบุญและบาปนั้นไป อนึ่ง บุญและบาปนั้น ย่อมติดตามเขาไป ดุจเงาตามตนไป ฉะนั้นเพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกัลยาณธรรมสั่งสมไว้เป็นสมบัติในปรโลกเพราะบุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า ปรวจนะ ฯ คำที่กล่าวตามลำดับเป็น สกวจนะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สกวจนะและปรวจนะ ฯ +วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ [118] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "วิสัชชนียะเป็นไฉน"พระสูตรว่า "เมื่อปัญหา อันบุคคลถามแล้วว่า สัจจะนี้อันบุคคลพึงรู้ยิ่งอย่างไรสัจจะนี้พึงกำหนดรู้ สัจจะนี้พึงละ สัจจะนี้พึงเจริญ สัจจะนี้พึงกระทำให้แจ้ง กุศลธรรม อกุศลธรรมที่บุคคลถือเอาอย่างนั้น ผลมีวิบากน่าปรารถนาไม่น่าปรารถนานี้ที่กุศลหรืออกุศลให้เกิดขึ้น ความเจริญหรือความเสื่อมแห่งกุศลและอกุศลเหล่านั้น ที่่บุคคลถือเอาอย่างนั้น" ดังนี้เป็นต้น ปัญหานี้พึงวิสัชชนา (คือพึงพยากรณ์)ด้วยบทว่า "อุฬาโร พุทฺโธ ภควา" นี้ พึงอธิบาย ถึงความโอฬาร(ประเสริฐ) ของพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว ด้วยบทว่า "สฺวากฺขาโต ธมฺโม"ดังนี้ พึงแสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วโดยส่วนเดียว ด้วยบทว่า "สุปฏิปนฺโน สํโฆ" ดังนี้ พึงแสดงความปฏิบัติดีของพระสงฆ์โดยส่วนเดียว ฯ ด้วยบทว่า "สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา" ดังนี้ พึงแสดงความที่สังขารไม่เที่ยงอย่างเดียว ด้วยบทว่า "สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา" ดังนี้ พึงแสดงความที่สังขารเป็นทุกข์อย่างเดียว ด้วยบทว่า "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา" ดังนี้ ก็พึงแสดงความที่ธรรมเป็นอนัตตาโดยส่วนเดียวเท่านั้น หรือธรรมชาติอื่นที่มีลักษณะอย่างนี้ ก็พึงชี้แจงโดยส่วนเดียวเท่านั้น (ปัญหานี้ พึงวิสัชนา)นี้ชื่่อว่า วิสัชชนียะ ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "อวิสัชชนียะเป็นไฉน"พระสูตรมีคำว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสารถีฝึกนระ เมื่อพระองค์ปรารถนาอยู่ (หวังอยู่) พวกเทวดาและมนุษย์ไม่พึงรู้เญยยธรรม อันพระทัยประกอบด้วยสัพพัญญุตญาณเป็นต้นคิดแล้ว เมื่อพระองค์เสพอรณสมาธิอันสงบระงับแล้ว สัตว์ทั้งปวงก็ไม่พึงรู้แม้ด้วยปัญญาอันมีกสิณเป็นอารมณ์ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ย่อมปรารถนา (หวัง) สิ่งใด ความปรารถนานั้นเป็นไฉน" ดังนี้ เป็นต้น พระสูตรนี้ ชื่อว่า อวิสัชชนียะ ฯ พระสูตรนี้ว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า มีประมาณในศีลขันธ์เท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า มีประมาณเท่านี้ในสมาธิขันธ์ ในปัญญาขันธ์ ในวิมุตติขันธ์ ในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ พระผู้มีพระภาคเจ้า มีประมาณเท่านี้ในกายและวจีสมาจารเป็นเหตุ มีประมาณเท่านี้ในอานุภาพ มีประมาณเท่านี้ในพระเมตตา ในพระกรุณา มีประมาณเท่านี้ในพระฤทธิ์ต่าง ๆ " ดังนี้ พระสูตรนี้ชื่อว่า อวิสัชชนียะ ฯ (อันบุคคลไม่พึงพยากรณ์)พระสูตรนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความบังเกิดขึ้นแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความบังเกิดขึ้นแห่งรัตนะ 3 คือ พุทธรัตนะ ธัมมรัตนะและสังฆรัตนะ จึงมี รัตนะ 3 มีประมาณเท่าไร (โดยคุณ)" ดังนี้ นี้ชื่อว่าอวิสัชชนียะ ฯ (ไม่พยากรณ์)ปัญหาที่มีบุคคลเป็นประธาน คือ วิสัยของพระพุทธเจ้า อันบุคคลไม่พึงพยากรณ์ บุคคลอื่นรู้ บุคคลอื่นก็ไม่พึงพยากรณ์ เพราะเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ผู้มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพัน เมื่อสัตว์ทั้งหลายแล่นไปท่องเที่ยวไปสู่นรกคราวหนึ่ง สู่กำเนิดสัตว์เดรัจฉานคราวหนึ่ง สู่เปตวิสัยคราวหนึ่ง สู่กำเนิดอสุรกายคราวหนึ่ง ในเทพคราวหนึ่ง ในมนุษย์คราวหนึ่ง ที่สุดเบื้องต้นนั้น เป็นไฉน" คำนี้อันบุคคลไม่พึงพยากรณ์เทศนาว่า ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ ดังนี้ ได้แก่ เพราะความบกพร่องแห่งญาณของพระสาวกทั้งหลาย เทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามี 2อย่าง คือ เทศนาที่น้อมไปแก่ตน และน้อมไปแก่บุคคลอื่่น ๆ คำว่า "ย่อมไม่ปรากฏ" ดังนี้ เป็นเทศนาน้อมไปแก่ตน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภโกกาลิกภิกษุโดยประการใด ได้ตรัสกะภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยประการนั้นว่า "ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนเกวียนบรรทุกงาแห่งชาวโกศล ซึ่งบรรทุกงาได้ 20 ขารี บุรุษพึงนำเมล็ดงาออกจากเกวียนนั้น โดยล่วงไปแห่งร้อยปี ๆ ต่อหนึ่่งเมล็ด ฯลฯ ส่วนอัพพุทนรกหนึ่ง ยังไม่ถึงความสิ้นไปหมดไปเลย ดูกรภิกษุ 20 อัพพุทนรก เป็นหนึ่งนิรัพพุทนรก 20 นิรัพพุทนรกเป็นหนึ่งอพพนรก 20 อพพนรกเป็นหนึ่งอฏฏนรก 20 อฏฏนรกเป็นหนึ่งอหหนรก 20 อหหนรกเป็นหนึ่งกุมุทนรก 20 กุมุทนรกเป็นหนึ่งโสคันธิกนรก ดูกรภิกษุ 20 โสคันธิกนรกเป็นหนึ่งอุปปลกนรก 20อุปปลกนรกเป็นหนึ่งปุณฑริกนรก 20 ปุณฑริกนรกเป็นหนึ่งปทุมนรกดูกรภิกษุ โกกาลิกภิกษุเกิดในปทุมนรกเพราะยังจิตให้อาฆาตแล้ว ในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ" ดังนี้ ก็หรือว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เทศนานี้ อันบุคคลไม่พึงประมาณ ไม่พึงนับ ดังนี้ คำทั้งปวงนั้น อันบุคคลไม่พึงวิสัชนา ข้อนี้ ชื่อว่า อวิชชนียะ ฯ [119] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะเป็นไฉน"ในกาลใด อุปกาชีวกนั้น กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า"ดูก่อนพระโคดมผู้มีอายุ พระองค์จักเสด็จไปไหน" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เราจะไปยังเมืองพาราณสี เพื่อประกาศธรรมจักร จักบันลือกลองอมตะให้เป็นไป อันใคร ๆ ในโลกให้เป็นไปไม่ได้" ดังนี้ อุปกาอาชีวกทูลว่า "ดูก่อนอาวุโสโคดมผู้เจริญ พระองค์ย่อมทรงทราบชัดคำว่า ชินะหรือ" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "บุคคลเหล่าใดถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะแล้ว บุคคลเหล่านั้นก็เป็นผู้ชนะเช่นกับเรา ดูกรอุปกะเราชนะธรรมอันลามกแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่า ชินะ" ดังนี้คำถามอันอุปกะนั้นถามว่า"บุคคลเป็นชินะอย่างไร เป็นชินะ เพราะละกิเลสอย่างไร" ดังนี้ชื่อว่า วิสัชชนียะ เพราะเป็นปัญหาที่ควรพยากรณ์ (วิสัชชนา) ฯ คำว่าอะไร เป็นชินะ (คือ รูปเป็นต้นเป็นชินะ หรือธรรมอื่นนอกจากรูปเป็นต้นเป็นชินะ) ดังนี้ ชื่อว่า อวิสัชชนียะ ฯ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่พึงพยากรณ์ ฯ คำว่า ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ เป็นไฉน คำนี้ ชื่่อว่าวิสัชชนียะ ฯ คำถามว่า ความสิ้นอาสวะมีประมาณเท่าไร นี้ ชื่อว่าอวิสัชชนียะ (เพราะไม่อาจวิสัชชนาได้) ฯ พระสูตรทั้งปวงนี้ ชื่่อว่าวิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ ฯ คำว่า ตถาคตมีอยู่ ดังนี้ เป็น วิสัชชนียะ ฯ คำว่า รูปมีอยู่ ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า รูปเป็นตถาคต (อัตตา) ด้วยอำนาจสักกายทิฏฐิ เป็นอวิสัชชนียะ ฯ ตถาคตมีรูป ตถาคตในรูป รูปในตถาคต (เหล่านี้) เป็นอวิสัชชนียะ ฯ คำอย่างนี้ว่า เวทนามีอยู่ ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ มีอยู่ ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า วิญญาณเป็นตถาคต ตถาคตมีวิญญาณ ตถาคตในวิญญาณ วิญญาณในตถาคต (เหล่านี้) เป็นอวิสัชชนียะ ฯ คำว่า ตถาคตเว้นจากรูป ตถาคตเว้นจากเวทนา จากสัญญาจากสังขาร และตถาคตเว้นจากวิญญาณ (เหล่านี้) เป็นอวิสัชชนียะ ฯ ตถาคตนี้นั้น มิใช่รูป มิใช่เวทนา มิใช่สัญญา มิใช่สังขาร มิใช่วิญญาณเหล่านี้ เป็น อวิสัชชนียะ ฯ พระสูตรนี้ ชื่อว่า วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ ฯ พระสูตรว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทอดพระเนตรเห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ด้วยทิพยจักษุอันก้าวล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดสัตว์ทั้งหลายผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ" ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า "สัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน และคำว่า ตถาคตเป็นไฉน"ดังนี้ เป็นอวิสัชชนียะ เพราะไม่ได้เป็นปรมัตถ์ ฯ คำว่า ตถาคตมีอยู่ ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ตถาคตมีอยู่ ดังนี้ เป็นอวิสัชชนียะ ฯ สูตรนี้ เป็นวิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ ฯ +กรรมและวิบาก [120] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "กรรมเป็นไฉน" ในปิยสูตรตรัสว่า"เมื่อบุคคลถูกมรณะครอบงำแล้ว ละภพมนุษย์ไปอยู่ ก็อะไรเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาอะไรไปได้ อนึ่่ง อะไรเล่าจะติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจำต้องตายในโลกนี้ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือเป็นบุญและเป็นบาปทั้ง 2 บุญและบาปนั้นแลเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาบุญและบาปนั้นไป อนึ่ง บุญและบาปนั้น ย่อมเป็นของติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตน ฉะนั้น" สูตรนี้ชื่อว่า กรรม ฯ ในพาลบัณฑิตสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กรรมลามก ที่คนพาลทำไว้ในกาลก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะอยู่ซึ่งคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดิน ในสมัยอยู่บนตั่งเป็นต้นนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะอยู่ซึ่งแผ่นดิน ในสมัยเวลาเย็น ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมลามกที่่คนพาลผู้ทำไว้ในกาลก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำ เกาะอยู่ซึ่งคนพาลผู้อยู่บนตั่งหรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น คนพาลจะมีความสำนึกตัวอย่างนี้ว่า "เราไม่ได้ทำความดีหนอไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัว ทำแต่ความชั่วความเลวร้าย ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัว ทำแต่ความชั่ว ความเลวความร้ายเป็นที่ไป คนพาลนั้น ย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมคร่ำครวญ ร่ำไห้ ทุบอก ถึงความหลงใหล" ดังนี้"อีกประการหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมอันดี ที่บัณฑิตทำไว้ในกาลก่อน คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะอยู่ซึ่งบัณฑิต ผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยอยู่บนตั่งเป็นต้นนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุมย่อมครอบงำเกาะอยู่ ซึ่งแผ่นดินในเวลาเย็น ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมอันงาม ที่บัณฑิตทำไว้ในก่อน คือ กายสุจริตวจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำ เกาะอยู่ ซึ่งบัณฑิตผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะกุม ในสมัยเวลาเย็นฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมงามที่บัณฑิตทำไว้ในกาลก่อน คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะอยู่ชึ่งบัณฑิตผู้อยู่บนตั่งหรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้นดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น บัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า "เราไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความร้าย ไม่ได้ทำความเลว ทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัว ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความร้าย ไม่ได้ทำความเลว ทำแต่ความดีทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้เป็นที่ไป" บัณฑิตนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ร่ำไห้ ทุบอก ไม่ถึงความหลงพร้อมว่า คติใดจักมีแก่เราผู้ไม่ทำความชั่ว ไม่ทำความร้าย ไม่ทำความเลวทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเดือดร้อนย่อมไม่เกิด แก่หญิงหรือชาย แก่คฤหัสถ์หรือบรรพชิต เราเรียกบุคคลนั้นว่า ผู้มีความตายอันเจริญ" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่ากรรม ฯ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุจริต 3 ประการเหล่านี้ ทุจริต 3 เป็นไฉน กายทุจริต 1 วจีทุจริต 1 มโนทุจริต 1 ทุจริต 3 เหล่านี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุจริต 3 ประการเหล่านี้ สุจริต 3 เป็นไฉน กายสุจริต 1 วจีสุจริต 1 และมโนสุจริต 1 ดูกรภิกษุทั้งหลายสุจริต 3 ประการเหล่านี้แล" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า กรรม ฯ สาสนปัฏฐาน 28 นั้น "วิบากเป็นไฉน"ขณสูตรว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของพวกเธอ อันพวกเธอได้ดีแล้วขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ อันพวกเธอได้เฉพาะแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นรก ชื่อว่า ผัสสายตนิกะ 6 อันเราเห็นแล้ว ในนรกนั้น สัตว์จะเห็นรูปอะไร ๆ ด้วยจักษุ ก็ย่อมเห็นแต่รูปอันไม่น่าปรารถนา ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าปรารถนา ย่อมเห็นแต่รูปไม่น่าใคร่ ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าใคร่ย่อมเห็นรูปอันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าพอใจ ย่อมฟังเสียงด้วยโสตะ ฯลฯ ย่อมดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ย่อมลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะอะไร ๆ ด้วยกาย ฯลฯ ย่อมรู้แจ้งธัมมารมณ์อะไร ๆ ด้วยใจก็ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์ อันไม่น่าใคร่ ย่อมไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันน่าใคร่ ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันน่าพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของพวกเธอแล้ว พวกเธอได้ดีแล้ว ขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ พวกเธอได้เฉพาะแล้ว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สวรรค์ชื่อ ผัสสายตนิกะ 6 เราได้เห็นแล้ว ในสวรรค์นั้น บุคคลย่อมเห็นรูปอะไร ๆ ด้วยจักษุ ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าปรารถนา ไม่เห็นรูปอันไม่น่าปรารถนา ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าใคร่ ไม่เห็นรูปอันไม่น่าใคร่ ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าพอใจ ไม่เห็นรูปอันไม่น่าพอใจย่อมฟังเสียง ฯลฯ ย่อมดมกลิ่น ฯลฯ ย่อมลิ้มรส ฯลฯ ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะ ฯลฯ ย่อมรู้แจ้งธัมมารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยใจ ก็ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันน่าปรารถนา ย่อมไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันไม่น่าปรารถนา ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันน่าใคร่ ไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันไม่น่าใคร่ ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันน่าพอใจ ไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันไม่น่าพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของพวกเธอแล้ว พวกเธอได้ดีแล้วขณะแห่งการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์อันพวกเธอได้เฉพาะแล้ว" ดังนี้ ข้อนี้เป็นวิบาก ฯ ในเสฏฐิปุตตเปตวัตถุว่า "เมื่อพวกเรา พากันหมกไหม้อยู่ในนรก 6หมื่นปีเต็มบริบูรณ์ โดยประการทั้งปวง เมื่อไรที่สุดจักมี ที่สุดไม่มี ที่สุดจักมีแต่ที่ไหน ที่สุดย่อมไม่ปรากฏ แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ เพราะเรากับท่านได้ทำบาปกรรมไว้" ดังนี้ ข้อนี้เป็น วิบาก ฯ [121] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "กรรมและวิบากเป็นไฉน" พระสูตรว่า "ก็นระใด ผู้ประมาท ไม่ประพฤติธรรม ย่อมไปสู่ทุคติใด ๆ อธรรมนั้น อันตนประพฤติแล้ว ย่อมเบียดเบียนเขาผู้ไปทุคตินั้น ๆเหมือนงูเห่าอันตนจับแล้ว ฉะนั้น ธรรมและอธรรมทั้ง 2 มีผลเสมอกันหามิได้ อธรรมย่อมนำไปนรก ธรรมย่อมยังสัตว์ให้ถึงสุคติ" ดังนี้ สูตรนี้เป็นกรรมและวิบาก ฯ ในปุญญสูตรว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้กลัวต่อบุญเลยคำว่าบุญนี้ เป็นชื่อแห่งความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เรารู้ด้วยญาณอันวิเศษยิ่ง ซึ่งวิบากอันน่าปรารถนาน่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ ที่่ตนเสวยแล้วสิ้นกาลนาน แห่งบุญทั้งหลาย ที่ตนได้ทำไว้สิ้นกาลนาน เราเจริญเมตตาจิตตลอด 7 ปี ไม่กลับมาสู่โลกนี้ 7 สังวัฏฏวิวัฏฏกัป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อกัปพินาศอยู่ เราเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อกัปเจริญอยู่ เราเข้าถึงวิมานแห่งพรหมที่ว่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เราเป็นพรหม เป็นมหาพรหมเป็นผู้ยิ่งใหญ่ใครครอบครองไม่ได้ เป็นผู้สามารถเห็นอดีต อนาคต และปัจจุบันโดยแท้ เป็นผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ อยู่ในวิมานพรหมนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้เป็นท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมเทพ 36 ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นพระธรรมราชามีสมุทรสาครสี่เป็นขอบเขต เป็นผู้ชนะวิเศษแล้ว ถึงความเป็นผู้มั่นคงในชนบทประกอบด้วยรัตนะ 7 ประการหลายร้อยครั้ง จะกล่าวใยถึงความเป็นพระเจ้าประเทศราชเล่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นดำริอย่างนี้ว่า บัดนี้เราเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะผลวิบากแห่งกรรม 3 ประการของเรา คือ ทาน 1 ทมะ 1 สัญญมะ 1" ในพระสูตรนั้น คำว่า ทาน ทมะ และสัญญมะ เป็นกรรม คำว่า วิบากใดเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย นี้เป็นวิบาก ฯ อนึ่ง ในจูฬกัมมวิภังคสูตรพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรื่องกรรมและวิบากโดยพิสดาร (มัชฌิมนิกายอุปริปัณณาสก์ ข้อ 579) ในที่นี้พึงทราบโดยย่อว่าพระสูตรใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่สุภมานพ บุตรโตเทยยพราหมณ์ ในพระสูตรนั้น ธรรมเหล่าใด มีปาณาติบาตเป็นต้น (คือฆ่าสัตว์และงดเว้น) ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความมีอายุสั้นและอายุยืนธรรมเหล่าใด มีการเบียดเบียนเป็นต้น ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความอาพาธมากและอาพาธน้อย ธรรมเหล่าใด มีการริษยาไม่อยากให้เขาได้ดีเป็นต้น ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความมีศักดิ์น้อยและมีศักดิ์ใหญ่ ธรรมเหล่าใด มีความโกรธเป็นต้น ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความเป็นผู้มีผิวพรรณทรามและผิวพรรณดี ธรรมเหล่าใด มีความไม่เคารพเป็นต้น ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่่อความเป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำและสูง ธรรมเหล่าใด มีความตระหนี่เป็นต้น ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความเป็นผู้มีโภคะน้อยและมีโภคะมาก ธรรมเหล่าใด มีความไม่พิจารณาเป็นต้น ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาทรามและมีปัญญามาก พระสูตรนี้ชื่อว่ากรรม ในสุภสูตรนั้น คำว่า ธรรมเหล่าใดมีปาณาติบาตเป็นต้น ฯลฯ ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาทรามและปัญญามาก นี้เป็นวิบาก ฯ พระสูตรนี้ เป็นกรรมและวิบาก ฯ +กุศลและอกุศล [122] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "กุศลเป็นไฉน" ในคาถาธรรมบท มัคควรรค ตรัสว่า"บุคคล พึงตามรักษาวาจา พึงสังวรดีแล้วด้วยใจ และไม่พึงกระทำอกุศลด้วยกาย พึงชำระกรรมบถ 3 เหล่านี้ ให้หมดจด พึงยินดีมรรคที่พระฤÂษีประกาศแล้ว" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นกุศล ฯ ในคาถาธรรมบท พราหมณวรรคตรัสว่า"เรากล่าว บุคคลผู้ไม่มีกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจ และผู้สำรวมแล้วจากฐานะทั้ง 3 นั้นว่า เป็นพราหมณ์" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นกุศล ฯ ในมูลสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลมูล 3 อย่างนี้ กุศลมูล 3 เป็นไฉน คืออโลภกุศลมูล 1 อโทสกุศลมูล 1 อโมหกุศลมูล 1 ดูกรภิกษุทั้งหลายกุศลมูล 3 อย่างนี้แล นี้เป็นกุศล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับหิริและโอตตัปปะ" ดังนี้ ข้อนี้เป็นกุศล ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "อกุศลเป็นไฉน"ในคาถาธรรมบท อัตตวรรค ตรัสว่า"ความเป็นผู้ทุศีลล่วงส่วน ย่อมทำอัตภาพของบุคคลใดให้โอนไป(ในอบาย) เหมือนเถาย่านทราย รวบรัดต้นสาละให้โอนไปที่พื้นดิน ฉันใดบุคคลผู้ทุศีลนั้น ย่อมปรารถนาความพินาศแก่ตนเช่นนั้น ฉันนั้น" ดังนี้ข้อนี้ เป็นอกุศล ฯ คำว่า "ความชั่ว อันตนทำไว้เอง เกิดแต่ตน มีตนเป็นแดนเกิด ย่อมย่ำยีคนมีปัญญาทราม ดุจเพชรย่ำยี (ทำลาย) แก้วมณีที่่เกิดแต่หิน ฉะนั้น" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นอกุศล ฯ พระสูตรว่า "ดูกรเทวดา บุคคลผู้โง่เขลา ทำอกุศลกรรมบถ 10 เว้นจากกุศลทั้งหลาย เป็นผู้ต่ำทราม (อันบุคคลพึงติเตียน) ย่อมไหม้ในนรกทั้งหลาย"ดังนี้ ข้อนี้ เป็นอกุศล ฯ ในมูลสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล 3 อย่างนี้ อกุศลมูล 3 เป็นไฉน คือโลภอกุศลมูล 1 โทสอกุศลมูล 1 โมหอกุศลมูล 1 ดูกรภิกษุทั้งหลายอกุศลมูล 3 อย่าง เหล่านี้แล" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นอกุศล ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "กุศลและอกุศลเป็นไฉน"ในสมุททกสูตรตรัสว่า"บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น คนทำดี ย่อมได้ดี คนทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว" ดังนี้ ในพระสูตรนั้น คำใดที่กล่าวว่า "คนทำดี ย่อมได้ดี"ดังนี้ คำนี้ เป็นกุศล ฯ คำใดที่กล่าวว่า "คนทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว" ดังนี้ คำนี้เป็นอกุศล ฯ พระสูตรนี้ เป็นกุศลและอกุศล ฯ พระสูตรว่า "สัตบุรุษย่อมไปสู่สุคติด้วยกรรมอันงาม บุรุษชั่วย่อมไปสู่อบายภูมิด้วยกรรมอันไม่งาม อนึ่ง เพราะความสิ้นไปแห่งกรรม สัตบุรุษเหล่านั้นย่อมดับไป เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว ดุจประทีปโคมไฟย่อมดับไปเพราะสิ้นเชื้อ ฉะนั้น" ในพระสูตรนั้น คำใด ที่กล่าวว่า "ย่อมไปสู่สุคติด้วยกรรมอันงาม" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นกุศล ฯ คำใด ที่กล่าวว่า "ย่อมไปสู่อบายด้วยกรรมอันไม่งาม" ดังนี้ คำนี้ เป็นอกุศล ฯ พระสูตรนี้ เป็นกุศลและอกุศลฉะนี้แล ฯ +อนุญญาตะและปฏิกขิตตะ [123] ในสาสนปัฏฐานนั้น 28 นั้น "อนุญาตเป็นไฉน" ในคาถาธรรมบท บุปผวรรคตรัสว่า"ภมรไม่ยังดอกไม้อันมีสีและกลิ่นให้ชอกช้ำ ถือเอาแต่รสแล้วย่อมบินไปแม้ฉันใด มุนีพึงเที่ยวไปในบ้าน ฉันนั้น" ดังนี้ นี้ชื่อว่า อนุญาต(อนุญญาตะ) ฯ พระสูตรว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำของภิกษุทั้งหลาย 3 อย่างเหล่านี้ 3อย่างเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สำรวมในปาติโมกขสังวร 1 เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร 1 เป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายแม้มีประมาณน้อย 1 คือ ย่อมสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรม เป็นผู้มีอาชีวะอันบริสุทธิ์ด้วยกุศล ก็แล ภิกษุนั้นเป็นผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว เป็นผู้มีกำลังบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระ เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ก็แล ภิกษุมีปัญญาประกอบด้วยปัญญาอันให้ถึงความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย เพื่อการแทงตลอดอันประเสริฐ เพื่อถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำของภิกษุทั้งหลาย 3 อย่างนี้แล" ดังนี้พระสูตรนี้ ชื่่อว่า อนุญาต (อนุญญาตะ) ฯ ในอภิณหปัจจเวกขณสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม 10 เหล่านี้ อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ธรรม 10 เป็นไฉน คือ บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์ 1 บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น 1 ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม 10 นี้แล อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ" ดังนี้ พระสูตรนี้ ชื่อว่า อนุญาต ฯ พระสูตรว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำ 3 อย่างเหล่านี้ 3 อย่างเป็นไฉน คือ กายสุจริต 1 วจีสุจริต 1 มโนสุจริต 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำ 3 อย่างเหล่านี้แล" ดังนี้ ชื่อว่า อนุญาต ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ปฏิกขิตตะเป็นไฉน"ในนัตถิปุตตสมสูตร เทวดากล่าวว่า"ความรักเสมอด้วยความรักบุตรไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยโคไม่มีแสงสว่างเสมอด้วยดวงอาทิตย์ไม่มี สระทั้งหลายมีทะเลเป็นอย่างยิ่ง" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ความรักเสมอด้วยความรักตนไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกไม่มีแสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี ฝนต่างหากเป็นสระยอดเยี่ยม" ดังนี้ ในพระสูตร ข้อแรกเทวดากล่าว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธ พระสูตรนี้จึงชื่่อว่า ปฏิกขิตตะ ฯ พระสูตรว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจที่่ไม่ควรทำ 3 อย่างเหล่านี้ 3 อย่างเป็นไฉน คือ กายทุจริต 1 วจีทุจริต 1 มโนทุจริต 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจที่ไม่ควรทำ 3 อย่างเหล่านี้แล" ดังนี้ ข้อนี้ ปฏิกขิตตะ (เพราะเป็นคำที่ทรงห้าม) ฯ [124] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "อนุญญาตะและปฏิกขิตตะเป็นไฉน"ในภีตสูตร เทวดาทูลถามว่า "ประชุมชนเป็นอันมากในโลกนี้ กลัวอะไรหนอ ก็มรรค พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยเหตุมิใช่น้อย ข้าแต่พระโคดมผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน ข้าพระองค์ ขอถามถึงเหตุนั้นว่า บุคคลตั้งอยู่ในธรรมอะไรแล้วไม่พึงกลัวปรโลก" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า"บุคคลตั้งวาจาและใจชอบแล้ว ไม่พึงทำบาปด้วยกาย บุคคลผู้อยู่ครอบครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา มีจิตอ่อน (ไม่กระด้าง)เป็นผู้รู้ถ้อยคำของยาจกแล้วพึงจำแนกแจกทาน บุคคลตั้งอยู่ในธรรม 4อย่างเหล่านี้ ชื่อว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว ไม่ต้องกลัวปรโลก" ดังนี้ ในพระสูตรนั้น คำที่กล่าวว่า"บุคคลตั้งวาจาและใจชอบ" ข้อนี้ เป็นอนุญญาตะ (ทรงอนุญาต)และคำว่า "ไม่พึงทำบาปด้วยกาย" ข้อนี้ ชื่อว่า ปฏิกขิตตะ (ทรงห้าม) ฯ ข้อว่า "อยู่ครอบครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก มีศรัทธา มีจิตอ่อนรู้ถ้อยคำของยาจกแล้วจำแนกแจกทาน บุคคลตั้งอยู่ในธรรม 4 เหล่านี้แล้ว ไม่พึงกลัวปรโลก" ข้อนี้ ชื่อว่า อนุญญาตะและปฏิกขิตตะ ฯ ในธรรมบท พุทธวรรคตรัสว่า"การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม การยังจิตให้ผ่องแผ้วนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ในพระคาถานั้น คำว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง" นี้เป็นปฏิกขิตตะ ฯ คำว่า "การยังกุศลให้ถึงพร้อม"นี้เป็นอนุญญาตะ ฯ คาถานี้ เป็นอนุญญาตะและปฏิกขิตตะ ฯ ในสักกปัญหสูตรตรัสว่า"ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวกายสมาจาร โดยแยกเป็น 2 คือที่่ควรเสพก็มี ไม่ควรเสพก็มี วจีสมาทานก็แยกเป็น 2 คือ ที่ควรเสพก็มีไม่ควรเสพก็มี มโนสมาทานก็แยกเป็น 2 คือ ที่่ควรเสพก็มี ไม่ควรเสพก็มี ฯลฯ การแสวงหาก็แยกเป็น 2 คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มีดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวกายสมาจารโดยแยกเป็น 2 คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ก็การกล่าวถึงสมาจารข้อนี้ เพราะอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ในกายสมาจาร 2 นั้น เมื่อบุคคลเสพอยู่ซึ่งกายสมาจารอย่างไร อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมย่อมเสื่อม กายสมาจารเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ ใน 2 อย่างนั้น บุคคลรู้กายสมาจารใดว่า เมื่อเราเสพกายสมาจารนี้ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อม กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญขึ้นกายสมาจารเห็นปานนี้ควรเสพ ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวกายสมาจารโดยแยกเป็น 2 คือ ที่ควรเสพก็มี ไม่ควรเสพก็มี อาศัยข้อนี้แลกล่าวแล้วดูกรจอมเทพ วจีสมาทาน ฯลฯ ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวว่า การแสวงหา โดยแยกเป็น 2 คือ ที่ควรเสพก็มี ไม่ควรเสพก็มี ข้อนั้นอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ใน 2 อย่างนั้น เมื่อบุคคลเสพการแสวงหาใด อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญ กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อม การแสวงหาเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ ในการแสวงหานั้น เมื่อบุคคลรู้ถึงการแสวงหาอันใดว่าเมื่อเราเสพการแสวงหานี้แล อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญดังนี้ การแสวงหาเห็นปานนี้ควรเสพ ดูกรจอมเทพ อาตมภาพอาศัยข้อนี้แลกล่าวแล้ว" ในกายสมาจารเป็นต้นนั้น คำที่กล่าวว่า "ควรเสพก็มี" ข้อนี้เป็นอนุญญาตะ ฯ คำว่า "ไม่ควรเสพก็มี" ข้อนี้เป็นปฏิกขิตตะ ฯ พระสูตรนี้เป็นอนุญญาตะและปฏิกขิตตะ ฉะนี้แล ฯ +ถวะ [125] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ถวะเป็นไฉน" ในคาถาธรรมบท มรรควรรคตรัสว่า "ทาง (มรรค) มีองค์ 8ประเสริฐกว่าทางทั้งหลาย บท 4 (คืออริยสัจ 4) ประเสริฐกว่าสัจจะทั้งหลาย (คือสมมติสัจจะมีวจีสัจจะและขัตติยสัจจะเป็นต้น) บรรดาธรรมทั้งหลายวิราคะประเสริฐที่สุด และพระตถาคตผู้มีพระจักษุประเสริฐกว่าสัตว์ 2 เท้า"ดังนี้ คาถานี้ ชื่อว่า ถวะ (การสรรเสริญ) ฯ ในอัคคปสาทสูตรตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เลิศมี 3 ประการเหล่านี้ 3 ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีประมาณเพียงใด ไม่มีเท้าก็ตาม มี 2 เท้าก็ตาม มี 4 เท้าก็ตาม มีเท้ามากก็ตามมีรูปหรือไม่มีรูปก็ตาม มีสัญญาหรือไม่มีสัญญาก็ตาม มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็ตาม พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศ ประเสริฐ ประเสริฐที่สุดกว่าสัตว์เหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัยปรุงแต่ง หรือไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง มีประมาณเท่าใด วิราคะ บัณฑิตกล่าวว่า เลิศ ประเสริฐ ประเสริฐที่สุดกว่าธรรมเหล่านั้น วิราคะนี้ใด เป็นธรรมย่ำยีความเมา กำจัดความกระหาย ถอนขึ้นซึ่งความอาลัย เข้าไปตัดวัฏฏะ เป็นธรรมที่สิ้นตัณหา คลายความกำหนัดเป็นความดับ เป็นนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัญญัติแห่งหมู่ทั้งหลายบัญญัติแห่งคณะทั้งหลาย หรือบัญญัติแห่งมหาชนที่ประชุมกันทั้งหลายหมู่แห่งสาวกของพระตถาคต บัณฑิตกล่าวว่า เลิศ ประเสริฐ ประเสริฐที่สุดกว่าหมู่เหล่านั้น หมู่นี้ใด คือ คู่แห่งบุรุษ 4 ได้แก่ บุรุษบุคคล 8 ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก" ดังนี้คาถา ถวะรัตนตรัยพระศาสดาเป็นผู้ประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งทั้งปวงในโลก พระธรรมอันพระองค์ทรงแสดง โดยความเป็นกุศล ปราศจากมลทินทั้งหลาย หมู่แห่งพระอริยสงฆ์องอาจดังนรสีหะ รัตนะ 3 นั้นแล ย่อมประเสริฐกว่ารัตนะทั้งปวงคณะคือการประชุมแห่งพระสมณะ งามอยู่ดุจดอกปทุม พระธรรมอันประเสริฐอันวิญญูชนทั้งหลายทำสักการะแล้ว พระตถาคตผู้มีพระจักษุทรงฝึกนระผู้ประเสริฐ (มีพรหมเป็นต้น) รัตนะ 3 นั้นแล เป็นรัตนะสูงยิ่งของโลกพระศาสดาไม่มีผู้เปรียบ พระธรรมดับความเร่าร้อนทั้งปวง พระอริยสงฆ์เป็นหมู่อันประเสริฐ รัตนะ 3 นั้นแล ย่อมประเสริฐโดยส่วนเดียวพระชินะผู้สงบมีพระนามตามเป็นจริง ทรงครอบงำสรรพสิ่งแห่งโลกดำรงอยู่ พระธรรมเป็นสัจจะของพระชินะนั้น หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ หมู่แห่งพระอริยะอันบัณฑิตบูชาแล้วเป็นนิตย์ รัตนะ 3 นั้นแล เป็นรัตนะอันสูงสุดแห่งชาวโลก สหัมบดีพรหมประพันธ์คาถาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเห็นความสิ้นชาติและที่สุดแห่งชาติ ทรงอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ทราบทางเป็นที่ไปอันเอก ในกาลก่อนชนทั้งหลายข้ามโอฆะด้วยทางนี้ ในอนาคตก็จักข้ามด้วยทางนี้ และในบัดนี้ก็ข้ามอยู่ด้วยทางนี้ ดังนี้เหล่าสัตว์หวังอยู่ซึ่งความหมดจด ย่อมนมัสการพระสัมมาสัมพุทธะผู้คงที่ผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์พระองค์นั้น ดังนี้ คาถานี้ ชื่อว่า ถวะ ฯ ในพระสูตร 16 นั้น พระสูตรที่เป็นโลกียะ พึงแสดงด้วยพระสูตรทั้ง 2คือ ด้วยสังกิเลสภาคิยสูตรและวาสนาภาคิยสูตร พระสูตรที่่เป็นโลกุตตระพึงแสดงด้วยพระสูตร 3 คือ ทัสสนภาคิยสูตร ภาวนาภาคิยสูตร และอเสกขภาคิยสูตร พระสูตรที่เป็นทั้งโลกียะทั้งโลกุตตระ บท(ส่วน) ใด ๆ คือ ส่วนแห่งสังกิเลส หรือส่วนแห่งวาสนาย่อมปรากฏในพระสูตรส่วนใด ก็พึงแสดงโลกียะโดยส่วนนั้น ๆ บทใด ๆ อันเป็นส่วนทัสสนะ หรือเป็นภาวนา หรือเป็นอเสกขะก็พึงแสดงโลกุตตระ โดยส่วนนั้น ๆ ฯ พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งวาสนา ย่อมเป็นไปเพื่อละพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งสังกิเลส พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ ย่อมเป็นไปเพื่อละพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งวาสนา พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา ย่อมเป็นไปเพื่อละพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ ย่อมเป็นไปเพื่อการสละออกจากพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา ฯ (พระอริยบุคคล 26) พระสูตรโลกุตตระ ที่เป็นสัตตาธิฏฐาน พึงแสดงด้วยบุคคล 26 พวกบุคคล 26 เหล่านั้น บัณฑิตพึงแสวงหาด้วยพระสูตร 3 อย่าง คือพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ (ที่เป็นสัตตาธิฏฐาน) ฯ ในพระสูตร 3 เหล่านั้น พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ พึงแสดงด้วยบุคคล 5 คือ เอกพีชี 1 โกลังโกละ 1 สัตตักขัตตุปรมะ 1 สัทธานุสารี 1 และธัมมานุสารี 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะพึงแสดงด้วยบุคคล 5 เหล่านี้ ฯ พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา พึงแสดงด้วยบุคคล 12 คือ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อการกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล 1 พระสกทาคามี 1 บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่่อกระทำให้แจ้งซึ่่งอนามิผล 1 พระอนาคามี 1 ผู้เป็นอันตราปรินิพพายี 1 ผู้เป็นอุปหัจจปรินิพพายี 1 ผู้เป็นอสังขารปรินิพพายี 1 ผู้เป็นสสังขารปรินิพพายี 1 ผู้เป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี 1 บุคคลผู้สัทธาวิมุตติ 1 บุคคลผู้ทิฏฐิปัตตะ 1และบุคคลผู้กายสักขี 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา พึงแสดงด้วยบุคคล 12 เหล่านี้ ฯ พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ พึงแสดงด้วยบุคคล 9 คือสัทธาวิมุตตบุคคล 1 ปัญญาวิมุตตบุคคล 1 สุญญตวิมุตตบุคคล 1อนิมิตตวิมุตตบุคคล 1 อัปปณิหิตวิมุตตบุคคล 1 อุภโตภาควิมุตตบุคคล 1สมสีสีบุคคล 1 ปัจเจกพุทธะ 1 และสัมมาสัมพุทธะ 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ พึงแสดงด้วยบุคคล 9 เหล่านี้ โลกุตตรสูตรเป็นสัตตาธิฏฐานพึงแสดงด้วยบุคคล 26 เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้ ฯ (ปุถุชน 19 พวก) โลกียสูตรที่่เป็นสัตตาธิฏฐาน พึงแสดงด้วยบุคคล 19 พวก บุคคล 19เหล่านั้น พึงยกขึ้นแสดงด้วยจริตทั้งหลาย คือ คนราคจริตพวก 1 คนโทสจริตพวก 1 คนโมหจริตพวก 1 บางพวกเป็นราคจริตและโทสจริต 1 บางพวกเป็นราคจริตและโมหจริต 1 บางพวกเป็นโทสจริตและโมหจริต 1 บางพวกเป็นราคจริต โทสจริตและโมหจริต 1 บางพวกตั้งอยู่ในทาง (ปริยุฏฐาน) แห่งราคะเป็นราคจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งราคะเป็นโทสจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งราคะเป็นโมหจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งราคะเป็นราคจริตโทสจริต โมหจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโทสะเป็นโทสจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโทสะ เป็นราคจริต โทสจริต โมหจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโมหะเป็นโมหจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโมหะเป็นราคจริต 1บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโมหะ เป็นโทสจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโมหะเป็นราคจริต โทสจริต โมหจริต 1 โลกียสูตรเป็นสัตตาธิฏฐาน พึงแสดงด้วยบุคคล 19 เหล่านี้ ฯ บุคคลมีศีล 5 พวกพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งวาสนา พึงแสดงด้วยบุคคลมีศีล บุคคลผู้มีศีลเหล่านั้นมี 5 พวก คือมีปกติศีล 1 สมาทานศีล 1 มีความผ่องใสแห่งจิต 1มีสมถะ 1 มีวิปัสสนา 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งวาสนา พึงแสดงด้วยบุคคล 5 พวกเหล่านี้ ฯ พระสูตรโลกุตตระ เป็นธัมมาธิฏฐาน พึงแสดงด้วยพระสูตร 3 คือ พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ 1 ฯ พระสูตรที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ พระสูตรที่เป็นทั้งสัตตาธิฏฐานทั้งธัมมาธิฏฐาน พึงแสดงโดยส่วนทั้ง 2 ญาณอันมาแล้วในพระสูตรนั้น ๆบัณฑิตพึงแสดงด้วยปัญญา อันเป็นปริยายแห่งญาณ คือ ด้วยปัญญินทรีย์ด้วยปัญญาพละ ด้วยอธิปัญญาสิกขา ด้วยธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ด้วยสัมมาทิฏฐิด้วยการพิจารณา ด้วยการสอบสวน ด้วยธัมมญาณ ด้วยอนุโลมญาณ ด้วยขยญาณ ด้วยอนุปาทญาณ ด้วยอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ด้วยอัญญินทรีย์ด้วยอัญญาตาวินทรีย์ ด้วยปัญญาจักษุ ด้วยวิชชา ด้วยความรู้ ด้วยภูริปัญญาด้วยปัญญาเป็นเครื่่องฆ่ากิเลส หรือญาณมาแล้วในที่ใด ๆ ย่อมได้ในที่ใด ๆก็พึงแสดงด้วยชื่อของปัญญานั้น ๆ ฯ เญยยะ (ไญยธรรม) พึงแสดงด้วยธรรมที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันด้วยอายตนะภายในและภายนอก ด้วยธรรมอันเลวและประณีต ด้วยธรรมใกล้และไกล ด้วยสังขตะและอสังขตะ ด้วยกุศลอกุศลและอัพยากตะ หรือโดยสังเขป แสดงด้วยอารมณ์ 6 ฯ ญาณและเญยยะทั้ง 2 มาในพระสูตรใด ก็พึงแสดงในพระสูตรนั้น แม้ปัญญาก็ชื่อว่า เญยยะ (คือสิ่งที่ควรรู้) เพราะเป็นอารมณ์ อายตนะภายในและอายตนะภายนอกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอารมณ์ ก็พึงแสดงอายตนะทั้งปวงนั้นตามความเป็นจริง ด้วยสังขตะและอสังขตะ ฯ ในพระสูตรทั้งปวง คือ ทัสสนสูตร ภาวนาสูตร สกวจนสูตร ปรวจนสูตรวิสัชชนียสูตร อวิสัชชนียสูตร กรรมสูตร วิปากสูตร บัณฑิตพึงแสดงพระสูตรทั้ง 2 (รวมกัน) ตามที่่ได้ในพระสูตรนั้น หรือตรัสไว้อย่างไร ใคร่ครวญแล้วแสดงตามพระดำรัสนั้น ฯ เหตุมี 2 คือ กรรม 1 กิเลส 1 ในที่นี้ ได้แก่ สมุทัยและกิเลส ในสมุทัยและกิเลสนั้น กิเลสพึงแสดงด้วยพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งสังกิเลส สมุทัยพึงแสดงด้วยพระสูตร 2 คือ สังกิเลสภาคิยะและวาสนาภาคิยะ ฯ ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น กุศลพึงแสดงด้วยพระสูตร 4 คือ วาสนาภาคิยสูตร 1 ทัสสนภาคิยสูตร 1 ภาวนาภาคิยสูตร 1 และอเสกขภาคิยสูตร 1 ฯ อกุศลพึงแสดงด้วยสังกิเลสภาคิยสูตร ฯ กุศลและอกุศลพึงแสดงด้วยพระสูตร 2 อย่าง ฯ อนุญญาตะ (ธรรมที่ทรงอนุญาต) พึงแสดงด้วยพระสูตรที่ทรงอนุญาต ก็อนุญญาตะนั้น มี 5 อย่าง สังวร 1 ปหานะ 1 ภาวนา 1 สัจฉิกิริยา 1 กัปปิยานุโลม 1 ก็ข้ออนุญาตใด ที่ทรงแสดงไว้ในภูมินั้น ๆ มีปุถุชนภูมิเป็นต้นข้อที่อนุญาตนั้น พึงแสดงโดยกัปปิยะ (สิ่งที่ควร) และสิ่งที่อนุโลมเข้ากับกัปปิยะในมหาปเทส ฯ ปฏิกขิตตะ (ข้อที่ห้าม) พึงแสดงด้วยพระสูตรที่ห้ามมิให้เป็นไปแห่งราคะเป็นต้นฯ อนุญญาตะและปฏิกขิตตะทั้ง 2 ก็พึงแสดงด้วยพระสูตร 2อย่าง ฯ ถวะ (การสรรเสริญ หรือการยกย่อง) บัณฑิตพึงแสดงด้วยพระสูตรที่แสดงการยกย่อง ถวะ คือ สิ่งที่ควรยกย่อง มี 5 อย่าง คือ พระผู้มีพระภาคเจ้า 1 อสังขตธรรม 1 หมู่แห่งพระอริยะ 1 อริยธรรมสิกขาคือมรรคและผล 1และการถึงพร้อมด้วยโลกียคุณ 1 การสรรเสริญพึงแสดงด้วยการยกย่อง 5 อย่างนี้ ฯ (มูลบท 18 อย่าง) อินทริยภูมิ มีสัทธินทรีย์เป็นต้น พึงแสดงด้วยบททั้งหลาย 9 บท มีสมถะเป็นต้น กิเลสภูมิ พึงแสดงด้วยบท 9 มีตัณหาเป็นต้น บท 18 คือกุศลมี 9 อกุศลมี 9 ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ คำใดที่บัณฑิตกล่าวไว้ว่า"มูลบท 18 ประการ บุคคลพึงทราบ ณ ที่ไหน คำนั้น บัณฑิต ย่อมกล่าวว่าในสาสนปัฏฐาน" ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า"กุศลประกอบด้วยบท 9 ฝ่ายอกุศลประกอบด้วยบท 9 เป็นมูลเหล่านี้แล มูลเหล่านั้นมี 18 อย่าง" ดังนี้ จบ สาสนปัฏฐาน เนตติปกรณ์ใด อันท่านพระมหากัจจายนะได้ภาษิตไว้ด้วยอรรถะมีประมาณเท่านี้ (โดยย่อ) เนตติปกรณ์นั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาแล้วอันพระธัมมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายร้อยกรองไว้ ในสังคีติครั้งแรก ฉะนี้แล ฯ จบ เนตติปกรณ์