นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : สกวจนะและปรวจนะ

       
       [116] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "สกวจนะเป็นไฉน"
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม การยังจิตให้ผ่องแผ้วนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ดังนี้ พุทธพจน์นี้ ชื่อว่า สกวจนะ(เพราะเป็นดำรัสของพระพุทธเจ้า) ฯ
       ในพาลบัณฑิตสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะแห่งความเป็นพาล นิมิตแห่งความเป็นพาล ความประพฤติแห่งความเป็นพาล 3 ประการเหล่านี้ มีอยู่แก่คนพาล ชนเหล่าอื่นย่อมรู้จักคนพาลด้วยเหตุเหล่าใดว่า เป็นคนพาล ดังนี้เหตุนั้นมี 3 ประการ เหตุ 3 ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลมักคิดแต่เรื่องที่คิดชั่ว มักพูดแต่เรื่องที่พูดชั่ว มักกระทำแต่กรรมที่ชั่วดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ 3 ประการนี้แล ฯ""ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะแห่งความเป็นบัณฑิต นิมิตแห่งความเป็นบัณฑิต ความประพฤติแห่งความเป็นบัณฑิต 3 ประการเหล่านี้ มีอยู่แก่บัณฑิต ชนเหล่าอื่น ย่อมรู้จักบัณฑิตด้วยเหตุเหล่าใดว่า เป็นบัณฑิตดังนี้ เหตุนั้นมี 3 ประการ เหตุ 3 ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายบัณฑิตมีปกติคิดแต่เรื่องที่คิดดี มีปกติพูดแต่คำพูดที่ดี มีปกติกระทำแต่กรรมดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ 3 ประการเหล่านี้แล " ดังนี้ สูตรนี้ชื่อว่าสกวจนะ ฯ
       ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ปรวจนะเป็นไฉน"คำว่า "พื้นที่กว้างเสมอด้วยแผ่นดินย่อมไม่มี พื้นที่ลุ่มเสมอด้วยบาดาลย่อมไม่มี สิ่งที่สูงเสมอด้วยเขาสิเนรุย่อมไม่มี บุรุษผู้เช่นกับพระเจ้าจักรพรรดิ์ย่อมไม่มี" ดังนี้ เป็น ปรวจนะ (เป็นคำของเทวดา)ในสุภาสิตชยสูตรตรัสว่า"ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ตรัสว่า แน่ะจอมเทพ เราจงเอาชนะกันด้วยการกล่าวคำสุภาษิตเถิด ท้าวสักกะจอมเทพตรัสว่า แน่ะท้าวเวปจิตติตกลง เราจงเอาชนะกัน ด้วยการกล่าวคำสุภาษิต ดูก่อนเวปจิตติ ท่านจงกล่าวคาถา ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้กล่าวคาถาว่าพวกคนพาลยิ่งกริ้วโกรธ ถ้าบุคคลไม่ตัดรอนเสีย ฉะนั้นนักปราชญ์ผู้มีปัญญา จึงควรกำจัดคนพาลเสียด้วยอาญาอันรุนแรง ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่่อท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ตรัสคาถาแล้ว พวกอสูรพากันอนุโมทนา พวกเทวดาต่างก็พากันนิ่ง ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพว่า แน่ะจอมเทพ ท่านจงกล่าวคาถาเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติตรัสเช่นนี้แล้วท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสคาถานี้ว่าผู้ใด รู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ เราเห็นว่า การระงับไว้ของผู้นั้น เป็นเครื่องตัดรอนคนพาล ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อท้าวสักกะจอมเทพ ได้ภาษิตคาถาแล้ว พวกเทวดาก็พากันอนุโมทนา พวกอสูรต่างก็นิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแลท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสกะท้าวเวปจิตติจอมอสูรว่า "แน่ะท้าวเวปจิตติท่านจงตรัสคาถาเถิด" ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะตรัสเช่นนี้ ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถานี้ว่า"ดูก่อนท้าววาสวะ เราเห็นโทษของความอดกลั้นนี้นั่นแหละ เพราะว่า เมื่อใด คนพาลย่อมสำคัญเห็นผู้อดกลั้นนั้นว่า "บุคคลนี้ย่อมอดกลั้นต่อเรา เพราะกลัว" เมื่่อนั้น คนพาล ผู้ทรามปัญญา ยิ่งข่มขี่ผู้อดกลั้นนั้นยิ่งขึ้น เหมือนโคข่มขี่โคตัวที่แพ้หนีไป ฉะนั้น" ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูร ภาษิตคาถาแล้วพวกอสูรพากันอนุโมทนา พวกเทวดาต่างก็นิ่ง ลำดับนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพว่า "แน่ะ จอมเทพ ท่านจงตรัสคาถาเถิด" ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูร ตรัสเช่นนี้แล้วท้าวสักกะจอมเทพ ได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า"บุคคล ย่อมสำคัญเห็นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเรา เพราะกลัว หรือหาไม่ก็ตาม ประโยชน์ทั้งหลาย มีประโยชน์ของตนเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติย่อมไม่มี ผู้ใดแลเป็นคนมีกำลัง ย่อมอดกลั้นต่อคนทุรพลได้ความอดกลั้นของผู้นั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นขันติอย่างยิ่ง คนทุรพลจำต้องอดทนอยู่เป็นนิจ บัณฑิตเรียกกำลังของผู้โง่เขลาอย่างคนพาลนั้นว่า มิใช่กำลัง ไม่มีคนใดที่จะกล่าวโต้ต่อคนที่มีกำลังอันธรรมคุ้มครองแล้วเพราะความโกรธนั้น บุคคลใด โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้วบุคคลนั้นลามกกว่าบุคคลผู้โกรธแล้วนั้น บุคคลผู้ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้วย่อมชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่า ผู้อื่่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ ผู้นั้น ชื่่อว่า ประพฤติประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายตนทั้งฝ่ายคนอื่น ชนเหล่าใดไม่ฉลาดในธรรม ชนเหล่านั้น ย่อมสำคัญเห็นผู้รักษาประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนั้นว่าเป็นคนโง่" ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะจอมเทพ ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้แล้ว พวกเทวดาพากันอนุโมทนา พวกอสูรต่างก็นิ่ง" พระสูตรนี้ ชื่อว่าปรวจนะ ฯ
       [117] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "สกวจนะและปรวจนะเป็นไฉน"คำว่า "อุปกรณ์แห่งกาม อันบุคคลเสพอยู่ ที่ถึงแล้วในบัดนี้ และจะพึงถึงต่อไปอันใด สิ่งทั้ง 2 นั้น เกลื่อนกล่นด้วยธุลีมีราคะเป็นต้น เป็นของคนที่ศึกษาในสำนักแห่งคนที่กระสับกระส่าย ก็บุคคลเหล่าใด สำคัญสิกขาที่ไม่มีสาระว่าเป็นสาระ มีความยึดมั่นศีล พรต ชีวิตว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ วาทะนี้ เป็นวาทะลามกที่สุดที่หนึ่่งแห่งบุคคลผู้ยึดมั่นเหล่านั้น และบุคคลเหล่าใด มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีปกติเห็นอย่างนี้ว่าโทษในกามทั้งหลายไม่มี วาทะนี้เป็นวาทะลามกที่สุดที่ 2 บุคคลผู้มีวาทะที่สุดทั้ง 2 นี้ ผู้ยังป่าช้าให้เจริญ โดยนัยที่กล่าวแล้วนี้ ย่อมยังป่าช้าทั้งหลายและทิฏฐิให้เจริญ คือว่า บุคคล 2 พวกนี้ พวกหนึ่งย่อมติดอยู่เพราะความไม่รู้ พวกหนึ่งย่อมแล่นเลยไปด้วยทิฏฐิ" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่อว่า
       ปรวจนะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ก็สัมมาทิฏฐิบุคคลเหล่าใดแล ไม่มีที่สุดอันลามกนั้น เพราะรู้ยิ่งที่สุดทั้ง 2 นั้น ไม่สำคัญที่สุดทั้ง 2 นั้น วัฏฏะของชนเหล่านั้น ย่อมไม่มีเพราะการบรรลุด้วยปัญญา" ดังนี้ คำนี้ เป็นสกวจนะ ฯ สูตรทั้ง 2 นี้ ชื่อว่า สกวจนะและปรวจนะ ฯ
       ในอัตตรักขิตสูตร พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หม่อมฉันได้เข้าไปที่ลับ พักผ่อนอยู่ได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า ชนพวกไหนหนอ มีตนเป็นที่รัก พวกไหนหนอไม่มีตนเป็นที่รัก ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ดำริต่อไปว่า ก็ชนพวกใดพวกหนึ่ง ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจาและด้วยใจชนเหล่านั้นไม่มีตนเป็นที่รัก ถึงชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวว่า พวกเรารักตนแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ไม่มีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชนที่ไม่รักใคร่กัน พึงกระทำทุจริตเพื่อความพินาศแก่คนที่ไม่รักกัน ชนเหล่านั้นย่อมกระทำทุจริตนั้น เพื่อความพินาศแก่ตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้นชนเหล่านั้น จึงชื่อว่ามีตนไม่เป็นที่รัก ก็แต่ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจาและด้วยใจ ชนเหล่านั้นชื่อว่า มีตนเป็นที่รัก ชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวว่า เราไม่มีตนเป็นที่่รัก ดังนี้ แม้ก็จริงถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่ามีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่รักกัน พึงกระทำสุจริต เพื่อความเจริญแก่คนที่รัก ชนเหล่านั้นย่อมกระทำสุจริตเพื่อตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่ามีตนเป็นที่รัก" ดังนี้"ดูกรมหาบพิตร ข้อนี้ เป็นอย่างนั้น ดูกรมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรมหาบพิตร ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกายย่อมประพฤติทุจริตด้วยวาจา ย่อมประพฤติทุจริตด้วยใจ เพราะฉะนั้นชนเหล่านั้นชื่อว่า มีตนไม่เป็นที่รัก ชนเหล่านั้น ถึงจะกล่าวว่า เรามีตนเป็นที่รัก ดังนี้ ก็จริง ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่มีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไรดูกรมหาบพิตร เพราะชนไม่เป็นที่รักใคร่กัน พึงกระทำทุจริตเพื่อความพินาศแก่คนที่ไม่รักกัน ชนเหล่านั้นย่อมกระทำทุจริตนั้นเพื่อความพินาศแก่ตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงไม่ชื่อว่า มีตนเป็นที่รักดูกรมหาบพิตร ก็แต่ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกายด้วยวาจาและด้วยใจ ชนเหล่านั้น ชื่อว่ามีตนเป็นที่่รัก ชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวว่า เราไม่มีตนเป็นที่่รัก ดังนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้นก็มีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรมหาบพิตร คนที่รักใคร่กัน พึงกระทำสุจริตเพื่อความเจริญแก่คนที่รัก ชนเหล่านั้น ย่อมกระทำสุจริตนั้น เพื่อตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่า มีตนเป็นที่รัก" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาประพันธ์อีกว่า"ถ้าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รัก ไม่พึงประกอบตนด้วยบาป เพราะว่าความสุขนั้นไม่เป็นผลที่บุคคลผู้ทำชั่ว จะพึงได้โดยง่าย เมื่อบุคคลถูกมรณะครอบงำ ละทิ้งภพมนุษย์ไป ก็อะไรเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาอะไรไปได้ อนึ่ง อะไรเล่า จะติดตามเขาไปประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้นผู้ที่เกิดมาแล้ว จำต้องตายในโลกนี้ ย่อมทำซึ่งกรรมใดไว้ คือ บุญและบาปทั้งสอง บุญและบาปนั้นแล เป็นสมบัติของเขา และเขาจะพาเอาบุญและบาปนั้นไป อนึ่ง บุญและบาปนั้น ย่อมติดตามเขาไป ดุจเงาตามตนไป ฉะนั้นเพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกัลยาณธรรมสั่งสมไว้เป็นสมบัติในปรโลกเพราะบุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า ปรวจนะ ฯ คำที่กล่าวตามลำดับเป็น สกวจนะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สกวจนะและปรวจนะ ฯ
       +วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)