นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : 15. ปริกขารหารวิภังค์

       
       [49] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระ คือ ปริกขารเป็นไฉน
       คาถาว่า "เย ธมฺมา ยํ ธมฺมํ ชนยนฺติ" เป็นต้น ชื่อว่า ปริกขารหาระ ฯ
       ธรรมใด ย่อมยังธรรมใดให้เกิดขึ้น ธรรมนั้น ชื่อว่า ปริกขาร (ปริกฺขาโร)แห่งธรรมนั้น ปริกขารมีลักษณะอย่างไร ปริกขารมีการให้เกิดเป็นลักษณะโดยสังเขป ธรรม 2 อย่าง คือ เหตุและปัจจัย ย่อมยังธรรมให้เกิดขึ้น ฯ
       บรรดาธรรม 2 นั้น เหตุมีลักษณะอย่างไร ปัจจัยมีลักษณะอย่างไรเหตุมีลักษณะไม่ทั่วไป (อสาธารณะ) คือ เหตุมีลักษณะให้ผลไม่ทั่วไป นอกจากผลที่ตนให้เกิดขึ้น ส่วนปัจจัยมีลักษณะเป็นปัจจัยทั่วไป (สาธารณะ) แก่ผลทั้งปวงทั้ง 2 นั้น พึงมีอย่างไร เหมือนเมล็ดพืช เป็นของไม่ทั่วไปแก่หน่อที่เกิดขึ้น ดิน(ปฐวี) น้ำ (อาโป) เป็นของทั่วไปแก่หน่อ เพราะดินและน้ำเป็นปัจจัย อีกนัยหนึ่งน้ำนมสดที่ใส่เก็บไว้ในหม้อ ย่อมเป็นนมส้ม (เปรี้ยว) ก็การกำหนดที่ยั่งยืน ย่อมไม่มีแก่นมสดและนมส้ม ฉันใด การกำหนดที่ยั่งยืน ก็ย่อมไม่มีแก่เหตุและปัจจัยฉันนั้น ฯ
       จริงอยู่ สังสารนี้ มีเหตุมีปัจจัยก็เกิดขึ้น เพราะพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่าเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายจึงเกิด เพราะสังสารเป็นปัจจัยวิญญาณจึงเกิด ปฏิจจสมุปบาททั้งปวง ย่อมเป็นสังขารเกิดขึ้น โดยเหตุปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้นอย่างนี้ อย่างไร คือ อวิชชาเป็นเหตุแห่งอวิชชา มนสิการโดยไม่แยบคายเป็นปัจจัยแก่อวิชชา อวิชชาที่เกิดก่อนเป็นเหตุของอวิชชาที่เกิดภายหลัง ในปฏิจจสมุปบาทนั้น อวิชชาที่เกิดก่อนเป็นอวิชชานุสัย อวิชชาที่เกิดภายหลังเป็นอวิชชาปริยุฏฐาน อวิชชาที่เกิดก่อนเป็นเหตุพอกพูนอวิชชาปริยุฏฐานเพราะสมนันตรเหตุดุจหน่อแห่งพืช ก็ผลใด เกิดในที่ใด ผลนี้ก็เป็นเหตุโดยปรัมปรเหตุ จริงอยู่ เหตุมี 2 อย่าง คือ สมนันตรเหตุและปรัมปรเหตุ แม้อวิชชาก็เป็นเหตุทั้ง 2 อย่างนี้ ฯ
       ก็หรือว่า ภาชนะกระเบื้อง ไส้น้ำมันเป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องอุปการะแก่ประทีป มิใช่สภาวเหตุ เพราะภาชนะกระเบื้องเป็นต้น ไม่อาจให้ไฟที่ยังไม่มี เพื่อให้ลุกโพลงได้ จึงเป็นเพียงปัจจัยแก่ประทีป สภาวเหตุจึงเป็นดุจประทีป ฯ ด้วยประการฉะนี้ เหตุจึงเป็นดุจประทีปที่มีอยู่ ปัจจัยจึงเป็นดุจภาชนะกระเบื้องเป็นต้นที่ไม่มีไฟ ฉะนั้น ฯ อนึ่ง ภาวะที่มีอยู่ภายในเป็นเหตุ ภาวะภายนอกเป็นปัจจัยภาวะที่ให้เกิดเป็นเหตุ ภาวะที่อุปการะเป็นปัจจัย เหตุไม่ทั่วไปแก่ผลอื่น แต่ปัจจัยทั่วไปแก่ผลทั้งปวง ฯ
       ผลใด ของเหตุกล่าวคือ เหตุปัจจัยซึ่งยังไม่ขาดสาย ผลนั้น เป็นผลแห่งการสืบต่อ ผลใด ที่เกิดจากเหตุ ผลนั้น คือการเกิด ผลใดมีปฏิสนธิ ผลนั้นมีการเกิดใหม่ในภพใหม่ อันใดเป็นอรรถะแห่งปลิโพธ อันนั้นเป็นอรรถะแห่งปริยุฏฐานอันใดไม่มีการถอนขึ้น อันนั้นเป็นอนุสัย อันใดไม่มีการแทงตลอด อันนั้นเป็นอรรถะแห่งอวิชชา อรรถะใดไม่มีการกำหนดรู้ อรรถะนั้นเป็นพืชเชื้อแห่งวิญญาณ ฯ
       ในที่ใด ไม่มีการเข้าไปตัด ในที่นั้นย่อมมีสันตติ ในที่ใดมีสันตติที่นั้นย่อมมีการเกิด ในที่ใดมีการเกิดที่นั้นมีผล ที่ใดมีผลที่นั้นมีปฏิสนธิ ที่ใดมีปฏิสนธิที่นั้นมีภพใหม่ ที่ใดมีภพใหม่ที่นั้นมีปลิโพธ ที่ใดมีปลิโพธที่นั้นมีปริยุฏฐาน ที่ใดมีปริยุฏฐานที่นั้นไม่มีการถอนขึ้น ที่ใดไม่มีการถอนขึ้นที่นั้นมีอนุสัย ที่ใดมีอนุสัยที่นั้นไม่มีการแทงตลอด ที่ใดไม่มีการแทงตลอดที่นั้นมีอวิชชา ที่ใดมีอวิชชาที่นั้นมีวิญญาณเป็นไปกับอาสวะที่ไม่กำหนดรู้ ที่ใดวิญญาณอันเป็นไปกับอาสวะยังไม่หมายรู้แล้ว ที่นั้นย่อมมีพืชแห่งวิญญาณ (นี้เป็นการแสดง ปรัมปรปัจจัย คือปัจจัยที่เกิดสืบต่อกัน) ฯ
       ศีลขันธ์ เป็นปัจจัยแก่สมาธิขันธ์ สมาธิขันธ์เป็นปัจจัยแก่ปัญญาขันธ์ ปัญญาขันธ์เป็นปัจจัยแก่วิมุตติขันธ์ วิมุตติขันธ์เป็นปัจจัยแก่วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ฯ
       ความเป็นผู้รู้จักท่าเป็นที่หยั่งลง เป็นปัจจัยแก่ความเป็นผู้รู้จักปราโมชอันตนดื่มแล้ว ความเป็นผู้รู้จักปราโมชอันตนดื่มแล้ว เป็นปัจจัยแก่ความเป็นผู้รู้จักธรรมอันตนบรรลุแล้ว ความเป็นผู้รู้จักธรรมอันตนบรรลุแล้ว เป็นปัจจัยแก่ความเป็นผู้รู้จักตน ฯ
       อีกนัยหนึ่ง จักขุวิญญาณย่อมเกิดเพราะอาศัยจักษุและรูป ฯ ใน 2 อย่างนั้น จักขุ ชื่อว่า ปัจจัย เพราะความเป็นใหญ่ (อินทรีย์) รูปทั้งหลาย ชื่อว่า ปัจจัยเพราะความเป็นอารมณ์ อาโลกะ ชื่อว่า ปัจจัย เพราะความเป็นอุปนิสสยะ (ทั้ง 3นี้ ไม่เป็นสภาวเหตุเพราะไม่มีการสืบต่อ) มนสิการ คือ กิริยามโนธาตุ เป็นสภาวเหตุ สังขารทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ เป็นสภาวเหตุ วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป เป็นสภาวเหตุ นามรูปเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ เป็นสภาวเหตุเวทนาเป็นปัจจัยแก่ตัณหา เป็นสภาวเหตุ ตัณหาเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน เป็นสภาวเหตุ อุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพ เป็นสภาวเหตุ ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ เป็นสภาวเหตุ ชาติเป็นปัจจัยแก่ชรามรณะ เป็นสภาวเหตุ ชรามรณะเป็นปัจจัยแก่โสกะ เป็นสภาวเหตุ โสกะเป็นปัจจัยแก่ปริเทวะ เป็นสภาวเหตุ ปริเทวะเป็นปัจจัยแก่ทุกข์ เป็นสภาวเหตุ ทุกข์เป็นปัจจัยแก่โทมนัส เป็นสภาวเหตุ โทมนัสเป็นปัจจัยแก่อุปายาส เป็นสภาวเหตุ ฯ
       เหตุปัจจัย อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสภาพมีกำลัง (คือ อุปนิสสยะ) ให้เกิดขึ้นและอุปถัมภ์ตามที่ได้กล่าวมานี้ เหตุปัจจัยทั้งปวงนั้น ชื่อว่า ปริกขาระ ฯ ด้วยเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะจึงกล่าวว่า "เย ธมฺมา ยํ ธมฺมํ ชนยนฺติ" เป็นต้นฉะนี้แล ฯ
       จบ ปริกขารหารวิภังค์
       16. สมาโรปนหารวิภังค์
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)