นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : ทัสสนะและภาวนา

       
       [115] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ทัสสนะเป็นไฉน"
       ในรัตนสูตรตรัสว่า"พระอริยะเหล่าใด ทำให้แจ้งซึ่งอริยสัจจะทั้งหลาย อันพระศาสดาทรงแสดงดีแล้ว ด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง พระอริยบุคคลเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประมาทอย่างแรงกล้า (ในกาลที่เป็นเทวราชและพระเจ้าจักรพรรดิราชเป็นต้น) อยู่ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านก็ไม่ยึดถือเอาภพที่ 8" ดังนี้ ชื่อว่าทัสสนะ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"เสาเขื่อน ที่ฝังลงดิน ไม่พึงหวั่นไหว เพราะลมทั้ง 4 ทิศ ฉันใดบุคคลใด ย่อมเห็นอริยสัจจ์ทั้งหลาย อันไม่หวั่นไหว เราย่อมเรียกบุคคลผู้เปรียบด้วยเสาเขื่อนนั้นว่า สัตบุรุษ" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่า ทัสสนะ ฯ
       ในพระสูตรหนึ่งตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวก ผู้ประกอบด้วยองค์เป็นเครื่่องบรรลุเป็นพระโสดาบัน 4 ประการ หวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์เดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปตวิสัยสิ้นแล้วมีอบายทุคติวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นผู้ถึงอริยมรรคครั้งแรก มีการไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแล้ว มีการตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า จักแล่นไป ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์แล้ว จักกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย องค์แห่งการบรรลุเป็นพระโสดาบัน 4 เป็นไฉน ศรัทธาของอริยสาวก ในธรรมวินัยนี้ มั่นคงแล้วในพระตถาคตตั้งมั่นแล้ว งอกงามแล้ว มีรากหยั่งลงแล้ว พร้อมด้วยธรรม เพราะไม่หวั่นไหวด้วยสมณะ หรือด้วยพราหมณ์ หรือเทวดา มาร พรหมคนใดคนหนึ่งในโลก ก็อริยสาวกนั้นแล เป็นผู้ถึงความมั่นใจในพระธรรมว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เป็นธรรมอันผู้ปฏิบัติพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู พึงน้อมเข้าไปในตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้เฉพาะตน พระธรรมนี้ใด เป็นที่ขจัดเสียซึ่งความเมา เป็นเครื่องขจัดความกระหาย ถอนขึ้นซึ่งความอาลัย อันเข้าไปตัดซึ่งวัฏฏะเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นวิราคะ นิโรธะและนิพพาน พระอริยสาวกผู้เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจพร้อมกับธรรมของท่านนั้นแล ก็พระอริยสาวก ผู้ประกอบด้วยศีลทั้งหลายอันเป็นที่รัก ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาและทิฏฐิไม่ยึดไว้ อันเป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวก ผู้ประกอบแล้วด้วยองค์แห่งการบรรลุโสดาบัน 4 เหล่านี้แล หวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนได้ว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์เดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบายทุคติวินิบาตสิ้นแล้ว เป็นผู้ถึงกระแส (อริยมรรค) ครั้งแรก มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแล้ว เป็นผู้มีการตรัสรู้ในเบื้องหน้า ครั้นแล่นไป ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์แล้ว จักกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์"ดังนี้ ข้อนี้ชื่อว่า ทัสสนะ ฯ
       ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ภาวนาเป็นไฉน"ในสภิยสูตรตรัสว่า"ผู้ใด อบรมอินทรีย์แล้ว แทงตลอดโลกนี้และโลกอื่น ทั้งภายในและภายนอกในโลกทั้งปวง มีตนอบรมแล้ว รออยู่ซึ่งกาลสิ้นชีวิต ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่า ผู้ฝึกตนแล้ว" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า ภาวนา ฯ
       ในธรรมปทสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย บทธรรม 4 ประการเป็นไฉน บทธรรมคืออนภิชฌา (ความไม่เพ่งเล็ง) 1 บทธรรมคือความไม่พยาบาท 1 บทธรรมคือสัมมาสติ 1 บทธรรมคือสัมมาสมาธิ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย บทธรรม 4ประการเหล่านี้แล" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นภาวนา ฯ
       ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ทัสสนะและภาวนาเป็นไฉน"ในคาถาธรรมบทว่า "ภิกษุพึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 พึงละอุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นทัสสนะ ฯ คำว่า "พึงเจริญอินทรีย์ 5 ให้ยิ่ง ภิกษุล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง 5 อย่างได้แล้ว เรากล่าวว่า เป็นผู้ข้ามโอฆะแล้ว" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นภาวนา ฯ บทธรรมที่กล่าวนี้ เป็นทัสสนะและภาวนา ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
       "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 3 ประการเหล่านี้ อินทรีย์ 3 เป็นไฉน คือ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ 1 อัญญินทรีย์ 1 อัญญาตาวินทรีย์ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียรย่อมประคองจิตไว้ ย่อมทำความเพียร เพื่อตรัสรู้ทุกขอริยสัจจ์อันยังไม่ได้ตรัสรู้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิตไว้ ย่อมทำความเพียร เพื่อการตรัสรู้ ซึ่งทุกขสมุทยอริยสัจจ์อันยังไม่เคยตรัสรู้ ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจจ์ ฯลฯ ย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิตไว้ ย่อมตั้งความเพียรเพื่อการตรัสรู้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์ อันยังไม่เคยตรัสรู้ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์" ดังนี้ ข้อนี้ ชื่อว่าทัสสนะ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัญญินทรีย์เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกข์" ดังนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกขสมุทัย" ดังนี้ ฯลฯ "นี้ทุกขนิโรธ" ดังนี้ ฯลฯ ว่า"นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา" ดังนี้ นี้เป็นอัญญินทรีย์ ฯ
       "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัญญาตาวินทรีย์เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งหลาย เพราะการรู้ยิ่งเองในธรรมอันเห็นแล้วนั่นแหละเข้าถึงอยู่ จึงรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่พึงทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่่น เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอัญญาตาวินทรีย์" ดังนี้ นี้เป็นภาวนา ฯ
       พระสูตรนี้ ชื่อว่า ทัสสนะและภาวนา ฯ
       +สกวจนะและปรวจนะ
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)