นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : 1. เทสนาหารวิภังค์

       
       [ 5 ] ในบรรดาหาระ 16 เหล่านั้น เทสนาหาระเป็นไฉน ? คาถาที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า “อสฺสาเททีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น ชื่อว่า เทสนาหาระ. เทศนาแสดงอะไร ? แสดงอัสสาทะ (สุขโสมมนัสอิฏฐารมณ์ที่น่ายินดี และตัณหา อันเป็นเหตุยินดี), อาทีนวะ (โทษ มี ทุกข์ โทมนัส เป็นต้น), นิสสรณะ (อริยมรรคและนิพพานที่ออกจากวัฏฏะ), ผล (ผลแห่งเทศนา), อุบาย (ปุพพภาคปฏิปทา อันเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นแห่งอริยมรรค) และ อาณัตติ (การแนะนำหรือตักเตือนเวไนยบุคคล) ดังที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จะประกาศพรหมจรรย์ พร้อมด้วยอรรถะและพยัญชนะ อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่เธอทั้งหลาย”
       
       หาระ คือ วิธีที่ช่วยขจัดความหลง ความสงสัย ความเข้าใจผิดในพระพุทธพจน์. เทสนาหาระ คือ วิธีอธิบายพระพุทธพจน์โดยจำแนกเป็นอรรถ 6 มี อัสสาทะ เป็นต้น แล้วนำไปสงเคราะห์ลงในสัจจะ 4 วิภังค์ คือ การจำแนกแจกแจงให้เข้าใจอย่างละเอียด ดังนั้น หารวิภังค์จึงหมายถึงการอธิบายหาระแต่ละอย่างโดยละเอียด ได้แก่การแสดงหาระเดียว โดยยกสูตรมาเป็นตัวอย่างหลาย ๆ สูตร
       

       ในคาถาว่า “อสฺสาเททีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อัสสาทะเป็นไฉน ? คาถาว่า
       สัตว์โลกย่อมปรารถนาสิ่งใด ถ้าสิ่งนั้นสำเร็จแก่เขาผู้ต้องการวัตถุกาม (สิ่งที่น่าใคร่) เขาย่อมมีใจยินดีแน่แท้ เพราะได้วัตถุกามนั้น
       นี้ชื่อว่า อัสสาทะ
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อาทีนวะเป็นไฉน ? คาถาว่า
       หากว่ากามเหล่านั้นของสัตว์ผู้ต้องการวัตถุกาม และเกิดความพอใจแล้วนั้น เสื่อมไป เขาย่อมถึงความวิปริต เหมือนถูกยิงด้วยลูกศร
       นี้ชื่อว่า อาทีนวะ
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น นิสสรณะเป็นไฉน ? คาถาว่า
       บุคคลใดหลีกเว้นกามทั้งหลาย เหมือนทำเท้าของตนหลีกศีรษะงู (ที่พบในทาง) ฉะนั้น บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหานี้ได้ในโลก
       นี้ชื่อว่า นิสสรณะ
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อัสสาทะเป็นไฉน ? คาถาว่า
       ความปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งนา ไร่ เงินทอง วัว ม้า บรุษทาส (คนรับใช้) สตรี พวกพ้อง หรือกามคุณอีกหลายอย่าง
       นี้ชื่อว่า อัสสาทะ
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อาทีนวะเป็นไฉน ? คาถาว่า
       กิเลสทั้งหลาย (ที่ชื่อว่า อพละ) ย่อมครอบงำบุคคลผู้ปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งกามนั้น อันตรายทั้งหลาย (ที่ปรากฎและไม่ปรากฎ) ย่อมเบียดเบียนบุคคลผู้แสวงหากามนั้น. ทุกข์ (มีชาติทุกข์ เป็นต้น) ย่อมติดตามบุคคลผู้ถูกอันตรายเหล่านั้นครอบงำไป เหมือนน้ำไหลเข้าไปสู่เรือที่แตก ฉะนั้น
       นี้ชื่อว่า อาทีนวะ
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น นิสสรณะเป็นไฉน ? คาถาว่า
       เพราะฉะนั้นบุคคลเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงหลีกเว้นกามทั้งหลาย. เมื่อละกามเหล่านั้นแล้วพึงข้ามโอฆะทั้ง 4 ได้ เหมือนบุคคลวิดน้ำออกจากเรือ (ที่หนักด้วยน้ำ) แล้วไปถึงฝั่ง (โดยไม่ยาก) ฉะนั้น
       นี้ชื่อว่า นิสสรณะ
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น ผลเป็นไฉน ? คาถาว่า
       กุศลธรรมย่อมรักษาผู้มีปกติประพฤติธรรม ดุจร่มใหญ่ที่ช่วยกันฝนในเวลาฝนตก ฉะนั้น นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
       นี้ชื่อว่า ผล
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อุบายเป็นไฉน ? คาถาว่า
       เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในวัฏทุกข์ การเบื่อหน่ายในวัฏทุกข์นี้ เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน
       นี้ชื่อว่า อุบาย
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อาณัตติเป็นไฉน ? คาถาว่า
       บัณฑิตผู้มีปัญญาในสัตว์โลก พึงเว้นจากบาป (ทุจริต 3) ดุจบุคคลผู้มีตาดี เมื่อมีความบากบั่นเดินทางอยู่ พึงเว้นทางที่ขรุขระ ฉะนั้น
       นี้ชื่อว่า อาณัตติ
       เทศนา “ดูก่อนโมฆราช เธอจงพิจารณาดูโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า” ชื่อว่า อาณัตติ
       เทศนาว่า “สทา สโต (เป็นผู้มีสติเจริญกรรมฐานทุกเมื่อ)” ชื่อว่า อุบายเทศนา
       บุคคลถอนแล้ว (ตัดขาดแล้ว) ซึ่งสักกายทิฏฐิ (ด้วยมรรคญาณ) พึงเป็นผู้ข้ามพ้นวิสัยแห่งมัจจุราชได้ด้วยวิธีอย่างนี้
       นี้ชื่อว่า ผล
       [ 6 ] ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนิสสรณะ แก่อุคฆฏิตัญญูบุคคล, ทรงแสดงอาทีนวะ และ นิสสรณะ แก่วิปัญจิตัญญูบุคคล, ทรงแสดง อัสสาทะ อาทีนวะ และ นิสสรณะ แก่เนยยบุคคล
       ในเทศนา มี นิสสรณะ เป็นต้นนั้น ปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) มี 4, บุคคลมี 4 ดังนี้ บุคคลผู้เป็นตัณหาจริต มีปัญญาน้อย ย่อมออกจากวัฏฏะ (ด้วยอริยมรรค) ด้วยธรรมที่อาศัยทั้งหลาย กล่าวคือ สติปัฏฐาน ด้วยสตินทรีย์ ปฏิปทาอันลำบาก และการรู้ช้า.
       บุคคลผู้เป็นตัณหาจริต มีปัญญามาก ย่อมออกจากวัฏฏะ (ด้วยอริยมรรค) ด้วยธรรมที่อาศัยทั้งหลาย กล่าวคือ ฌาณ ด้วยสมาธินทรีย์ ปฏิปทาอันลำบาก และการรู้เร็ว.
       บุคคลผู้เป็นทิฏฐิจริต มีปัญญาน้อย ย่อมออกจากวัฏฏะ (ด้วยอริยมรรค) ด้วยธรรมที่อาศัยทั้งหลาย กล่าวคือ สัมมัปปธาน ด้วยวิริยินทรีย์ ปฏิปทาอันสบาย และการรู้ช้า.
       บุคคลผู้เป็นทิฏฐิจริต มีปัญญามาก ย่อมออกจากวัฏฏะ (ด้วยอริยมรรค) ด้วยธรรมที่อาศัยทั้งหลาย กล่าวคือ สัจจะ ด้วยปัญญินทรีย์ ปฏิปทาอันสบาย และการรู้เร็ว
       ตัณหาจริตบุคคลทั้งสอง ย่อมออกจากวัฏฏะด้วยเจโตวิมุติ (อนาคามิผลสมาธิ) อันเป็นเหตุสำรอกราคะ ด้วยวิปัสสนาอันมีสมาธิเป็นประธาน (นำหน้า)
       ทิฏฐิจริตบุคคลทั้งสอง ย่อมออกจากวัฏฏะด้วยปัญญาวิมุติ (อรหัตตผลปัญญา) ด้วยสมาธิอันมีวิปัสสนาเป็นประธาน (นำหน้า)
       ในบรรดาบุคคลเหล่านั้น ตัณหาบุคคลจริตทั้งสองเหล่าใด ย่อมออกจากวัฏฏะด้วยปฏิปทาทั้งหลาย อันมีสมาธิเป็นประธาน บุคคลเหล่านั้นพึงแนะนำด้วย นันทิยาวัฏฏนัย. ทิฏฐิจริตบุคคลทั้งสองเหล่าใด ย่อมออกจากวัฏฏะด้วยปฏิปทาทั้งหลายอันมีวิปัสสนาเป็นประธาน (นำหน้า) บุคคลเหล่านั้นพึงแนะนำด้วยสีหวิกกีฬิตนัย
       [ 7 ] เทสนาหาระนั้นเกิดในบุคคลไหน ? พระพุทธเจ้าก็ดี เพื่อนพรหมจารีผู้น่าเคารพคนใดคนหนึ่งก็ดี ย่อมแสดงธรรมแก่บุคคลใด บุคคลนั้นฟังธรรมนั้นแล้วได้ศรัทธา (เทสนาหาระย่อมเกิดในบุคคลนั้น).
       การพิจารณา อุตสาหะ ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ในธรรมที่ตนได้ฟังนั้น ชื่อว่า สุตมยปัญญา
       การพิจารณา ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง เพ่งด้วยใจ โดยอาศัยการฟังธรรมนั้น ชื่อว่า จินตมยปัญญา
       อริยมรรคญาณใดย่อมเกิดในทัสสนภูมิ (กล่าวคือโสดาปัตติมรรคผล) ก็ดี ในภาวนาภูมิ (กล่าวคือเสกขะและอเสกขะที่เหลือ) ก็ดี แก่บุคคลผู้เพียรพยายามกระทำไว้ในใจด้วยปัญญา 2 อย่างเหล่านี้ ปัญญานี้ชื่อว่า ภาวนามยปัญญา
       [ 8 ] ปัญญาที่เกิดจากปรโตโฆสปัจจัย (เสียงธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า) ชื่อว่า สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ซึ่งเกิดภายในตน ชื่อว่า จินตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากปรโตโฆสปัจจัย และการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ซึ่งเกิดภายในตน ชื่อว่า ภาวนามยปัญญา.
       บุคคลที่มีปัญญา 2 อย่างนี้ คือ สุตมยปัญญา และจินตมยปัญญา ชื่อว่า อุตฆฏิตัญญู บุคคลที่มีสุตมยปัญญา แต่ไม่มีจินตมยปัญญา ชื่อว่า วิปัญจิตัญญู บุคคลที่ไม่มีทั้งสุตมยปัญญา และจินตมยปัญญา ชื่อว่า เนยยะ
       [ 9 ] ธรรมเทศนานั้น ย่อมแสดงอะไร ? แสดงสัจจะทั้ง 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. อาทีนวะ และ ผล ชื่อว่า ทุกขสัจจะ, อัสสาทะ ชื่อว่า สมุทัยสัจจะ, นิสสรณะ ชื่อว่า นิโรธสัจจะ, อุบาย และ อาณัตติ ชื่อว่า มรรคสัจจะ ย่อมแสดงสัจจะทั้ง 4 เหล่านี้ เทศนานี้ชื่อว่า ธรรมจักรสูตร
       ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราได้แสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ว่า “หมู่เตภูมกธรรม นี้ ชื่อว่า ทุกขสัจจะ” ซึ่งสมณะ (ภิกษุ) ก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี บุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ดีในโลก ไม่สามารถแสดงได้” ดังนี้เป็นต้น ทั้งหมดนี้ชื่อว่า ธรรมจักร.1
       1. วิ. มหา. 4/13–17/13–16, สํ. มหา. 19/1081/367–370, ขุ. ปฏิ. 31/30/358–361
       ในเทศนานั้น บทไม่มีประมาณ, อักษรไม่มีประมาณ, วากยะ (พฺยญฺชน) ไม่มีประมาณ, ส่วนแห่งวากยะที่จำแนกแล้ว (นิทเทส) ไม่มีประมาณ. การแสดงโดยสังเขป การแสดงในเบื้องต้น การขยายความ การจำแนก การทำให้เข้าใจง่าย การให้รู้โดยประเภทแห่งอรรถ กล่าวคือสัจจะ 4 นั้นแล ไม่มีประมาณ. พึงทราบทุกขอริยสัจนี้ด้วยประการฉะนี้
       ภิกษุทั้งหลาย เราได้แสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสีว่า “ตัณหานี้ชื่อว่า สมุทัยสัจจะ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นิพพานนี้ชื่อ ทุกขนิโรธสัจจะ อันเป็นที่ดับทุกข์, มรรค อันมีองค์ 8 นี้ชื่อว่า มรรคสัจจะ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์” ซึ่งสมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี บุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ดีในโลก ไม่สามารถแสดงได้
       ในเทศนานั้น บทไม่มีประมาณ อักษรไม่มีประมาณ วากยะ (พฺยญฺชน) ไม่มีประมาณ, ส่วนแห่งวากยะที่จำแนกแล้ว (อาการ), วิเคราะห์ (เนรุตฺต), คำขยายความวิเคราะห์ (นิทเทส) ไม่มีประมาณ. การแสดงโดยสังเขป, การแสดงในเบื้องต้น, การขยายความ, การจำแนก, การทำให้เข้าใจง่าย, การให้รู้โดยประเภทแห่งอรรถ กล่าวคือสัจจะ 4 นั้นแล ไม่มีประมาณ พึงทราบทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ ด้วยประการฉะนี้.
       ในบรรดาพยัญชนบท 6 เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถโดยสังเขป ด้วยอักษรทั้งหลาย ทรงแสดงอรรถในเบื้องต้นด้วยบททั้งหลาย ทรงขยายความด้วยวากยะทั้งหลาย ทรงจำแนกอรรถด้วยส่วนแห่งวากยะทั้งหลาย ทรงทำความเข้าใจง่ายด้วยวิเคราะห์ทั้งหลาย ทรงให้รู้อรรถโดยประเภทด้วยคำขยายความวิเคราะห์ทั้งหลาย
       ในบรรดาพยัญชนบท 6 เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถที่ประสงค์โดยสังเขป ด้วยอักษรและบททั้งหลาย ทรงแสดงโดยไม่สังเขปไม่พิสดาร ด้วยวากยะและส่วนแห่งวากยะทั้งหลาย ทรงกระทำให้พิสดาร ด้วยวิเคราะห์ และขยายความวิเคราะห์ทั้งหลาย
       ในบรรดาเทศนาทั้งหลาย มี อุคฺฆฏน (การยกหัวข้อ) เป็นต้นเหล่านั้น การแสดงโดยสังเขป เป็นเบื้องต้นแห่งเทศนา, การแสดงโดยไม่สังเขปไม่พิสดาร เป็นท่ามกลางแห่งเทศนา, การแสดงโดยพิสดารเป็นที่สุดแห่งเทศนา. พระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้น เมื่อพระองค์ทรงแสดงโดยสังเขป ย่อมแนะนำอุคฆฏิตัญญูบุคคล เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้นว่า “อาทิกลฺยาณ (มีความงามในเบื้องต้น)” เมื่อทรงแสดงโดยไม่สังเขปไม่พิสดาร ย่อมแนะนำวิปัญจิตัญญูบุคคล เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้นว่า “มชฺเฌกลฺยาณ (มีความงามในท่ามกลาง)”. เมื่อทรงแสดงโดยพิสดาร ย่อมแนะนำเนยยบุคคล เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้นว่า “ปริโยสานกลฺยาณ (มีความงามในที่สุด)
       [ 10 ] ในเทศนาว่า “ธมฺมํ โว ภิกฺขเว เทเสสฺสามิ (ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงธรรมแก่เธอทั้งหลาย)” นั้น บท 6 ทั้งหลาย ชื่อว่าอรรถแห่งพระบาลี. บท 6 เหล่านั้นเป็นไฉน ? คือ เนื้อความโดยสังเขป, เนื้อความที่แสดงในเบื้องต้น, เนื้อความที่ขยายความ, เนื้อความที่จำแนก, เนื้อความที่ทำให้ปรากฏชัด (หรือทำให้เข้าใจง่าย), เนื้อความที่ให้รู้โดยประการต่าง ๆ . บท 6 เหล่านี้ ชื่อว่า อรรถแห่งพระบาลี.
       บท 6 ชื่อว่า ศัพท์. บท 6 เหล่านั้นเป็นไฉน ? คือ อักษร, บท, วากยะ(ประโยค), ส่วนแห่งวากยะ, วิเคราะห์, คำขยายความวิเคราะห์. บท 6 เหล่านี้ ชื่อว่า ศัพท์. เพราะเหตุนั้น (เพราะความบริบูรณ์ด้วยอรรถบทและพยัญชนบทเหล่านั้น) พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมด้วยอรรถะและพยัญชนะแก่เธอทั้งหลาย”.
       บทว่า "เกวลํ" หมายความว่า เป็นโลกุตรธรรมล้วน ๆ ไม่ระคนด้วยโลกิยธรรม. บทว่า “ปริปุณฺณํ” หมายความว่า บริบูรณ์ ไม่หย่อนไม่ยิ่ง. บทว่า “ปริสุทฺธํ” คือ ไม่มีมลทิน ปราศจากมลทินทั้งปวง สะอาดหมดจด เป็นที่ตั้งแห่งคุณวิเศษทั้งปวง. ข้อปฏิบัตินี้เรียกว่า “ตถาคตบท (หนทางเป็นที่เสด็จไปของพระพุทธเจ้า)” บ้าง, เรียกว่า “ตถาคตนิเสวิต (สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเสพ)” บ้าง, เรียกว่า “ตถาคตรญฺชิต (ที่เจาะด้วยพระเขี้ยว กล่าวคือสัพพัญญุตญาณของพระพุทธเจ้า)” บ้าง ด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงบัญญัติศาสนานี้ว่า พรหมจรรย์ (ความประพฤติอันประเสริฐ) เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เราจะประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง”
       ธรรมเทศนานี้ แสดงเพื่อประโยชน์แก่ใคร ? เพื่อประโยชน์แก่โยคีบุคคล (ผู้ปฏิบัติ) ทั้งหลาย. เพราะฉะนั้น ท่านมหากัจจายนเถระจึงกล่าวว่า
       อัสสาทะ, อาทีนวะ, นิสสรณะ, ผล, อุบาย และอาณัตติ (การแนะนำตักเตือน) ของพระผู้มีพระภาค เพื่อประโยชน์แก่โยคีบุคคลทั้งหลาย เป็นสังวรรณนาพิเศษ ชื่อว่า เทสนาหาระ
       เทสนาหาระ ท่านยกจากพระบาลีมาประกอบแล้ว
       2. วิจยหารวิภังค์
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)